ทุกวันนี้คุณรู้หรือไม่ว่าอากาศที่เราหายใจปนเปื้อนมลพิษมากน้อยแค่ไหน?

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่า 9 ใน 10 คนทั่วโลกกําลังหายใจเอามลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกาย เราทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองมลพิษล้วนเสี่ยงที่จะเป็นหนึ่งใน 9 คนนั้น แล้วขณะนี้รัฐบาลไทยมีมาตรการในการปกป้องลมหายใจของเราทุกคนมากน้อยแค่ไหน

Traffic causing Air Pollution in Bangkok © Chanklang Kanthong / Greenpeace

การจราจรที่ติดขัดเป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศ

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวสารเรื่องมลพิษทางอากาศอย่างไม่ขาดสาย ต่อจากมลพิษที่ปกคลุมกรุงเทพฯ เมื่อช่วงเดือนมกราคม ขณะนี้ทางภาคเหนือตอนบนก็กำลังเผชิญกับหมอกควันพิษที่มาตรงเวลาเป็นประจำทุกปีมากว่า 10 ปีแล้ว และเราคงได้ทราบข่าวว่ากรุงเทพฯ และเชียงใหม่ผลัดกันชิงอันดับท็อปไฟว์ในอันดับเมืองที่มีมลพิษสูงสุดของโลกในช่วงเวลาหนึ่งตามข้อมูลของ AirVisual.com ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเชียงใหม่ได้ขึ้นครองแชมป์เป็นอันดับที่หนึ่ง และเมื่อปลายเดือนมกราคมกรุงเทพฯ ก็เคยติดอันดับสามมาแล้ว

(ภาพเชียงใหม่) การรายงานผลของ AirVisual.com เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2562 (ภาพกรุงเทพฯ)  การรายงานผลของ AirVisual.com เมื่อ 30 มกราคม 2562

แล้วหากมองเป็นค่าเฉลี่ยรายปีล่ะ ประเทศไทยเราอยู่จุดไหนของสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก

เราคงรู้จักกับเครื่องวัดคุณภาพอากาศแบบพกพาที่ประชาชนสามารถหาซื้อมาใช้กันบ้างหลากหลายรูปแบบ และ AirVisual คือหนึ่งในเครื่องมือนั้น และในประเทศไทยเองมีคนราว 2 ล้านคนที่ใช้แอพพลิเคชัน Air Visual เพื่อตรวจเช็คคุณภาพอากาศรายวัน ล่าสุด AirVisual ได้เผยรายงานการจัดอันดับคุณภาพอากาศโลก ปี 2561 (IQAir AirVisual 2018 World Air Quality Report) และการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษสูงสุดในโลกเชิงปฎิสัมพันธ์ (interactive) โดยผลของรายงานนี้นอกจากที่จะทำให้เรารู้ถึงอันดับมลพิษในเมืองต่าง ๆ แล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่า สถานการณ์มลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในปี 2561ที่กระจายตัวอย่างกว้างขวางทั่วโลก บ่งบอกถึงการที่ประชาชนยังถูกจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล

อ่านรายงานได้ที่นี่

AirVisual ได้นำข้อมูลของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของภาครัฐในแต่ละประเทศ ประกอบกับเครื่อง AirVisual ที่ผู้ใช้ในแต่ละประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหาซื้อมาเช็คคุณภาพอากาศเอง นำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย โดยค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงนี้จะถูกใช้ไปคํานวณค่าเฉลี่ยรายเดือน และค่าเฉลี่ยรายปีของเมืองตามลําดับ ประกอบกับการประมาณการจากค่าเฉลี่ยของประชากรที่สัมผัสกับมลพิษ ด้วยการสุ่มตัวอย่างข้อมูล คํานวณข้อมูลที่หาได้ในประเทศหรือภูมิภาคนั้น แล้วถ่วงน้ําหนักประชากร ผลลัพธ์ที่ได้คือ ในปี พ.ศ. 2561 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก ในฐานะประเทศที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 มากที่สุด หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมีค่าคุณภาพอากาศที่แย่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและเวียดนาม มี 10 จังหวัดในไทยที่ติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประเทศที่มีมลพิษทางอากาศเป็นอันดับหนึ่ง คือ บังคลาเทศ ขณะที่หากนับเป็นเมืองแล้ว เมืองเดลี ประเทศอินเดียอยู่อันดับหนึ่ง และกรุงเทพฯอยู่อันดับที่ 24

ตอนนี้คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยอยู่อันดับไหน แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยรับรู้และมีมาตรการดำเนินการแก้ไขอย่างไรไม่ให้อันดับของไทยสูงขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรสูงขึ้นตามมา

ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีการตื่นตัวเรื่องมลพิษทางอากาศ ในรายงานยังเผยอีกว่า ช่วงปี พ.ศ.2561 ความตระหนักของประชาชนต่อระดับมลพิษของท้องถิ่นในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเติบโตขึ้นอย่างมาก ในด้านการขับเคลื่อนของภาคประชาชนเราได้เห็นการการมีส่วนร่วมของสาธารณะต่อมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นในหลายประเทศเช่นกัน แม้แต่ในอเมริกา และแคนาดาที่ปกติแล้วมีคุณภาพอากาศที่ดี แต่ได้มีความตื่นตัวมากในช่วงเกิดไฟป่ารุนแรง จนกลายเป็นมลพิษข้ามพรมแดน

ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอากาศที่หายใจเพียงพอหรือยัง?

การรับเอามลพิษของคนเมือง เป็นอีกสิ่งที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำในคุณภาพชีวิตของคนเมือง ที่ผู้ที่มีรายได้สูงกว่าอาจจะมีทางเลือกมากกว่าในการเข้าถึงข้อมูลและป้องกันสุขภาพของตนเอง ข้อมูลจากเครื่อง AirVisual ถือเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมของภาคประชาชนในการแสวงหาข้อมูลตรวจสอบคุณภาพอากาศ และฐานข้อมูลรวมของประชาชนอย่างเราทุกคนนี่เองมีส่วนช่วยให้เกิดการตรวจสอบของภาครัฐ

สถานภาพการตรวจวัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ค่อยสู้ดีนัก เนื่องจากสถานีตรวจวัด PM2.5 ที่สนับสนุนโดยภาครัฐยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งทั่วทั้งภูมิภาคมีสถานีตรวจวัดรายงานข้อมูลตามเวลาจริงที่ปรกาฎในรายงานฉบับนี้เพียง 145 แห่ง เท่านั้น ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เช่น ในทวีปแอฟริกา และลาตินอเมริกาที่ข้อมูลอาจจะมีน้อย หรือไม่สามารถนำมาใช้ได้ กล่าวคือ มีแค่ 73 ประเทศทั่วโลกที่มีข้อมูลพร้อมใช้ ประเทศที่พัฒนา เช่นในยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอเมริหา แล้วมีแนวโน้มเข้าถึงเครือข่ายตรวจวัดคุณภาพอากาศของหน่วยงานภาครัฐได้มากกว่า ขณะที่การเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศของประเทศกําลังพัฒนาจํานวนมากยังจํากัด

ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศขนาดเล็กกว่าประเทศไทย มีสถานีตรวจวัดของรัฐบาลมากกว่า 1, 200 จุด จีนมีเครือข่ายมากที่สุดและกว้างขวางที่สุดของโลก โดยมีเครื่องวัดที่ดําเนินการโดยรัฐบาลกลาง 1,500 เครื่อง และเครื่องวัดที่ดําเนินการโดยหน่วยงานระดับกลาง จังหวัด เทศบาลและประเทศ ทั้งหมดอีกมากกว่า 5,000 เครื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนในความตื่นตัวของภาครัฐในความพยายามปกป้องสุขภาพของประชาชน

เมื่อมองย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ปัจจุบันเรามีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานค่า PM2.5 จำนวน 53 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 29 จังหวัด ซึ่งถือว่ามากขึ้นจากในปี 2558 ที่มีอยู่เพียง 12 สถานีใน 10 จังหวัด และนี่เป็นอีกผลลัพธ์หนึ่งที่เกิดขึ้นจากการร่วมกันขับเคลื่อนของภาคประชาชน

บทเรียนของการพัฒนาของเมืองและมลพิษทางอากาศ

ข้อมูลของรายงาน AirVisual ฉบับนี้ยังสื่อให้เห็นถึงแหล่งกําเนิดมลพิษทางอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ามีความแตกต่างระหว่างเขตชนบทและเขตเมืองในประเทศ โดยทั่วไปแหล่งกําเนิดมลพิษหลักของเขตชนบทมาจากการเผาในที่โล่ง ยานพาหนะ และการขนส่ง ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาของเมืองและการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว และมีส่วนก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ทั้งภายในประเทศ และไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนในเขตเมือง การขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในต้นตอหลัก อันเนื่องมาจากรถนับหลายล้านคันในกรุง และการกระจุกของเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ จาการ์ตา และฮานอย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในบริบทของความเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่น และมลพิษทางอากาศ สำหรับในประเทศไทยนั้นยังน่าคิดอีกว่า จำนวนสถานีที่มีน้อยนั้น จุดที่ตั้งสถานีตรวจวัดกลับกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ (มีมากถึง 10 จุด นอกจากนี้ยังมีเครื่องของกรุงเทพมหานครเองอีกราว 50 จุด) สิ่งที่ประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้ได้จากรายงานฉบับนี้ คือ ค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศของไทยที่ยังต่ำกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่เท่าตัว และทิศทางการพัฒนาประเทศ ว่าจะมียุทธศาสตร์ไปในรูปแบบใด จะมีการคำนึงถึงมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างจริงจังหรือไม่ ก่อนที่ประเทศไทยจะก้าวพลาดเร่งการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนอย่างเช่นที่ประเทศจีน และอินเดีย แต่ในขณะนี้สองประเทศได้เร่งตื่นตัวแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

“คำถามคือทำไมอีก 40 กว่าจังหวัดไม่มีสถานีตรวจวัด ไม่มีประชาชนอยู่ที่นั่นหรือ งบประมาณในการทำสถานีตรวจวัด สถานีละประมาณ 1 ล้านบาท ตามที่กรมควบคุมแจ้งกับกรีนพีซ งบประมาณที่เราติดตั้งอยู่ที่การให้ความสำคัญว่าเราเอางบประมาณของประเทศไปทำอะไร” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ถึงเวลาหรือยังที่กรมควบคุมมลพิษจะรายงานคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์?

“ขณะที่เราหายใจ ค่าที่เราเห็นใน Air4Thai นั้นไม่ใช่ค่าเฉลี่ย ณ ปัจจุบันที่แท้จริง” — ธารา บัวคำศรี
ปัจจุบัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษกำลังรายงานค่าเฉลี่ยโดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่ใช่รายชั่วโมง ค่าที่รายงานนั้นจึงเป็นคุณภาพอากาศที่ไม่สามารถระบุถึงความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันได้ ผู้ปกครองไม่สามารถประเมินได้ว่า อากาศ ณ ขณะนั้นเหมาะกับการเล่นนอกบ้านของลูก ๆ หรือไม่ คนรักการออกกำลังกายสามารถออกไปวิ่งได้หรือไม่ หรือคนทั่วไปเองควรจะใส่หน้ากาก N95 ได้หรือยัง เหตุนี้เองที่ประชาชนยังคงต้องพึ่งพาแหล่งข้อมูลที่สอง คือ จากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบพกพาส่วนตัว หรือจากเว็บไซต์ AirVisual.com

ข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงมีความสําคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงกระตุ้นประชาชนให้รับมือกับสภาพการณ์ปัจจุบันและปกป้องสุขภาพของมนุษย์ แต่ยังสร้างความตื่นรู้ของสาธารณะ และขับเคลื่อนปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศในระยะยาวของภาครัฐอีกด้วย

นอกจากการแจ้งผลเป็นแบบรายชั่วโมงแล้ว กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทยโดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

“เราใช้มาตรฐานนี้มาตลอด ทำให้มาตรฐานหย่อน ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น

หากมาตรฐานไม่เกิด มาตรการไม่ตามมาอย่างแน่นอน ในแผนยุทธศาสตร์วาระแห่งชาติ จำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าหมาย เช่น บอกให้ได้ว่า ภายใน 3 ปี การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนจะลดลงเท่าไหร่ และอีกใน 5 ปี จะลดลงเท่าไร เรายังไม่มีตัวเลขตรงนี้” จริยา เสนพงศ์ กล่าว

บางทีเรื่องมลพิษทางอากาศที่ยากแก่การมองเห็นก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐกำลังละเลย จนกระทั่งถึงวันที่มลพิษนั้นสะสมจนเป็นวิกฤต และบางครั้งประชาชนไม่ได้ต้องการอะไรจากคำสัญญาว่าประเทศจะเจริญไปในทิศทางใด แต่ขอแค่เรายังมีอากาศดี ๆ ไว้ให้หายใจ และมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลว่าอากาศรอบตัวเราแย่แค่ไหน เท่านั้นเอง

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม