การประชุมเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ถือเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ของมนุษยชาติในการอยู่รอดท่ามกลางภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ( Climate Emergency) ด้วยเจตจำนงทางเมืองและการลงมือปฎิบัติที่เป็นรูปธรรมของประเทศทั่วโลกเพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม

เยาวชนเครือข่าย Fridays For Future ร่วมประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศ ในช่วงการประชุม COP26 ที่จัดขึ้นที่ กลาสโกลว์ สกอตแลนด์ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564

ถ้อยแถลงของผู้นำประเทศใน World Leader Summit ณ COP26 ที่กลาสโกว์ เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สะท้อนเบื้องหลังของนโยบายและมาตรการที่เกิดขึ้นจริงของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี ถ้อยแถลงบนเวทีโลกอาจกลายเป็นเพียงสัญญาที่ว่างเปล่าหากการลงมือทำจริงกลับสวนทาง เช่นถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ตอนหนึ่ง “…ผมมั่นใจว่า ประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์โดยสุทธิภายในปี 2065…”

ปรับ NDC 40% ทำได้เลย

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอ้างถึงเป้าหมายใหม่ 40% ของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 หรือ NDC) อย่างไรก็ตาม ในเอกสารฉบับปรับปรุงล่าสุดที่ส่งไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) ในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 นั้นยังเป็นเป้าหมายเดิมคือ การลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี 2563 ที่ 20-25% จากกรณีปกติ

เป้าหมาย 40% ในถ้อยแถลงที่กลาสโกว์ มาจากไหน? การแถลงข่าวในวันที่ 27 ตุลาคม 2564โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เรื่องกรอบท่าทีการเจรจาของไทยในการประชุม COP26 ก็ระบุเพียงว่าจะมีการ ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หรือ Net Zero ปี 2065 (พ.ศ.2608)  แต่ไม่เอ่ยอ้างเป้าหมาย NDC 40% แต่อย่างใด

การคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในกรณีปกติ(business as usual) ในปี 2573 (ยังไม่รวมภาคการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้) ภายใต้แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573(NDC) อยู่ที่ 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หากพิจารณาเป้าหมาย NDC 40% ตามถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีไทยที่กลาสโกว์ ก็หมายถึงมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ภายใต้ NDC 40% ก็คือ 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ส่วนในยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 โดยจัดส่งไปยัง UNFCCC ก่อน COP26 ได้ไม่นาน ระบุว่า ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในระยะครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และก่อนจะไปถึงจุดนั้น จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด (Peak GHG emission) ที่ 370 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2573

เราพอที่จะสรุปในเบื้องต้นได้ว่า เป้าหมาย NDC 40% ในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กลาสโกว์ นั้นสอดคล้องไปกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสูงสุดในปี 2573 หรือ Peak Greenhouse Gas Emission ของยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ความแตกต่างระหว่างระหว่าง NDC 40% (333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) และ LT-LEDS (370 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) น่าจะมาจากการอ้างอิงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกันในปี 2548 ที่ใช้เป็นปีฐาน(base year)

ในเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศให้ชาวโลกรับรู้ถึง NDC 40% แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ส.ผ.) ก็ไม่ควรรอไปจนถึงปี 2566 ที่จะต้องปรับ NDC ใหม่ ตามแผนที่วางเอาไว้ เราต้องการเห็นการลงมือทำ และ ส.ผ.สามารถทำได้เลย

ที่มา : THE STANDARD

ปลดระวางถ่านหินของไทยช่วยให้ NDC 40% ซึ่งนายกรัฐมนตรีแถลงที่ COP26  เป็นจริง

ภายใต้ NDC ปัจจุบัน เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งอยู่ที่ 113 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2573

แม้ว่าในกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ได้ระบุว่า จะมีการกำหนดนโยบายที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ปี 2593 เป็นต้นไป แต่นั่นคือการถ่วงเวลา

ในรายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย(Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)’ โดยกองทุนแสงอาทิตย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะและกรีนพีซ ประเทศไทย รัฐบาลไทยสามารถเลิกใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าและเลิกนำเข้าไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580 ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 129 และ 239 ล้านตันตามลำดับ โดยที่ยังสามารถคงความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในระดับกำลังผลิตสำรองมากกว่าร้อยละ 15 ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสุงสุดได้ตลอดช่วงปี 2564-2580

หรือหากจะพิจารณาตามกรอบเวลาปี 2573 ภายใต้ NDC การปลดระวางถ่านหินของไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้จริง 194 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือลดได้ 35% จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นไปตามปกติ

Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike Thailand หรือเยาวชนร่วมพลังปกป้องสภาพภูมิอากาศ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับรัฐบาลเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งให้พันธะสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมายการกำจัดถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2568 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

ความกล้าหาญหรือขลาดเขลา?

ในช่วงท้ายของถ้อยแถลงบนเวที World Leaders Summit ใน COP26 ที่กลาสโกว์ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “…ดังนั้น  มนุษย์จะต้องมีความกล้าหาญ มีความชาญฉลาด มีการรู้คิด มีความอดทนสูงสุด เพื่อนำชัยชนะมาสู่ลูกหลานของเรา…”

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรีจะมีความกล้าหาญปลดระวางถ่านหินของประเทศไทยหรือไม่ หรือจะบ่ายเบี่ยงไปสู่เส้นทางของการชดเชยคาร์บอนซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวงและเร่งเร้าให้เกิดการแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรไปจากชุมชนท้องถิ่น สร้างความขัดแย้งทางสังคมต่อไปไม่สิ้นสุด

เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการปลดระวางถ่านหินในรายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย(Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)’

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
รัฐบาลไทยต้องหยุดฟอกเขียว! เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ

ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รัฐสภาซึ่งเป็นที่ประชุมระดับชาติของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ต้องเป็นผู้นำประกาศ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ (climate emergency declaration)”

มีส่วนร่วม