ปัว เล เปง นักเคมีที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดจากมลพิษพลาสติก © Low Choon Chyuan

ผมเจอ ปัว เล เปง (Pua Lay Peng) ครั้งแรกในปี 2561 เธอเป็นแกนนำเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Kuala Langat Environmental Action Group ซึ่งออกมาเรียกร้องทางโลกออนไลน์ถึงปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกในเมืองเจนจารอม ของรัฐเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

เธอพาผมไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกและขยะพลาสติกในเมืองของเธอ และทันทีที่ผมเห็นกองขยะพลาสติกขนาดใหญ่ ผมรู้ทันทีว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาระดับประเทศอีกต่อไป

ในเดือนมกราคม ปี 2561 การเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกโลกถูก “ดิสรัปต์” หลังจีนห้ามนำขยะพลาสติกเข้าประเทศ แต่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมาเลเซียกลับไปรับขยะจากประเทศที่มีรายได้สูงเข้ามาประเทศตัวเองเสียอย่างนั้น 

การนำเข้าขยะจำนวนมากทำให้จำนวนสถานที่ทิ้งขยะและโรงงานเผาขยะในมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขยะที่ถูกนำเข้ามา โดยเฉพาะจากแหล่งผิดกฎหมาย ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ขยะเหล่านี้ถูกทิ้งหรือเผาในเมืองเจนจารอม เมืองแคลง หรือเซลังง์งอ จนก่อเป็นมลภาวะทางอากาศ ดิน และน้ำ

เมื่อปัวย้ายกลับเมืองเจนจารอม ในฐานะนักเคมี เธอสัมผัสได้ถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะพลาสติกที่มีต่อชุมชนของเธอ โรงงานพลาสติกผิดกฎหมายกว่า 40 แห่งสร้างมลภาวะทางอากาศ ปนเปื้อนแม่น้ำ จนทำให้ชาวเมืองเจ็บป่วย 

ตอนเจอปัวครั้งแรก เธอแนะนำให้ผมรู้จักกับคนในชุมชน ตั้งแต่คนขับรถบรรทุก ทนายความ แม่บ้าน ไปจนถึงนักธุรกิจ ในตอนนั้น พวกเขาเพิ่งรวมกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้ไม่นานนักและมีประสบการณ์ทำงานรณรงค์เท่ากับศูนย์ 

ปัว เล เปง พานักข่าวและเจ้าหน้าที่สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน  © Low Choon Chyuan

หลังจากวันนั้น พวกเราทำงานร่วมกันอีกหลายเดือน ทั้งจัดประชุม ลงพื้นที่ และทำรายงาน โดยมีปัวเป็นผู้นำ เธอช่วยให้คนในชุมชนเข้าใจว่าระบบการจัดการในพื้นที่ทำงานอย่างไร ปัวเริ่มเรียกร้องโดยการเขียนคำร้องเรียนและติดตามความคืบหน้ากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในแต่ละแผนก จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ยอมรับในความมุ่งมั่นของเธอ

นอกจากนั้น ทางกลุ่มยังจัดหาข้อมูลและหลักฐานให้กับรัฐบาล และผลักดันให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติกที่ผิดกฎหมาย โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงระบบค้าขยะพลาสติกโลกที่ผุพัง 

ความพยายามของปัวช่วยให้ชุมชนเข้าใจความสำคัญของประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนสังคม การทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น สื่อมวลชน และรัฐบาล ทำให้สามารถปิดโรงงานขยะที่ผิดกฎหมายกว่า 300 แห่งในมาเลเซีย 

ปัว เล เปง ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติเกี่ยวกับปัญหามลพิษจากพลาสติก  © Heng Kiah Chun

แต่เส้นทางการเรียกร้องไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ปัวและกลุ่มของเธอได้รับคำขู่ฆ่าจำนวนมากจากการต่อสู้และเปิดโปงโรงงานรีไซเคิลที่ผิดกฎหมาย บ้านของปัวถูกสาดด้วยสีแดงเป็นคำขู่ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขากลัว ตรงกันข้าม พวกเขามุ่งหน้าต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างมุ่งมั่น

และหลังจากผลสำเร็จในการรณรงค์ที่เมืองเจนเจรอม สมาชิกกลุ่มยังสนับสนุนแคมเปญต่อสู้ในเมืองอื่น ๆ อย่างเมืองแคลง รัฐเซลังงอร์ และสุไหงปัตตานี รัฐเกดะห์ และสนับสนุนชุมชนใกล้เคียงให้ต่อสู้กับมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม

ความทุ่มเทของปัวได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ ในปี 2561 เธอเดินทางไปนิวซีแลนด์กับกรีนพีซเพื่อพบกับ Eugenie Sage รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของนิวซีแลนด์ และเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติก 

ปีถัดมา เธอเข้าร่วมการประชุม the 21st EU-NGO Forum on Human Rights ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่าไม่ควรมีประเทศใดถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะ ส่วนองค์กร Persatuan Tindakan Alam Sekitar Kuala Langat ของเธอก็ได้รับรางวัล KLSCAH Civil Society Award 2019 ในวันสิทธิมนุษยชนสากล

ปัว เล เปง เดินทางไปนิวซีแลนด์กับกรีนพีซเพื่อพบ Eugenie Sage โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างความตระหนักถึงปัญหาการนำเข้าขยะพลาสติกจากนิวซีแลนด์  © Heng Kiah Chun

คงไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่าปัวทำให้เรานึกถึง Erin Brockovich นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและสร้างแนวร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็ง การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมของปัวและชุมชนยังนำไปสู่แคมเปญเรียกร้องอากาศและน้ำสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์

และที่สำคัญกว่านั้นคือ การต่อสู้ของพวกเขาแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เดินดินทั่วไปสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ 

พลังมวลชนไม่มีวันแพ้