“เคยไปยืนชายทะเลไหม มองไปที่ทะเลกว้างใหญ่ไพศาลเลยใช่ไหม แล้วมันจะจับปลาที่มีในนั้นได้หมดเหรอ” อาจารย์มุกถามขึ้นระหว่างอธิบายถึงความเชื่อที่ว่า “ปลาทะเลไทย กินเท่าไรก็ไม่หมด” 

“เชื่อไหมว่าชาวประมงหลายพื้นที่เชื่อว่าสัตว์น้ำมีให้จับไม่มีหมด เคยไปยืนอยู่ชายทะเลคุยกับชาวประมงว่า มองดูทะเลแล้วคิดไม่ออกใช่ไหมว่าเราอาจจับปลาทะเลจดหมดเกลี้ยง เขาก็หัวเราะ” อาจารย์กล่าวต่อ

แต่ทะเลไทยที่ครั้งหนึ่งเคยมีปลาชุกชุม ผลิตอาหารให้คนไทยมาหลายต่อหลายรุ่น จนนำไปสู่ความคิดที่ว่า “ปลาทะเลไทย กินเท่าไรก็ไม่หมด” มาวันนี้ชักไม่แน่เสียแล้ว 

การจับสัตว์น้ำเกินขีดความสามารถของทรัพยากรกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาทะเลไทยลดลงอย่างรวดเร็ว สถิติกรมประมงชี้ว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ปริมาณการจับปลาทะเลโดยเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 1.20 ต่อปี

การทำประมงเกินความสามารถของทรัพยากรแบ่งได้หลายประเภท โดยหนึ่งในปัญหาที่ไทยเผชิญอย่างหนักคือ Growth Overfishing หรือการจับสัตว์น้ำที่ยังอยู่ในวัยอ่อน 

สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกจับขึ้นมาด้วยอวนลากหน้าดินที่อ่าวไทย | © Athit Perawongmetha

เรือประมงไทยบางส่วนนิยมใช้อวนลากและอวนรุนตาถี่ขนาด 20 มิลลิเมตรและ 10 มิลลิเมตร ทั้งที่ขนาดอวนที่เหมาะสมอยู่ที่ 40 มิลลิเมตร ทำให้ติดปลาขนาดเล็กขึ้นมาจำนวนมาก 

ปลาวัยอ่อนเหล่านี้กลับยังมีตลาดรองรับที่ชัดเจน ทั้งโรงงานปลาป่นอาหารสัตว์ ช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่ห้างร้านชื่อดัง ส่วนผู้บริโภคจำนวนมากยังไม่รู้ว่าที่บริโภคไปคือสัตว์น้ำวัยอ่อน ทำให้ยังมีการจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป 

คำถามคือ ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับทะเล? 

“สมดุลของห่วงโซ่อาหารจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งเราไม่เหลืออะไร” อาจารย์มุก หรือ ผศ. ดร. จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบาย 

อาจารย์มุกเริ่มอธิบายถึงผลกระทบของการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเปรียบเทียบความแตกต่างของห่วงโซ่อาหารสัตว์บกและสัตว์ทะเล 

ในสัตว์บก สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆจะอยู่ในตำแหน่งของตนเองในห่วงโซ่อาหาร เช่น วัวกินหญ้า เสือกินวัว และจะคงอยู่อย่างนี้ แตกต่างจากสัตว์น้ำที่จะอยู่ในหลายระดับในห่วงโซ่อาหาร เมื่อเกิดมาปลาเล็กเป็นอาหารให้ปลาใหญ่ แต่บางส่วนก็ค่อยๆไต่ระดับขึ้นไปเป็นผู้ล่า

สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกจับขึ้นมาด้วยอวนลากหน้าดินที่อ่าวไทย | © Athit Perawongmetha

แต่เมื่อปลาเล็กจำนวนมากโดนจับขึ้นมาจำหน่าย เท่ากับเป็นการตัดตอนโอกาสที่พวกมันจะเติบโตมาเป็นปลาทรัพยากรประมง ก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล จำนวนอาหารของผู้ล่าลดลง ขณะเดียวกัน ปลาใหญ่ที่เป็นผู้ล่าและมีหน้าที่จำกัดพันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดยังคงถูกกวาดขึ้นจากท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง ทำให้สมดุลของท้องทะเลเปลี่ยน

ความต้องการสัตว์ทะเลสูงขึ้น การบริหารจัดการประมงยังตามไม่ทันการจับของชาวประมง เราจับปลาตัวเล็กลงเรื่อยๆ จับจนกระทั่งแม้แต่ลูกเล็กลูกน้อยวัยอ่อน นี่คือเหตุผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะว่าส่วนประกอบของแต่ละสปีชีส์ที่เคยคงสภาพให้เกิดสมดุลมันเปลี่ยน” อาจารย์มุกอธิบาย

“เปลี่ยนแล้วเกิดอะไรขึ้น มันก็เข้าสู่สมดุลแบบใหม่ องค์ประกอบในสิ่งมีชีวิตของสมดุลใหม่มันไม่เหมือนของเดิม สัตว์น้ำบางชนิดถึงเหลืออยู่ก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นมาเป็นทรัพยากรประมง  เป็นแค่ตัวเล็กตัวน้อยอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เราจับลูกเล็กเด็กแดงเราก็ไม่เหลือที่มันจะโตไปสืบพันธุ์ แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อชาวประมง มันก็ไม่เหลือปลาให้จับต่อไป”

ความกังวลของชาวประมงรุ่นใหม่

ถ้าจะพูดถึงความ “เปลี่ยนแปลง” ที่ว่านี้ให้เห็นภาพชัดที่สุด คงต้องเล่าผ่านสายตาของชาวประมงที่อาศัยอยู่กับทะเลนับสิบปี 

กิตติเดช เทศแย้ม ชาวประมงรุ่นใหม่จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กิตติเดช เทศแย้ม หรือ นิสสัน เป็นชาวประมงรุ่นใหม่ที่เริ่มออกเรือตั้งแต่ ป.6 ปัจจุบันเขาอายุ 25 สิบกว่าปีที่นิสสันใช้ชีวิตอยู่กับทะเล เขาได้เห็นฝูงปลาที่ครั้งหนึ่งเคยชุกชุมค่อยๆหายไป 

“สัตว์น้ำทั้งปลาปูกุ้งลดน้อยลง ทุกอย่างลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อก่อนเรามีเครื่องมือสามมัดแต่สามารถจับปลาได้มากมาย พอผมโตขึ้นเราต้องใช้เครื่องมือเป็นสิบๆมัดเพื่อให้จับปลาได้เท่าเดิม มันแสดงให้เห็นว่าปลามันน้อยลงแล้ว”

“เมื่อก่อนพอถึงฤดูของมัน ปลาทูหรือปลาต่างๆ จะขึ้นฝูงให้เราเห็น ให้ปลาวาฬหรือปลาใหญ่ขึ้นมากินมัน แต่ตอนนี้เราไม่เห็นแล้ว เมื่อก่อนเดินตามชายหาดเราเจอลูกปูม้า ตอนนี้เราก็ไม่เห็นแล้ว”

นิสสันเติบโตในครอบครัวชาวประมง และมุ่งมั่นจะยกระดับอาชีพประมงควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม เขาเล่าด้วยความกังวลว่า ถ้าชาวประมงยังไม่ปรับเปลี่ยนความคิดและจับสัตว์น้ำวัยอ่อนต่อไป อนาคตอาจไม่มีอาชีพประมงอีกต่อไป และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจชุมชนทั้งระบบ 

ถ้าเกิดหมู่บ้านใครหรือจังหวัดใครไม่ปรับตัวไม่เปลี่ยนแปลง ยังจับสัตว์น้ำวัยอ่อน อาชีพเราก็จะหมดไป เพราะมันจะไม่มีปลามาทดแทนรุ่นสู่รุ่น

และที่กังวลมากคือเรื่องระบบเศรษฐกิจ พอชาวประมงไม่มีอาชีพพอไปซื้อของอย่างอื่น ไม่มีเงินไปซื้อผักผลไม้ คนที่ขายผักผลไม้ก็ไม่มีคนซื้อ ทุกคนจะได้รับผลกระทบหมด”

เสียงเตือนจากชาวประมงวัย 25 นี้ จึงควรเป็นเครื่องปลุกให้เราเริ่มเปลี่ยนเพื่อทะเลอย่างจริงจัง แต่การจะรักษาให้มีปลาทะเลอยู่คู่ทะเลไทยต่อไปต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งบริโภค ผู้ขาย และผู้จับ 

ชาวประมงควรเลือกจับสัตว์น้ำที่โตเต็มวัย ให้สัตว์น้ำได้มีโอกาสสืบพันธุ์อย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนถูกจับ เปิดโอกาสให้สัตว์น้ำโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ ส่วนห้างร้านควรเลิกขาย เพราะหากไม่มีช่องทางการขายแล้ว คนจับก็จะหยุดจับ

ผู้บริโภคเองก็มีส่วนช่วยในการปกป้องทะเลด้วยการเลิกสนับสนุนสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยสามารถตรวจสอบขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำแต่ละชนิด ทั้งนี้อาจไม่ถึงกับต้องใช้ไม้บรรทัดวัด แค่ลองกะเอาง่ายๆด้วยสายตา หรือจะโหลดคู่มือเลือกอาหารทะเลเก็บไว้ใช้เลือกซื้ออาหารทะเล 

นอกจากนั้นยังสามารถช่วยกันส่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ที่ https://www.change.org/babyseafood 

เสียงของผู้บริโภคจะส่งไปถึงห้างร้านเพื่อเรียกร้องให้หยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน และในวันที่ไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนขาย ปริมาณการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนก็จะลดลง เหมือนการส่งสัญญาณทางอ้อมให้รู้ว่า เราต้องการอาหารทะเลที่มาจากผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม


อ้างอิง 

สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561

ผลผลิตของการประมงไทย ปี 2563

รายงานการสำรวจรูปแบบการจัดจำหน่าย สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่โตไม่ได้ขนาดใน ประเทศไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ต้นทุน และผลตอบแทนจากการทำประมงกุ้งทะเล บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก