ท่ามกลางวิกฤตมลพิษทางอากาศที่กำลังจะกลายเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุข เรามักจะได้ยินหน่วยงานของรัฐบอกว่า กรุงเทพมหานครและประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และการรายงานคุณภาพอากาศที่ทันสมัย ต้องรอไปอีก 2-3 ปี เพราะสถานีตรวจวัด PM2.5 ยังไม่ครอบคลุม มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?

บทความสั้นๆ นี้จะพาคุณไปหาคำตอบ
การรายงานคุณภาพอากาศ (Air Quality Reporting) เกี่ยวข้องกับดัชนีคุณภาพอากาศ (Air quality index – AQI) ซึ่งเป็นตัวเลข(ไม่มีหน่วย)ที่หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกใช้เพื่อสื่อสารกับประชาชนถึงคุณภาพอากาศรายวัน พูดง่ายๆ ก็คือการรายงานคุณภาพอากาศ ทำให้เรารู้ว่าอากาศดีหรือแย่เพียงใด และถ้าอากาศแย่จะส่งผลกระทบสุขภาพต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

ดัชนีคุณภาพอากาศแตกต่างกันไปตามค่ามาตรฐานมลพิษทางอากาศที่แต่ละประเทศกำหนดขึ้น หรือบางครั้งใช้ชื่อต่างกัน เช่น  Air Quality Health Index (แคนาดา) the Air Pollution Index (มาเลเซีย) หรือ the Pollutant Standards Index (สิงคโปร์) เป็นต้น

ปัจจุบัน กรมควบคุมมลพิษของประเทศไทยใช้ ดัชนีคุณภาพอากาศที่คำนวณจากความเข้มข้นสารมลพิษทางอากาศ 5 ชนิดคือ ก๊าซโอโซน(O3)เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2)เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) โดยยังไม่รวมค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5


เมื่อพิจารณาจากวิกฤตคุณภาพอากาศที่คนในกรุงเทพและพื้นที่ต่างๆ เผชิญอยู่ ดัชนีคุณภาพอากาศ(ที่ไม่รวม PM2.5) ที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้นไม่เพียงพอที่จะสื่อสาร “คุณภาพอากาศ” และระบุผลกระทบต่อสุขภาพของคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและสะท้อนถึงความเป็นจริง

แต่แทนที่จะยกระดับดัชนีคุณภาพให้ทันสมัยโดยรวมความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 ในการคำนวณ กรมควบคุมมลพิษได้จัดการกับวิกฤตมลพิษทางอากาศโดยรายงานค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 รายวันว่าเกินมาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรหรือไม่ การรายงานดังกล่าว แม้ว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับทราบถึงปัญหา แต่สร้างความสับสนอย่างมากต่อสาธารณะในเรื่องความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 (หน่วยเป็นไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร) และขนาด(scale)ของดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นตัวเลขไม่มีหน่วย

เมื่อพิจารณาถึงประสบการณ์ระดับสากล หลายปีที่ผ่านมา จีนได้มีความพยายามมหาศาลในการทำให้เครื่องตรวจวัดมีความทันสมัยในการวัดค่า PM2.5 แต่ก็มีหลายประเทศที่ยังไม่มีการวัดค่า PM2.5 มีเพียงการวัด PM10 ในบรรดาประเทศเหล่านั้น มีเกาหลีใต้รวมอยู่ด้วย (ยกเว้นในกรุงโซลที่มีการวัด PM2.5)

คุณภาพอากาศในเกาหลีใต้มีความคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านนั่นคือจีนและญี่ปุ่นโดยที่ดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 มักพุ่งสูงมากกว่า 200 ในขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศ PM10 ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้และต่ำกว่า 100 ดังนั้น คำถามคือเราสามารถหาดัชนีคุณภาพ PM2.5 เมื่อเรามีแต่ข้อมูลความเข้มข้นของ PM10 ได้หรือไม่?

คำตอบคือได้ เหตุผลคือมีความสัมพันธ์ที่สอดคล้องต้องกันอย่างมากระหว่างความเข้มข้นของมวลฝุ่น PM10 และ PM2.5 หลังจาก รัฐบาลเกาหลีใต้ทำการรายงานข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เป็นความเข้มข้นของทั้ง PM10 และ PM2.5 รายชั่วโมง ดังภาพด้านล่าง ก็นำไปสู่การทำแบบจำลองเพื่อหาดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 เพื่อรายงานออกสู่สาธารณะ


นอกจากนี้ การรายงานคุณภาพอากาศ (Air Quality Reporting) ที่ทันสมัยจะไม่ใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงด้วยเหตุผลหลายประการ คือ

  1. ระดับมลพิษทางอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น หมอกควันพิษข้ามพรมแดนในสิงคโปร์จากการเกิดไฟในพื้นที่ป่าพรุที่ถูกทำลายจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษในอินโดนีเซีย กระแสลมพัดขึ้นทางทิศเหนือส่งผลให้ดัชนีคุณภาพอากาศในสิงคโปร์เพิ่มจาก 50 เป็นมากกว่า 150 ในเพียงระยะเวลา 1 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้ มีการร้องขอจากกลุ่มคนที่เป็นโรคภูมิแพ้และระบบทางเดินหายใจให้มีการรายงานที่ทันต่อ เหตการณ์แทนที่จะพิจารณาจากการอ่านค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอย่างเดียว
  2. เมื่อกระแสลมเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ความเข้มข้นของมลพิษเพิ่มขึ้นหรือลดลง การรายงานดัชนีคุณภาพก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศเป็น 167 (สีแดง-มีผลกระทบต่อสุขภาพ)โดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ก็จะเข้าใจว่า “ถ้าอยู่กลางแจ้งตลอด 24 ชั่วโมง ดัชนีคุณภาพอากาศคือ 167 ตลอด 24 ชั่วโมง เราก็จะแปลความว่า คุณภาพอากาศดังกล่าวมีผลกระทบสุขภาพต่อเราตลอดทั้งวัน” ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากจากการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศรายชั่วโมง คือ “ถ้าดัชนีคุณภาพคือ 167 นั่นก็คือ ณ ชั่วโมงนั้น คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ”

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องอากาศดีคืนมาและยกระดับดัชนีคุณภาพให้ทันสมัย ได้ที่ http://act.gp/2qNm9Vm

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม