“หลายๆ โครงการที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐหรือเอกชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ 

“แม้ว่ากฏหมายได้ระบุให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ถูกนำไปประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการเหมืองถ่านหิน   ทว่าประชาชนไม่สามารถมั่นใจได้ว่าความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของคนในพื้นที่จะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ อย่างเช่น ในพื้นที่มีคน 2,000 คน คัดค้านทั้งหมด นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการนั้นจะยุติลงได้ มันแค่อาจจะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

“ที่ผ่านมาเราไม่เห็นอะไรที่มันเป็นรูปธรรมจากรัฐบาล ไม่เห็นความจริงจัง จริงใจที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน หรือการลดการใช้ถ่านหินเลย” – ศศิประภา ไร่สงวน นักกฎหมายจาก EnLAW 


ชวนอ่านสรุปจากเสวนา ‘ถ่านหินกับรัฐบาล ใครปลดระวางก่อนกัน?’ วงพูดคุยที่ชวนตัวแทนเยาวชนในพื้นที่ คนทำงานด้านกฎหมาย นักวิจัยนโยบาย และกรีนพีซ มาร่วมกันพูดคุยถึงปัญหา การต่อสู้ ระหว่างกระบวนการที่ออกแบบเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมถ่านหินกับในทางการปฏิบัติจริงล้วนเต็มไปด้วยความย้อนแย้ง และหาข้อสรุปว่าประเทศไทยจะปลดระวางถ่านหินได้ไหมในชาตินี้

#ปลดระวางถ่านหิน ฟังเสียงจากตัวแทนหมู่บ้านกะเบอะดิน ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

“ชุมชนกะเบอะดิน เป็นชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ที่อาศัยอยู่ตามหุบเขา วิถีการอยู่อาศัยเป็นแบบดั้งเดิมสัมพันธ์กับระบบนิเวศ เรามีระบบการทำการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งแบบทำไร่หมุนเวียนเชิงนิเวศ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ทำนาข้าว และปลูกพืชผลทางเศรษฐกิจทั้งพืชสวน และพืชไร่ มีแหล่งต้นน้ำของชุมชนที่สัมพันธ์กับการจัดการ พื้นที่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เราเรียกว่า “ป่าจิตวิญญาณ” 

“เมื่อปี 2562 พวกเราเยาวชนบ้านกะเบอะดินรู้ข่าวว่าจะมีโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย โดยนำถ่านหินซับบิทูมินัสไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนในโรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดลำปาง ในพื้นที่ 284 ไร่ 30 ตารางวา ในเขตบ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ 

พื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ในหมู่บ้านกะเบอะดิน ต.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่นี่เป็นทั้งพื้นที่ที่ใช้ทำพิธีกรรมความเชื่อของชุมชนและยังเป็นพื้นที่ที่ถูกอนุรักษ์ผืนป่าไว้ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย

“ใน EIA หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเขียนไว้ว่าพื้นที่ที่จะมีการทำเหมืองในพื้นที่ชุมชนบ้านกะเบอะดินนั้นเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่เหล่านั้นคือพื้นที่ทำกินที่ใช้ประกอบอาชีพปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง กะหล่ำปลี เพื่อเอามาใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวบ้าน”

พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนเยาวชนอมก๋อยที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ เล่าถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้น เมื่อบ้านของเธอจะมีโครงการเหมืองถ่านหินเข้ามาประชิดในอนาคต

หากมีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นจริง ผลกระทบที่เราชาวบ้านกะเบอะดินจะได้รับคือ 

  1. สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ป่าจิตวิญญาณ ความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในชุมชน 
  2. สูญเสียพื้นที่ดินทำกิน ชุมชนกะเบอะดินประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ถ้าหากมีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นพื้นที่ทำกินก็อาจจะหายไป 
  3. การใช้ประโยชน์จากห้วยและแหล่งน้ำเดิมตามธรรมชาติจะสูญหายไป เพราะพื้นที่ขอประทานบัตรโครงการเหมืองถ่านหิน มีน้ำจากแหล่งต้นน้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หากมีเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นลำห้วยสายนั้นก็จะหายไป 
  4. ปัญหาสุขภาพการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ถ่านหินทำให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศ และทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารโลหะหนัก 
  5. ผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ท้องถิ่น จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น เพราะการขนส่งถ่านหินโดยรถบรรทุกจากเหมืองลงมาที่ราบโดยจะใช้เส้นทางสายเส้นหลักจากปากทางบ้านหนองกระทิง ไปยังจังหวัดลำปาง ซึ่งพื้นที่กะเบอะดินนั้นคือหมู่บ้านสุดท้ายบนเส้นทางสายรองพื้นที่ขอองพื้นที่ขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน ระหว่างทางมีอีกหลายหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ตลอดเส้นทาง”

รับฟังชุมชน หรือละเมิดสิทธิชุมชน?

ศศิประภา ไร่สงวน นักกฎหมายจาก EnLAW ให้ความเห็นต่อการจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่จุดใด

“การคัดค้านโครงการต่างๆ มักเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่จริงใจ ความฉ้อฉลในการรับฟังความเห็น หรือปราศจากการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน 

“แม้ว่ากฏหมายได้ระบุให้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ถูกนำไปประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการเหมืองถ่านหิน   ทว่าประชาชนไม่สามารถมั่นใจได้ว่าความคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของคนในพื้นที่จะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาเห็นชอบหรือไม่ อย่างเช่น ในพื้นที่มีคน 2,000 คน คัดค้านทั้งหมด นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการนั้นจะยุติลงได้ มันแค่อาจจะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจเท่านั้น

การทำแบบนี้ทำให้ชาวบ้านยิ่งเป็นกังวลมากกว่าเดิม แทนที่หน่วยงานหรือภาครัฐจะเป็นพื้นที่ตรงกลางให้เขาสบายใจที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ กลับกลายเป็นทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้รู้สึกว่ารัฐเป็นศัตรูต่อเขา รัฐร่วมมือกับทุนแย่งชิงทรัพยากรไปจากมือเขา แย่งชิงเอาสุขภาพที่ดีไปจากเขา 

กิจกรรม 1 ปีแห่งการต่อสู้และก้าวย่างของคนอมก๋อย ชาวกะเบอะดินและพี่น้องชุมชนข้างเคียงได้ร่วมกันแสดงจุดยืนในนามของคนอมก๋อยว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ต้องการให้เกิดการขุด“ถ่านหิน” เชื้อเพลิงที่จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

“การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน และรอบด้านเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนเลยด้วยซ้ำ ชาวบ้านควรมีสิทธิตัดสินใจว่าบ้านของเขา ชุมชนของเขาควรทำอะไรหรือไม่ควรทำอะไร เขาควรมีสิทธิตัดสินใจว่าเขาจะอยู่ยังไง”

ไทยสามารถ #ปลดระวางถ่านหิน ได้หรือไม่?

เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า “คำถามว่าเราจะสามารถปลดระวางจากถ่านหินได้จริงไหม ในปัจจุบันชัดเจนว่าทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะทำได้เร็วแค่ไหน” 

“แนวทางหนึ่งที่เราอยากทำให้เกิดขึ้นจริงคือทำให้ถ่านหินหมดไปในปี 2570 ถ้าเรายกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เราก็จะอยู่ในจุดที่กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของเราอยู่ในเกณฑ์ต่ำสุด คือร้อยละ 15.7 นั่นคือ (เกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่กำหนดไว้ตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15) แปลว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของเราก็ยังพอไปได้ การยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในปี 2570 จึงเห็นเลยว่ามันสามารถเป็นไปได้

“และยิ่งลดการใช้ถ่านหินได้เร็วแค่ไหน ก็จะยิ่งทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้นด้วย เรามีการคำนวณว่าการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินน่าจะลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ประมาณ 11-24 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการที่เราต้องมีป่าเพื่อมาดูดซับตรงนี้ประมาณ 4 ล้านไร่ หรือก็คือประมาณ 4 เท่าของพื้นที่กรุงเทพมหานคร เราต้องมีพื้นที่เยอะขนาดนั้นเพื่อมาดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะฉะนั้นการที่เราเลิกได้เร็ว ก็ยิ่งดี” 

Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
กิจกรรม Climate Strike Thailand หรือเยาวชนร่วมพลังปกป้องสภาพภูมิอากาศ เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กับรัฐบาลเพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งให้พันธะสัญญาว่าจะบรรลุเป้าหมายการกำจัดถ่านหิน และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขึ้นร้อยละ 50 ภายในปี 2568 © Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

สำหรับประเด็นการปลดระวางถ่านหินยังมีความเห็นจากคุณศศิประภาเสริมเพิ่มเติม โดยเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเปลี่ยนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการจัดการขยะ ทุกปัญหาสิ่งแวดล้อมมีทางออกแน่นอน เพียงแต่รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นวิสัยทัศน์แบบนั้น 

“ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่าหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในยุทธศาสตร์ 20 ปี ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม มีเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ด้วยแต่เขาก็ยังไม่ทำอะไรเลย บอกว่าเน้นเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่เพิ่มพื้นที่สีเขียวของเขาคืออะไร คือการยึดพื้นที่ทำกินเดิมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่จากนโยบายทวงคืนผืนป่า คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ดำเนินคดีชาวบ้านเป็นหลายหมื่นคดี โดยที่ในทางกลับกันเขาก็ออก พรบ.เขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวให้เป็นสีม่วง เปลี่ยนพื้นที่ทางความมั่นคงทางการเกษตรให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เรารู้สึกว่ามันย้อนแย้งมากเลย เขาเพิกเฉยกับเรื่องที่ควรจัดการมาตลอด ที่ผ่านมาเราไม่เห็นอะไรที่มันเป็นรูปธรรม ไม่เห็นความจริงจัง จริงใจที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน หรือการลดการใช้ถ่านหินเลย” 

ล่าสุด กรีนพีซประเทศไทยเผยแพร่รายงาน เบื้องหลังการนำเข้าถ่านหิน และข้อเสนอการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรมในประเทศไทย เปิดเผยการใช้ถ่านหินนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในไทย โดยสัดส่วนการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับภาคการผลิตไฟฟ้าจากร้อยละ 23 ในปี 2533 เป็นร้อยละ 39 ในปี 2562 ถ่านหินนำเข้าถูกใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์มากที่สุด (ร้อยละ 61 ของถ่านหินนำเข้า ทั้งหมดในปี 2562) ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ และอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยภาพรวม ในปี 2562 ถ่านหินนำเข้าถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 62.7 และใช้ใน ภาค การผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers) ร้อยละ 37.3

Gathering Dust Report

กรวรรณ บัวดอกตูม จากกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมให้ความเห็นในวงเสวนาไว้ว่า “รายงานเล่มนี้ฉายให้เห็นการนำเข้าถ่านหินสู่ประเทศไทยโดยเชื่อมโยงให้เห็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากห่วงโซ่อุตสาหกรรมถ่านหินโดยมิติของการพูดคุยในครั้งนี้จะสอดแทรกเสียงของผู้ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม ภาพของความย้อนแย้งในทางปฏิบัติที่ลักลั่น และกล่าวถึงเส้นทางที่เราจะปลดระวางถ่านหินได้จริง

“แหล่งถ่านหินสำรองของประเทศที่กำลังขุดถ่านหินขึ้นมาใช้เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าปัจจุบันตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะเป็นการดำเนินการภายใต้ผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย  ทุกคนอาจจะตั้งคำถามว่ามีถ่านหินเป็นทรัพยากรในประเทศไทย ก็ต้องขุดขึ้นมาใช้ถูกต้องแล้ว  บ้านเราก็มีไฟฟ้าใช้อยู่แล้ว ถ่านหินในประเทศส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า แต่ยังไม่มีใครตั้งข้อสังเกตถึงการนำเข้าถ่านหิน ยังมีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและขายไฟฟ้าเข้าระบบ

“ถ่านหินส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย ล้วนแต่เป็นถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศ โดยถ่านหินนำเข้าจะถูกส่งไปโรงงานปูนซีเมนต์ กระดาษ อาหาร และสิ่งทอ โดยหลายบริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ด้วยเช่นกัน เรื่องนี้แสดงให้เห็นความทับซ้อนระหว่างบทบาทในฐานะของผู้ผลิตทั้งด้านอุตสกรรมและการผลิตไฟฟ้า

“ห่วงโซ่การนำเข้าถ่านหินมีบริษัทชื่อดังชั้นนำของไทย บริษัทเหล่านี้เป็นบรรษัทข้ามชาติสัญชาติไทยคือผู้เล่นสำคัญในคราบนักลงทุนถ่านหินที่เข้าไปเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองถ่านหินในต่างประเทศ และเจ้าของธุรกิจขนส่งลำเลียงถ่านหินจากต่างประเทศเข้ามาในไทย และบริษัทเหล่านี้เป็นผู้จำหน่ายและกระจายถ่านหินขายทั่วประเทศ”


ย้อนฟังคลิปเสียงเสวนา ‘ถ่านหินกับรัฐบาล ใครจะปลดระวางก่อน’ #ปลดระวางถ่านหิน

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม