ในวันที่กรีนพีซครบรอบ 50 ปีของการอยู่แนวหน้าในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมช่วงเวลาเช่นนี้เป็นเวลาที่จะมองไปยังอนาคตมากกว่าที่เคยเป็นมา

ณ จุดนี้ หลายพันล้านคนต้องรวมพลังกันทั่วโลก เพื่อป้องกันผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อต่อกรกับโครงสร้างอำนาจและความคิดที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม และเพื่อเรียกร้องอนาคตที่ยั่งยืน มีสันติ และเป็นธรรม

เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งออกเดินเรือเพื่อขัดขวางการทดลองระเบิดนิวเคลียร์และกรีนพีซถือกำเนิดขึ้น

เออร์วิง สโตว์ ผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซ กล่าวถึงแผนการของพวกเขาเพื่อขัดขวางการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบนเกาะอัมชิตกา (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Aleutian อันห่างไกลในรัฐอะลาสกา) ด้วยเรือลำเล็กว่าเป็น “การเดินทางเพื่อชีวิตและสันติภาพ” ไม่มีใครในกลุ่มเล็ก ๆ  12 คนจะล่วงรู้ว่าการเดินทางของพวกเขาจะเกิดองค์กรระดับนานาชาติและเปลี่ยนแปลงโลก

วันที่ 15 กันยายนปีนี้ เป็นวันครบรอบ 50 ปีนับตั้งแต่การเดินทางครั้งแรก เราจะรำลึกถึงการรณรงค์ ความสำเร็จ การเรียนรู้จากความล้มเหลว และผู้คนที่น่าทึ่งซึ่งเป็นหัวใจของกรีนพีซ

เราขอขอบคุณนักรณรงค์ของเราที่ลงทำงานสนับสนุนด้านความช่วยเหลือในภูมิภาคแอมะซอนและแปซิฟิก การจัดการดับไฟป่าในรัสเซีย การระดมกำลังกดดันรัฐสภาและห้องประชุมผู้บริหารทั่วโลกเพื่อพูดความจริงต่ออำนาจ เราขอขอบคุณเด็กหญิงที่บริจาคเงินเล็กน้อยรายเดือน ผู้เกษียณอายุที่ร่วมเดินเคียงข้างกับผู้ประท้วงด้านสภาพภูมิอากาศ นักรณรงค์และนักวิทยาศาสตร์ที่เปิดโปงอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทรงอิทธิพลแต่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังความเท็จเพื่อปล้นอนาคตที่ประเมินค่าไม่ได้ของคนรุ่นต่อไป

50 ปี ที่ผ่านมาให้บทเรียนกับเรามากมาย ถึงคราวที่เราต้องทบทวนบทเรียนทั้งหลายที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้เราสร้างสรรค์ อย่างไม่ท้อถอยและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวมากที่สุด

ถึงเวลาที่ผู้คนหลายพันล้านได้ลงมือทำในสิ่งที่ทำได้อย่างถึงที่สุด ณ ที่ซึ่งความกล้าหาญเริ่มต้นขึ้น และความหวังที่นำทางเรา

“น่าทึ่งมาก คนกลุ่มเล็กๆ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” โดโรธี สโตว์ สมาชิกผู้ก่อตั้งกรีนพีซ

ช่วงเวลาอันน่าจดจำ

2514 : การเดินทางที่เป็นจุดเริ่มต้น

การเดินทางครั้งแรกของกรีนพีซเกิดขึ้นในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2514 เมื่อเรือฟิลลิส คอร์แมค (หรือที่เรียกว่า “กรีนพีซ”) ออกจากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ไปยังเกาะอัมชิตกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะ Aleutian อันห่างไกลในรัฐอะลาสกา

เรือฟิลลิส คอร์แมค (หรือ “กรีนพีซ”) ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดาไปยังเกาะอัมชิตกา รัฐอะลาสก้า นับเป็นการเดินทางที่เป็นจุดเริ่มต้นของกรีนพีซ © Robert Keziere / Greenpeace

เป้าหมายของคน 12 ชีวิตบนเรือ คือ ยุติการทดลองนิวเคลียร์บนเกาะโดยการแล่นเรือเข้าไปในเขตหวงห้าม เออร์วิง สโตว์ ผู้ร่วมก่อตั้งกรีนพีซอธิบายว่าแผนดังกล่าวเป็น “การเดินทางเพื่อชีวิตและเพื่อสันติภาพ” ไม่มีใครในกลุ่มเล็ก ๆ 12 คนจะล่วงรู้ว่าการเดินทางของพวกเขาจะสร้างองค์กรระดับนานาชาติและเปลี่ยนแปลงโลก

อันที่จริง เรือและลูกเรือไม่เคยไปถึงเกาะ พวกเขาถูกหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐอเมริกา สกัดกั้น และคิดว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นความล้มเหลว จนกระทั่งเมื่อเดินทางกลับ ผู้คนนับร้อยต่างรอต้อนรับพวกเขา ณ ท่าเรือแวนคูเวอร์

แม้จะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง แต่ปฏิบัติการตรงครั้งแรกของกรีนพีซสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อรัฐบาลสหรัฐฯ จนต้องยกเลิกการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และเกาะอัมชิตกายังคงเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติมาจนถึงทุกวันนี้

2517: ฝรั่งเศสยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

ในปี พ.ศ. 2517 ฝรั่งเศสประกาศว่าพวกเขาจะยุติโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ เป็นการตัดสินใจทำให้มหาสมุทรแปซิฟิกปลอดจากโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดนับจากนั้น

การทดลองอาวุธนิวเคลียร์เริ่มขึ้นในช่วงคริสตทศวรรษ 1960 โดยที่ผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง ในนิวซีแลนด์ เดวิด แมคแท็กการ์ตใช้โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพื่อตอบโต้ และอาสาใช้เรือเวก้า (Vega) ของเขาเพื่อออกประท้วง

หลังจากการเตรียมงานร่วมกับกรีนพีซในแคนาดา ลูกเรือห้าคนนำโดยแมคแท็กการ์ต ออกเดินทางจากนิวซีแลนด์ในเดือนพฤษภาคมบนเรือยอชท์ที่ตั้งชื่อใหม่ว่า “Greenpeace-III”

ลูกเรือปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในการวางตำแหน่งทอดสมอเรือ แต่ไม่สนใจกับการประกาศของฝรั่งเศสซึ่งเป็นการกระทำฝ่ายเดียวว่าพื้นที่ที่ใช้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นเขตหวงห้าม

การปรากฏตัวของเรือ Greenpeace-III ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องหยุดการทดสอบในที่สุด เรือของกองทัพเรือฝรั่งเศสต้องเข้าพุ่งชน Greenpeace-III เพื่อยุติสถานการณ์ที่รู้สึกเสียหน้า

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2516 เรือ Greenpeace-III ออกเดินทางไปยังเกาะปะการังโมรูรัวอีกครั้งเพื่อขัดขวางการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ โดยคราวนี้มาพร้อมกับเรือลำอื่น ๆ อีกหลายลำ เรือ Greenpeace-III แล่นเข้าไปในพื้นที่ที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเป็นเขตหวงห้ามซึ่งดูแลโดยหน่วยคอมมานโดของกองทัพเรือฝรั่งเศส ผู้ประท้วงคือเดวิด แมคแท็กการ์ต และนีล อินแกรม โดนทุบตี และภาพฟุตเทจของเหตุการณ์ถูกนำออกจากเรือโดยแอนน์-มารี ฮอร์น

ผู้ประท้วงเดวิด แมคแท็กการ์ต และนีล อินแกรม โดนทุบตี © Ann-Marie Horne / Greenpeace

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจทั่วโลก และต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ฝรั่งเศสประกาศยุติโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในชั้นบรรยากาศ

2525 : ยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์

นักรณรงค์กรีนพีซถือป้าย ‘ชัยชนะแรกของวาฬทุกตัว’ © Wason Wanichakorn / Greenpeace

หลังจากการทำแคมเปญอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี รวมถึงปฏิบัติการตรงแบบเผชิญหน้านับครั้งไม่ถ้วนในทะเลระหว่างนักกิจกรรมของกรีนพีซและนักล่าวาฬ ในที่สุดคณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) ประกาศให้ยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์

การรณรงค์เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2517 ขณะนั้น วาฬสีน้ำเงินทั้งหมดลดจำนวนลงเหลือน้อยกว่า 6,000 ตัวโดยประมาณ วาฬหลังค่อมมีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน และวาฬสีเทาแปซิฟิก วาฬเซ และวาฬสเปิร์มลดจำนวนลงกว่าครึ่ง

ภาพของนักกิจกรรมกรีนพีซเผชิญหน้ากับกองเรือล่าปลาวาฬในทะเลหลวงและขวางทางฉมวกที่ใช้ยิงล่าวาฬ ทำให้ประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในวงกว้าง ภาพถ่ายของวาฬที่ตายแล้วกระจายไปทั่วโลก และสาธารณะชนเริ่มเห็นด้วยที่จะยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์

นักรณรงค์ทั่วโลกยังคงผลักดันสาธารณะให้ต่อต้านการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ และในปี พ.ศ. 2522 คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) ได้จัดตั้งเขตรักษาพันธุ์วาฬในมหาสมุทรอินเดียขึ้นเพื่อเป็นมาตรการอนุรักษ์ในเชิงปฏิบัติ

กรีนพีซยังคงเดินหน้ากดดัน จนในที่สุดปี พ.ศ. 2525 คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) ได้ทำในสิ่งที่กลุ่มองค์กรต่างๆ ร่วมต่อสู้กันมา นั่นคือ การประกาศยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ หลังจากปฏิบัติการรณรงค์นับทศวรรษ ประชากรวาฬที่ลดน้อยลงทั่วโลกก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัว

2528: ปฏิบัติการอพยพชาวเกาะรองจ์แลป

การอพยพชาวเกาะที่รองจ์แลปด้วยเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ © Fernando Pereira / Greenpeace

เกาะรองจ์แลปในมหาสมุทรแปซิฟิกได้รับผลกระทบจากการตกของรังสีนิวเคลียร์อันเนื่องมาจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ในบริเวณใกล้เคียงในปี พ.ศ. 2497

ในขณะที่ชาวเกาะบิกินี(Bikini)และเกาะเอเนเวตัก (Enewetak) ถูกอพยพออกจากพื้นที่ก่อนการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ไปก่อนหน้านี้ แต่ชาวเกาะรองจ์แลปซึ่งอยู่ห่างออกไป 150 กิโลเมตรกลับโชคไม่ดีนัก

ภายในสี่ชั่วโมงหลังจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ “Bravo” ขนาด 15 เมกะตัน ฝุ่นรังสีนิวเคลียร์ได้ตกลงมาบนเกาะ ชาวเกาะรายงานว่ามีเถ้าสีขาวตกลงมาบนศีรษะและร่างกายของผู้คนที่อยู่ในที่โล่ง ฝุ่นรังสียังละลายปะปนในแหล่งน้ำและลอยเข้าไปในบ้านเรือน

ในปีพ.ศ. 2500 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่าเกาะรองจ์แลปเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม อัตราการแท้งบุตรในสตรีที่อาศัยอยู่ที่นั่นกลับมีมากกว่าสองเท่าของสตรีที่ไม่เคยได้รับรังสีในระดับสูงเช่นนี้

ชาวเกาะติดต่อนักกิจกรรมของกรีนพีซเพื่อขอความช่วยเหลือ และในวันที่ 17 พฤษภาคม 2528 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ก็มาถึงพื้นที่

ในอีก 10 วันต่อมา ลูกเรือของกรีนพีซได้อพยพชาวเกาะมากกว่า 300 คนและวัสดุก่อสร้างกว่า 100 ตันไปยังเกาะเมจาโทที่ปลอดภัยกว่าซึ่งอยู่ห่างออกไป 180 กิโลเมตร

2528: วางระเบิดเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ โดยรัฐบาลฝรั่งเศส

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เรือ ‘เรนโบว์ วอร์ริเออร์’ ของกรีนพีซจอดอยู่ที่ท่าเรือเมืองโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ เตรียมพร้อมการเดินทางเพื่อเผชิญหน้ากับแผนการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในเกาะปะการังโมรูรัว ขณะที่ หน่วยสืบราชการลับของฝรั่งเศสได้วางระเบิดสองลูกไว้ใต้ท้องเรือ

ผลจากการระเบิดทำให้เรือจมลง และช่างภาพของกรีนพีซ เฟอร์นานโด เปเรรา ชาวโปรตุเกสวัย 35 ปี ต้องเสียชีวิต

ซากเรือเรนโบว์ที่ครั้งหนึ่งเคยโดนรัฐบาลฝรั่งเศสจมเรือ © Holger Weber / Greenpeace

ในเบื้องต้น รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธความเกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ในไม่ช้า ก็เห็นชัดเจนว่าพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้อง ในที่สุด นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ลอเรนต์ ฟาบีอุส  ก็ปรากฏตัวทางโทรทัศน์และบอกความจริงอันน่าตกใจกับสาธารณชนว่า เจ้าหน้าที่หน่วยราชการลับ (DGSE) ปฏิบัติตามคำสั่งในการจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์

ผู้คนทั่วโลกต่างตกใจและโกรธที่รัฐบาลต่างประเทศเลือกใช้กำลังตอบโต้การประท้วงอย่างสันติจนต้องมีการสูญเสียชีวิต

กรีนพีซแทนที่เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ดั้งเดิมด้วยเรือลำใหม่ และเป็นเวลา 22 ปีที่ เรนโบว์ วอร์ริเออร์ ลำที่สอง เดินทางรณรงค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สันติและเป็นธรรม ในปี พ.ศ.2554 เรนโบว์ วอร์ริเออร์ลำที่ 3 ซึ่งเป็นเรือที่สร้างขึ้นเพื่อทำงานรณรงค์สิ่งแวดล้อมลำแรกของโลกได้เริ่มออกสู่ทะเลเพื่อสานต่อจิตวิญญาณดั้งเดิม

2534 : สถานีวิจัยในแอนตาร์กติก

สถานีวิจัยที่ดำเนินการตลอดทั้งปีในทวีปแอนตาร์กติก © Steve Morgan / Greenpeace

ในปีพ.ศ. 2530 กรีนพีซได้ก่อตั้ง World Park Base ซึ่งเป็นสถานีวิจัยที่ดำเนินการตลอดทั้งปีในทวีปแอนตาร์กติก ตั้งอยู่ ณ แหลมอีวานส์ บนเกาะรอสส์ เขตการปกครองรอสส์ World Park Base สร้างขึ้นเพื่อให้กรีนพีซมีที่นั่งบนโต๊ะเจรจาของสนธิสัญญาแอนตาร์กติก (Antarctic Treaty Nations)

นักกิจกรรมกรีนพีซดูแลสถานีวิจัยแห่งนี้ในภูมิภาคที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ถึง 2534

ทีมของกรีนพีซได้ทำการติดตามตรวจสอบมลพิษจากสถานีวิจัยต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในเขตแอนตาร์กติก ในปี พ.ศ. 2533 กรีนพีซกลายเป็นข่าวพาดหัวเมื่อผู้ประท้วง 15 คนขัดขวางไม่ให้ชาวฝรั่งเศสสร้างลานบินที่ Dumont D’Urville เนื่องจากงานก่อสร้างยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงซึ่งเกี่ยวข้องกับถิ่นที่อยู่อาศัยและทำรังของนกเพนกวิน โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสยอมรับว่าลานบินละเมิดข้อกำหนดของสนธิสัญญาแอนตาร์กติก

ในที่สุด สถานีวิจัยก็ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2534 เมื่อสมาชิกของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกตกลงที่รับรองพิธีสารด้านสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ซึ่งรวมถึง การห้ามใช้ประโยชน์แร่ทั้งหมดในช่วง 50 ปีเป็นอย่างน้อย ในปี พ.ศ. 2540 ทุกประเทศที่มีฐานวิจัยอยู่ที่แอนตาร์กติกาให้สัตยาบันในพิธีสารใหม่นี้

2536: อนุสัญญาห้ามทิ้งกากสารพิษในทะเล

จากการรณรงค์ 15 ปี ที่ใช้ปฏิบัติการตรงในทะเลนับไม่ถ้วน การยื่นข้อเรียกร้อง และระดมพลังจากสาธารณชนทั้งโดยกรีนพีซและองค์กรแนวร่วม ในที่สุด อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น หรือ London Dumping Convention กำหนดห้ามมิให้ทิ้งของเสียกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำในทะเล รวมถึงการทิ้งและการเผากากอุตสาหกรรมในทะเล

กรีนพีซประท้วงข้างนอกงาน London Convention © Robert Morris

อนุสัญญานี้ถือเป็นความสำเร็จอันทรงพลังอย่างยิ่งในการรณรงค์ระยะยาวและต่อเนื่องของกรีนพีซเพื่อปกป้องมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์

2538: แคมเปญ Brent Spar ชัยชนะครั้งสำคัญเพื่อยุติการทิ้งกากสารพิษในทะเล

การยึดแท่นขุดเจาะน้ำมันเบรนท์สปาร์ในทะเลเหนือ © Harald Zindler / Greenpeace

หนึ่งในปฏิบัติการที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางที่สุดของกรีนพีซ คือการยึดครองแท่นขุดเจาะน้ำมันเบรนท์สปาร์ ปฏิบัติการนี้เกิดขึ้นในทะเลเหนือในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538

นักกิจกรรมเข้ายึดแท่นขุดเจาะนี้นานกว่าสามสัปดาห์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทั่วโลกที่ร่วมมือกันประท้วงบริษัทเชลล์ที่เสนอ “การกำจัดกากสารพิษในทะเลลึก” จากแท่นขุดเจาะที่มีน้ำมัน 11,000 ตันลงสู่มหาสมุทร

ในที่สุดแคมเปญก็ประสบความสำเร็จ โดยเชลล์ยกเลิกแผนการทิ้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทร

2538: เสียงกรีดร้องที่ได้ยินไปทั่วโลก

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศเดินหน้าการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ใต้ดินแปดครั้งที่เกาะปะการังโมรูรัว ก่อนที่จะให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์อย่างครอบคลุมของสหประชาชาติในที่สุด และยุติโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง

กรีนพีซตอบโต้โดยใช้เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ 2 ไปยังเกาะปะการังโมรูรัว เพื่อทำภารกิจแบบเดียวกับที่ถูกเล่าขานใน พ.ศ. 2516 นั่นคือ เพื่อประท้วงและเปิดโปงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ให้โลกรู้ และเข้าขัดขวางให้ถึงที่สุดหากเป็นไปได้

เรนโบว์ วอร์ริเออร์ และเรือกรีนพีซอีกลำเข้าใกล้เขตหวงห้ามของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2538 เรือรบฝรั่งเศสชื่อแพรเรียล สั่งให้เรือถอยกลับ แต่ทีมบนเรือของกรีนพีซตอบกลับว่า “ได้รับข้อความแล้ว แต่ไม่มีความคิดเห็น”

หน่วยคอมมานโดฝรั่งเศสบุกขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ด้วยตะขอเกี่ยว พร้อมแก๊สน้ำตา และจับกุมทุกคนบนเรือ ขณะนั้น สเตฟานี มิลส์ โฆษกหญิงของแคมเปญกักตัวเองในห้องวิทยุและให้สัมภาษณ์สื่อระหว่างที่หน้าต่างถูกทุบและแก๊สน้ำตาถูกโยนเข้าไปข้างใน มีเสียงร้องและไอจากคนที่อยู่ในห้องดังออกมา

สเตฟานี มิลส์ นักรณรงค์ของเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์แถลงข่าวต่อสื่อ © Steve Morgan / Greenpeace

วิดีโอการบุกขึ้นเรือ และเสียงร้องของการประท้วงอย่างสันติ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกและกระตุ้นให้เกิดกระแสการต่อต้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2539 ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศ “จุดจบ” ของโครงการ

2540: กรีนพีซสร้างกรีนฟรีซ

เครื่องทำความเย็น “กรีนฟรีซ” (Greenfreeze) ที่ปราศจากสารทำลายโอโซนและสารเคมีที่ทำให้โลกร้อน

กรีนพีซปฏิวัติตลาดตู้เย็นด้วยการสร้าง “กรีนฟรีซ” (Greenfreeze) เครื่องทำความเย็นที่ใช้ในครัวเรือนที่ปราศจากสารทำลายโอโซนและสารเคมีที่ทำให้โลกร้อน

กรีนพีซยังคงได้รับรางวัลโอโซนของ UNEP สำหรับการพัฒนากรีนฟรีซ ในพิธีมอบรางวัล องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “กรีนพีซ สากล มีบทบาทสำคัญในการทำให้รัฐบาลต้องคำนึงถึงความจำเป็นในการเลิกใช้สารที่ทำลายโอโซน จึงได้พัฒนาระบบตู้เย็นที่ปราศจากสารทำลายโอโซนขึ้นมา”

ระบบกรีนฟรีซเปิดให้ใช้งานอย่างเสรีเพื่อการพาณิชย์ ปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ในยุโรปหลายรายใช้ในการตลาด และบริษัทรายใหญ่หลายแห่งในจีนก็กำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนไปใช้สารหล่อเย็นไฮโดรคาร์บอน ด้วยการสร้าง “Greenfreeze” นี้ กรีนพีซจึงได้มีส่วนสำคัญที่สร้างสรรค์ในการปกป้องชั้นโอโซน

2553: กรีนพีซกดดันเนสท์เล่ให้หยุดการทำลายป่าฝนเขตร้อน

การรณรงค์ต่อต้านการทำลายป่าฝนเพื่อดำเนินอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน © Jiri Rezac / Greenpeace

อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มอย่างเนสท์เล่ ตกลงที่จะหยุดรับซื้อน้ำมันปาล์มที่มาจากการทำลายป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย อันเป็นผลจากแรงกดดันมหาศาลจากผู้บริโภคในช่วงการแคมเปญแปดสัปดาห์ผ่านโซเชียลมีเดีย และปฏิบัติการตรงโดยไร้ความรุนแรง (non-violent direct action) โดยนักกิจกรรมของกรีนพีซ บริษัทได้ตอบรับข้อเรียกร้องของแคมเปญระดับโลกที่มีต่อแบรนด์ Kit Kat

2558: เปิดโปงการทำประมงผิดกฎหมายในแอฟริกาตะวันตกที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี

ในเดือนพฤษภาคม 2558 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกและกรีนพีซ แอฟริกา ออกรายงานที่เปิดเผยว่ามีการทำประมงผิดกฎหมายโดยบริษัทจีนในแอฟริกาตะวันตกมามากกว่า 30 ปี

นักรณรงค์บนเรือเอสเพอรันซาตรวจพบการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้รับรายงาน และไม่ได้อนุญาต (IUU fishing) โดยเรืออวนลากของจีนซึ่งดำเนินการภายใต้รูปแบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ สองวัน ยิ่งไปกว่านั้นกรมประมงแห่งชาติของจีน (China National Fisheries Corporation) ได้ปลอมแปลงขนาดของเรือประมงนอกน่านน้ำอีกจำนวนมาก กรีนพีซจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจีน รายงานของกรีนพีซนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติอย่างกว้างขวาง และในเดือนมิถุนายน 2558 นักรณรงค์ของเราได้รับเชิญไปยังกระทรวงเกษตรเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้

ในเดือนกรกฎาคม 2558 สำนักงานตรวจสอบการประมงแห่งชาติออกกฎระเบียบใหม่ที่กำหนดให้ เรือประมงนอกน่านน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ต้องมีหลักฐานว่าได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขนาดเรือประมงระหว่างประเทศ

2562: การระบุผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ว่ามีภาระรับผิดชอบต่อความเสียหายด้านสิทธิมนุษยชน

ในเดือนธันวาคม 2562 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งฟิลิปปินส์ (CHR) นำเสนอรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการลงมติการไต่สวนระดับชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (NICC) ในกรุงมาดริดระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP25)

การต่อต้านบริษัทผู้ปล่อยมลพิษในการประชุม COP25 © Pablo Blazquez / Greenpeace

การสืบสวนสอบสวนเป็นเวลาเกือบสามปี ระบุเป็นครั้งแรกถึง ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลกมีภาระรับผิดต่อความเสียหายด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ถือเป็นการสืบสวนสอบสวนด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติครั้งแรกของโลกที่มีต่อผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รายใหญ่ของโลก และเป็นชัยชนะที่สำคัญของความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบและการทำงานมาอย่างยาวนานหลายปี กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยองค์กร 14 แห่ง และประชาชน 20 คน ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 เพื่อเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวน โดยมีการรวบรวมลายเซ็นมากกว่า 100,000 รายชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการนี้ทางออนไลน์จาก Change.org, SumOfUs และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังได้คำแนะนำและสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติอีก 8 แห่ง

2564 : คำตัดสินของศาลในคดีสภาพภูมิอากาศต่อบริษัทเชลล์

ในคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์นี้ ศาลดัตช์ตัดสินให้เชลล์ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี พ.ศ.2573 ลง 45% โดยสุทธิเมื่อเทียบกับปีฐาน พ.ศ. 2562 นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ต้องมีภาระรับผิดต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและถูกสั่งให้ลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทานของตน

คดีสภาพภูมิอากาศนี้นำขึ้นสู่ศาลโดยองค์กร Friends of the Earth Netherlands (Milieudefensie) พร้อมด้วยกรีนพีซ เนเธอร์แลนด์ องค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ และโจทก์ร่วม 17,379 ราย

การพิจารณาคดีนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคาดหวังว่าการพิจารณาคดีจะจุดประกายการดำเนินคดีด้านสภาพภูมิอากาศทั่วโลก แม้เขตอำนาจศาลที่แตกต่างกันจะหมายถึงช่องทางทางกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่โจทก์ทั่วโลกสามารถใช้หลักการพื้นฐานที่ว่าผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลมีภาระผูกพันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ได้

กรีนพีซ ประเทศไทย

กรีนพีซ ประเทศไทยทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 กรีนพีซ ประเทศไทย ทำงานเคียงข้างกับชุมชน และเครือข่ายประชาชนที่หลากหลายเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ผลักดันความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ต่อกรการทำประมงที่ผิดกฏหมายและร่วมปกป้องทะเลไทย ส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงนิเวศและเปิดโปงอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม

2544: ฉลากที่ระบุส่วนผสมจากจีเอ็มโอ

กระทรวงสาธารณสุขของไทยประกาศใช้แผนบังคับเริ่มการติดฉลากอาหารดัดแปลงพันธุกรรม

2547: 

กรีนพีซประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อปกป้องวาฬมิ้งค์ ฉลามขาว และ โลมาอิระวดี ที่การประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ในกรุงเทพฯ

2555:

บริษัท KFC ในประเทศไทยยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกรีนพีซภายใน 24 ชั่วโมง และในอินโดนีเซียก็ยินยอมทำตามภายในสองสัปดาห์นับจากเปิดตัวงานรณรงค์ปกป้องผืนป่า จากกรณีความเชื่อมโยงระหว่าง KFC กับการทำลายป่าไม้ในอินโดนีเซีย โดย KFC ได้ประกาศถึงการตัดสินใจว่าบริษัทจะยุติการซื้อกระดาษจาก Asia Pulp and Paper (APP)

2557: ปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

กรีนพีซในไทยได้ขับเคลื่อนร่วมกับ 22 องค์กรที่จัดตั้งเป็น “เครือข่ายปกป้องกระบี่” ซึ่งทำงานรณรงค์ขับเคลื่อนภาคประชาชนและภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้สนับสนุนงานรณรงค์ปกป้องกระบี่ โดยมีนักกิจกรรมออนไลน์มากกว่า 50,000 ชื่อลงชื่อสนับสนุนการปกป้องความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของกระบี่จากภัยคุกคามโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือขนส่งถ่านหิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประกาศต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล และในขณะเดียวกันคณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อมได้ตีกลับรานงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีกครั้ง เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของรายงาน โครงการถ่านหินกระบี่จึงต้องถูกเลื่อนออกไป

2560: งานรณรงค์ของกรีนพีซผลักดันให้เกิดกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัทไทยยูเนี่ยน

ด็อกเตอร์ดาเรียน แมคเบน, ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนียนรับจดหมายที่มีผู้คนกว่า 680,000 ได้ลงนามเพื่อเรียกร้องให้อุตสาหกรรมทูน่ายั่งยืนและมีจริยธรรมขึ้น © Wason Wanichakorn / Greenpeace

บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้คำมั่นต่อมาตรการที่จะขจัดการประมงผิดกฎหมาย (illegal fishing) และการประมงเกินขนาด (overfishing) และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนับแสนคนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลของบริษัท ข้อตกลงใหม่ของไทยยูเนี่ยนเป็นการดำเนินการต่อยอดจากกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® รวมถึงความพยายามในการสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านการประมงที่ดีที่สุด (best practice fisheries) ปรับปรุงด้านการทำประมงอื่นๆ ลดการปฏิบัติที่ผิดกฏหมายและไร้จริยธรรมในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และนำผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าที่มาจากการทำประมงที่มีความรับผิดชอบออกสู่ตลาดหลักของโลก

2561: แคมเปญขออากาศดีคืนมา ทำให้กรมควบคุมมลพิษนำค่า PM2.5 ไปคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ

นักรณรงค์กรีนพีซถือป้ายที่แสดงให้ถึงฝุ่นมากมายที่ปกคลุมกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ ที่ล้วนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศอย่างหนัก © Wason Wanichakorn / Greenpeace

กรีนพีซทำงานรณรงค์ “ขออากาศดีคืนมา (Right to Clean Air)” ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด โดยทำงานร่วมกับชุมชนและภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเพื่อขับเคลื่อนให้รัฐบาลลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วนด้านสุขภาพและสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทําให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องชีวิตคน ในที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 กรมควบคุมมลพิษดำเนินการทดสอบระบบการรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ โดยยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในการคำนวณ

กรีนพีซในวันนี้

นักกิจกรรมกลุ่มแรกของกรีนพีซได้เพาะเมล็ดพันธุ์ซึ่งขณะนี้ได้เติบโตขึ้นเป็นองค์กรที่มีสำนักงานในกว่า 50 ประเทศ และมีผู้สนับสนุนหลายร้อยล้านคน เราทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อสู้ระดับโลกเพื่อให้แน่ใจว่าเราจะมีอนาคตที่ยั่งยืนสันติ และเป็นธรรมสำหรับทุกคน

เมื่อเวลาผ่านไป ความหวังและการแสดงออกซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้การเดินทางครั้งแรกของกรีนพีซได้กลายมาเป็นปฏิบัติการในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การส่งความช่วยเหลือผู้คนในภูมิภาคแอมะซอนและแปซิฟิก ปฏิบัติการการดับไฟป่าในรัสเซีย การเปิดโปงการทำประมงที่ผิดกฎหมายในแอฟริกาตะวันตก ไปจนถึงการรณรงค์เพื่อลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก

แต่หลักการพื้นฐานของเรายังเป็นเช่นเดิม นั่นคือ การไม่ใช้ความรุนแรง ความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากธุรกิจและการเมือง ความหวัง และการลงมือทำ

หลายปีที่ผ่านมา กรีนพีซพัฒนาจากการเน้นถึงปัญหาไปสู่รากเหง้าของปัญหา ที่เชื่อมโยงกับชุดความคิดและโครงสร้างอำนาจที่ขับเคลื่อนให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของเรา โดยตระหนักว่าการทำลายล้างนี้เชื่อมโยงอย่างแยกไม่ออกกับความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ กรีนพีซทำงานร่วมกับแนวร่วมและขบวนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อรับรองถึงอนาคตที่ยั่งยืน  สันติ และเป็นธรรม สำหรับทุกคน

“กรีนพีซประกอบด้วยผู้คน ที่ได้รับจากการสนับสนุนจากคนธรรมดามากมาย และลงมือทำเพื่อคนทุกคน” บิล ดาร์เนล สมาชิกผู้ก่อตั้งกรีนพีซ