การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมสืบเนื่องมาตั้งแต่ในยุค 60 เริ่มแรกจากประท้วงของนักศึกษาเพื่อยุติสงคราม และอาวุธนิวเคลียร์ เป็นช่วงขบวนการบุปผาชนกำลังเบ่งบาน ผู้คนตระหนักถึงการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมคือบ้านของเราที่ต้องปกป้อง นับจากวันนั้น กรีนพีซได้ถือกำเนิดและทำงานร่วมกับผู้สนับสนุน และอาสาสมัครทั่วโลกนับหมื่นคนจากหลากหลายวัฒนธรรมและภูมิหลังทางสังคม

ในปี 2543 กรีนพีซตั้งสำนักงานที่กรุงเทพฯ และกรุงมะนิลา (ฟิลิปปินส์) ในนาม ‘กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia – GPSEA) ขณะนั้น เป็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่ร่วมกันสร้างอนาคตที่ปลอดมลพิษในภูมิภาคนี้

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องให้ผู้นำอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ลงมือแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากหมอกข้ามพรมแดนและมลพิษพลาสติกในภูมิภาคนี้โดยด่วน © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ในสองทศวรรษแรก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบความสำเร็จในงานรณรงค์มากมายและยังได้ทำงานเคียงข้างกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไทยและฟิลิปปินส์ การต่อกรกับการทำลายป่าที่อินโดนีเซีย  เปิดโปงการค้าขยะพิษที่มาเลเซีย และริเริ่มการตรวจสอบประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและการชดเชยความเสียหายที่ฟิลิปปินส์

นับเป็นการเดินทางอันยาวนานและเต็มไปด้วยสีสัน ล่าสุดผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กลับมาพบกันอีกครั้งเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีกรีนพีซ

“ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก” วอน เฮอร์นันเดซ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษคนแรกในเอเชีย และอดีตผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว  เขาจำได้ว่าในตอนแรกมีคนเตือนให้ระวังกรีนพีซ วอนเล่าว่า “เราถูกมองว่าเป็นพวกกลุ่มนักกิจกรรมที่เข้ามาแทรกแซงแล้วจากไปอย่างรวดเร็ว” แต่ทีมงานของกรีนพีซตระหนักดีว่า มีความสำคัญมากที่การทำงานรณรงค์ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องทำงานเคียงข้างกับแนวร่วมในพื้นที่ และทำให้เสียงของชุมชนดังขึ้น ในช่วงต้นๆ กรีนพีซจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะ และสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มชุมชนและองค์กรในพื้นที่ เพื่อให้มันใจว่าทุกคนอยู่ในจุดเดียวกัน และมุ่งมั่นปกป้องสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

กรีนพีซคงไม่เป็น “กรีนพีซ” หากปราศจากผู้สนับสนุนในแต่ละประเทศ และอาสาสมัครมากมาย ไม่ยากเลยที่จะชวนนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และผู้นิยมชีวิตกลางแจ้งมาทำงานร่วมกันและลงมือปฏิบัติการอย่างสร้างสรรค์กับกรีนพีซ มาร์ค เดีย อดีตผู้ประสานงานฝ่ายกิจกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้อนนึกถึงถึงภัยอันตรายต่างๆ ที่ทำให้ใครหลายคนรวมถึงตัวเขาเองเข้าร่วมกรีนพีซว่า “เราได้รับคำบอกเล่าว่า โอกาสที่จะทำสำเร็จมีน้อยมาก โอกาสที่จะถูกจับกุมมีสูงมาก แล้วพวกเราก็บอกว่า เราร่วมด้วย!”

การทำงานรณรงค์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเกี่ยวข้องกับการถูกฟ้องร้อง และอันตรายต่างๆ ที่อาจถึงชีวิต เช่นในอินโดนีเซียที่กรีนพีซทำงานรณรงค์ต่อต้านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน แบรนด์สินค้าบริโภคอุปโภคต่างๆ และองค์กรของรัฐบาล เพื่อปกป้องป่าฝนเขตร้อนผืนสุดท้ายของภูมิภาคนี้ แต่การทำงานรณรงค์อย่างแข็งขันและต่อเนื่อง กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถสร้างผลสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ป่าที่ถูกถางเพื่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย © Let Ifansasti / Greenpeace

บุสตาร์ ไมทาร์ อดีตนักรณรงค์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการรณรงค์ในพื้นที่เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหา และสร้างแรงกดดันโดยการสนับสนุนจากสาธารณะชน “เราสามารถพูดได้ว่า 80% ของน้ำมันปาล์มที่ซื้อขายกันทั่วโลกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปราศจากความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าฝนเขตร้อน นั่นเป็นเพราะการรณรงค์ของกรีนพีซ ประมาณ 90% ของเยื่อกระดาษจากอินโดนีเซียมาจากนโยบาย “การทำลายป่าเหลือศูนย์ (Zero Deforestation) ของภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษที่เป็นผลจากการรณรงค์ของกรีนพีซ  ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนของเรา อาสาสมัคร ภาคประชาสังคมในอินโดนีเซีย” บุสตาร์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

เตรียมพบกับเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายจากวาระครบรอบ 50 ปีอันน่าจดจำของกรีนพีซ