เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 16 กันยายนที่ผ่านมานับเป็นวันประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน ศาลแขวงได้ตัดสินและสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ 7 นายรวมถึงประธานาธิบดีโจโค วิโดโดมีความผิดฐานละเลยสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน และบกพร่องในการใช้อำนาจเพื่อยกระดับคุณภาพอากาศ คำสั่งของศาลจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญภายหลังเครือข่ายประชาชนยื่นฟ้องรัฐบาลมากว่า 2 ปี 

ทามไลน์การทวงคืนอากาศสะอาด

ย้อนกลับไปเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ตัวแทนภาคประชาชนจากหลากหลายอาชีพทั้งวินมอเตอร์ไซค์ นักธุรกิจ ข้าราชการและนักกิจกรรมรวมกว่า 32 คนได้ยื่นฟ้องรัฐบาลว่าด้วยมลพิษทางอากาศเพื่อให้ภาครัฐขยับและจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะในกรุงจาการ์ต้าที่มีคนอาศัยอยู่กว่า 10 ล้านคนและอีก 30 ล้านคนในเขตปริมณฑล ซึ่งกรุงจาการ์ต้ามักจะติดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงในทุกๆ ปี เนื่องจากการปล่อบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงเผาขยะมูลฝอย การคมนาคม และโรงไฟฟ้าถ่านหินบริเวณโดยรอบ

นักกิจกรรมกรีนพีซอินโดนีเซีย รณรงค์เรื่องมลพิษทางอากาศ © Rendra Hernawan / Greenpeace
นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซอินโดนีเซียถือป้ายรณรงค์เรื่องมลพิษทางอากาศบริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินสุรายา อินโดนีเซีย © Rendra Hernawan / Greenpeace

การต่อสู้ในกระบวนการกฏหมายใช้เวลาถึง 2 ปีกระทั่งศาลอ่านคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องกระทำความผิดขัดต่อกฏหมายจริงแต่มิได้ก้าวล่วงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ศาลมีคำสั่งให้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโดพร้อมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐอีก 6 คนออกคำสั่ง บังคับใช้กฏหมายเพื่อยกระดับคุณภาพอากาศ และศาลยังตัดสินให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบกพร่องต่อหน้าที่เพื่อสื่อสารความเสี่ยงของมลพิษทางอากาศ โดยจะต้องทำงานกับกรุงจาการ์ต้าเพื่อจัดทำแผนงานทั้งเชิงยุทธศาสตร์และปฏิบัติการและจัดทำข้อมูลประเมินจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศที่จะลดลงเมื่อแผนที่ดำเนินการนั้นลุล่วง เพื่อให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียมีอากาศที่สะอาดขึ้น 

เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า ศาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานและข้ามพรมแดนอำนาจเขตปกครอง ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีบทบาทอย่างมากในการให้ข้อมูลความรู้ การประเมินและกำหนดทิศทางนโยบายร่วมกับฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะประเด็นที่จะส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน

อาสาสมัครกรีนพีซอินโดนีเซียทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซอินโดนีเซียรณรงค์เชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เรียกร้องในรัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนในกรุงจาร์กาต้า อินโดนีเซีย © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

ภายหลังคำตัดสินของศาล ผู้ว่ากรุงจาการ์ต้าก็ได้ทวีตข้อความ “จาการ์ต้าจะไม่อุทธรณ์ต่อศาลและจะน้อมรับคำตัดสินของศาลมาปรับปรุงเพื่อให้เมืองมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น” 

อย่างไรก็ตาม นาย Dasrul Chaniago ผู้อำนวยการด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ประกาศว่า จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลและกล่าวว่าทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์การปล่อยมลพิษทางอากาศและคุณภาพอากาศมาตั้งแต่ปี 2554 นอกจากนี้โฆษกประธานาธิบดีก็ได้ออกมายืนยันว่า จะทำตามการตัดสินใจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ 

การต่อสู้เพื่ออากาศที่ดีของกรุงจาการ์ต้าและเขตปริมณฑลจึงยังไม่สิ้นสุดลงและจะยังต้องติดตามต่อจากนี้

อัพเดทสถานการณ์ในประเทศไทย

ในปีเดียวกันที่ประชาชนชาวอินโดนีเซียฟ้องร้องคดีมลพิษทางอากาศต่อศาลนั้น ประเทศไทยได้มีการฟ้องร้องต่อศาลกรณีมลพิษทางอากาศ นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนกับผู้ฟ้องอีก 41 คนได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเจ้าหน้าที่อีก 3 คนฐานละเลยไม่ควบคุม ระงับหรือบรรเทาความเสียหายจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้า

นอกจากนี้เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ก็ได้พิพากษาให้ประชาชนชนะคดีและมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศในพระราชกิจจานุเบกษากำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงรายและแม่ฮ่องสอนเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลดและขจัดมลพิษภายในเจ็ดวันหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทว่าปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง 

ฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ © Vincenzo Floramo / Greenpeace
บรรยากาศของเชียงใหม่ ในวันที่ 23 มีนาคม ที่มีค่าฝุ่นสูงกว่า 300 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร © Vincenzo Floramo / Greenpeace

หลายปีแล้วที่ประชาชนทั่วโลกต้องทนทุกข์กับปัญหามลพิษทางอากาศและต้องต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อินโดนีเซียและไทยที่มีปัญหามลพิษทางอากาศที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ มีต้นตอที่คล้ายคลึงกันทั้งปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน การเผาในที่โล่ง คมนาคมและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงไม่แปลกเลยที่จะมีเส้นทางการต่อสู้ที่ใกล้เคียงกัน 

“ชัยชนะดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายว่าประชาชนในประเทศใดก็ตามสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเรียกร้องสิทธิที่จะเข้าถึงอากาศสะอาดต่อหน่วยงานภาครัฐ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าภาครัฐบกพร่องต่อหน้าที่ในการปกป้องประชาชนจากอากาศที่เป็นพิษ และส่งเสียงเรียกร้องออกมาให้ดัง” นายบอนแดน แอนดิยานู ผู้ประสานงานรณรงค์ กรีนพีซ อินโดนีเซียทิ้งท้ายถึงคนไทยที่ยังคงเผชิญกับมลพิษทางอากาศ

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม