แรงบันดาลใจที่ทำให้คนเริ่มต้นหันมาเป็นวีแกนมากขึ้นมีหลากหลาย บ้างก็เพราะปัญหาสุขภาพ บ้างก็เพราะตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม 

‘ลดเนื้อเพื่ออออ…?’ วงเสวนาจาก กรีนพีซ ไทยแลนด์ ชวน ฐิตา พลายรักษา จากเพจ TITA.VEGANISTA, วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ จาก KRUA.CO, นิชาภา นิศาบดี เจ้าของร้านอาหารสมถะ, กานดา ชัยสาครสมุทร นิสิตจุฬาฯ ที่เคยเลิกกินเนื้อสัตว์ และ รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ จากกรีนพีซ ประเทศไทย มาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นในการหันมาลดการกินเนื้อ สำรวจผลกระทบของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ไปจนถึงเหตุผลที่ระบบอาหารไม่ควรอยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มอุตสาหกรรม 

© Axel Kirchhof / Greenpeace

ลดเนื้อเพื่อสุขภาพ

วรรณแวว เป็นคนหนึ่งที่ลดการกินเนื้อสัตว์เพราะเหตุผลทางสุขภาพ เธอบอกให้ฟังว่า ช่วงก่อนหน้านี้เธอเจอก้อนเนื้อในหน้าอกขนาด 6 มิลลิเมตร จึงตัดสินใจใช้การรักษาด้วยธรรมชาติบำบัด ปรับด้านการกินเป็นหลัก

“แม่เราเป็นสายธรรมชาติบำบัด เน้นรักษาร่างกายโดยไม่พึ่งหมอแผนปัจจุบัน แต่ใช้อาหารและการสร้างสิ่งแวดล้อมให้กับชีวิต เราเลยตัดสินใจว่าจะไม่ไปผ่าออก ไม่ใช้ยา และไม่ตรวจชิ้นเนื้อด้วย เพราะการกด การทับ ก็ถือเป็นการกระตุ้นก้อนเนื้อทั้งหมด

“แม่เรามองว่าการเกิดก้อนเนื้อถือเป็นสัญญาณของร่างกายที่บอกว่าสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ อาหาร ความเครียดที่เราป้อนให้เขาทุกวันๆ มันไม่เหมาะสม ไม่ดีพอ ร่างกายมันเตือนว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้ความเป็นอยู่ที่ดีกับเซลล์ก่อน แล้วเขาจึงจะค่อยๆ อยู่กับเราได้” 

วิธีการที่วรรณแววทำ คือการงดอาหารที่จะไปกระตุ้นให้เกิดเซลล์มากขึ้น คือ งดเนื้อแดง หมู ไก่ วัว ลดนม รวมถึง ผลิตภัณฑ์จากนมอย่างเนย ชีส และสิ่งที่มากกว่าวีแกนทั่วไปคือต้องงดน้ำตาลขัดขาว แต่เธอยังสามารถกินไข่ เนื้อปลา และสัตว์ทะเลได้อยู่

วรรณแววบอกว่าช่วงแรกที่เริ่มต้นลดเนื้อสัตว์ทำให้เธอเครียดมาก เพราะการกินสำหรับเธอเปรียบเสมือนกับ food therapy ถ้าเหนื่อยจากงานเธอก็อยากจะกินชาบูชุบชูจิตใจ พอคิดว่าต้องเลิกกินสิ่งนี้จึงทำให้หดหู่ 

“ด้วยความที่เราทำงานเกี่ยวกับคอนเทนต์อาหาร เราเลยอยากมีเสรีในการกิน ชิม รู้เรื่องวัฒนธรรมอาหารในแบบต่างๆ ซึ่งพอกินไม่ได้มันเลยจ๋อย เราทำไปแบบทรมานๆ เห็นอาหารที่ที่บ้านเตรียมให้ก็รู้สึกว่า อีกแล้ว ทำงานมาเหนื่อยๆ ก็ไม่มีทางออก พอแม่เห็นเราดูเครียดมากเขาเลยบอกว่าหยุดเถอะ เพราะที่ร้ายไปกว่าเนื้อสัตว์ ก็คือความเครียดของเรานี่แหละที่จะไปกระตุ้นก้อนเนื้อมากขึ้นไปอีก” 

หลังจากตัดสินใจหยุดพัก วรรณแววเปลี่ยนมาใช้วิธีหาสมดุลให้ตัวเองมากขึ้น ลดเนื้อสัตว์เท่าที่ตัวเองจะไหว ตั้งเวลาไว้เป็นระยะสั้นๆ ดูว่าตัวเองจะทำได้หรือเปล่า 

“เราว่าวิธีการที่เวิร์ก คือการหาวิธีอยู่กับมันโดยที่ไม่ทำให้เราเครียดมาก เช่น มีวันชีทเดย์ในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิด วันปีใหม่ เราก็จะปล่อยผีเลย หาวิธีที่จะทำให้เราทำสิ่งนี้ไปได้นานๆ”

ลดเนื้อเพราะอยากลดโลกร้อน

ฐิตา เริ่มต้นเป็นวีแกนเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว เพราะเจอข้อมูลเรื่องการเลี้ยงสัตว์ที่ไม่เป็นธรรม ก่อนจะสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะได้ดูสารคดีเรื่องหนึ่งแล้วพบว่าการกินเนื้อเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

จากความสนใจทั้งหมด ทำให้เธอตัดสินใจทำธีสิสเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ และนี่คือข้อมูลที่เธอค้นพบและคิดว่าน่าสนใจ

  • การกินเนื้อส่งผลกระทบต่อโลกร้อนตั้งแต่ห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การปลูกข้าวโพด การขนส่งวัตถุดิบเอามาทำอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม และโรงฆ่าสัตว์ล้วนมีรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) อยู่ทั้งหมด นอกจากนี้การปลูกพืชเพื่อทำอาหารสัตว์เกี่ยวโยงกับเกษตรพันธสัญญาที่สนับสนุนโดยภาครัฐ ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่กันหมด นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถ้าเราเลิกกินเนื้อสัตว์มันคือการช่วยลดโลกร้อน เพราะจะช่วยตัดวงจรเหล่านี้ไป 
  • ในขั้นตอนการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์มีการปล่อยของเสียเยอะมาก ทั้งเขม่าควัน การใช้เชื้อเพลิงราคาต่ำเพื่อลดต้นทุน ไปจนถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะมากๆ กว่า 45% ของน้ำสะอาดในโลกนี้ถูกใช้ไปกับการเลี้ยงสัตว์ 
  • มีงานวิจัยว่าโรงฆ่าสัตว์หนึ่งที่สามารถผลิตก๊าซมีเทนได้ 100 กิโลต่อปี และผลิตของเสียได้ 55,000 ตัน นอกจากนี้ยังมีการใช้พลังงานในการจัดเก็บเนื้อสัตว์ให้อยู่ในพื้นที่เย็น เพื่อเอาไปขายต่อในสภาพที่ดีอีก

ด้วยเหตุนี้ฐิตาจึงหันมากินวีแกนอย่างเต็มตัว แม้หลายๆ คนจะมองว่าการเปลี่ยนมาเป็นวีแกนจะเป็นการเริ่มต้นที่เล็กน้อย ไม่มากพอจะทำให้โลกใบนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ แต่เธอก็มองว่าสิ่งที่ทำสามารถสร้างแรงกระเพื่อมบางอย่างให้สังคมได้อยู่ดี

“เราว่าคนเดียวก็สร้างผลกระทบได้ เงินหนึ่งล้านบาทยังเกิดจากที่เราค่อยๆ เก็บเงินหนึ่งบาทมาผสมรวมกันเลย เรากินวีแกนมา 5-6 ปีแล้ว เห็นจริงๆ ว่าทุกวันนี้เทรนด์มันเพิ่มขึ้น มีสินค้าวีแกนให้เลือกซื้อมากขึ้น เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แค่ต้องใช้เวลา”

เช่นเดียวกันกับรัตนศิริที่เลิกกินเนื้อสัตว์เพราะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เธอบอกว่าไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ค่อนข้างป่วย จึงตัดสินใจเอาตัวเองออกมาจากสิ่งนั้น และพยายามจะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบ

เธอมีข้อมูลว่า

  • ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวกับไก่รายใหญ่ของโลก (อันดับสาม) ถ้ามองในเชิงการผลิตมีตัวเลขว่าจำนวนไก่ที่ถูกฆ่าเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่หลัก 10 ล้านตัว ไปจนถึงเกิน 60 ล้านตัว ในปี 2018  ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกทั้งเนื้อไก่และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 
  • อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมอาหารจะอยู่ราวๆ หนึ่งในสามของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แต่ในจำนวนเหล่านั้น แบ่งเป็นการผลิตสำหรับมนุษย์เพียง 30% ส่วน 70% ที่เหลือเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดิน พื้นที่ป่า เพื่อเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอาหารสัตว์ 
  • ความหลากหลายทางชีวภาพเริ่มลดลง หากเทียบเป็นสัดส่วนพบว่าจำนวนสัตว์ที่ปศุสัตว์มีมากถึง 94% ทั่วโลก ในขณะที่สัตว์ป่ามีอยู่แค่ 6% แมลงและสัตว์ใหญ่ๆ เริ่มหายไป หรือกระทั่งการกระจายของเชื้อไวรัสเองก็เกิดจากการที่มนุษย์ไปคุกคามสภาพแวดล้อม
  • ระบบเกษตรพันธะสัญญาของประเทศไทย ทำให้ภูเขาในหลายๆ พื้นที่เกิดเป็นภูเขาหัวโล้น เกิดหมอกควันพิษ แม้ปัจจุบันจะมีข้อมูลระบุว่าภาคอุตสาหกรรมของไทยจะย้ายไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความทุกข์ยากของคนที่ต้องทนกับมลพิษก็ไม่ได้หายไป 
  • การเลี้ยงสัตว์ในเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องเลี้ยงจำนวนมากๆ ในพื้นที่จำกัด ทำให้จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจจะได้รับยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาที่ตกค้างอยู่ในตัวสัตว์ 

เธอมองว่านอกจากจะเริ่มต้นที่ตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องมีการเรียกร้องนโยบายของรัฐบาลให้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบอาหารและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ด้วย อย่างน้อยคือผู้บริโภคก็ควรรับรู้ถึงที่มาของอาหารที่กิน รู้ว่าเนื้อสัตว์ที่กินอยู่นี้มีวิธีการเลี้ยงยังไง มาจากที่ไหน 

การเผาป่าแอมะซอนจากการรุกรานของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ © Victor Moriyama / Greenpeace

กินอย่างรู้ที่มา

กานดา ในฐานะผู้ที่เคยเป็นมังสวิรัติ ลดการกินเนื้อแบบหักดิบมาก่อน และปัจจุบันหันมากินเนื้ออย่างมีสติด้วยการสนับสนุนการกินอาหารอย่างรู้ที่มาเช่นเดียวกัน

“อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ก็ยังดำเนินต่อไป โดยมีภาครัฐสนับสนุน รัฐบาลสนันสนุนนายทุน แล้วนายทุนก็เอาเปรียบผู้ค้ารายย่อยและผู้บริโภคอีกที พอกินไปเรื่อยๆ เราเลยเริ่มคิดที่เรากำลังทำมันมีผลต่อโลกขนาดไหน เพราะอาหารประเภทวีแกนยังมีราคาแพง ไม่ตอบโจทย์เราที่ยังต้องขอเงินพ่อแม่อยู่” 

ทุกวันนี้เธอจึงใช้วิธีการหันมากินอย่างรู้ที่มาแทน สนับสนุนผู้ค้ารายย่อย เกษตรกรที่ทำปศุสัตว์อินทรีย์ หลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์จากนายทุน และสนับสนุนแคมเปญเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับกลุ่มนายทุน

“ก่อนจะไปถึงเรื่องกินไม่กินเนื้อสัตว์ เราว่าผู้บริโภคควรมีทางเลือกในการกินอาหารได้หลากหลายโดยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดก่อน และรัฐบาลควรจะมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุน ไม่ใช่ผลักภาระมาให้ผู้บริโภค” 

เธอมองว่าคนเราควรมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการกินที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็จะเป็นอนาคตของเราต่อไป หากไม่ช่วยกันดูแลรักษาก็จะสายเกินแก้

เปิดร้านอาหารมังสวิรัติเพื่อคนที่อยากลดเนื้อ

ในวันที่หลายๆ คนรู้สึกว่าการกินมังสวิรัติเป็นเรื่องยาก นิชาภาตัดสินใจเปิดร้านสมถะขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมุ่งหวังว่าร้านนี้จะเป็นเหมือนใบเบิกทางให้เพื่อนๆ รอบตัว หรือคนที่สนใจอยากเริ่มต้นลดเนื้อสัตว์มากินอาหารมังสวิรัติกันมากขึ้น

“เวลาเปิดประเด็นเรื่องการกินมังสวิรัติกับคนรอบตัวเขามักจะไม่เปิดรับ เราเลยคิดว่างั้นลองสื่อสารด้วยวิธีที่น่ารักขึ้นดีไหม แทนที่จะบอกว่าอย่ากินนั่น อย่ากินนี่ เราลองชวนเขามากินอาหารแบบมังสวิรัติดูเผื่อคนจะเปิดใจมาฟังข้อมูลที่จริงจังมากขึ้น”

เมนูของร้านสมถะตั้งต้นจากเมนูอาหารที่คนส่วนใหญ่กินในชีวิตประจำวัน โดยเน้นเป็นอาหารไทย 70% นอกนั้นก็จะเป็นเมนูที่ได้แรงบันดาลใจมาจากอาหารต่างชาติ เช่น โซบะ พาสต้า 

“เรานำเมนูอาหารที่น่าจะกินได้บ่อยๆ มาดัดแปลง เช่น จากกะเพราเนื้อก็เปลี่ยนเป็นแหล่งโปรตีนอื่นๆ เช่น เต้าหู้ เทมเป้ เห็ด ถั่วลูกไก่ โดยจะพยายามไม่ปรุงแต่งให้คล้ายรสสัมผัสของเนื้อสัตว์มาก เพราะไม่อยากสร้างความรู้สึกคิดถึงเนื้อสัตว์ให้ลูกค้า เราอยากให้ทุกคนเอร็ดอร่อยกับตัวตนของวัตถุดิบนั้นจริงๆ”

เธอบอกว่าผลตอบรับหลังเปิดร้านค่อนข้างน่าพอใจ หลายๆ คนบอกว่ามังสวิรัติไม่ได้กินยากอย่างที่คิด ลูกค้าเองก็หลากหลาย บางคนก็ไม่ได้เป็นมังสวิรัติเต็มตัว เพียงแค่มีข้อจำกัดในการกิน บ้างก็มาเพราะความสงสัย 

“เราเจอคนหลากหลายมาก และได้คำแนะนำจากคนที่ไม่กินมังสวิรัติค่อนข้างเยอะว่าอยากได้อาหารรสชาติแบบไหน ได้ยินความต้องการของคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์เยอะขึ้น ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับร้านต่อไปได้ เรามองว่าร้านแบบนี้ตอบโจทย์มากเพราะมันสามารถ คัดสรรสิ่งที่คนกินอยากกินได้ บางคนอาจจะไม่ได้เป็นมังสวิรัติ แต่วันนี้เขาอยากกินของที่ไม่ผ่านการปรุงเยอะหรือคนที่แพ้นมวัว แพ้กลูเตน ร้านอาหารประเภทนี้ก็จะสามารถช่วยเขาได้” 

แต่ในขณะเดียวกันเธอก็มองว่าประเทศไทยมีการผูกขาดด้านระบบอาหารอยู่จริง

“การเข้าถึงแหล่งที่มาของอาหารยากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดเราอยู่เชียงใหม่ มีฟาร์มเล็ก ฟาร์มน้อยในพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดถ้าเราต้องการซื้อวัตถุดิบในราคาถูกลง เราก็ต้องไปซื้อที่ตลาดใหญ่ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างมีที่มาจากที่ไหน”

© Mijitja Kobai / Greenpeace

ระบบอาหารที่ต้องไม่ผูกขาดความมั่นคงไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง 

ฐิตาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าเรื่องราคาเนื้อสัตว์ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีราคาก็ไม่สูงขึ้นมากนักนั้นเนื่องจากรัฐมีกลไกควบคุมราคาเนื้อสัตว์ เธอสังเกตว่าเมื่อเธอเลิกการกินเนื้อสัตว์ จึงได้เห็นว่าทุกวันนี้อาหารที่คนในประเทศกินอยู่ค่อนข้างผูกขาดมากๆ 

“การไม่กินผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ทำให้เราเจอว่ามันมีร้าน มีธุรกิจจากคนรายย่อยที่ทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาค่อนข้างเยอะมาก  แต่ก่อนเรามองไม่เห็นเพราะมีการผูกขาดระบบอาหาร

เราเลยมองว่าการไม่กินเนื้อก็เป็นสิ่งที่ดี อย่างน้อยคือทำให้คนกลุ่มนี้ได้มีพื้นที่ในการทำธุรกิจ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเข้าร้านสะดวกซื้อ เราสามารถอุดหนุนคนตัวเล็กๆ เหล่านี้แทนได้” 

กานดามองว่ารัฐบาลควรเข้ามาแทรกแซงไม่ให้เกิดการผูกขาดเพิ่มขึ้น และวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม หรือสัตว์เอง คือเราควรจะมีทางเลือกในการบริโภคที่หลากหลายมากกว่านี้ 

“สมมติคนอยากเลิกกินเนื้อเพราะสงสารสัตว์ ตระหนักเรื่องจริยธรรมในการฆ่าชีวิตคนอื่น เขาก็ควรจะได้บริโภคสิ่งอื่นๆ ในราคาที่ไม่ต่างกันมากนัก ตอนนี้มันกลายเป็นว่าเรารู้สึกผิดที่กินเนื้อ แต่พอจะหันไปกินผักแทนเรากลับต้องใช้เงินจำนวนมาก เรามองว่ามันควรมีการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างนี้ด้วย เพราะจะได้สนับสนุนคนที่เป็นปัจเจกให้เขาสามารถที่จะเลือกบริโภคได้มากกว่านี้ ในเมื่อทุกคนมีจุดประสงค์ในการเลิกกินเนื้อสัตว์แตกต่างกัน รัฐบาลก็ควรสนับสนุนให้ทุกคนสามารถตัดสินใจกินอาหารอื่นๆ ได้โดยที่ไม่ไปกระทบกับเงินในกระเป๋าของเขามากนัก” 

รัตนศิริยังทิ้งท้ายด้วยว่า “ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต เกษตรกรรายย่อย หรือคนกิน เขาไม่ถูกตำหนิว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรต้องขาดรายได้ ตกงาน เป็นหนี้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือนโยบายที่ภาครัฐสามารถเปลี่ยนแปลงได้”