การประชุมเจรจา COP26 ที่กลาสโกว์ หรือการประชุมรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ เป็นเวทีเจรจาระดับโลกที่ว่าด้วยวิกฤตโลกร้อนโดยมีผู้มีอำนาจตัดสินใจหลายภาคส่วนมารวมตัวกัน ทั้งผู้นำประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของโลก โดยมีเป้าหมายคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่เคยตกลงกันที่ปารีสเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งหากเกินกว่านั้นจะยากที่จะรักษาสมดุลไว้ แม้ว่า COP26 ที่กลาสโกว์ จะไม่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหนึ่งใน 4 เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรม แต่การที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 19 ของการปล่อยเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลกตามข้อมูลล่าสุดของรายงาน IPCC เราจะมาสำรวจประเด็นดังกล่าวนี้กัน

การประชุม COP26 อ้างว่าเสิร์ฟอาหาร plant-based เป็นส่วนใหญ่ และร้อยละ 80 ของวัตถุดิบที่ใช้นั้นมาจากในสกอตแลนด์ และมีข้อมูลระบุว่ามีคาร์บอนฟุตปรินท์มากน้อยแค่ไหนในแต่ละเมนู ซึ่งแน่นอนว่าเมนูที่เสิร์ฟเนื้อสัตว์ก็เพียงแค่ระบุไว้ว่ามีการก่อก๊าซเรือนกระจกมากน้อยแค่ไหน เช่น เทียบสัตว์ส่วนระหว่าง ไก่ ปลาแซลมอน และเนื้อวัว โดยข้อมูลจาก Vegnews กล่าวว่า โดยรวมแล้วเมนูเกินครึ่ง (ร้อยละ 58) เป็นแค่เมนู “plant-forward” ไม่ใช่ plant-based และมีเนื้อสัตว์เป็นหลัก 

ซึ่งน่าเศร้าอย่างยิ่งที่แม้แต่เมนูอาหารก็ยังเป็นอีกหนึ่งวาระการฟอกเขียวของการเจรจาโลกร้อนที่ขาดความตระหนักและการลงมือทำ ทั้งในเชิงนโยบายและรายบุคคลของกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย

ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น การผลิตอาหารไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของเจ้าภาพการประชุม COP26 และมีองค์กรด้านอาหารหลายแห่งได้ออกมารณรงค์ให้ผู้นำ COP26 หันมาลงทุนในอาหาร plant-based มากขึ้น และใส่ใจกับปัญหาจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มากขึ้น แต่สิ่งที่มีการเจรจาที่กลาสโกว์ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรง คือการทำลายป่าไม้และการใช้ที่ดิน โดยที่ราวร้อยละ 80 นั้นเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเกษตร ปัญหาการทำลายป่าอันเป็นปอดของโลกอย่างแอมะซอนก็สูญเสียให้กับการปลูกพืชและเลี้ยงปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม โดยมีป่าขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอลถูกทำลายไปทุกนาที 

Global March for the Climate in Buenos Aires. © Marcela Casarino / Greenpeace
© Marcela Casarino / Greenpeace

ความคืบหน้าที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีแค่การให้คำมั่นของรัฐบาล 28 ประเทศ (ในการลงนามยุติการทำลายป่าจาก 105 ชาตินั้น) ขจัดการตัดไม้ทำลายป่าออกจากการค้าอาหารโลก และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง และโกโก้ อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลสำคัญในการลงนามครั้งนี้ ขอบเขตการยุติการทำลายป่าภายในปี 2573 นั้นกว้างเกินไป นั่นหมายความว่ายังมีเวลาอีกสิบปีในการเดินหน้าทำลายป่า และนี่อาจจะเป็นเหตุที่รัฐบาลบราซิล หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการทำลายป่าสูงสุดในโลกรู้สึกพึงพอใจที่จะลงนาม ในขณะที่ชนพื้นเมืองของบราซิลนั้นเรียกร้องให้ป่าแอมะซอนได้รับการคุ้มครองภายในปี 2568  ข้อสังเกตอีกประการคือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการลงนามในประเด็นเรื่องการยุติการทำลายป่า ทั้งจากผู้นำรัฐบาล และฝ่ายอุตสาหกรรมแบรนด์ดัง ผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ เคยให้ไว้ และในทุกปีเรายังคงเห็นพื้นที่ป่าที่หายไปมากขึ้น สิทธิชนพื้นเมืองที่ถูกริดรอน แต่กลับเห็นการเพิ่มขึ้นของมลพิษทางอากาศ และความหิวโหยของประชากรโลก นอกจากนี้โรคระบาดอุบัติซ้ำและอุบัติใหม่หลายต่อหลายครั้งก็ยังเชื่อมโยงกับการรุกล้ำพื้นที่ป่าและสัตว์ป่า 

ผู้นำระดับโลก และการเจรจา COP26 กำลังล้าหลังในการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ผู้นำรัฐบาลและอุตสาหกรรมจะต้องหันมาลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังบ้าง ทั้งทางนโยบายและการปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เป็นเรื่องของผู้บริโภคเพียงผู้เดียว รัฐบาลควรจะจัดการกับปัญหาด้วยมาตรการที่ครอบคลุมเรื่องระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง ผู้บริโภคถึงจะมีทางเลือกมากพอในอาหารของเราได้  

ข้อเสนอของกรีนพีซในการเดินหน้าแก้ไขวิกฤตโลกร้อนจากภาคส่วนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และเกษตร เพื่อประโยชน์ต่อผู้คน ธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างเท่าเทียมกัน มีดังนี้ 

  • เพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ IPCC ในประเด็นเรื่องความเร่งด่วนในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ทิศทางต่อไปของ “การทำงานร่วม Koronivia” (Koronivia Joint Work on Agriculture: KJWA) ซึ่งสนับสนุนโดยองค์กรที่จัดขึ้นภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะต้องสำรวจแนวทางต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การลดการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องมีโครงสร้างการทำงานที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ การปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม
  • มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ KJWA จะต้องแนะนำให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ (ไม่ใช่เพียงแค่แนะนำความเข้มข้นในการปล่อย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์และนมรายสำคัญของโลก การลดจำนวนสัตว์ในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ลงนั้นจะส่งผลให้ลดปริมาณการใช้พืชอาหารสัตว์ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการทำลายป่า ความไม่มั่นคงทางอาหาร และการแย่งชิงที่ดิน ไม่ใช่เพียงแค่การโปรโมทกลยุทธ์ในการให้ผู้ปล่อยคาร์บอนซื้อการหักลบกลบหน่วยจากคาร์บอนในดิน และหันมาส่งเสริมมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยคาร์บอนในการผลิตอย่างแท้จริง
  • นอกจากลดการผลิตแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนอาหารและเกษตรให้อยู่ในขอบเขตที่สภาพภูมิอากาศโลกจะรับได้ ยังรวมถึง การลดการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนม เพิ่มการบริโภคโปรตีนจากผัก ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกจากภาคส่วนปศุสัตว์ รวมถึงยังตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ
  • เปลี่ยนการลงทุนและการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ไปสู่เกษตรกรรายย่อย และเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะลดการใช้ปุ๋ยปริมาณมาก ลดการผลิตพืชอาหารสัตว์ และการผลิตเกินขนาดของอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงยังลดการแย่งชิงที่ดินอย่างไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่หรือคนพื้นเมือง 
ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม