ด้วยเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในพื้นที่จังหวัดกระบี่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำเสียและขยะซึ่งก่อเสียงบ่นจากนักท่องเที่ยวเป็นระยะ คุณอุ๊ อันติกา ศรีรักษา ผู้จัดการทั่วไปของปกาสัย รีสอร์ต จึงใส่ใจวางแผนจัดการขยะอินทรีย์ตั้งแต่ก่อนจะทำระบบหมุนเวียนน้ำทิ้งกลับมาใช้ซ้ำ และเป็นโรงแรมแรกในโซนอ่าวนางที่เลือกใช้ระบบหมักก๊าซชีวภาพเพื่อกำจัดเศษอาหาร

ก๊าซชีวภาพหรือไบโอแก๊ส (Biogas) คือผลลัพธ์จากปฏิกิริยาการย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ฯลฯ โดยจุลินทรีย์ในสภาวะไร้ออกซิเจน

มันเป็นก๊าซผสมที่มีมีเทนเป็นส่วนประกอบหลัก (ร้อยละ 65) รองลงมาคือคาร์บอนไดออกไซด์ (ร้อยละ 30) และก๊าซอื่นๆ เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ไนโตรเจน ไฮโดรเจน ฯลฯ จึงมาพร้อมคุณสมบัติติดไฟได้ดี สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้มหรือเป็นแหล่งพลังงานความร้อนที่ต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อีกหลากหลาย อาทิ ขับเคลื่อนเครื่องจักร ผลิตไฟฟ้า

อย่างที่รู้กัน ทั้งมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ การดักมันไว้ในระบบหมักแล้วนำมาใช้งานจึงเหมาะสมอย่างยิ่งในยุคที่ปัญหาโลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

มงคล วงษ์ชาลี หัวหน้าช่าง เล่าถึงจุดเริ่มต้นในปี 55 ว่า มีโอกาสไปศึกษากระบวนการผลิตแก๊สชีวภาพจาก อาจารย์สงวน มงคลศรีพันเลิศ ปราชญ์แห่งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขากลม ต.หนองทะเล อ.เมือง จ.กระบี่ เรียนรู้จนเข้าใจแล้วลงมือปฏิบัติกับระบบหมักก๊าซชีวภาพแบบถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร จึงใช้เวลาลองถูกลองผิดเพียงไม่นาน

“อันดับแรกเติมมูลวัว หมักประมาณ 15-20 วันแล้วแต่อากาศ ถ้าช่วงหน้าฝนก็ขึ้นช้า ถ้าช่วงแดดดีอากาศร้อนๆ ก็ขึ้นเร็ว หลังจากนั้นค่อยเติมเศษอาหาร”

เพราะเป็นระบบเล็ก แม้จะเพิ่มถังเก็บและลองอัดบางส่วนเข้าถังแก๊สหุงต้ม แต่ปริมาณก๊าซชีวภาพที่ได้ก็เพียงพอแค่จุดเตาในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 20-30 นาที จึงใช้เป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำสมุนไพรเพื่อเสิร์ฟต้อนรับลูกค้าเท่านั้น

ราวปี 2558 ปกาสัย รีสอร์ต ขยายระบบหมักก๊าซชีวภาพเป็นแบบบอลลูนความจุ 5 ลูกบาศก์เมตร โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ยกชุดจากมูลนิธิใบไม้เขียว ระบบใหญ่ขึ้นรองรับเศษอาหารได้ถึงวันละ 40-60 กิโลกรัม สามารถผลิตก๊าซชีวภาพปริมาณมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วก๊าซชีวภาพมีความดันค่อนข้างต่ำ หากเป็นการใช้งานระดับครัวเรือนก็ต้องตั้งเตาแก๊สใกล้ระบบหมักในระยะที่มันยังไหลผ่านท่อมาถึงได้ บางแห่งจึงเพิ่มแรงดันง่ายๆ โดยใช้ก้อนหินหรือยางรถยนต์วางทับบนถังเก็บก๊าซชีวภาพ

แต่สำหรับที่นี่ นายช่างมืออาชีพอย่างพี่มงคลเรียนรู้ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตด้วยตนเองแล้วติดตั้งตัวอัดแก๊สซึ่งดัดแปลงจากคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ เพื่อเพิ่มแรงดันในการลำเลียงก๊าซชีวภาพผ่านท่อไปยังห้องครัวพนักงานที่อยู่ห่างไกล ซึ่งมันก็ทำงานดีเยี่ยม แม่ครัวยืนยันเองว่า เร่งไฟได้ไม่ต่างจากการใช้แก๊สหุงต้ม

ล่าสุดเพิ่งติดตั้งมิเตอร์เพื่อเก็บตัวเลขปริมาณแก๊ส พบว่าตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ครัวพนักงานใช้ก๊าซชีวภาพไปทั้งสิ้น 41 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากยึดตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานที่ระบุว่า ก๊าซชีวภาพ 1 ลูกบาศก์เมตรสามารถทดแทนการใช้แก๊สหุงต้ม LPG ได้ 0.46 กิโลกรัม ก็เท่ากับประหยัดแก๊สหุงต้มได้เกือบ 19 กิโลกรัมต่อเดือน

แม้จะยังไม่มีการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ในส่วนนี้ แต่ถ้าทุกวันที่เติมเศษอาหารเข้าระบบคือทุกวันที่มีก๊าซชีวภาพใช้ฟรี ก็แปลว่าประหยัดเงินได้ไม่รู้จบนั่นเอง

หากถอยออกมามองภาพใหญ่ ขยะอินทรีย์ทั้งหมดของปกาสัย รีสอร์ต จะถูกแยกเป็น 4 ส่วนเพื่อจัดการต่อด้วยวิธีที่แตกต่างกัน

หนึ่ง…เปลือกสับปะรด (ร้อยละ 9) แยกไปทำน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งต่อยอดใช้เป็นวัตถุดิบผลิตน้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาดอเนกประสงค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งใช้เองภายในโรงแรมและจำหน่ายแก่ผู้สนใจทั่วไปในราคาย่อมเยา

สอง…เศษอาหารป้อนระบบหมักก๊าซชีวภาพ ต้องไม่มีเศษกระดูก ก้างปลา และอาหารรสเปรี้ยว (ร้อยละ 35)

สาม…เศษอาหารที่เหลือ (ร้อยละ 34) มีคนมารับซื้อไปเลี้ยงสัตว์

และสี่…ขยะเศษใบไม้จากสวน (ร้อยละ 22) รวบรวมเพื่อผลิตปุ๋ยหมัก

เรียกว่า ใช้ประโยชน์หมดเกลี้ยง ไม่มีขยะอินทรีย์ส่วนใดที่ถูกทิ้งขว้างให้เน่าเหม็นเป็นปัญหาเลย
เพราะดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น การันตีด้วยรางวัล ASEAN Green Hotel Awards 2014 สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่จึงเลือกปกาสัย รีสอร์ต เป็นสถานที่จัดอบรม Green Engineer และ Green Housekeeping อยู่บ่อยครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้โรงแรมที่สนใจเข้ามาร่วมเรียนรู้

แม้จะเพิ่มภาระให้ทีมงาน เพราะหลังจบคอร์สอบรมมักมีโรงแรมรีสอร์ตติดต่อขอศึกษาดูงานอยู่เป็นระยะ แต่คุณอุ๊ก็เล็งเห็นว่า การจัดอบรมแบบได้ฟังคำอธิบายจากคนที่ลงมือจริงและได้เห็นภาคปฏิบัติในสถานที่จริงช่วยเพิ่มความเข้าใจและสร้างความตระหนักในกลุ่มคนโรงแรมได้มาก

“เมื่อก่อนคนเข้าใจแค่ไม่ใช้น้ำดื่มขวดพลาสติก เปลี่ยนหลอดไฟ LED แต่ปัจจุบันมันมีหลายอย่างที่เอื้อให้เราทำได้มากกว่านั้น”

สำหรับข้อมูลเชิงเทคนิคของเรื่องกรีนต่างๆ ที่นี่ยินดีเปิดเผยเต็มพิกัด อย่างเรื่องไบโอแก๊สซึ่งได้รับความสนใจมาก พี่มงคลและทีมช่างก็พร้อมบอกรายละเอียดทั้งหมด ไม่ใช่แค่ขั้นตอนวิธีการทำ แต่ลงลึกถึงวัสดุอุปกรณ์ แหล่งซื้อ และเทคนิคต่างๆ หรือเรื่องห้องพักกรีน ชาเลต์ ก็เปิดห้องและอธิบายให้แม่บ้านโรงแรมอื่นเข้ามาดูอย่างใกล้ชิด

“เราอนุญาตให้ถ่ายภาพได้หมดเลย หรือจะนำข้อความไปใช้ก็ไม่เป็นไร เพราะเราจะไม่หยุดแค่นี้ ยังมีเรื่องกรีนอื่นๆ ต้องทำต่อ ปีหน้าเราก็จะคิดอะไรใหม่ได้อีก มันเป็นเรื่องของการสั่งสมประสบการณ์และการมีทีมที่แข็งแรงที่ช่วยกันระดมความคิด เราเองยังใช้เวลาตั้ง 9 ปีกว่าจะมาถึงตรงนี้” คุณอุ๊กล่าว

ต้นแบบโรงแรมสีเขียวอย่าง ปกาสัย รีสอร์ต เต็มใจแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ เพราะเห็นคุณค่าของการบอกต่อ ซึ่งนอกจากจะช่วยขยายแนวร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ในระยะยาวยังจะทำให้ภาพรวมของธุรกิจโรงแรมในจังหวัดกระบี่ดีขึ้นและเป็นปลายทางสีเขียวระดับโลกของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง

หมายเหตุ
ปกาสัย รีสอร์ต เป็นสมาชิกกลุ่มแนวหน้า (Frontier Group) ของโครงการ Zero Carbon Resorts ซึ่งดำเนินงานตั้งแต่กลางปี 57 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรวิชาการในประเทศออสเตรีย สเปน และฟิลิปปินส์ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหภาพยุโรป