พายุมังคุดเริ่มก่อตัวเป็นพายุไต้ฝุ่นวันที่ 9 กันยายน 2561 ในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุสร้างความเสียหายให้กับโครงข่ายไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของเกาะกวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 13 กันยายน จากนั้นทวีความรุนแรงขึ้นเป็นมหาพายุไต้ฝุ่นโดยมีความเร็ว 205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ศูนย์กลางที่เรียกว่าตาของพายุกว้าง 50 กิโลเมตร ขนาดของพายุวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 900 กิโลเมตร มุ่งตรงไปยังเกาะลูซอนด้านเหนือสุดของฟิลิปปินส์ในพื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำแถบจังหวัดคากายัน (Cagayan) โดยความเร็วลมเพิ่มขึ้นเป็น 269 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นข้ามทะเลจีนใต้เข้าถล่มฮ่องกงและมณฑลกวางตุ้งของจีนแผ่นดินใหญ่ สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อผู้คนนับล้านที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลตามแนวเส้นทางของพายุไต้ฝุ่นมังคุดลูกนี้

ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากไต้ฝุ่นมังคุดเข้าถล่มที่เกาะลูซอน ในประเทศฟิลิปปินส์ 

ต้นไม้ในฮ่องกงล้มโค่นทำลายทรัพย์สินชองประชาชน อันเนื่องมาจากพายุไต้ฝุ่นมังคุด

นักวิเคราะห์ประเมินว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่อาจถึง 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับความเสียหายของฟิลิปปินส์อีกราว 1.6-2 หมื่นล้าน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5-6 ของจีดีพี (Gross Domestic Products) โดยที่รายงานภาคสนามล่าสุดมีเกษตรกรฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบ 124,000 รายและพืชผลทางการเกษตรเสียหายเกือบ 3 ล้านไร่

จากการวิเคราะห์ขององค์การว่าด้วยบรรยากาศและมหาสมุทรแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ช่วงที่พายุทวีความรุนแรงกลายเป็นมหาพายุไต้ฝุ่นมังคุดก่อนขึ้นฝั่งเกาะลูซอน ความแรงของพายุเทียบเป็นระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามมาตรวัดแซฟเฟอร์-ซิมป์สัน (Saffir-Simpson Hurricane Scale) และมีขนาดใหญ่กว่าพายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์ (Hurricane Florence) ที่พัดเข้าถล่มรัฐแคโลไรนาทางตอนเหนือในวันศุกร์ที่ 14 กันยายน 2561 ถึงสามเท่า

แม้พายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์ (Hurricane Florence) จะอ่อนกำลังเมื่อขึ้นฝั่ง แต่ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของรัฐแคโรไลนา ศูนย์ศึกษาพายุเฮอริเคนแห่งชาติระบุถึงความเสี่ยงที่เป็นภัยต่อชีวิตจากผลพวงของพายุคือคลื่นพายุซัดฝั่ง กระแสลมที่เกรี้ยวกราดและการเกิดน้ำท่วมขังบนฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเป็นไปได้ต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานรวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 12 แห่ง ความเสี่ยงจากการรั่วไหลของกากสารพิษจากบ่อกักเก็บเถ้าถ่านหินที่กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ และผลกระทบด้านสาธารณสุขจากของเสียจากฟาร์มหมูและสัตว์ปีกที่หลุดรอดลงในแหล่งน้ำ ในวันที่ 17 กันยายน 2561 รายงานข่าวระบุว่ามีการรั่วไหลของเถ้าถ่านหินราว 2,000 ลูกบาศก์หลา จากบ่อกักเก็บในพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน Sutton ของบริษัท Duke Energy


แผนที่แสดงแบบแผนการตกสะสมของฝนเมื่อพายุเฮอริเคนขึ้นฝั่งที่รัฐแคโลไรนา และตำแหน่งและการกระจายตัวของบ่อกักเก็บเถ้าถ่านหิน ฟาร์มหมู พื้นที่ฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษ (Superfund Site) และพื้นที่จัดเก็บสารเคมีอันตรายในพื้นที่ (ที่มา: New York Times

แม้ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมถึงรายงานประเมินฉบับที่ 5 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ระบุว่า พลังงานที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ระหว่าง พ.ศ. 2514-2553 กว่าร้อยละ 90 ถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทรและเป็นสาเหตุทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรร้อนขึ้นโดยเฉพาะมหาสมุทรชั้นบน(0 – 700 เมตร) ที่มีพลังงานความร้อนกักเก็บไว้ถึงร้อยละ 60 และส่วนที่ลึกกว่า 700 เมตรมีพลังงานความร้อนสะสมกว่าร้อยละ 30 นั้น จะไม่นำไปสู่ข้อสรุปที่หนักแน่นถึงความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสภาพความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง รวมถึงพายุหมุนเขตร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ข้อมูลจากการสังเกตก็พบว่า ในกรณีของมหาสมุทรแอตแลนติก ความรุนแรงของพายุเฮอริเคนนั้นเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงคริสตทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา

มหาพายุไต้ฝุ่นมังคุดซึ่งน่าจะเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงที่สุดเข้าถล่มตอนเหนือของเกาะลูซอนในฟิลิปปินส์ ฮ่องกงและชายฝั่งตะวันออกของจีน และพายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์ที่พัดเข้าถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกนั้นหมายถึงพายุขนาดใหญ่ (mega-storms) จะกลายเป็นเรื่องปกติในอนาคต (new normal)

ในกรณีของพายุเฮอริเคนฟลอเรนซ์ ปัจจัยหลักสองประการที่หล่อเลี้ยงให้พายุยังทรงพลังคือ อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรและลมเฉือน (wind shear) ที่เป็นความแตกต่างระหว่างความเร็วลมด้านบนและด้านล่างของพายุ ยิ่งอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นมากขึ้นและลมเฉือนต่ำ พายุเฮอริเคนยิ่งทรงพลังมากขึ้น เช่นเดียวกับมหาพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่สร้างความหายนะให้กับเมืองทาโคลบันทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ใน พ.ศ. 2556 และพายุไต้ฝุ่นอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก กรมอุตุนิยมวิทยาฮ่องกง (The Hong Kong Observatory) ยังระบุว่ามหาพายุไต้ฝุ่นเป็นเรื่องปกติมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2504 และ 2553 พายุหมุนสี่ลูกคือ เจอลาวัต (Jelawat) มาเรีย (Maria) เจบิ (Jebi) และมังคุด มีความแรงเป็นมหาพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นในมหาแปซิฟิกเหนือและทะเลจีนใต้ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2561 นี้

น้ำท่วมบ้านเรือนของประชาชนหลังจากเกิดเฮอริเคนฟลอเรนซ์ (Credit: THE U.S. DEPARTMENT OF DEFENSE)

จากฐานข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ในรอบ 64 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2494-2557)ในประเทศไทย พบว่าความถี่ของพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลดลงของกิจกรรมของพายุหมุนเขตร้อนในภาพรวมดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อปริมาณฝนและภาวะแห้งแล้งในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม รายงานการสังเคราะห์และประมวลสถานภาพองค์ความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย 2559 มีข้อสังเกต(ความเชื่อมั่นระดับปานกลาง) ว่า เมื่อพิจารณาในรายละเอียด จำนวนพายุหมุนเขตร้อนในระดับที่รุนแรงกว่าพายุดีเปรสชั่นเขตร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมดในรอบทุกๆ 10 ปี กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยต่อเหตุการณ์สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศทั้งจากเหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งสลับกับการเกิดภาวะความแห้งแล้งที่ยาวนานขึ้น

สิ่งที่มีร่วมกันของเหตุการณ์สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศอย่างการเกิดมหาพายุหมุนเขตร้อนคือความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมตามเส้นทาง มิติทางพื้นที่และเวลาของเหตุการณ์ดังกล่าวนี้สอดคล้องกับข้อสรุปและการคาดการณ์ของ IPCC ในเรื่องผลกระทบจากหายนะภัยทางธรรมชาติของเหตุการณ์สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ

ปี พ.ศ. 2561 นี้จึงเป็นห้วงแห่งการก่อตัวของจุดเปลี่ยนของวิวาทะว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการที่เราได้สัมผัสเห็นถึงความจริงใหม่ที่กระทบกับเราโดยตรง เราได้เป็นประจักษ์พยานของสิ่งที่เกิดขึ้นไล่เรียงกัน ไม่ว่าจะเป็น ผลกระทบของเหตุการณ์สภาวะสุดขั้วของลมฟ้าอากาศ คำเตือนทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยโลกเรือนกระจก (Hothouse Earth) และข้อเสนออย่างถอนรากถอนโคน ณ ที่ประชุม Global Climate Action Summit ที่เมืองซานฟรานซิสโกว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 จากทุกภาคส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(ภาคพลังงาน ภาคการผลิตทางอุตสาหกรรม ภาคอาคารบ้านเรือน ภาคการคมนาคมขนส่ง ภาคการบริโภคอาหาร ภาคเกษตรกรรมและป่าไม้) ตลอดจนรายงาน IPCC ฉบับพิเศษว่าด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.5 องศาเซลเซียส (IPCC Special Report on 1.5 Degrees) ที่เตรียมเผยแพร่ในเร็วๆ นี้ เราในฐานะปัจเจกต้องตื่นรู้ และผลักดันผู้นำทางการเมือง บรรษัทและนักลงทุนให้ลงมือทำจากความท้าทายที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ร่วมกัน

สุดท้าย เราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ซึ่งบอกเราว่า ระบบเศรษฐกิจที่ตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ มีความยืดหยุ่นและฟื้นคืนสภาพได้เร็วเท่านั้นจะเป็นเครื่องมือในการเตรียมความพร้อมรับมือที่ยอดเยี่ยมที่สุดกับภัยพิบัติจากสภาพภูมิอากาศที่ทวีความสุดขั้วมากขึ้น ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ฉ้อฉลและไม่เป็นธรรมจะทิ้งให้ผู้คนทั้งหลายตกอยู่ในความยากจนและผลกระทบอันเลวร้ายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ