เมื่อช่างภาพย้อนกลับมาดู กรีนพีซยุคแรก ผ่านภาพที่เขาถ่ายเอาไว้

ตั้งแต่ปี 2517 ถึงปี 2525 ผมได้รับหน้าที่เป็นช่างภาพในงานรณรงค์ของกรีนพีซ และภาพชุดต่อไปนี้คือเรื่องราวหลายปีที่กรีนพีซได้สร้างขึ้น

กรีนพีซเปิดออฟฟิศแห่งแรกในปี 2518 ที่ 4th Avenue ในแวนคูเวอร์

© Greenpeace / Rex Weyler

ออฟฟิศแห่งแรกของกรีนพีซเป็นบ้านของโดโรธีและเออร์วิง สโตรว์ ในแวนคูเวอร์ เราพบปะกันที่โบสถ์ยูนิทาเรียนบ้าง ในครัวของบ้านสมาชิกคนใดคนหนึ่งบ้าง ที่ร้านกาแฟบ้าง หรือแม้กระทั่งผับบาร์ ต่อมาในปี 2518 ที่เราเริ่มงานรณรงค์ยุติการล่าวาฬครั้งแรก เราแชร์พื้นที่ร่วมกับองค์กร the Society for the Prevention of Environmental Collapse (SPEC) ในแวนคูเวอร์ ในตอนนั้น ออฟฟิศเล็กๆ นี้ ดำเนินการโดย บ็อบบี้ ฮันเตอร์ ประกอบไปด้วย โทรศัพท์ 1 เครื่อง บอร์ดปักหมุด และแผ่นไม้ที่เอามาทำเป็นโต๊ะ ตอนนั้น เรายังนัดเจอกันบ่อยๆ ในผับตรงข้ามออฟฟิศ  ใช้ชั้นสองของร้านที่เปิดหน้าต่างไว้ เมื่อมีโทรศัพท์เข้าบ็อบบี้จะตะโกนเรียกจากออฟฟิศให้พวกเราข้ามถนนมาพูดสายโทรศัพท์

ในภาพนี้ ประธานกรีนพีซ บ็อบ ฮันเตอร์ นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะในห้องประชุม แจกเอกสารที่อยู่ในมือ บรี ดรัมมอนด์(ผู้เคยปีนต้น Cottonwood จากการทำลายของอุตสาหกรรมตัดไม้) ยินพิงกำแพง ลีห์ วิกส์ พยาบาลประจำโรงพยาบาลแวนคูเวอร์กำลังจดโน๊ต เธอนั่งอยู่ข้างๆ ร็อด มารินิ่ง หนึ่งในผู้ที่มีวิสัยทัศน์ทางนิเวศวิทยา และเป็นผู้ประสานงานสื่อในงานรณรงค์ยุติการล่าวาฬ ทุกคนเป็นอาสาสมัคร ไม่มีเงินเดือน

ปี 2518 ภาพวาฬสเปิร์มลอยอยู่ใต้หัวเรือล่าวาฬรัสเซีย วาฬใกล้ตายเพราะถูกยิงด้วยฉมวก

© Greenpeace / Rex Weyler

ปี 2518ภาพถ่ายขาวดำที่เป็นสัญลักษณ์การรณรงค์ยุติล่าวาฬตีพิมพ์เผยแพร่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลก ในตอนที่เราวางแผนรณรงค์เรื่องนี้ เป้าหมายหลักประการหนึ่ง คือ เราต้องลบภาพจำของการล่าวาฬในนวนิยายของ โมบี้ ดิค ที่เป็นภาพของชายผู้กล้าหาญบนเรือลำเล็กๆ ไล่ล่าวาฬยักษ์ที่ดุร้าย เราอยากแทนที่ภาพนั้นด้วยภาพจริงของการล่าวาฬในโลกยุคใหม่ ที่มี เรือล่าวาฬลำเขื่องพร้อมยิงฉมวกไปยังฝูงวาฬ เป็นภาพที่ช่วยเปลี่ยนแปลงภาพจำและการรับรู้เดิม เมื่อเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและรู้สึกได้ถึงอำนาจที่อันตรายของเหล่านักล่าวาฬซึ่งกระทำต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างวาฬ

ภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในวันแรกที่เรือของเราเผชิญหน้ากับเรือล่าวาฬรัสเซีย วันที่ 27 มิถุนายน 2518 เหนือภูเขาใต้ทะเลเมนโดซิโนริดจ์ 50 ไมล์จากชายฝั่งแคลิฟอเนียร์ วันนั้นเราทำงานอย่างรีบเร่ง ผมไม่รู้สึกตัวเลยจนกระทั่งตกเย็นถึงจะรู้สึกใจสลายและเศร้าสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นหลังจากเห็นการสังหารวาฬเหล่านั้น

เทโกะ มิวะ และ เมล เกรกอรี่ ในห้องกระจกของเรือ ฟิลิส คอร์แม็ก เรือลำแรกของกรีนพีซ ปี 2518

เทโกะเป็นชาวญี่ปุ่น เธอน่าจะเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสบการณ์มากที่สุดในบรรดาลูกเรือช่วงการรณรงค์ยุติการล่าวาฬ ปี 2518 เธอเคยทำงานกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนปรอทจนป่วยเป็นโรคมินามาตะในญี่ปุ่น โรคนี้คร่าชีวิตคนไปกว่า 2,000 คน และอีกหลายพันคนต้องทุกข์ทนกับผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานของบริษัท Chisso อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการรณรงค์เพื่ออากาศสะอาดในโตเกียว เธอยังร่วมคัดค้านการสร้างสนามบินโตเกียวใหม่เนื่องจากเป็นการทำลายชุมชนท้องถิ่น ส่วนเมลเป็นนักดนตรีอาศัยอยู่ในแวนคูเวอร์และเป็นคนที่รักสัตว์มากๆ เมลจะช่วยแมงมุมจากสัตว์อื่นทันทีที่เขาเห็นว่ามันกำลังจะถูกทำร้าย เขาเลี้ยงอีกัวน่าชื่อว่า ฟิโด เมลเป็นหนึ่งคนที่สำคัญมากๆในการเดินทางเพื่อยุติการล่าวาฬ เขานำไมค์ใต้น้ำที่สามารถเล่นดนตรีให้วาฬฟังขึ้นเรือไปด้วย เขาสามารถบันทึกเสียงของวาฬ และเมลยังพก “หนังสือบันทึกความฝัน” เพื่อบันทึกความฝันของลูกเรือ บันทึกนี้นำไปสู่การพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความฝันรวมถึงบทกวีชื่อดังของ ลอเรนซ์ เฟอร์ลิงเฮตติ ( Lawrence Ferlinghetti)

บ็อบบี้ ฮันเตอร์ กับเรือล่าวาฬของรัสเซีย ปี 2519

© Rex Weyler

ช่วงระหว่างปี 2517 ถึง 2521 บ็อบบี้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมระดมทุนและเป็นผู้จัดการองค์กร เธอร่วมเป็นลูกเรือในปี 2519 เป็นครั้งแรกที่เราสามารถหยุดเรือฉมวกล่าวาฬได้จริงๆ ท่ามกลางซากวาฬลอยบนผิวน้ำ เราหยุดการสังหารวาฬได้

ในช่วงสิบปีแรกที่เราเริ่มมีกรีนพีซ เราทำทั้งงานในออฟฟิศและงานรณรงค์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน เพราะเชื่อว่านักกิจกรรมควรทำงานได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นงานในออฟฟิศ งานในที่สาธารณะและงานรณรงค์ เราพยายามให้พนักงานทุกคนได้เข้าร่วมงานรณรงค์แนวหน้า และบ็อบบี้ได้รับหน้าที่เป็นทีมสื่อสารวิทยุทางทะเลเกือบทุกวัน เธอทำงานนี้กับชาวแวนคูเวอร์อีกคน โดยติดตามการทำงานด้านระดมทุนและการจัดการงานรณรงค์

ลูกเรือบนเรือล่าวาฬ ดัลนี วอสโตค (Dalnyi Vostok) ปี 2518

© Greenpeace / Rex Weyler

สำหรับลูกเรือบนเรือล่าวาฬที่เราเผชิญหน้า เรามักจะแสดงความเป็นมิตรกับพวกเขา (ซึ่งไม่จำเป็นกับหัวหน้าของพวกเขา) ภาพนี้เป็นครั้งแรกที่เรือยางโซดิแอค (Zodiac)  เข้าใกล้จนพอคุยกับพวกเขา  บางคนตะโกนถามเราเป็นภาษาอังกฤษว่า “คุณมี LSD (สารเสพติดที่มีฤทธิ์หลอนประสาท) ไหม?” ซึ่งเราปฏิเสธคำขอ แต่เราหันหัวเรือยางกลับไปที่เรือแม่ เราหยิบเหล้ารัมมาหนึ่งขวดและเข็มกลัดรูปวาฬ ซึ่งพวกเขาน่าจะพอใจที่ได้รับมัน

ผมนึกประเด็นหนึ่งขึ้นได้ระหว่างที่เรามีงานรณรงค์ด้านนิเวศวิทยาในด้านสิ่งแวดล้อมประเด็นต่างๆ เราจะพูดถึงผลกระทบต่ออาชีพและวิถีชีวิตของคนด้วยเสมอ ในตอนนั้น เห็นได้ชัดว่า ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านทางนิเวศวิทยาในสังคมจะต้องคำนึงถึงผู้คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่อันตรายหรือในกระบวนการควบคุมแบบทหาร และความท้าทายดังกล่าวยังคงอยู่กับเรามาจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขวิกฤตทางนิเวศวิทยา จะต้องทบทวนระบบเศรษฐกิจทั้งหมดที่มีอยู่ด้วย

ช่างภาพ แมทท์ เฮอร์รอนและคาซูมิ ทานากะ กำลังกดชัตเตอร์ถ่ายภาพการขนถ่ายซากวาฬจากเรือฉมวกล่าวาฬ ไปยังเรือแม่ ดัลนี วอสโตค ในมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2519

© Greenpeace / Rex Weyler

ซากวาฬถูกลากขึ้นไปบนโรงงานที่อยู่บนดาดฟ้าของเรือ ท่อด้านข้างเรือที่ยืนออกมาปล่อยน้ำเสียสีแดงเต็มไปด้วยเลือด นั่นทำให้ฉลามว่ายน้ำตามเรือลำนี้ สุดท้ายคือกลิ่นเหม็นเหมือนอยู่ในโรงฆ่าสัตว์จนเราคลื่นไส้

การถ่ายรูปบนเรือยางที่กำลังวิ่งแม้ในท้องทะเลที่มีคลื่นปานกลางเป็นเรื่องยากมากๆ เรามีปัญหาในช่วงแรกๆ เราเรียนรู้ในช่วงปี 2518ว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ การยืนบริเวณหัวเรือ ใช้เชือกพันรอบเอว ด้วยวิธีนี้ทำให้ช่างภาพสามารถเอนตัว ขาและเชือกกลายเป็นขาตั้งกล้องและทรงตัวได้โดยไม่ต้องใช้มือทั้งสองข้าง

บ็อบ ฮันเตอร์ พิมพ์ข่าวประชาสัมพันธ์ที่ต๊ะในห้องเครื่องยนต์เรือ ปี 2519

© Greenpeace / Rex Weyler

ภาพนี้ถ่ายบนเรือ เจมส์ เบย์ (James Bay) เรือกวาดทุ่นระเบิดในแคนาดาที่  ที่กรีนพีซนำมาใช้รณรงค์ยุติการล่าวาฬช่วงปี 2519 และ 2520 ในตอนนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตและเราไม่สามารถส่งข่าวและภาพให้กับช่างภาพในขณะที่อยู่บนเรือ นอกจากการใช้วิทยุสื่อสารทางทะเล (marine radio) ดังนั้น ฮันเตอร์และผมจะใช้วิทยุสื่อสารแจ้งสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ และอ่านเนื้อหาให้ทีมบรรณาธิการข่าวของเรา โดยอัดเสียงและถอดเทป สำหรับภาพและวิดีโอจะต้องรอให้ถึงฝั่งก่อน โดยต้องเข้าประบวนการแปลงฟิล์มให้เป็นภาพแล้วจึงส่งภาพได้

ฮันเตอร์เป็นนักเขียนและเป็นนักสื่อสารตัวยง เขาเป็นลูกศิษย์ของมาร์แชล แม็กลูแฮน (Marshall McLuhan) นักวิเคราะห์สื่อผู้ที่คาดการณ์ถึงอินเทอร์เน็ตในช่วงคริสตทศวรรษ 1960 และแสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีการสื่อสารส่งผลต่อการรับรู้ของมนุษย์และมีอิทธิพลต่อการจัดองค์กรทางสังคม

ทฤษฎีเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่บ็อบ ฮันเตอร์ใช้คำว่า‘mind-bomb เสนอว่า วิธีการที่เร็วที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมเกี่ยวข้องการนำภาพและเรื่องราวออกมา จุดกระแสความสนใจ(mind bomb) และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้างต่อความคิดของคนทั่วโลก บ็อบ ฮันเตอร์ บอกว่า เป้าหมายของกรีนพีซคือการแพร่กระจายความคิดต่อคนทั้งโลกว่า  ‘สรรพชีวิตบนโลกต่างเชื่อมโยงกัน  เราเป็นลูกหลานของโลกใบนี้และเรามีหน้าที่ดูแลโลก’

บรี ดรัมมอนด์ (ต่อมาใช้ มารินิ่ง) ภายในห้องเครื่องยนต์ของเรือ เจมส์ เบย์ ปี 2519 

© Greenpeace / Rex Weyler

บรีเป็นนักกิจกรรมที่ช่ำชอง ก่อนหน้านี้เธอปกป้องต้น Cottonwood ในแวนคูเวอร์ บรีช่วยทำแคมเปญปกป้องแมวน้ำและประสานงานเวรยามดูแลห้องเครื่องยนต์ในแคมเปญยุติล่าวาฬปี 2519 การเฝ้าห้องเครื่องยนต์เป็นงานบนเรือที่เคร่งเครียดมากงานหนึ่ง โดยเราจะต้องเปลี่ยนกันเข้าไปเฝ้าห้องเครื่องคนละหนึ่งชั่วโมงทุกๆสองวัน เพื่อเช็คแรงดันน้ำมัน ปั้มเชื้อเพลิง หน้าปัดระดับน้ำหล่อเย็นและอุณหภูมิ เพื่อเช็คหาความผิดปกติหรือรอยแตกเล็กๆและทำให้ห้องสะอาด หากห้องเครื่องเกิดประกายไฟขึ้นมาก็จะทำให้เรือตกอยู่ในอันตรายมากเพราะห้องเครื่องนั้นเต็มไปด้วยน้ำมันและเชื้อเพลิงที่ใช้เดินเรือ

ส่วนมากแล้ว ภาพจากกรีนพีซที่โด่งดังมักจะเป็นภาพที่นักกิจกรรมเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ทุกกิจกรรมไม่ว่านักกิจกรรมจะไปปีนตึกแขวนป้ายผ้า หรือขวางเรือล่าวาฬ จะมีอาสาสมัครอีกหลายร้อยคนทำงานที่มีคนเห็นน้อยกว่าและเท่น้อยกว่าอยู่เบื้องหลัง แต่งานเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับงานรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จ

เจอร์รี่ การ์เซียและเพื่อนๆกำลังแสดงดนตรีในคอนเสิร์ตระดมทุนบนเรือเจมส์เบย์ในวันที่ 12 สิงหาคม ปี 2520 ณ ท่าเรือ 31 ในซานฟรานซิสโก

© Greenpeace / Rex Weyler

6 วันก่อนหน้านั้น เมล เกรกอรี่ แครอรีน เค็ดดี้และผมเดินทางข้ามอ่าวซานฟรานซิสโกไปยังสมาคม Keystone ในเบิร์กเลย์ เพื่อขอใช้พื้นที่จอดเรือจัดคอนเสิร์ต ที่นั่นเราได้พบกับ การ์เซีย และเขาตกลงจะช่วยระดมทุน ห้าวันต่อมา เราได้รับใบอนุญาต และขับรถ 50 ไมล์ไปทางเหนือของซานฟรานซิสโกเพื่อคุยกับผู้จัดงานคอนเสิร์ต เรากำหนดพื้นที่บริเวณท่าเรือ สร้างเวทีและแท่นพิธีกร เราทำพื้นที่สำหรับทีมเครื่องเสียง ตกแต่งเรือให้เป็นฉากหลังเวที ทำตั๋วคอนเสิร์ต เราแวะเวียนไปตามสถานีวิทยุเพื่อโปรโมทคอนเสิร์ตระดมทุนและเราขายตั๋วได้ทั้งหมด พวกเราก็เป็นแบบนี้ต้องระดมทุนไปพร้อมๆกับทำงานรณรงค์ คอนเสิร์ตครั้งนั้นได้เงินจากระดมทุนราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งมากพอสำหรับจะเติมเชื้อเพลิงให้กับเรือของเราเพื่อกลับออกไปตามหาเรือล่าวาฬต่อ

วงการ์เซียที่ขึ้นแสดงดนตรีในวันนั้นประกอบไปด้วย จอห์น คาห์น มือเบส รอน ทัตต์ มือกลอง เคท ก็อดโชซ์ มือคีย์บอร์ด และดอนน่า จีน ก็อดโชซ์ กับ มาเรีย มอลดูอาร์ ร่วมร้องนำ ในภาพนี้เราจะเห็นสมาชิกจากวงเจฟเฟอร์สัน แอร์เพลน (Jefferson Airplane band) ด้านหลัง พวกเขาอยู่บนเรือ

บ็อบ ฮันเตอร์ และ จอห์น คอร์แม็ก ปี 2518

หากไม่มีกัปตันจอห์น คอร์แม็ค ก็คงไม่มีกรีนพีซในทุกวันนี้ เขาคือคนที่ยินดีที่จะนำเรือหาปลาขนาด 66 ฟุตพร้อมลูกเรือออกไปคัดค้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในหมู่เกาะอะลูเซียน และอีกครั้งในปี 2518 และ 2519เขายินดีที่จะออกเรือเพื่อรณรงค์ยุติการล่าวาฬ ในตอนนั้น จอห์น คอร์แม็คคือชาวประมงวัย 40 ปี เขาเป็นอดีตนักมวยปล้ำ นั่นทำให้เขามีพละกำลังและมั่นใจในตัวเอง แต่อีกด้านเขาก็สุภาพ คอร์แม็คไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เคยได้ยินเขาสบถ และบัญชาการเรือด้วยประสบการณ์เต็มเปี่ยม หากมีลูกเรือฝ่าฝืนกฎบนเรือ อย่างเช่น ยืนขวางประตู นั่งในตำแหน่งกัปตันบนโต๊ะในครัว กัปตันมักจะเอาศอกกระทุ้งพวกเขา ในภาพนี้บ็อบที่เป็นคนขี้เล่นแกล้งกัปตันกลับบ้าง

คอร์แม็คและภรรยาของเขา ฟิลิส ไม่มีลูก และบ็อบสูญเสียพ่อของเขาไปตั้งแต่อายุหกขวบ ชายทั้งคู่ถูกโชคชะตาพามาให้พบกันระหว่างการรณรงค์ของกรีนพีซ คอร์แม็คจึงกลายเป็นตัวแทนพ่อของบ็อบ ในขณะที่บ็อบเองก็เคารพในตัวกัปตันคนนี้เสมอ จอห์น คอร์แม็คคือครูด้านความรัก เพราะเขาดูแลลูกเรืออย่างดีและทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ พวกเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากจอห์น เรารักและเคารพเขา

ภาพเมื่อคุณยายมาพบผมที่เรือในซานฟรานซิสโก ปี 2518

© Greenpeace

ภาพนี้ถูกถ่ายด้วยกล้องของผมเองแต่คนที่กดชัตเตอร์เป็นเพื่อนในท้องถิ่น 3 ปีก่อนหน้านั้นผมออกจากสหรัฐเพื่อหนีการเกณฑ์ทหาร ตอนที่เรามาถึงซานฟรานซิสโกหลังจากเผชิญหน้ากับเรือล่าวาฬ ผมกังวลว่าผมอาจถูกจับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้แปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะแทนที่ผมจะต้องเจอกับเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลกลาง แต่ผมกลับเจอคุณยายของผมเอง เธอชื่ออลิซาเบท กู๊ดวิน เธอเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตผม ช่วยให้กำลังใจผมเพื่อให้ผมได้ทำตามคุณค่าที่ผมยึดถือเสมอ

สงครามเวียดนามจบลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และตั้งแต่เราเผชิญหน้าและเปิดโปงอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมของรัสเซีย นั่นคือการสังหารวาฬที่ยังไม่โตเต็มวัยในอาณาเขตของสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองก็ไม่ได้พิจารณาถึงกรณีการต่อต้านการเกณฑ์ทหารของผม ซ้ำยังดูแลพวกเราเหมือนฮีโร่ ในภาพนี้ด้านหลังของผมคือ เฟร็ด อีสตัน ช่างภาพและวิดีโอ

การประชุมครั้งแรกของ กรีนพีซสากล ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ปี 2522

© Greenpeace / Rex Weyler

จากซ้าย ซูซี่ นิวบอร์น, อาร์ท แวน เรมุนด์, แฮนส์ กอยท์, จอน คาสเซิล, มาร์ตินี่ ก็อจท์, จอห์น ฟริเซลล์, เดวิด แม็คแทกการ์ท, เรมี่ พาเมทเทียร์, เดวิด มูดี้ กลุ่มที่ยืนอยู่ด้านหลัง แนนซี่ ฟูทท์, ปีเตอร์ บัลเวอร์, ปีเจอร์ วูฟ, หลุยส์ ทรัสเซล, บิล แกนนอน, อลัน ธอร์นทอน, เกล็น โจนาธานส์, และนาโอมิ ปีเตอร์สัน

คนที่ร่วมประชุม แต่ไม่ได้อยู่ในภาพ : บ็อบ ฮันเตอร์, เกียรท์ ดรีแมน, เคย์ ทรีเคิล, พีท วิลคินสัน และแคมป์เบล โพลเดน

อาคารดามแรคเลขที่ 98 คือออฟฟิศแห่งแรกของกรีนพีซ เนเธอร์แลนด์ ตั้งอยู่ใจกลางอัมสเตอร์ดัม ในวันที่ 15 กันยายน กรีนพีซ ที่เป็นองค์กรในรูปมูลนิธิดั้งเดิม มอบสิทธิ์ทั้งหมดรวมถึง ชื่อและองค์กรให้กับ กรีนพีซ สากล ที่จดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศ โดยมีตัวแทนกรีนพีซจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ส่วนตัวแทนกรีนพีซจากออสเตรเลียและเยอรมนีเข้าร่วมในภายหลัง และในปัจจุบัน กรีนพีซ มีสำนักงานมากกว่า 55 แห่งกระจายอยู่ทั่วโลก