กระบวนการผลิตอาหารของเรากำลังล้มเหลว

ในปัจจุบันระบบอาหารทั่วโลกซึ่งหนุนระบบอุตสาหกรรมและองค์กรผลิตอาหารใหญ่ ๆ กำลังทำลายสุขภาพของเรา ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น และยังก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในหมู่ผู้ด้อยโอกาสและผู้หญิง

โลกใบนี้มีอาหารเพียงพอสำหรับทุก ๆ คน แต่กลับมีคนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกกำลังหิวโหย และอีก 3 พันล้านคนเป็นโรคขาดอาหารเพียงเพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ การที่ ⅓ ของอาหารที่ผลิตออกมาเป็นอาหารเหลือทิ้งเปรียบเหมือนการโรยเกลือลงบนแผล ทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงไปอีก

เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้ หลาย ๆ คนกำลังมุ่งมั่นแก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบอาหารทางเลือก เป็นการทำงานร่วมกันโดยใช้หลักสังคมที่ยุติธรรม และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ทวงคืนอำนาจในระบบอาหาร เปลี่ยนให้เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับผู้คนและธรรมชาติเป็นหลักมากกว่าผลกำไร

© Chiangmai Urban Farm

ในซีรีส์อาหารนี้ เราจะนำเสนอเรื่องราวของคนและองค์กรเล็ก ๆ ที่ช่วยกันสร้างอธิปไตยทางอาหาร และวัฒนธรรมการเกษตรแบบยั่งยืน สนับสนุนเกษตรกร และต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 นำไปสู่สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางระบบอาหารโลกที่แพร่หลายขึ้น และเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลต่อหลายครอบครัวในแทบทุกพื้นที่ สำหรับเชียงใหม่ จังหวัดที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาทางตอนเหนือของประเทศไทย การขาดรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวทำให้ผู้เคยทำอาชีพขับตุ๊กตุ๊ก หรือเป็นพนักงานโรงแรมผู้มีรายได้ไม่มั่นคงอยู่แล้ว มีสถานการณ์แย่ลงไปอีก พวกเขาส่วนมากสูญเสียที่อยู่อาศัย รวมทั้งหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ยากมากขึ้น

เรามีโอกาสพูดคุยกับศุภวุฒิ บุญมหาธนากร เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เขาได้เห็นการต่อคิวที่ยาวเหยียดเพื่อรับอาหารในเมือง เขาเป็นสถาปนิกชุมชน ทำงานเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนไร้บ้านในเชียงใหม่ เขาสงสัยว่าทำไมจึงยังมีคนจำนวนมากหิวโหยในขณะที่ชนบทโดยรอบเป็นแหล่งเกษตรกรรม

หลังจากพูดคุยกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ พวกเขากล่าวว่าเขาต่างใช้เงินกว่า 40% ของรายได้ไปกับอาหาร ศุภวุฒิพบว่าประเด็นอาหารคือปัญหาแรก ๆ ที่ต้องได้รับการแก้ไข และการทำฟาร์มในเมืองอาจเป็นทางออกที่ยั่งยืนของปัญหานี้

“โรคระบาดครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ส่งเข้าไปให้คนเมือง อย่างน้อยคุณจำเป็นต้องมีทักษะพื้นฐานเพื่อเอาตัวรอด และหนึ่งในนั้นคือการปลูกผักกินเอง” ศุภวุฒิกล่าว

ในสองปีแรก ศุภวุฒิและทีมออกแบบทำแผนที่ที่ดินเปล่าในเมืองเพื่อจะได้แยกบริเวณที่เหมาะสมสำหรับตัวโครงการฟาร์มกลางเมืองได้ง่าย ได้ออกมาเป็นพื้นที่ขนาด 4,800 ตารางเมตรซึ่งเคยเป็นที่ทิ้งขยะมากว่า 20 ปี

© Chiangmai Urban Farm

ในการทำงานร่วมกันกับ 7 เครือข่ายหลัก ประกอบไปด้วยตัวแทนชุมชน และองค์กรไม่แสวงหาหวังผลกำไรหลายที่ พวกเขาขออนุญาตหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้พื้นที่สำหรับวัตถุประสงค์ทางการเกษตร เนื่องจากคำขอนี้เป็นคำขอพิเศษที่ไม่เคยมีกฎเกณฑ์และข้อบังคับมาก่อน แม้ว่าจะจึงใช้เวลาเจรจาอยู่บ้าง ท้ายที่สุดเขาก็ได้รับพื้นที่สำหรับช่วงทดลองทำการเกษตร 1 ปีก่อนจะมีการอนุมัติถาวร

ขั้นแรกคือการเคลียร์พื้นที่ โดยเทศบาลนำคนมาขุดดินเพื่อเคลียร์พื้นที่ที่อยู่ตั้งอยู่ระหว่างคลองและสุสาน พวกเขาถมดินเพิ่มไปด้วย  ส่วนชุมชนเชียงใหม่ก็ประกาศรับบริจาคต้นไม้ เมล็ดพันธุ์ เครื่องมือทำสวน และปุ๋ยคอกบนโซเชียลมีเดีย ในเดือนมิถุนายน 2563 ฟาร์มก็ได้เกิดขึ้นจากที่ดินเสื่อมโทรมซึ่งถูกแปลงสภาพเป็นสวนอันอุดมสมบูรณ์พร้อมแปลงเกษตรที่พร้อมสำหรับการเพาะปลูก

© Chiangmai Urban Farm

ครอบครัวคนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง นักเรียน และข้าราชการต่างช่วยกันปลูกผักบุ้ง ข้าวโพด มะเขือยาว พริก มันสำปะหลัง กะหล่ำ และสมุนไพรมากมาย  มีการแบ่งปันผลิตผลที่ได้ซึ่งมีความสดใหม่ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสำหรับใครก็ตามที่ต้องการมันบนโต๊ะอาหาร

เมื่อเกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางอาหาร ศุภวุฒิและทีมจึงหันมาสนใจการเกษตรแบบยั่งยืน ผลิตผลที่ได้ถูกนำไปขายในราคาตลาด กำไรกลับมายังฟาร์ม และส่วนหนึ่งยังถูกนำไปแบ่งเป็นรายได้เล็กๆ น้อยๆให้อาสาสมัคร

เทศบาลเสนอการสนับสนุนให้ฟาร์มมากขึ้นรวมถึงงบประมาณก้อนเล็ก ๆ เพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ อุปกรณ์การเกษตร และเพื่อจ้างงานจากบรรดาคนไร้บ้านจำนวน 3 อัตรา

เมื่อการทำฟาร์มเข้าสู่ระยะที่ 3 ฟาร์มแห่งนี้ก็ได้ผลิตอาหารเพื่อส่งให้ครัวท้องถิ่น ขณะที่ยังคงขายผลิตผลที่ปลูกตามรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่ตลาดเกษตรกรด้วย

เพราะโครงการนี้คิดขึ้นบนฐานคิดแบบประชาสังคมทำให้เบื้องหลังการสร้างพื้นที่ที่มีความเท่าเทียมนี้คือชุมชนเข้าถึงได้ รวมทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ประโยชน์ ชุมชนสามารถจัดกิจกรรมสาธารณะ เวิร์กช็อป ทัศนศึกษาเกี่ยวกับการทำฟาร์มในเมืองที่สวนแห่งนี้ได้

“ถ้าคุณมีพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อปลูกผัก คุณจะเข้าใจว่าการทำสวนมันยากขนาดไหน และคุณจะเคารพเกษตรกรผู้ทำเกษตรแบบอินทรีย์มากขึ้น พวกเขาควรมีความเป็นอยู่และผลตอบแทนที่ดีขึ้นแต่เพราะระบบตลาดในปัจจุบันทำให้พวกเราถูกตัดขาดจากคนกลุ่มนี้ที่ปลูกอาหารในจานเรา” ศุภวุฒิกล่าว “ผู้คนควรตระหนักว่าเมื่อพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร เพราะไม่เพียงจะแต่จะเป็นเรื่องของผลผลิต แต่ยังเป็นเรื่องของระบบห่วงโซ่อุปทานด้วย”

© Chiangmai Urban Farm

ศุภวุฒิกล่าวว่านอกจากสวนผักคนเมืองเชียงใหม่จะเป็นสถานที่เลี้ยงปากท้องของผู้คนที่ต้องการมันที่สุดแล้ว ยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชน ความสามารถในการจัดการตนเอง และการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน

“โครงการนี้แสดงให้เราเห็นว่าในฐานะพลเมือง เรามีสิทธิที่จะฝันถึงเมืองที่เราอยากอยู่ และลงมือทำให้เมืองในฝันเกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่ต้องรอใครมาเริ่ม”