ชีวิตเราหมุนรอบอยู่กับระบบอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมและมรดกที่ได้รับมาตั้งแต่โบราณ จนถึงทุกวันนี้อาหารยังเป็นตัวกลางในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกด้วย แม้ว่าโลกสามารถผลิตอาหารเพียงพอต่อทุกคนได้ แต่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทำให้ยังมีอีก 811 ล้านคนที่ยังหิวโหยเช่นกัน นอกจากนี้อุตสาหกรรมการเกษตรยังส่งผลต่อสุขภาพของเราและโลกอีกด้วย

เกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมคือการเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น วัว สุกร ไก่ และการปลูกพืช เช่น ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และข้าวโพด ซึ่งการปลูกพืชในเชิงอุตสาหกรรมจะมีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ การทำปศุสัตว์หรือการปลูกพืชเชิงอุตสาหกรรมเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมักเชื่อมโยงกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

การทำฟาร์มวัวในประเทศบราซิล © Greenpeace / Daniel Beltrá

นี่คือ 4 มายาคติของการทำอุตสาหกรรมการเกษตรที่กำลังทำลายระบบอาหารของเรา

1. อุตสาหกรรมเกษตรคือผู้หล่อเลี้ยงโลกใบนี้

บริษัทเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมปลูกฝังแนวคิดที่ว่าการผลิตอาหารคุณภาพต่ำในปริมาณมากเป็นทางออกที่ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ และถ้าเป็นแบบนั้นทำไมคนจำนวนมากยังคงหิวโหย?  เหตุผลที่แท้จริงคือ อุตสาหกรรมการเกษตรนั้นไม่ใช่แค่การผลิตอาหารเพื่อคนบริโภคเท่านั้น แต่รวมไปถึง สินค้าที่จะนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงอุปกรณ์ก่อสร้าง  หรือที่เรียกว่า สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Goods)

ในปัจจุบันร้อยละ 26 ของพื้นที่บนโลกถูกใช้ไปกับเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นการทำปศุสัตว์ รวมไปถึงการทำการเกษตรเพื่ออาหารเลี้ยงสัตว์อย่าง สุกร ไก่ และวัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราทำการเกษตรเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์มากกว่าคนด้วยซ้ำ ร้อยละ 90 ของการปลูกถั่วเหลืองถูกใช้ในการทำปศุสัตว์หากรัฐบาลให้ความสนใจกับการลงทุนในเกษตรกรรายย่อย อาหารที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้จะถูกลง ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้และจะไม่มีใครต้องหิวโหย

2. ระบบอาหารของเรามีความยั่งยืน หรือ เรามีความมั่นคงของระบบอาหาร

เมื่อเราพูดถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราจะนึกถึงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงงานถ่านหิน และมลพิษทางอากาศ แต่ในความเป็นจริงแล้วร้อยละ 19 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ตามรายงานล่าสุดของ IPCC กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ก๊าซมีเทนที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เป็นภัยคุกคามวิกฤตสภาพภูมิอากาศเท่านั้น ร้อยละ 80 ของการทำอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าทั้งโลกอีกด้วย

ป่าไม้ ทุ่งหญ้า พื้นที่ชุ่มน้ำ และระบบนิเวศสำคัญอื่น ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นฟาร์มปศุสัตว์และพื้นที่เพาะปลูกอย่าง ถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตวัตถุดิบเพื่อเปลี่ยนเป็นสินค้าต่าง ๆ การถางป่าเพื่อเพาะปลูกนอกจากจะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขณะทำลายป่าแล้ว ยังสูญเสียพื้นที่ในการซึมซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสและหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราต้องหยุดการทำลายป่าไม้ ปกป้องสิ่งที่มีอยู่และฟื้นฟูสิ่งที่เสียไป

ป่าในปาปัว ประเทศอินโดนีเซียถูกทำลาย ภาพนี้ถูกถ่ายในปี 2561 © Ulet Ifansasti / Greenpeace

3. มายาคติที่บริษัทและรัฐบาลบอกว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

บริษัทและรัฐบาลต่างให้คำมั่นที่ไม่มีจริงว่าจะหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น บริษัทต่าง ๆ อย่าง Cargill, Nestlé และ Mondelez และสมาชิกรายอื่น ๆ ของ Consumer Goods Forum ให้คำมั่นว่าในปี 2563 ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตจะปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่ ณ ขณะนี้ปี 2564 เรายังเห็นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นป่าอุตสาหกรรมสำหรับผลิตวัตถุดิบสินค้าโภคภัณฑ์ บางบริษัทในกลุ่มสมาชิก Consumer Goods Forum ให้คำมั่นในการรับรองปฏิญญานิวยอร์กว่าด้วยเรื่องป่าไม้พร้อมกับผู้นำระดับโลก โดยมีเป้าหมายลดการตัดไม้ทำลายป่าลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 และเมื่อปีที่แล้ว NYDF ได้เผยผลการสำรวจการตัดไม้ทำลายป่าพบว่า บริษัทต่าง ๆ ไม่ลดการทำลายป่าไม้ลงเลยอีกทั้งยังทำลายมากขึ้น พร้อมยังโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบการฟอกเขียวและเสนอวิธีการแก้ปัญหาแบบผิด ๆ เช่น การลดคาร์บอน ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า และเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไม่สามารถยื้อเวลาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นได้

4. ยากำจัดศัตรูพืชไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

เมื่อไม่นานมานี้ อาหารที่เราบริโภคมักเป็นอาหารออร์แกนิกหรือมาจากท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่ แต่เมื่ออาหารเปลี่ยนเป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้มีการใช้ยาฆ่าแมลงมากขึ้นอย่างแพร่หลาย ทำให้อาหารออร์แกนิกหรืออาหารสุขภาพกลายเป็นอาหารราคาแพง ที่ถูกบรรจุใหม่อย่างหรูหราและกลายเป็นอุตสาหกรรมอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ได้มีการใช้ยาฆ่าแมลงหลายชนิด แต่อาหารที่ดีไม่ควรแลกกับสุขภาพที่เกิดจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก มีความเชื่อมโยงกับโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากสารเคมีเหล่านั้น เช่นโรคมะเร็ง และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร รัฐบาลควรกำหนดนโยบายเพื่อควบคุมบริษัทต่าง ๆ ในการใช้สารเคมีเพื่อการเพาะปลูก บริษัทควรหันมาใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่าผลกำไรที่จะได้จากการทำธุรกิจเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพ

ความจริงของอุตสาหกรรมการเกษตร

นี่คือความจริงที่ทุกคนเผชิญอยู่ของระบบอาหารที่เกิดจากบริษัทต่าง ๆ เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของตนและโลก ควรหยุดการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว การเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม และลดการผลิตรวมถึงบริโภคเนื้อสัตว์อย่างจริงจัง หันมาลงทุนในเกษตรกรรมรายย่อยที่ปลูกพืชที่ดีต่อสุขภาพและราคาเข้าถึงได้ เราทุกคนรู้วิธีแก้ปัญหานี้ดีอยู่แล้วเห็นได้จากชนพื้นเมืองสามารถใช้ชีวิตได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ แต่รัฐบาลและบริษัทกับทำให้สิทธิ์ พื้นที่ป่าและชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง

เกษตรกรรายย่อยทั่วโลกหันมาปลูกพืชเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน แต่ถูกผลักดันจากบริษัทให้การปลูกพืชที่ยั่งยืนเป็นอุตสาหกรรมเพื่อแสวงหาผลกำไร เราไม่สามารถปล่อยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นต่อไปได้ ผู้นำระดับโลกต้องจัดการปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหาร และระบบสินค้าโภคภัณฑ์อย่างจริงจัง