Hilight: 

  • การเวียนคืนภาชนะเกิดขึ้นมาตั้งนานแล้วในชื่อเรียกที่เราต่างคุ้นเคยนั่นคือ “การผูกปิ่นโต”
  • สร้างแรงจูงใจให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังเพราะอยากช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าแค่อยากได้ส่วนลดเวลาซื้อของ
  • ลดพลาสติกไม่ใช่ทางเดียวที่จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้ การเลือกทานอาหารก็เป็นส่วนหนึ่งเช่นกัน

ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินมาบ้างว่าในต่างประเทศได้มีการเริ่มนำโมเดลเวียนคืนภาชนะเข้ามาใช้ในธุรกิจต่าง ๆ เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์อาหาร แต่ในตอนนี้โมเดลเวียนคืนภาชนะได้เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศไทย 

Samata  สมถะ มังสวิรัติเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ร้านอาหารมังสวิรัติอบอุ่นน่ารักที่จังหวัดเชียงใหม่มีแนวคิดที่ว่าอยากให้ร้านอาหารแห่งนี้เป็นเหมือนคอมมิวนิตี้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องผัก สุขภาพ รวมถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังมีอีกมุมที่สมถะเล็งเห็นว่าเราสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมนอกจากลดการทานเนื้อสัตว์ได้ นั่นคือหันมาใช้การ “ผูกปิ่นโต” สำหรับลูกค้าที่อยากวางแผนการกินอาหารมังสวิรัติล่วงหน้า การผูกผิ่นโตคืออะไร? แล้วทำไมเราต้องวางแผนการกินด้วย?

ผูกปิ่นโตคืออะไร?

“ผูกปิ่นโต” อาจเป็นคำคุ้นหูของใครหลายคนที่ได้ยินมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กแล้ว ไม่ใช่การนำปิ่นโตมาผูกติดไปด้วยกันแล้วถือไปมา นั่นก็ใกล้เคียงความหมายที่ถูกต้อง แต่การผูกปิ่นโตในที่นี้หมายถึง เราเลือกที่จะให้ร้านอาหารเหล่านั้นทำอาหารส่งให้เราทุกวันตามข้อตกลง อาหารอาจถูกจัดส่งทุกวันติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ หรือสองอาทิตย์ และเราสามารถเลือกเมนูอาหารได้เองจากเมนูที่กำหนดไว้ หรือบางครั้งร้านเป็นคนเลือกให้

จุดเริ่มต้นของการผูกปิ่นโตกับร้านสมถะ

ริบบิ้น นิชาภา นิศาบดี เจ้าของร้านสมถะเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่เปิดร้านสมถะคืออยากเปิดร้านอาหารมังสวิรัติที่ให้คนหันมาลดการกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับความตั้งใจที่จะสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือลดการส่งเสริมอุปสงค์การผลิตเนื้อสัตว์ที่ส่งผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ การเผาไร่ข้าวโพดที่ก่อให้เกิดหมอกควันข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่นอกจากลดการกินเนื้อสัตว์แล้ว อีกลู่ทางที่สมถะได้เริ่มทำเพื่อสิ่งแวดล้อมคือ การลดใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แม้ว่าช่วงโควิดหลายร้านอาหารมีความกังวลเรื่องลูกค้าใช้ภาชนะส่วนตัวมาซื้ออาหารก็ตาม แต่ในเมื่อมีงานวิจัยรับรองว่าสามารถใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำได้ ทางร้านจึงยังเปิดให้บริการในส่วนนี้ “ทางร้านจะติดป้ายไว้ว่าสามารถนำกล่อง/แก้วน้ำส่วนตัวมาใช้บริการไว้เสมอ การใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ (reuse) คืออีกหนึ่งจุดประสงค์หลักที่เราต้องการ” ริบบิ้นเอ่ยขึ้นระหว่างการให้สัมภาษณ์

การเวียนคืนภาชนะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือ?

ในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้ผู้บริโภคส่วนมากไม่ออกจากบ้านมาจับจ่ายซื้อของตามปกติ ทางร้านเลยหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้ายังสามารถรับประทานอาหารของเราได้เหมือนเดิม เพราะริบบิ้นมีความเชื่อว่า ร้านอาหารจะเป็นปากท้องให้กับคนใกล้ตัว นี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่มีบริการ Delivery ขึ้นมา

แรกเริ่มสมถะมีบริการที่เรียกว่า Trash free delivery คือการมีกล่องประจำร้าน แพ็คอาหารใส่ให้ลูกค้าที่ทานอาหารร้านเราเป็นประจำ แต่ยังพบปัญหาว่าหากไม่เกิดการกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน บางคนอาจกินช่วงหนึ่งติดกันหนึ่งอาทิตย์แล้วหายไปเลย กล่องอาหารที่ลงทุนซื้อเพื่อใช้ซ้ำจะถูกตีกลับมาที่ร้านไม่ทันเวลา เลยปรับวิธีการใหม่โดยการที่ให้ลูกค้าที่ใช้บริการผูกปิ่นโตสามารถใช้กล่องอะไรก็ได้ที่ตนเองมี ไม่จำกัดว่าต้องเป็นกล่องจากทางร้าน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เราสามารถลดขยะที่เกิดจากบรรจุภัรฑ์พลาสติกได้ 

“การเวียนคืนภาชนะสามารถทำได้จริง ๆ นะ แต่ต้องเกิดจากการที่ลูกค้าวางแผนไว้แล้วว่าจะบริโภคอะไร เวลาไหน ผูกปิ่นโตเป็นระยะเวลานานเท่าไหร่ และส่งผลดีต่อทางร้านด้วย ตรงที่ว่าเราต้องซื้อวัตถุดิบเข้าร้านมากน้อยแค่ไหนเพื่อประกอบอาหารในแต่ละวันเพราะเราก็อยากลด Food waste ที่เกิดจากการทิ้งวัตถุดิบอาหารที่ไม่สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ”

เสียงตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างไรบ้าง?

สมถะเริ่มการเวียนคืนภาชนะมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 64 ที่ผ่านมา แต่เริ่มมาทำระบบจัดส่ง Delivery ของทางร้านเองเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีทั้งลูกค้าระยะสั้นและระยะยาวที่เลือกรับบริการผูกปิ่นโต เรียกว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้น เพราะจริง ๆ แล้วเราต้องการให้ลูกค้าได้ใช้กล่องซ้ำ วางแผนการกินอย่างเป็นระบบ ได้ลดเนื้อสัตว์จากการกินอาหารมังสวิรัติ สนับสนุนวัตถุดิบท้องถิ่นผ่านการเลือกซื้อวัตถุดิบของร้านสมถะ และที่สำคัญที่สุดคือสามารถช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมด้วยไปในตัว

“ริบบิ้นอยากให้มองว่าการใช้ซ้ำ (reuseable) ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อะไรก็ตามเป็นเรื่องง่าย ทุกคนสามารถหันมาใช้กล่องซ้ำเพราะอยากทำ ไม่ใช่ว่าทำเพื่อที่จะได้รับส่วนลดจากทางร้าน เพราะถ้าทุกคนคิดแบบนั้นจะกลายเป็นว่าพฤติกรรมใช้ซ้ำแค่ในช่วงที่มีการลดราคาเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเป็นครั้งคราวเท่านั้น การหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะมันง่าย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนมากกว่า” ริบบิ้น นิชาภา นิศาบดี เจ้าของร้านอาหารสมถะ