*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอลัมน์ Coastal Lives during Covid-19  
ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่กับทะเล ทั้งในอุตสาหกรรมประมงไปจนถึงชุมชนชายฝั่ง  
ผลกระทบและชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของโควิด-19 


หากยังพอจำกันได้ เมื่อปลายปี 2563 เกิดการระบาด “โควิดระลอกใหม่” ที่จังหวัดสมุทรสาคร นำมาซึ่งประกาศล็อกดาวน์ทั้งจังหวัด คนงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งถูกกักไว้ภายใน “พื้นที่สีแดง” รถไฟทั่วประเทศห้ามคนงานข้ามชาติใช้บริการ นโยบายภาครัฐเหล่านี้ถูกตั้งคำถามถึงสิทธิมนุษยชนของคนงานข้ามชาติที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย จนก่อเกิดกระแสเรียกร้องสิทธิคนงานข้ามชาติ 

ผ่านมาเกือบปี กระแสดังกล่าวเริ่มเบาบางลงไป แล้วตอนนี้คนงานข้ามชาติโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารทะเลมีชีวิตเป็นอย่างไร วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไปแค่ไหนหลังการระบาดโควิด ? 

ชีวิตก่อนโควิดระบาด 

เท้าความกลับไปก่อนยุคโควิด-19 แรงงานประมงในประเทศไทยต้องเผชิญกับความลำบากอยู่ก่อนแล้ว หลายคนเดินทางมาด้วยหวังจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดเพื่อจุนเจือครอบครัว

แต่ด้วยราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ผนวกกับทรัพยากรประมงที่ลดลง ทำให้เรือประมงบางส่วนเลือกใช้การขนถ่ายปลากลางทะเลเพื่อประหยัดต้นทุน แรงงานที่ทำงานบนเรือประมงเหล่านี้จึงต้องทำงานอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน ทำงานยาวนานในแต่ละวัน 

ชาวประมงกำลังแยกปลาบนเรืออวนลากที่อ่าวไทย | © Athit Perawongmetha / Greenpeace

อย่างในปี 2562 รายงานพิเศษจาก The Irish Times เผยว่าแรงงานกัมพูชาและพม่าที่ทำงานบนเรือประมงสัญชาติไทย ถูกหลอกให้ขึ้นเรือประมง และต้องทำงานในสภาพการทำงานที่โหดร้าย 

หนึ่งในผู้เคราะห์ร้ายคือ ลาง หลอง (Lang Long) ชาวประมงวัย 30 ปีจากพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา ที่เล่าว่า เขาถูกหลอกว่าจะได้มาทำงานก่อสร้างในเมืองไทย ก่อนถูกขายขึ้นเรือด้วยราคา 530 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16,000 บาท)

ระหว่างอยู่บนเรือ ลาง หลอง ต้องทำงานอย่างหนัก ความผิดพลาดเพราะไร้ประสบการณ์ประมงทำให้เขาถูกเฆี่ยนตีด้วยท่อนไม้หรือท่อนเหล็ก ก่อนศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล สเตลล่า มาริส จะระดมเงินซื้ออิสรภาพให้ลาง หลอง ด้วยเงิน 25,000 บาท 

นอกจากต้องเจอกับสภาพการทำงานที่โหดร้ายอย่างกรณีของ ลาง หลอง แล้ว ปัญหาอื่น ๆ ที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ ได้แก่ ไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงไว้  บ้างฝากเอกสารไว้กับนายจ้างแล้วไม่ได้คืนจนต้องดำเนินการขอเอกสารเอง เป็นภาระที่ตนไม่ได้ก่อ 

อย่างไรก็ตาม นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา เล่าให้เราฟังว่า หลังปี 2557-58 ประเทศไทยมีการปรับปรุงการประมงขนานใหญ่ แก้กฎหมายแรงงาน ควบคุมการเข้าออกเรือประมง จนทำให้ในระยะหลังสถานการณ์ประมงเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะปัญหาค่าจ้างที่ลดน้อยลง  

นาตยา เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา

“พอมีการปรับปรุงกฎหมายก็มีเรื่องของการทำเอกสารสัญญาจ้าง เอกสารสัญญาจ้างก็พยายามทำให้มีทั้งสองภาษา ระบุเรื่องค่าจ้างรายเดือน อ้างอิงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดนั้น ๆ ไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท สำหรับลูกเรือ เรื่องค่าแรงเท่าที่เราเจอช่วงหลังการปรับปรุงกฎหมายเริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น” นาตยา กล่าว 

ในขณะที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ประมงไทยกลับต้องมาเผชิญโควิด-19 จนทำให้การพัฒนาต้องหยุดชะงัก 

แรงงานประมงยุคโควิด-19 

ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดช่วงต้นปี 63 รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการระบาด เช่น การห้ามรวมกลุ่ม  ปิดสถานที่สาธารณะ และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปทำงาน กระทบกับการดำเนินกิจการและแรงงานในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการออกมาตรการมาช่วยเยียวยา

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประมงเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยกเว้นและยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ มาตรการต่างๆจะมาในรูปแบบขอความร่วมมือ เช่น ให้แรงงานรักษาระยะห่าง มีการทำความสะอาดท่าเรืออยู่เรื่อยๆ และไม่ให้แรงงานเดินทางออกนอกพื้นที่ เมื่อต้องการของใช้ส่วนตัว แรงงานจึงต้องฝากกัปตันเรือ หรือหัวหน้าคนงานไปซื้อให้ 

ส่วนชาวประมงที่ทำงานบนเรือส่วนมากไม่ได้รับผลกระทบมากนักในแง่ของรายได้ จากรายงาน “โครงการสํารวจผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” แรงงานร้อยละ 59 มีรายได้ไม่ต่างจากเดิมมากนัก และร้อยละ 38 มีรายได้ลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 3,956 บาท

แต่สิ่งที่พวกเขาได้ผลกระทบคือ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเยียวยาจากนโยบายรัฐ และสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพ ทั้งการตรวจโควิดและวัคซีน เนื่องจากขีดจำกัดทางทางภาษาและการใช้เทคโนโลยี  ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของสุขภาพและความมั่นคงของรายได้มากขึ้น 

“แรงงานข้ามชาติเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับพิจารณาในเรื่องของวัคซีน อย่างนโยบายบอกว่าคนบนผืนแผ่นดินไทยทุกคนจะได้รับวัคซีน พอปฏิบัติจริง มันก็มีระดับของการที่คนจะเข้าถึงว่าใครเข้าถึงก่อน ใครเข้าถึงหลัง” นาตยา อธิบาย

“เรามักจะใช้วลีที่สวยเสมอว่า แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มประชากรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่พอการพิจารณาในเรื่องของการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ สิทธิพื้นฐาน พวกเขามักเป็นกลุ่มสุดท้าย มันย้อนแย้งกันเองในการประกาศเชิงนโยบายกับการปฏิบัติ การควบคุมโรคต้องมีความเท่าเทียมและทั่วถึง” 

แรงงานข้ามชาติในโรงงานแปรรูปและประมงต่อเนื่อง


โดยทั่วไปแล้ว แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างแรงงานแปรรูป จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน หรือประมาณ เดือนละ 9,699 บาท 

แต่จากการสำรวจ กลับพบว่า 1 ใน 5 ของแรงงานในโรงงานแปรรูป และเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานในกิจการประมงต่อเนื่องกลับได้รับค่าเฉลี่ย 6,789 บาท หรือน้อยกว่านั้นเสียอีก 

Credit : Patipat Janthong / Oxfam

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆอีก เช่น ไม่มีการรับประกันจำนวนวันทำงานต่อเดือน และกว่า 1 ใน 7 ของแรงงานในโรงงานแปรรูปได้รับค่าจ้างตามชิ้นงานที่ผลิต นั่นหมายถึงแรงงานที่ทำงานช้า ต้องใช้เวลาทำงานต่อวันยาวนานจึงจะได้ค่าตอบแทนขั้นต่ำ  

การระบาดของโควิดยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก เมื่อแรงงานโดนลดวันทำงาน บ้างต้องหยุดงานโดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือ ส่วนแรงงานที่รับค่าจ้างตามชิ้นงานที่ผลิตก็ไม่มีงานทำ 

หนึ่งในแรงงานที่ได้รับผลกระทบเล่าว่า “ปกติฉันมีรายได้ 4,000 – 4,500 บาทต่อ 15 วัน ตอนหลังมานี้มีงานให้ทำน้อยลง ฉันจึงมีรายได้เพียง 600-800 บาท ต่อ 15 วัน โชคดีที่สามีของฉันยังทำงานที่โรงงานใกล้ ๆ กัน เราเลยพออาศัยเงินเดือนของเขาซื้ออาหารกิน ทำไมคนงานบางคนได้กลับไปทำงาน แต่เราทำไม่ได้”  

Credit : Patipat Janthong / Oxfam

พูดกันอย่างรวบรัด การระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติทั้งในอุตสาหกรรมประมงต้องขาดรายได้ เผชิญกับความไม่มั่นคงในอาชีพ และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพ โดยปัญหาหลักมาจากการสื่อสารและการเข้าถึงสิทธิทางด้านสุขภาพที่จำกัด ซึ่งภาครัฐจะต้องลงมือแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ “ทุกคน” ได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง 

“บอกว่าภูมิคุ้มกันหมู่แต่แจกแมสเฉพาะประชากรไทย ไม่มีให้แรงงานข้ามชาติ ก็ไม่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพหรือสิทธิพื้นฐาน พวกเขามักเป็นกลุ่มสุดท้าย มันย้อนแย้งกันเองในการประกาศเชิงนโยบายกับการปฏิบัติ การควบคุมโรคต้องมีความเท่าเทียมและทั่วถึง” สิ่งที่นาตยาพูดนี้ จึงป็นบทปิดท้ายของบทความนี้ได้เป็นอย่างดี


 อ้างอิง

  • “โครงการสํารวจผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” – โครงการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา
  • https://seabound.greenpeace.org/