ในเมืองที่เราอยู่ตอนนี้มีมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน? ที่เราบอกว่าวันนี้อากาศดีนะ ที่จริงแล้วอากาศดีจริงหรือเปล่า?

มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น คำถามเหล่านี้จึงยากที่จะตอบได้หากไม่มีเครื่องวัด เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศที่แย่จนเรารู้สึกได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นในภาคเหนือช่วงต้นปีทั้งจากการเผาในที่โล่งรวมถึงความหนาแน่นของการคมนาคมขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น แต่นั่นหมายความว่าเป็นระดับมลพิษทางอากาศที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ อากาศที่สะอาด คือคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง  ดัชนีสำคัญในการชี้วัดคุณภาพอากาศคือ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งในปัจจุบันนี้กรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศโดยที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วย มีการคำนวนเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน PM10 เท่านั้น นี่คือปัญหาที่เร่งด่วน และสำคัญต่อชีวิตของทุกคน 

เมืองไทย ≠ เมืองมลพิษ

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ค เปิดเผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปี 2559 ต่อเนื่องจากการจัดอันดับที่ได้นำเสนอครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยผลจากการพิจารณาตามค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานตลอดทั้งปี 2559 พบว่า พื้นที่ที่มีมลพิษ PM 2.5 ห้าอันดับแรกคือ เชียงใหม่(อ.เมือง) ขอนแก่น(อ.เมือง) ลำปาง(แม่เมาะ) กรุงเทพฯ(ดินแดง) และสมุทรสาคร(อ.เมือง) ตามลำดับ

สามารถอ่านการจัดลําดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ในประเทศไทยได้ที่นี่
ในปี 2559 ที่ผ่านมา พลังจากคนเมืองได้ตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่นพิษ PM2.5 และร่วมกันลงชื่อออนไลน์เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษผนวกเอา PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index)
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเดือนพฤษภาคม 2559 ระบุว่าประชาชนกว่าร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ในเมืองในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและต่ำ กำลังเผชิญคุณภาพอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัด คุณภาพอากาศ 19 แห่ง พบว่าในปี พ.ศ.2559 มีพื้นที่ 10 แห่ง มีความเข้มข้นของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดของประเทศไทย (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และพื้นที่ทั้ง 19 แห่งที่มีความเข้มข้น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

มาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังมีช่องว่าง เมื่อเทียบกับข้อแนะนำขององค์กรอนามัยโลก ค่า มาตรฐานรายปีของ PM2.5 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อเทียบกับค่า มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 10  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2.5 เท่า ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 25  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนค่ามาตรฐานรายปีของ PM10 ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับค่า มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

การที่ประเทศไทยตั้งค่ามาตรฐานให้ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยมลพิษได้มากกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก เป็นสิ่งที่เอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและชีวิตของประชาชน

ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับประเด็น PM2.5 โดยในปี 2558 ข้อมูลจาก State of Global Air เผยว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 ราย การกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม และการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศด้วย PM2.5 จะเป็นการช่วยปกป้องสุขภาพและชีวิตของคนเมืองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน

“ด้วยความที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดงที่มีขนาด 5 ไมครอน การที่มีก๊าซมีเชื้อรามาเกาะได้ ก็จะสามารถเข้าไปในร่างกายเราและก่อปฏิกิริยาทางเคมี เกิดพยาธิสภาพในปอด ด้วยความที่มันเล็ก เมื่อเราหายใจเข้าไปก็จะผ่านหลอดลม และลงไปที่ถุงลม ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของปอด และทำให้เกิดพยาธิสภาพตรงนั้น เมื่อเข้าไปในถุงลมแล้ว ถุงลมเป็นส่วนที่แลกเปลี่ยนระหว่าช่องลมกับช่องเลือด จึงทำให้สารเคมีและโลหะหนักที่มากับ PM2.5 เข้าไปสู่อวัยวะเป้าหมายอื่น ๆ ได้ เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่สะสม การเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ถ้าเรามีการดูแลไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศมากขนาดนี้ ” ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

“ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพิ่มขึ้นจากเดิม 12 สถานีเป็น 19 สถานีในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ หากกรมควบคุมมลพิษยังไม่ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วน ด้านสุขภาพนี้และสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทำให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องสุขภาพของประชาชน” นางสาวจริยา เสนพงศ์ กล่าวสรุป

ทำไม PM2.5 ในพื้นที่เมืองจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน?

หากเราไม่พิจารณาดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5  เราจะประเมินผลกระทบสุขภาพจากอากาศที่เราหายใจ เข้าไปต่ำเกินจริง ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในพื้นที่เมืองหลายแห่งของไทยมีความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูง ตัวอย่างเช่น

  • อ.แม่เมาะ จ. ลำปาง (วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560)
    รายงานจากสถานีตรวจวัดสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคแม่เมาะ พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM10 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงอยู่ ที่ 64 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ไม่อันตราย ในขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM2.5 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงคือ 139 ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบ โดยตรงต่อผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเด็กและผู้สูงอายุ
  • ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ. เชียงใหม่ (วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560)
    รายงานจากสถานีตรวจวัด ต.ศรีภูมิ  พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM10 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงอยู่ที่ 63 ในขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM2.5 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงคือ 157 ซึ่งเป็นระดับอันตราย ต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคาร

ดังที่ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ กล่าวไว้ว่า “โดยพื้นฐานฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ พอลอยอยู่ในอากาศก็จะเจอก๊าซเจอโลหะหนักเกาะ แหล่งที่มีเยอะคือ หนึ่ง การเผาในที่โล่ง เช่นหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ สองการเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่นกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และ สาม การเผาไหม้ของเครื่องยนต์เครื่องจักร เช่นการใช้รถยนต์บนท้องถนน ฝุ่นพิษ PM2.5 จึงเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นวิกฤตของคนเมืองต้องเผชิญโดยไม่รู้ตัว การรวม PM2.5 ในการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ คือทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าอากาศที่เราหายใจนั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาคุณภาพอากาศในประเทศไทยที่กรมควบคุมมลพิษต้องคำนึงถึง อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย”

ติดตามชมถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ค เปิดเผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปี 2559 ย้อนหลัง ได้ที่นี่

ร่วมลงชื่อ ขออากาศดีคืนมา ได้ที่นี่

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม