ปกป้องสุขภาพของเราจากมลพิษทางอากาศ

มลพิษทางอากาศในประเทศไทยเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ มลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองในบรรยากาศมีผลกระทบทางสุขภาพในหลายด้าน โดยเป็นปัจจัยรวมอันก่อให้เกิดโรคต่างๆ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเรื้อรังของทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง และโรคมะเร็งปอด โดยก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรในประเทศไทย ประมาณ 50,000 คนต่อปี(1) ดังนั้น มลพิษทางอากาศจึงเป็นปัญหาที่ควรได้รับความสําคัญด้านนโยบาย ในหลายพื้นที่ของประเทศที่เรียกว่าเป็น “พื้นที่วิกฤตคุณภาพอากาศ” ยังคงมีสารมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน

ทุกๆ ต้นปี ประชาชนในจังหวัดภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญกับหมอกควันพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยเฉพาะการเผาในที่โล่งโดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตหมอกควันพิษข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ในขณะที่ช่วงปลายปี หมอกควันพิษหนาทึบจากจุดเกิดไฟบนเกาะสุมาตราและกะลิมันตันของอินโดนีเซียอาจแผ่เข้าปกคลุมพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย กลายเป็นวิกฤตมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้อย่าง PM10 PM2.5 และก๊าซโอโซน รวมถึงสารอินทรีย์ระเหยง่ายโดยเฉพาะสารเบนซีนยังคงเป็นสารมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แม้ว่าจะมีการควบคุมมลพิษจากยานพาหนะ การควบคุมการเผาในท่ีโล่ง และการควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง

มลพิษทางอากาศมาจากไหน?

การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

แหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางอากาศมาจากภาคพลังงาน โดยเฉพาะการใช้พลังงานเพื่อการขนส่ง เช่น น้ํามันเบนซิน ดีเซล ไบโอดีเซล ก๊าซโซฮอล์และอื่นๆ การใช้พลังงานเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม ชีวมวล เป็นต้น และการอุตสาหกรรม

สารเคมีและอุตสาหกรรม

อาทิ ในพื้นท่ีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง พบสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากกิจกรรมที่เก่ียวข้องกับสารเคมีและอุตสาหกรรมในพื้นที่ หรือในเขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี พบฝุ่นละอองจากกิจกรรมการผลิตปูนขาวและปูนซีเมนต์

คมนาคม

ในชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงการเดินทางไปทำงาน หรือส่งลูกหลานไปโรงเรียน

หมอกควันพิษข้ามพรมแดน

อาทิ หมอกควันพิษในภาคเหนือตอนบนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เกิดจากการเผาในพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด ซึ่งผลิตป้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่  และหมอกควันพิษจากอินโดนีเซียอันเป็นผลพวงของสองทศวรรษแห่งการทำลายล้างป่าพรุ และระบบนิเวศป่าไม้โดยอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษที่โยงกับห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์บริโภคและอุปโภคในระดับโลก

เราไม่จำเป็นต้องสูดเอาอากาศที่เป็นพิษและอันตรายเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมือปฏิบัติให้อากาศสะอาดกลับคืนมาเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของคนไทยโดยรวม

ข้อเรียกร้องของกรีนพีซมีดังนี้

  1. กรมควบคุมมลพิษยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศ(Air Quality Index) โดยใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 AQI) แทนที่จะใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กว่า 10 ไมครอน (PM 10 AQI) เพื่อความแม่นยำของข้อมูลในการที่จะระบุถึงผลกระทบ ต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทยคำนวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน(O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมงกรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 AQI) มากกว่าที่จะใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10 AQI) เพื่อความแม่นยำของข้อมูลในการที่จะระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศ อันสอดคล้องกับการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก
  2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับประกันว่าภายใต้วิสัยทัศน์ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) นอกเหนือจากการควบคุมและป้องกันการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก ป่าไม้ และพื้นที่สงวนแล้ว จะต้องรับประกันว่าจะมีการติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
  3. รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดกลไกที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมในเรื่องภาระชดใช้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตัดสินว่ามีความผิดสำหรับบางกรณีหรือทุกกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากกิจกรรมของบรรษัทอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานของตนซึ่งเป็นผลให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือทำให้บุคคลได้รับความเจ็บป่วย
  4. มุ่งมั่นสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยุติยุคถ่านหิน ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าจนถึง พ.ศ. 2554 มลพิษทางอากาศรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) จากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรประมาณ 1,550 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอาจเพิ่มขึ้นถึง 5,300 คนต่อปี หากรัฐบาลเดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศ
  5. รัฐบาลต้องส่งเสริมและให้ความสำคัญกับระบบเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เน้นการปลูกพืชอย่างหลากหลายเพื่อให้สร้างความเกื้อกูลตามธรรมชาติแทนการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม ยกเลิกการแจกเมล็ดพันธุ์พืชไร่สำหรับการเกษตรเชิงเดี่ยว หรือให้เงินกู้ที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่าการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน

ร่วมลงชื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออากาศสะอาดของเรา เพื่อสิทธิของเราทุกคน ที่นี่

(1) Institute for health metrics and evaluation, University of Washington (2013) สนับสนุนโดย World Bank อ้างใน (ร่าง) รายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2558, หน้า 1-8)

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม