พายุเฮอร์ริเคนมาเรียเป็นพายุลูกที่สามที่เกิดขึ้นมาติด ๆ กัน และกำลังสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับเกาะในทะเลแคริเบียนของโดมินิกา หลังจากพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ และเออร์มา ที่พัดถล่มรัฐเท็กซัสและฟลอริดาของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่ในเอเชียใต้เองก่อนหน้านี้ไม่นานก็เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วมครั้งใหญ่หลังจากเกิดพายุทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างรุนแรงต่อเนื่อง เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงต่างๆ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่า สภาวะโลกร้อนคือตัวการที่ทำให้พายุเหล่านี้ทวีความถี่และความรุนแรงยิ่งขึ้น

เพราะเหตุใดสภาวะโลกร้อนจึงทำให้พายุทวีความรุนแรงขึ้น?

ปรากฎการณ์โลกร้อนนั้นเกิดจากก๊าซเรือนกระจก รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเหล่านี้ไปปิดกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้สะท้อนกลับสู่อวกาศ และเก็บกักความร้อนเอาไว้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นนี้เองทำให้การระเหยของน้ำเกิดเร็วขึ้น ส่งผลให้มีความชื้นมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ ในกรณีของพายุเฮอร์ริเคนที่พัดขึ้นฝั่งในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ

นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่า เป็นผลพวงมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวคือ ขณะที่อากาศร้อนขึ้น มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งนั่นทำให้อุณหภูมิพื้นผิวทะเลนั้นสูงขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้เอง การที่จุดความร้อนที่ร้อนที่สุดของพื้นผิวมหาสุมทรในอ่าวเม็กซิโกใกล้เท็กซัสซึ่งเป็นบริเวณหนึ่งที่มีอุณหภูมิน้ำทะเลสูงที่สุดของโลก สูง 1.5 ถึง 4 องศาเซลเซียส กว่าค่าเฉลี่ยระดับมาตรฐาน สิ่งนี้เองที่เป็นชนวนเร่งความรุนแรงจากการเป็นเพียงพายุหมุนเขตร้อน ให้กลายเป็นเฮอร์ริเคนระดับสี่ภายในช่วงเวลาเพียง 48 ชั่วโมง

อีกนัยหนึ่งคือ แม้เราไม่อาจสรุปได้ว่าพายุเฮอร์ริเคนเกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน แต่สภาวะโลกร้อนทำให้พายุทวีความรุนแรงขึ้น จากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยิ่งน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นมากเท่าไร ยิ่งเพิ่มความถี่ในการเกิดพายุขนาดใหญ่ จากเดิมที่เคยเกิดขึ้นทุกร้อยปี อาจเริ่มถี่ขึ้นเป็นทุก 50 หรือ 20 ปี
เออร์มากลายเป็นพายุเฮอร์ริเคนขึ้นฝั่งที่รุนแรงที่สุดลูกหนึ่งในมหาสมุทรแอตแลนติกในประวัติศาสตร์

แต่บาดแผลจากพายุเฮอริเคนเออร์มายังไม่ทันหาย พายุเฮอริเคนมาเรียก็มาซ้ำรอยดินแดนต่าง ๆ ในแถบทะเลคาริบเบียน สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีแกสตัน บราวน์ ของบาร์บูดา ระบุว่าสภาพบนเกาะนั้น “แทบจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้” ตึกรามราวร้อยละ 90 ถูกทำลาย ในขณะที่ประชาชนกว่าครึ่งจากทั้งหมด 1,400 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย

ภาพความเสียหายบ้านเรือนจากพายุเฮอร์ริเคนเออร์มา

ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่หลังจากเกิดพายุจากลมมรสุมที่อินเดีย บังคลาเทศ และเนปาล ในช่วงน้ำท่วมในเอเชียใต้ที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายราว 1,200 คน และอีกหลายสิบล้านคนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอุทกภัยครั้งนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา แม้ว่าในช่วงนี้ของปีจะมีพายุจากลมมรสุมและน้ำท่วม แต่ปีนี้เลวร้ายกว่าทุกครั้ง และสภาวะโลกร้อนก็เป็นตัวการในการทวีความสาหัสของพายุจากลมมรสุมนี้เช่นกัน

นิตยสาร Pacific Standard วิเคราะห์ว่า เช่นเดียวกันกับกรณีของเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ การเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมพื้นผิวน้ำทะเลในบริเวณเอเชียใต้ส่งผลให้มีความชื้นในบรรยากาศสูง เป็นสาเหตุให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงและรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนขึ้นในพื้นที่ระดับสูงของโลกยังส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลาย ซึ่งในทางเดียวกันก็ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำในเขตเทือกเขาหิมาลัยมีระดับสูงขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยร้ายแรง

ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์

ไม่ว่าเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงจะเกิดที่ใดของโลก นอกจากสภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้ทวีความรุนแรงขึ้นแล้ว ยังทำให้ประชาชนผู้ที่ไม่สามารถหลบลี้หนีภัยได้นั้นต้องทนทุกข์กับผลกระทบอันร้ายแรงที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง เหตุการณ์ไม่ปกติที่กำลังจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา

วารสาร Nature ได้วิจัยถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวโลกและมหาสมุทรที่สูงขึ้นนั้น เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง ซึ่งนอกจากพายุระดับใหญ่แล้วยังรวมถึงคลื่นความร้อน ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนในทวีปยุโรปเมื่อปี 2546 ปี 2553 ที่รัสเซีย และปี 2554 ที่รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ นี่คือวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ดูเหมือนจะเกิดบ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้นอันมีสภาวะโลกร้อนเป็นชนวน เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายพื้นที่ของโลกก็ได้เผชิญกับพายุขนาดใหญ่จนแทบจะเป็นข่าวประจำปี ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ถล่มชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ในปี 2555 พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่พัดถล่มฟิลิปปินส์ในปี 2556 และพายุเฮอร์ริเคนโจอาคินที่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ อีกครั้งในปี 2558

ใครที่ต้องรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด?

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวาระทางสังคม เมื่อวิกฤตภัยที่เกิดในวงกว้างเช่นนี้ ผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดนั้นมักเป็นชุมชนที่ไม่สามารถหนีหรือลี้ภัยไปยังบริเวณที่ปลอดภัยได้  เนื่องจากขาดทุนทรัพย์และที่อยู่อาศัยสำรอง และยามที่พายุสงบคนที่ขาดทุนทรัพย์ก็จะไม่สามารถซ่อมแซมบ้านเรือนของตนเองได้

ศูนย์อพยพชั่วคราวของผู้ประสบภัยเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ในเมืองฮูสตัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมาหลังจากภัยอย่างน้ำท่วมคือ โรคระบาด หลังจากที่พายุในเอเชียใต้ซาลง โรคระบาดอาทิ ท้องร่วง มาเลเรีย และไข้เลือดออก ก็กลับมาระบาด และทำให้ประชาชนต้องเจ็บป่วยซ้ำเติมหลังจากประสบภัยจากพายุ ฟ้าหลังฝนไม่ได้สดใสเสมอไป

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงนั้น คือสัญญาณเตือนของโลกถึงภัยร้ายที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงของสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ แต่สิ่งที่ประชากรโลกทุกคนลงมือทำได้คือร่วมกันรณรงค์ให้รัฐบาลหันมาปฏิวัติพลังงานด้วยการกำหนดนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่เราจะสามารถยุติผลกระทบจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของทุกชีวิตบนโลก ก่อนที่จะสายเกินแก้