การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหยียดเชื้อชาติไม่ได้สิ…ใช่ไหมนะ?

ในฤดูร้อนนี้อากาศร้อนสุดขั้วแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบถึงผู้คนทั่วโลก แต่เราไม่อาจเพิกเฉยความจริงที่ว่าคนผิวสีมักเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ

ในทางสถิติ คนผิวสีมีเปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากกว่า อาทิ อุทกภัย คลื่นความร้อน ภัยแล้ง ไฟป่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หากวิกฤตการณ์รุนแรงขึ้น สถานการณ์ของคนกลุ่มนี้จะเลวร้ายลงไปอีก

ภาพใหญ่ของทั้งโลก

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ มีภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลกทุกสัปดาห์ ส่วนมากมักเกิดที่ประเทศกำลังพัฒนาที่มักถูกเรียกว่าเป็น ‘กลุ่มประเทศซีกโลกใต้ (Global South)’ อาทิ อินโดนีเซีย โคลัมเบีย และเคนย่า

ในข่าวต่าง ๆ มักไม่ค่อยให้ข้อมูลว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น สภาพอากาศสุดขั้วเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้นเป็นผลจากภูมิอากาศผิดปกติ

เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่ผู้ที่สร้างปัญหาน้อยที่สุดกลับได้รับผลกระทบมากที่สุด

นักวิจัยแห่งอ็อกแฟมพบว่าผู้คนที่สหราชอาณาจักรบางคนใช้เวลาเพียง 5 วันในการปล่อยคาร์บอนก็เทียบเท่าชาวรวันดาบางคนที่ใช้เวลาทั้งปี ในวันที่ 12 มกราคมของทุกปี ค่าเฉลี่ยการปล่อยมลพิษเฉลี่ยของชาวอังกฤษจะแซงอัตราการปล่อยมลพิษต่อหัวของประเทศในทวีปแอฟริกา 6 ประเทศ คือ มาลาวี เอธิโอเปีย อูกานดา มาดากัสการ์ กินี และ บูร์กินาฟาโซ

ทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้น

รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ในประเทศซีกโลกเหนือ (the global north) มีส่วนทำให้คนผิวสีเป็นฝ่ายรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความไม่เท่าเทียมนี้เกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติย้อนหลังไปกว่าหลายร้อยปี

หลายประเทศในซีกโลกใต้

คำว่า ‘ประเทศซีกโลกใต้’ มักถูกใช้อ้างถึงประเทศที่มีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจน้อยกว่า มีประวัติศาสตร์การถูกปกครองอาณานิคมยาวนาน ในช่วงนั้นทรัพยากร ที่ดิน แรงงานถูกขโมยไปโดยเจ้าอาณานิคมชาวยุโรป สังคม และเศรษฐกิจทั่วทั้งอเมริกาใต้ แอฟริกา เอเชีย ถูกปรับใหม่เพื่อประโยชน์ของจักรวรรดิยุโรป

มรดกจากการล่าอาณานิคมยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน ระบบการค้าโลกถูกจัดตั้งเพื่อให้ประโยชน์ต่อประเทศตะวันตก บริษัทต่าง ๆ ยังคงเอาเปรียบผู้คน และสิ่งแวดล้อมในประเทศซีกโลกใต้ผ่านอุตสาหกรรมที่ขูดรีดแรงงาน อาทิ การขุดเหมือง และ การผลิตเสื้อผ้าตามกระแส (Fast Fashion)

การเอาเปรียบนี้ทำให้ประเทศซีกโลกใต้ไม่สามารถจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ พวกเขามีโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจที่อ่อนแอ และมักจะไม่สามารถกู้ยืมเงินที่จำเป็นเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

ควรจะโทษใครดี?

ไม่ควรกล่าวโทษรอยเท้าคาร์บอนของผู้คนในประเทศซีกโลกเหนือในเมื่อผู้ก่อมลพิษที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในประเทศซีกโลกเหนือ บริษัทเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการสร้างปัญหาต่อสภาพภูมิอากาศที่เหล่าผู้คนในประเทศซีกโลกใต้ต้องเผชิญ (ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยต้องรับมือกับปัญหานี้เช่นกัน)

ในปี 2560 รายการตัวการปล่อยคาร์บอนหลัก (the Carbon Majors Report) พบว่าบริษัท 100 แห่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 71% ของโลกตั้งแต่ปี 2531 บริษัทส่วนมากในนี้ทำกำไรแก่ผู้ถือหุ้นในประเทศซีกโลกเหนือ

การล่าอาณานิคมถูกกระตุ้นโดยการเอาเปรียบผู้คนและทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม บริษัทและรัฐบาลต่าง ๆ ดำเนินการแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน

สถานการณ์ในสหราชอาณาจักร

ผลกระทบอันอยุติธรรมของวิกฤตสภาพภูมิอากาศนี้ไม่ได้เกิดขึ้นไกลตัวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อชุมชนที่มีรายได้น้อย และชาวผิวสีที่อังกฤษด้วย

ชาวแอฟริกัน และผู้คนแถบคาริเบียนได้รับมลพิษทางอากาศมากกว่าชนชั้นนำในสหราชอาณาจักร อัตรามลพิษทางอากาศย่ำแย่ที่สุดของประเทศมักจะเกิดในละแวกที่อยู่อาศัยของชาวผิวสี สิ่งนี้ทำให้วิกฤตสาธารณสุขแย่ลงไปอีก มลพิษทางอากาศคือปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมายซึ่งผู้หญิงผิวสีต้องทนทุกข์ทรมานในระดับที่น่าตกใจ

คนผิวสีในสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในบ้านคุณภาพต่ำที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และไม่พร้อมรับมือกับอากาศร้อนสุดขั้ว  เช่นเดียวกับผู้คนในประเทศซีกโลกใต้ที่มีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยงแปลงสภาพภูมิอากาศได้น้อย ผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศซีกโลกเหนือประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมนี้เช่นกัน

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด สิ่งนี้เกิดขึ้นจากการเหยียดเชื้อชาติเชิงโครงสร้าง (structural racism) ที่คนผิวสีในยุโรปและอเมริกาเหนือมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในบ้านคุณภาพต่ำในเขตโรงงาน ที่ซึ่งพวกเขามีแนวโน้มได้รับมลภาวะมากกว่า

ทำอะไรได้บ้าง?

ขณะที่คนผิวสีในประเทศซีกโลกใต้เป็นแนวหน้าเผชิญผลกระทบของภูมิอากาศ  พวกเขายังเป็นกลุ่มแรกที่ต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม

สนับสนุนคนผิวสีที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมคือหนทางที่มีประสิทธิภาพในการหยุดผลกระทบอันอยุติธรรมของการเปลี่ยงแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ชนพื้นเมืองผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่หนึ่งส่วนสี่ของโลก เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพถึง 80% ของโลก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์ความรู้ของชนพื้นเมืองคือการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เป็นเวลาหลายพันปีที่วิถีของคนผิวสีกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ด้วยการทำเกษตรยั่งยืน การจัดการไฟป่า ทักษะการจัดการของเสียของพวกเขาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าการแก้ไขปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม

คนผิวสีกุมทางออกของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงควรทำให้พวกเขามีทรัพยากรและอิสระที่จะนำทางแก้เหล่านี้ไปใช้จริง โดยพื้นฐานแล้วเราไม่อาจชนะการต่อสู้กับความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศได้ หากไม่จัดการกับการเหยียดเชื้อชาติ เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทต่าง ๆ ให้รีบต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  สิ่งนี้จะช่วยแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติที่ฝังรากลึก  เพื่อสร้างสังคมที่ดีและเท่าเทียมขึ้น