แม้คำว่า ‘ถ่านหิน’ อาจฟังดูไกลตัว หากอยู่ไกลออกไปจากเขตอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าแต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าถ่านหินอยู่ใกล้กับเราและส่งอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด 

‘เจาะลึกเบื้องหลังการใช้ถ่านหินในไทย ปลดระวางได้ไหมในชาตินี้?!’ เสวนาจาก Greenpeace Thailand ชวน ‘เริงชัย คงเมือง’ ช่างภาพสารคดี ‘อำนาจ อ่วมภักดี’ ตัวแทนกลุ่มรักบ้านเกิดและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด และจริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย มาพูดคุยถึงปัญหาจากถ่านหินที่คนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมาแล้วกว่า 20 ปี แม้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่จะชะลอตัวลง แต่การใช้ถ่านหินของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยนั้นกลับไม่ได้หายไปจากวงจร 

สำหรับคนที่พลาดไป นี่คือสรุปจากเสวนา หรือหากอยากย้อนฟัง สามารถติดตามต่อได้ที่

ศูนย์กลางการกระจายถ่านหินในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาแล้วกว่า 20 ปี โดยถ่านหินจากที่นี่จะกระจายออกไปยังเขตอุตสาหกรรมต่างๆ โดยรอบ ทั้งจังหวัดราชบุรี ปทุมธานี สระบุรี กาญจนบุรี นครสวรรค์ สระแก้ว ชัยภูมิ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ กระดาษ อาหาร และสิ่งทอ 

จนอาจเรียกได้ว่าผลกระทบจากถ่านหินนั้นขยายไปไกล และแม้จะไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ที่เป็นปัญหาอย่างอยุธยา ทุกคนก็สามารถเกี่ยวพันกับการนำเข้าถ่านหินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

คุณอำนาจเล่าให้ฟังว่าถ่านหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเมื่อมาถึงประเทศไทย จะเริ่มต้นส่งมาจากเกาะสีชังผ่านมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำไปไว้ที่ลานกองเก็บ บริเวณอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 13 กิโลเมตร

“ถ่านหินที่นำเข้ามาจะเป็นแบบรวมไซส์ มีทั้งก้อนใหญ่ ก้อนเล็ก และแบบป่น เมื่อมาถึงท่าเรือถ่านหินที่อยุธยาก็จะเข้าสู่กระบวนการขนถ่ายและคัดแยก ซึ่งการร่อนและเขย่าเพื่อคัดแยกนี้จะถูกทำในพื้นที่เปิด กลางแจ้ง ไม่มีผ้าคลุม เมื่อถูกลมพัดฝุ่นของถ่านหินก็จะปลิวออกไปกลางทุ่งนาซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรขนาดหลายพันไร่ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตของคนตรงนั้นทั้งหมด”

คุณเริงชัย ช่างภาพสารคดีเสริมว่า “ภาพจำของอยุธยาสำหรับเราคือเมืองท่องเที่ยว เมืองเก่า เมืองมรดกโลก แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพื้นที่อยุธยามีปัญหาอะไรแบบนี้ด้วย เราคิดว่าอยุธยาเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ความรุ่งเรือง แต่ภาพปัจจุบันมันไม่ใช่แล้วนะ จากรวงข้าวสีทองคละไปด้วยเขม่าของถ่านหินหมดแล้ว”

“ผลกระทบมีทั้งมลภาวะทางอากาศ เสียง และกลิ่น จนคนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ต้องย้ายถิ่นฐานออกไปจากภูมิลำเนาเดิม” เขาเล่าให้ฟังว่าฝุ่นจากถ่านหินส่งผลกระทบกับชาวบ้านเป็นหลักวินาที หลายบ้านทำความสะอาดคราบฝุ่นจนทำความสะอาดไม่ไหวอีกต่อไป

“เวลาฝุ่นมามันมาทุกวินาที ทุกวันนี้หากจะดูว่าใครเป็นคนนครหลวง ไม่ต้องขอดูบัตรประชาชนกันแล้ว แค่ดูฝ่าเท้าก็รู้ได้เลยเพราะเต็มไปด้วยถ่านหิน 

“ชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นโรคผิวหนังและโรคระบบทางเดินหายใจ มีอาการเดียวกันเลยคือมีน้ำมูก ไอ จาม แต่ไม่มีไข้ พอไปหาหมอก็ได้รับคำแนะนำแค่ว่าควรย้ายที่อยู่อาศัย แต่กลับไม่มีใครมาหาสาเหตุว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้ยังไง ไม่มีการดำเนินเรื่องหรือหาแนวทางแก้ไขอะไรเลย ทั้งๆ ที่ทุกครั้งเมื่อผมเข้าสู่เวที เข้าสู่กระบวนการร้องเรียน ผมจะดึงเรื่องสาธารณสุขมาเป็นลำดับต้นๆ ด้วยซ้ำ”

คุณอำนาจเล่าว่าตัวเองเป็นตัวแทนชาวบ้าน เข้าสู่กระบวนการร้องเรียนอย่างนี้มากว่า 20 ปีแล้ว แต่หากนับปัญหาถ่านหินในพื้นที่จริงๆ นั้น ชาวบ้านในพื้นที่ต้องทนเดือดร้อนอย่างนี้กินเวลามาแล้วกว่า 30 ปี แต่ก็ยังไม่เกิดการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม หรือเกิดการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนใดๆ 

“นี่คือสิ่งที่เราต้องเจอแทบจะทุกวินาทีที่เราอาศัยอยู่ในพื้นที่ มันเป็นความเดือดร้อนที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า การที่ชาวบ้านต้องเจออะไรแบบนี้ทุกวัน ประชาชนต้องทนรับฝุ่น รับกลิ่น รับเสียงพวกนี้ มันยุติธรรมสำหรับพวกเขาแล้วหรือ?

“สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องคือแค่การอยู่ร่วมกันกับผู้ประกอบการอย่างมีความสุขและยั่งยืนเท่านั้น”

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คุณอำนาจและชาวบ้านในพื้นที่ยื่นร้องและเรียกร้องความยุติธรรมต่อผู้มีอำนาจให้เข้ามาจัดการแก้ไขครบแทบจะทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีคำสั่งใดออกมาช่วยเหลือประชาชน 

“สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเท่านั้น แต่นี่คือปัญหาระดับชาติ

“พวกเราเป็นมนุษย์ พวกเราต้องการอากาศดีเหมือนทุกๆ คน แต่ทำไมพวกเราถึงไม่ได้รับโอกาสนั้น ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่พวกเราไม่ได้กีดขวางความเจริญของประเทศ พวกเราเป็นเพียงคนในชุมชนที่มีศักยภาพเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีทีมกฎหมาย ไม่มีใครส่งนักวิชาการมาช่วยเหลือด้วยซ้ำ ผมแค่อยากบอกให้รู้ว่าคนในพื้นที่อำเภอนครหลวงที่เดือดร้อนนี่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน

“แม้สิ่งที่ผมทำมาตลอดครึ่งชีวิตจะยังไปไม่ถึงไหนเลย ถูกแช่แข็ง แต่ผมก็อยากจะฝากบอกต่อไปยังคนที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง พวกเราเป็นคนครับ เรารอโอกาสดีๆ ที่พวกท่านจะเข้ามาแก้ไขร่วมกัน” เขาทิ้งท้าย

แม้อยุธยาจะเป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลางของถ่านหิน แต่นี่ไม่ใช่จุดจบ เพราะ ‘ถ่านหิน’ กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จากนี้ กรีนพีซจะติดตามและพูดคุยเรื่องนี้กันต่อ ว่าพื้นที่อื่นเจอผลกระทบใดจากถ่านหินบ้าง

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม