กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาวไทยได้รับข่าวค่าน้ำมันที่สูงขึ้นรายวัน ค่าทางด่วนที่ปรับขึ้น รถไฟฟ้าบีทีเอสยกเลิกระบบเหมาเที่ยวเดินทาง นอกจากโครงสร้างรัฐของไทยจะเอื้อต่อการเดินทางโดยรถยนต์  ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ ประเทศไทยยังเป็นจุดบอด ไม่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยอย่างเท่าเทียมเท่าเทียม 

ในทางกลับกันระหว่างสัปดาห์ขนส่งมวลชนของชาวยุโรป European Mobility Week  ในปี 2564 ชาวยุโรปเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะขยับไปใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดกว่านี้ และใช้จักรยานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แนวคิดการเดินทางที่ยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของเมืองสีเขียวเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวกับการทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตสะดวกสบายขึ้น เช่น การเดินทางที่ปลอดภัยและสะดวกสบายสำหรับทุกคน ซึ่งไม่ใช่สิทธิพิเศษเฉพาะกับผู้ขับรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น 

ในบทความนี้เราได้พูดคุยกับผู้หญิง 6 คนเกี่ยวกับสิ่งที่เธออยากเห็นเมื่อต้องเดินทางในเมืองต่าง ๆ เพื่อจะช่วยให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น และตระหนักว่าถึงเวลาที่รัฐควรต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนี้สักที เพราะการเดินทางที่ดี ควรจะเป็นการเดินทางที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง ๆ 

1. แอนเดรีย : เมื่อการเดินเท้าคือการผจญภัย

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดเวลาที่ฉันเดินเท้าในเมืองคือการที่รถยนต์รุกล้ำมาบนทางเท้าแม้ว่ามันจะผิดกฎหมายก็ตาม เมื่อรถยนต์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การเดินเท้าลำบากและอันตรายมากกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังทำให้รถติดและเกิดมลภาวะมากขึ้นอีกด้วย” แอนเดรีย วัยรุ่นจากคอนสแตนตา (โรมาเนีย)

เธอยังพูดถึงการขาดแคลนขนส่งสาธารณะ “รถเมล์มีจำนวนคันและจำนวนสายไม่เพียงพอ เราจำเป็นต้องมีเครือข่ายขนส่งสาธารณะที่แข็งแกร่งเพื่อที่จะสามารถหยุดใช้รถยนต์ในชีวิตประจำวันได้”

สำหรับแอนเดรียแล้ว ข้อจำกัดต่าง ๆ ในโรคระบาดครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น “เราต้องจัดสรรพื้นที่ให้กับพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และลดพื้นที่สำหรับรถยนต์ลง เมืองไม่ควรถูกออกแบบเพียงเพื่อให้ความสะดวกสบายแก่คนที่มีรถยนต์ส่วนตัวเพื่อแสดงสถานะทางเศรษฐกิจ แต่ควรเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยทุกคน”

แอนเดรียจากคอนสแตนตา (โรมาเนีย) “ในเมืองของฉันรถยนต์มีปริมาณมากขึ้น การเดินเท้าเป็นไปอย่างยากลำบากและอันตรายกว่าแต่ก่อน ทั้งยังมีมลภาวะและการจราจรที่ติดขัดมากขึ้น”© Greenpeace

2. คริสติน่า : การเข้าถึงควรเป็นของทุกคน

คุณจะเจอกับความลำบากมากขึ้นเมื่อต้องเดินทางไปทั่วเมืองโดยใช้วีลแชร์ คริสติน่าอาศัยอยู่ที่พาร์ลา สเปน เธอบอกเราว่า “ในฐานะผู้ใช้วีลแชร์ ฉันไม่อาจพูดได้ว่าสภาพแวดล้อมของเมืองนี้เป็นมิตรกันฉัน แม้ผู้ทุพพลภาพจะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายปี แต่การเดินทางในเมืองยังเป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อต้องใช้ทางเท้า คุณจะพบกับความยากลำบากมากมายไม่ว่าจะเป็น บาร์ เสา ไฟจราจร รถจักรยานยนต์ จักรยาน สกุ๊ตเตอร์ หรือแม้แต่ต้นไม้ก็กีดขวางทางเดินเช่นกัน มันเกิดขึ้นบ่อยมากจนคุณต้องออกจากทางเท้าแล้วไปใช้ถนนแทนซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายมากมาย

ตามที่คริสติน่าได้กล่าวไป การออกแบบการเดินทางที่เป็นสากลให้ทุกคนเข้าถึงได้ (universal accessibility) ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อคนใช้วีลแชร์เท่านั้น “ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงการเดินทางได้ เมืองต่าง ๆ จะต้อนรับผู้คนด้วยความเท่าเทียม เนื่องจากทุกคนมีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้มีความสุขได้ ทำไมถึงสร้างบันไดและทางลาดคู่กันเพื่อเข้าอาคารทั้ง ๆ ที่ทุกคนสะดวกจะใช้ทางลาดมากกว่า?

รถยนต์น้อยลง = พื้นที่ที่มากขึ้นสำหรับผู้คนที่ต้องการมันมากที่สุด เมืองที่มีปริมาณรถยนต์น้อยลงทำให้ชีวิตของผู้คนที่ต้องการมันจริง ๆ สะดวกสบายขึ้น คริสติน่าบอกกับเราว่าเนื่องจากปัจจัยด้านสภาพร่างกายทำให้เธอจำเป็นต้องขับรถบ่อยครั้ง “แต่ที่จอดรถผู้ทุพพลภาพ “มักจะเจอรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์จอดกีดขวางทางเข้า บางครั้งฉันต้องกลับบ้านเพียงเพราะไม่สามารถจอดรถได้”

ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้ทุพพลภาพเดินทางยากขึ้น “คุณต้องวางแผนเส้นทางที่จะไป และตรวจดูว่าสถานที่นั้นคุณเดินทางไปได้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงแผนการณ์หรือโครงสร้างพื้นฐานทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้นอีก มีผู้ทุพพลภาพมากมายที่ต้องปฎิเสธงานเพราะพวกเขาไม่สามารถไปทำงานได้ด้วยขนส่งมวลชน ทำไมถึงสร้างอาคารที่เข้าถึงได้ แต่กลับยากที่จะเข้าถึง” คริสติน่ากล่าว

คริสติน่าจากพาร์ลา (สเปน) “ถ้าทุกคนสามารถเข้าถึงการเดินทางได้ เมืองต่าง ๆ จะต้อนรับผู้คนด้วยความเท่าเทียม”© Greenpeace

3. แอนโทเนีย :การเดินทางของคุณจะลำบากขึ้น หากคุณเป็นผู้หญิง

ในปี 2559 92% ของผู้หญิงยุโรปต้องดูแลลูกทุกวัน แต่สิ่งนี้กลับเกิดขึ้นกับผู้ชายเพียง 68% เท่านั้น ดังนั้นผู้หญิงจะมีความท้าทายในการการเดินทางพร้อมรถเข็นเด็กมากกว่า

“ฉันอุ้มลูกในระหว่างเดือนแรกของการเป็นแม่ ฉันเจออุปสรรคมากมายเมื่อฉันเริ่มใช้รถเข็น อาทิ ทางเท้าที่สูงเกินไป ทางเท้ามีหลุมบ่อ ทั้งยังมีรถยนต์จอดเต็มไปหมด เป็นเรื่องยากลำบากที่จะเดินทางในเมืองพร้อมเด็กทารก”  แอนโทเนียจากบราซอป โรมาเนียกล่าว แอนผิดหวังกับการนิ่งเฉยด้านการจัดการนี้มาก “ฉันไม่สามารถรอพวกเขามาแก้ปัญหานี้ได้จริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ฉันได้ดำเนินการเรียกร้องทางกฎหมายมาหลายครั้งแล้ว”

แอนโทเนียจากบราซอฟ (โรมาเนีย) “เป็นเรื่องยากลำบากที่จะเดินทางในเมืองพร้อมเด็กทารก” © Greenpeace

4. มาร์ติน่า : ไม่มีพื้นที่ปลอดภัย

การขาดแคลนทางเดินทำให้เราขาดแคลนพื้นที่ปลอดภัยไปด้วย “ฉันต้องเดินทางกับลูกอายุ 2 ขวบบ่อย ๆ คุณจะต้องปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นเล็กน้อย” มาร์ติน่าจากบราทิสลาวา (สโลวาเกีย) กล่าว “อย่างไรก็ตามถนนส่วนใหญ่มักจะไม่ปลอดภัย ฉันไม่สามารถปล่อยให้ลูกเดินบนทางเท้าได้เพราะมีรถยนต์อยู่ทุกที่ เขาสามารถเดินเล่นได้ในพื้นที่ปลอดภัยที่มีรั้ว เช่นสวนสาธารณะและชิงช้าเท่านั้น แต่พื้นที่เหล่านี้มักหายาก และบ่อยครั้งต้องเดินไกลกว่าจะไปถึง”

สำหรับมาร์ติน่าแล้ว เมืองที่มีพื้นที่เปิดซึ่งปราศจากรถยนต์จะช่วยให้เธอมีอิสระมากขึ้นที่จะเดินทางกับลูกเล็กของเธอ มีอากาศหายใจที่สะอาด และใช้เวลาน้อยลงในการเดินทางแต่ละวัน “ชีวิตฉันคงจะสะดวกสบายและมีสุขภาพดีขึ้น ฉันขอให้นักการเมืองลองมาใช้ชีวิตสัก 1 อาทิตย์ที่บ้านฉัน และลองเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ พร้อมลูกเล็ก ถ้าเขาลองทำดู เขาจะมีมุมมองเปลี่ยนไปแน่นอน”

มาร์ติน่าจากบราทิซลาวา (สโลวาเกีย) “ฉันขอให้นักการเมืองลองมาใช้ชีวิตสัก 1 อาทิตย์ที่บ้านฉัน และลองเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ พร้อมลูกเล็ก ถ้าเขาลองทำดู เขาจะมีมุมมอง เปลี่ยนไปแน่นอน” © Greenpeace

5. แคร์รี่ : เรื่องของความเป็นธรรม

การมีรถยนต์มีราคาที่ต้องจ่าย นี่เป็นเหตุผลให้คนหนุ่มสาวหรือผู้มีกำลังซื้อไม่มากถูกผลักไสให้ใช้ขนส่งสาธารณะ แคร์รี่เป็นนักเรียนและลูกจ้างจากแตรวิโซ อิตาลี ผู้ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง และมักเดินทางโดยใช้ขนส่งสาธารณะ และจักรยาน “ฉันต้องเดินกว่า 3.5 กิโลเมตรเพื่อไปทำงาน ฉันไม่รังเกียจการเดิน แต่เนื่องจากฉันอาจไปทำงานสาย และเพื่อความปลอดภัย ฉันจึงเลือกที่จะขี่จักรยาน”

ในวันที่ฝนตก แคร์รี่ขึ้นรถเมล์ แต่ต้องเดินกลับ “เพราะรถเมล์หมดบริการตอน 23.30 ฉันต้องเดินกลับบ้านคนเดียวตอนกลางคืน นี่จึงเป็นปัญหาไม่ใช่จากมุมมองของการเดินทางเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันคือเรื่องความปลอดภัยของฉันเอง”

แคร์รี่จากเทรวิสโซ่ (อิตาลี) “เนื่องจากฉันอาจไปทำงานสาย และเพื่อความปลอดภัย ฉันจึงเลือกที่จะขี่จักรยาน” © Greenpeace

6. ไดอาน่า : ขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ

ไดอาน่า (โรมาเนีย) บอกเราว่าบ่อยครั้งที่เธอต้องตื่นเช้ากว่าเดิม 40 นาทีเพื่อให้ทันรถเมล์ “ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจะลำบากขึ้นไปอีกเมื่ออากาศที่หนาวเย็น ระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืนควรจะใช้งานง่าย เช่น สะอาด มีเครื่องปรับอากาศ รวมถึงมีเลนส์จักรยานที่ปลอดภัยเพื่อการไปทำงานได้เร็วขึ้น”

สำหรับไดอาน่า ระบบขนส่งมวลชนที่ใช้งานง่าย เร็วขึ้น สะดวกสบายขึ้น จะทำให้ชีวิตประจำวันเธอสะดวกสบายขึ้นมาก ๆ และยังทำให้อากาศในเมืองมีมลภาวะน้อยลง นี่จึงเป็นเหตุผลที่เธอเรียกร้องให้นักการเมืองผู้รู้ประเด็นปัญหาอยู่แล้วรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน “ทำงานของคุณซะ พัฒนาระบบขนส่งมวลชนสักที เราช้ามามากแล้ว”

ไดอาน่า (โรมาเนีย) “ระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืนควรจะใช้งานง่าย” © Greenpeace

Mobility For All หรือการทำให้ทุกคนเข้าถึงการเดินทางสาธารณะได้จะช่วยให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ รวมถึงทุกสถานะทางสังคม สามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัยได้อย่างเท่าเทียมกัน แล้วคุณล่ะ อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบไหน ร่วมแลกเปลี่ยนกับเราได้ในคอมเม้นท์ด้านล่างนี้

แปลและเรียบเรียงโดยกรีนพีซ ประเทศไทย

อ่านต้นฉบับได้ที่ : https://www.greenpeace.org/international/story/49788/inclusive-mobility-stories-women-transport-city/