ในช่วงที่มลพิษทางอากาศของเมืองหลวงย่ำแย่นี้ นอกจากหน้ากาก N95 แล้ว อีกหนึ่งเครื่องมือที่ตอนนี้เราเชื่อว่าชาวกรุงเกือบทุกคนต้องมีติดตัวอยู่แน่ๆ นั่นก็คือแอปพลิเคชันรายงานคุณภาพอากาศ
เนื้อหาย่อๆ
การรายงานคุณภาพอากาศบนแอปพลิเคชันที่ใช้กันแพร่หลายบนมือถือนั้น มักจะอ้างอิงดัชนีคุณภาพอากาศตามเกณฑ์ของ US EPAดังนั้นเมื่อเทียบกับการรายงานของแอปพลิเคชัน Air4Thai ของประเทศไทยจึงมีความแตกต่างกัน
แม้ว่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ที่วัด ณ จุดใดจุดหนึ่งมีค่าเท่ากัน แต่เมื่อนำไปคำนวณตามเกณฑ์ที่แตกต่างกัน จะได้ดัชนีคุณภาพอากาศที่ตัวเลขไม่เหมือนกัน
ข้อมูลความเข้มข้น PM2.5 ที่แต่ละแอปพลิเคชันนำไปใช้เพื่อแสดงค่าดัชนีคุณภาพอากาศมาจากบางสถานีตรวจวัดที่เป็นทางการของประเทศนั้นๆ (ในกรณีของประเทศไทยก็คือกรมควบคุมมลพิษ) และเครื่องมือวัด PM2.5 ที่หน่วยงาน องค์กรหรือภาคเอกชนผลิตขึ้น บางครั้ง การแสดงค่าบนแต่ละแอปพลิเคชั่นจากข้อมูลของสถานีของกรมควบคุมมลพิษในจุดหรือบริเวณเดียวกันนั้นแสดงในชั่วโมงที่ต่างกันจึงเป็นให้มีค่าต่างกันได้
แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษได้นำค่า PM2.5 เข้ามาคำนวณและรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) กรีนพีซยังคงผลักดันให้ภาครัฐจัดการกับมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนในข้อเรียกร้องที่เหลือ
ดัชนีคุณภาพอากาศหรือ Air Quality Index (AQI) คือข้อมูลการวัดคุณภาพอากาศที่แสดงความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศหลายชนิดมาคำนวณหาค่า และแสดงออกให้เข้าใจง่ายผ่านสีต่างๆและตัวเลขกำกับไว้
แต่หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแต่ละแอปพลิเคชันหลายๆแอปพลิเคชั่นยอดฮิตที่คนกรุงต้องมีติดไว้ในมือถือถึงแสดงค่าไม่เท่ากัน แล้วแบบนี้เราจะเชื่อใครดี?
ภาพจากแอปพลิเคชัน ในวันที่ 22มกราคม พ.ศ.2562 ณ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศริมถนนลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซ้าย : ภาพแสดงผลคุณภาพอากาศของแอปพลิเคชัน Air Visual ณ เวลา 18.00 น. ขวา : ภาพแสดงผลคุณภาพอากาศของแอปพลิเคชัน Air4Thai โดยกรมควบคุมมลพิษ ณ เวลา 20.00 น.
ทำไมแอปพลิเคชันแสดงค่าไม่เหมือนกัน?
เมื่อเปรียบเทียบการแสดงค่าของแอปพลิเคชันตามเกณฑ์ของ US EPAกับแอปพลิเคชั่น Air4Thai หรือเว็บไซต์ aqicn.org ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพอากาศในแต่ละวัน เราจะพบว่าแอปพลิเคชันอาจแสดงผลไม่เหมือนกัน เนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้
1.แต่ละประเทศมี AQI วัดดัชนีคุณภาพอากาศที่แสดง “สี” ไม่เหมือนกัน
การรายงานคุณภาพอากาศขึ้นอยู่กับว่าแอปพลิเคชันนั้นใช้ดัชนีวัดคุณภาพอากาศจากแหล่งใด เช่น ดัชนีคุณภาพอากาศโดยสหรัฐอเมริกา ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของจีน ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของแคนาดา หรือแม้แต่ประเทศไทยก็มีดัชนีวัดคุณภาพอากาศเป็นของตัวเองเช่นกัน และแต่ละประเทศนั้นจะวางสีกำกับตัวเลขไม่เหมือนกัน จึงทำให้แอปพลิเคชั่นแสดงผลออกมาไม่เหมือนกันนั่นเอง
ดัชนีคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา
ดัชนีคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกาถูกออกแบบขึ้นโดยองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม United States Environmental Protection Agency (EPA) การแสดงผลของดัชนีคุณภาพอากาศนี้แสดงผลทั้งหมด 6 ระดับ
ภาพแสดงการวัดคุณภาพอากาศอ้างอิงจากเว็บไซต์ www.airnow.gov เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา (ตารางแปลจากต้นฉบับใน Air Quality Index Basics )
- ถ้าดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงกว่า 101 – 150 คุณภาพอากาศจะถูกแสดงเป็นสีส้ม หมายถึงมีผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง (คนที่เป็นหอบหืด ภูมิแพ้ เด็กและผู้สูงอายุ)
- ถ้าดัชนีคุณภาพอากาศที่มีค่าสูงตั้งแต่ 151 – 200 คุณภาพอากาศจะถูกแสดงเป็นสีแดง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ถ้าดัชนีคุณภาพอากาศที่มีค่าสูงตั้งแต่ 201 – 300 คุณภาพอากาศจะถูกแสดงเป็นสีม่วง หมายถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก
ดัชนีคุณภาพอากาศของไทย (จากแอปพลิเคชัน Air4Thai)
ภาพแสดงการวัดคุณภาพอากาศจากเว็บไซต์ www.air4thai.pcd.go.th ประเทศไทยแบ่งการวัดคุณภาพออกเป็น 5 ระดับ
ดัชนีวัดคุณภาพอากาศของประเทศไทยถูกออกแบบขึ้นโดย กรมควบคุมมลพิษ โดยแบ่งเป็น 5 ระดับตั้งแต่สีเขียวไปจนถึงสีแดง
- ดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงกว่า 100 แอปพลิเคชันจะแสดงผลเป็นสีส้ม หมายความว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ดัชนีคุณภาพมีค่าสูงกว่า 201 ขึ้นไปหมายความว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ
ดัชนีคุณภาพอากาศของไทยนำค่าความเข้มข้นของ โอโซน,PM2.5,PM10,ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์,ไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มาประกอบการคำนวณคุณภาพอากาศ โดยกรมควบคุมมลพิษได้นำค่าความเข้มข้นของ PM2.5 มาร่วมคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศของไทยเมื่อปี พ.ศ.2561
- ปกป้องสุขภาพคนไทย ถึงเวลาเปลี่ยนมาตรฐานฝุ่น PM2.5
- 3 เรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ
แอปพลิเคชันที่มีการใช้อ้างอิงทั่วโลก เช่น แอปพลิเคชัน Air Visual และเว็บไซต์ www.aqicn.org จะใช้ เกณฑ์ AQI ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ส่วนแอปพลิเคชัน Air4Thai จะยึดการคำนวณเกณฑ์ของประเทศไทยในการหาดัชนีคุณภาพอากาศดังนั้น ระดับสีและตัวเลขที่แสดงดัชนีคุณภาพอากาศของแต่ละแอปพลิเคชันจึงแตกต่างกัน
2. นอกจากสีไม่เหมือนกันแล้ว ตัวเลขก็ไม่เท่ากันด้วย ?
นอกจากสีของแต่ละแอปพลิเคชันไม่เหมือนกันแล้ว ตัวเลขก็ไม่เหมือนกันด้วย มาลองดูข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ
สูตรคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของ EPA กับ ไทย ไม่ใช่สูตรเดียวกัน
ความแตกต่างอีกข้อที่เราควรรู้อีกหนึ่งเรื่องนั่นคือการคำนวณหาค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ไทยและ EPA มีสูตรคำนวณแตกต่างกัน มีผลทำให้ตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศที่แสดงไม่เท่ากัน มาดูตัวอย่างกันค่ะ
ตารางทดลองการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ โดยใช้มาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
จากตาราง สมมติว่าระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่วัดได้คือ 170 ไมโครกรัม เมื่อคำนวณแล้วจะได้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ เท่ากับ 280 ซึ่งอยู่ในระดับสีแดง หรือ มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ตารางทดลองการคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ โดยใช้มาตรฐานจาก EPA
จากตาราง สมมติว่าระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่วัดได้คือ 170 ไมโครกรัม เมื่อคำนวณแล้วจะได้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ เท่ากับ 220 ซึ่งอยู่ในระดับสีม่วง หรือ Very Unhealthy
แม้ว่าวัดค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ได้เท่ากัน แต่เมื่อนำมาคำนวณกับมาตรฐานที่ต่างกันก็ทำให้การแสดงตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศเปลี่ยนไป
3.สถานีวัดคุณภาพอากาศมีจำนวนไม่เท่ากัน
เพราะอะไร สถานีวัดคุณภาพอากาศในแต่ละแอปพลิเคชันจึงไม่เท่ากัน? คำตอบคือ การรวบรวมข้อมูลจากสถานีวัดคุณภาพอากาศนั่นเอง
สำหรับกรมควบคุมมลพิษ (แอปพลิเคชัน Air4Thai) จะรวบรวมข้อมูลจากสถานีวัดคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ ส่วนแอปพลิเคชันอื่นๆตามที่ได้ยกตัวอย่างไปจะรวบรวมข้อมูลจากทั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ รวมถึงอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศต่างๆเช่น เครื่องมือวัดคุณภาพอากาศ Dust Boy (พัฒนาโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศของแอปพลิเคชัน Air Visual
อย่างไรก็ดี ยังมีกรณีที่แอปพลิเคชั่นอาจเข้าไม่ถึงข้อมูลของบางสถานี แต่เข้าถึงข้อมูลของสถานีใกล้เคียงก็จะดึงค่าจากสถานีใกล้เคียงและทำให้ตัวเลขแตกต่างกันได้
การรวบรวมข้อมูลที่แตกต่างกันนี้เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ข้อมูลสถานีวัดคุณภาพอากาศในแอปพลิเคชันนั้นแตกต่างกันนั่นเอง
ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ
แม้ว่าข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการนำ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยจะสำเร็จไปแล้ว 1 ข้อ แต่เรายังคงยืนยันและผลักดันให้ภาครัฐจัดการกับมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนในข้อเรียกร้องที่เหลือ ดังนี้
นักกิจกรรมกรีนพีซนำนาฬิกาทรายพร้อมฝุ่นมอบให้กับตัวแทนรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐออกนโยบายในการจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561
- กําหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกําเนิดที่อยู่กับที่(Stationery Sources) รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
- ตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของกลุ่มประชากรลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาของการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี
- เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน
- คำนึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทที่มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย(emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรีนพีซเสนอเพิ่มเติมให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่เจาะจง(specific) วัดได้(measurable) ทำได้(Attainable) สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่(Relevant) โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน(Time-bound) ดังนี้
ค่ามาตรฐาน PM2.5 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) |
||
ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง |
ค่าเฉลี่ย 1 ปี |
|
ไทย |
50 |
25 |
– Interim Target (IT-1) – Interim Target (IT-2) – Interim Target (IT-3) – Air Quality Guideline(AQG) |
75 50 37.5 25 |
35 25 15 10 |
องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา** รัฐแคลิฟอร์เนีย |
35 – |
12 (แหล่งกำเนิดขั้นต้น) 15 (แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ) 12 |
ภายใต้กฎระเบียบ Directive 2008/50/EC สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายการลดสัมผัส PM2.5 ในกลุ่มประชากรที่เรียกว่า average exposure indicator (AEI)ภายในปี พ.ศ. 2553 และ 2563 |
– |
25 22(AEI ปีพ.ศ.2553) 18(AEI ปีพ.ศ.2563) |
– Interim Target(ปี พ.ศ.2558) – Interim Target(ปี พ.ศ.2561) – มาตรฐาน( ปี พ.ศ.2563) |
75 50 35 |
35 25 15 |
– ปี พ.ศ.2559 – ปี พ.ศ.2563 – เป้าหมายระยะยาว |
40 37.5 25 |
15 12 10 |
สหราชอาณาจักร สก็อตแลนด์ |
– – |
25 12 |
– แคนาดา – นิวฟาวด์แลนด์ – เมืองแวนคูเวอร์ |
30 25 25 |
– – 12 |
ออสเตรเลีย |
25 |
8 |
นิวซีแลนด์ |
25 |
– |
ญี่ปุ่น |
35 |
15 |
35 |
15 |
|
ฟิลิปปินส์ |
50 |
25 |
- จดหมายเปิดผนึกจากกรีนพีซถึงรัฐบาล เมื่อปีพ.ศ.2561
- พื้นที่สีเขียว อีกทางเลือกในการลดฝุ่น PM2.5
- ทั่วโลกจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร?
หน้ากากและแอปพลิเคชันคือการตั้งรับ ไม่ใช่การแก้ปัญหา
แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายได้ และการสวมหน้ากาก เช็คแอปพลิเคชันดูคุณภาพอากาศก็ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศจำเป็นต้องแก้ที่ต้นทางและภาครัฐก็เป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง (การแก้ไขที่ไม่ใช่การฉีดพ่นน้ำบนถนนเพื่อลดฝุ่นละออง)
และในฐานะประชาชนแบบเราก็สามารถร่วมกันเรียกร้อง ขออากาศดีๆคืนมา ด้วยกันที่ Right to Clean Air

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่
มีส่วนร่วม