มาร์กัวร์ จีรัวดอง ไม่เคยสูบบุหรี่ และเธอก็ไม่อยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ด้วย เธอไม่ได้อาศัยอยู่ใกล้โรงงานหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน ถึงแม้เป็นเช่นนั้น เธอเป็นหนึ่งในเหยื่อของโรคทางเดินหายใจอักเสบที่เรียกว่า Asthmatic Bronchitis ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดเธอลดลงไปเกือบหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับคนวัยเท่ากัน มาร์กัวร์มีอายุสามขวบ เธอเป็นหนึ่งในผู้ประสบผลกระทบของมลพิษทางอากาศของจีนแผ่นดินใหญ่ แม้ว่าเด็กหญิงคนนี้ไม่ได้อาศัยอยู่เมืองจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยซ้ำไป

หลายคนอาจคิดว่ามลพิษทางอากาศเป็นภัยต่อผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงเพียงกลุ่มเดียว ในความจริงแล้ว มลพิษทางอากาศนั้นไม่มีขอบเขต เราเรียกมันว่าหมอกควันข้ามแดน เพราะมลพิษชนิดนี้สามารถเดินทางได้ไกลจากแหล่งกำเนิดของมัน และบ้างอาจหาที่มาได้ยาก ในเรื่องราวของมาร์กัวร์ ฝุ่นจิ๋ว (PM) ราวร้อยละ 60-70 ของปริมาณรวมของเมืองฮ่องกงที่เธออยู่อาศัย เป็นมลพิษที่มาจากลมที่พัดเข้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่

ฝุ่นพิษโดยส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ก็เกิดขึ้นได้จากปฎิกิริยาทางเคมีของก๊าซในอากาศได้เช่นกัน มลพิษเหล่านี้สามารถคงตัวอยู่ในอากาศได้หลายวัน และบางครั้งก็นานหลายสัปดาห์

จากเแหล่งกำเนิดในจีนแผ่นดินใหญ่ หมอกควันพิษนี้สามารถเคลื่อนตัวไปถึงเกาะฮ่องกงได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทิศทางลมเหมาะสม ถึงแม้ว่ารถยนต์และเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่จะเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นควันในฮ่องกง แต่แท้ที่จริงแล้ว เกือบร้อยละ 80 ของฝุ่นนี้มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มลพิษนี้เป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหลายอย่าง รวมถึงโรคระบบทางเดินหายใจ การเสื่อมโทรมของปอด ความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคปอดและโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงมะเร็งปอด จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮ่องกง มลพิษทางอากาศเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรในฮ่องกงมากกว่า 1,600 รายในปีที่ผ่านมา

ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่กำลังเป็นข่าวใหญ่เรื่องมลพิษทางอากาศ ไทยเองก็กำลังเป็นที่จับตามองสำหรับเรื่องปัญหาฝุ่นควัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงฤดูแล้งของทุกปี เมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างเชียงใหม่ถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันพิษจากการเผาในที่โล่ง เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว และยานยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่  หลายจังหวัดในภาคเหนือก็มีระดับมลพิษทางอากาศในระดับที่สูงขึ้นด้วย

ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย หมอกควันพิษที่ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศเป็นผลพวงจากการส่งเสริมให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและธุรกิจการเกษตรอื่นๆ รายงานฐานข้อมูลทั่วโลกว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกิดไฟ (Global Fire Emissions Database)ระบุว่าในปีพ.ศ. 2558 ไฟจากการเผาก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกราว 600 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีของเยอรมนี ยิ่งไปกว่านั้น ในปี พ.ศ. 2556 หมอกควันพิษจากการเผาในอินโดนีเซียทำให้ระดับมลพิษในสิงคโปร์สูงถึงขีดสุด รวมถึงยังส่งผลมายังประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปลายปี พ.ศ.2558 เห็นได้ว่าปริมาณมลพิษนี้ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อแค่ชาวอินโดนีเซีย แต่ส่งผลกระทบต่อคนในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาตรการของรัฐบาลของอินโดนีเซียที่ยังคงขาดความน่าเชื่อถือทางกฎหมาย เมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ผู้ตรวจสอบเรื่องสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่งได้ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ราวร้อยคน ซึ่งคาดว่าถูกจ้างโดยบริษัทนำ้มันปาล์ม ทั้งครอบครัวและชุมชนที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะในด้านการสูญเสียของคนรักหรือการเสื่อมโทรมของสุขภาพของตน ได้ตกอยู่ในความลำบากในการขึ้นศาลเนื่องมาจากข้อบังคับที่เข้มงวดสำหรับการยื่นหลักฐานเพื่อยืนยันความผิดของผู้ต้องหา ในขณะที่เหล่าทนายและผู้ต่อสู้ไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนพอ พยานและผู้พิพากษาหลายคนก็คงไม่มีความมั่นใจในคดี ทั้งที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ โดยคาดว่าเป็นเพราะความกลัวการขู่ทำร้ายจากผู้ได้รับผลประโยชน์และคอรัปชั่นในระบบกฎหมาย

เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการจัดการหมอกควันพิษข้ามพรมแดนของอาเซียน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ในปีพ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกร่วมต่อกรกับปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน หนึ่งทศวรรษกว่าๆผ่านมา อาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนเหมือนเดิม เนื่องจากกลไกที่อ่อนแอในการตัดสินและลงโทษในทางกฎหมาย

ประเด็นที่คล้ายกันเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดาใน พ.ศ. 2530 เมื่อมลพิษทางอากาศจากการผลิตทางอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ทำให้เกิดฝนกรดในแคนาดา เกือบหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้นมา ทั้งสองประเทศจึงตกลงกันในสนธิสัญญาฝนกรด (Acid Rain Treaty) เพื่อมุ่งที่จะลดปริมาณการปล่อยมลพิษ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของฝนกรดที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ก็ยังคงเห็นได้ถึงปัจจุบันนี้

หมอกควันพิษข้ามพรมแดนนั้นยังเดินทางไปไกลถึงระดับทวีปอีกด้วย ยกตัวอย่างของมลพิษที่เคลื่อนตัวจากเอเชียไปอเมริกาเหนือที่ใช้เวลาประมาณห้าถึงแปดวันโดยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ปริมาณหนึ่งในสี่ของอนุภาคซัลเฟตที่แขวนลอยในอากาศในสหรัฐอเมริกานั้นมาจากกระแสลมที่พัดพาอนุภาคซัลเฟตเหล่านั้นข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกจากจีนแผ่นดินใหญ่ หลังจากหมอกควันพิษข้ามพรมแดนส่งผลกระทบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น หมอกควันพิษจากจีนนี้ยังส่งผลกระทบต่อชาวเมืองลอสแองเจลิสอีกด้วย

‘โลกาภิวัตน์’ มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและประเพณี ขณะนี้ได้ครอบคลุมถึงเรื่องมลพิษทางอากาศในระดับโลกแล้ว ในกรณีนี้ การแบ่งปันไม่ได้ถือว่าเป็นน้ำใจเสมอไป แค่เพราะเราไม่ได้เป็นผู้ก่อมลพิษ ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ต้องอยู่อาศัยกับมลพิษนั้นๆ ท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อมลพิษหรือไม่ ก็ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบเดียวกัน
แม้ว่าหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (‘Polluter Pays’ Principle) จะเป็นกรอบสำคัญในกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่เราได้เห็นแล้วว่า แนวคิดนี้ไม่เป็นจริงเสมอไป ดูอย่างผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียเป็นต้น ซึ่งหลุดรอดจากคดีรุกและเข้าครอบครองพื้นที่ป่าโดยการเผาอย่างง่ายดาย เพียงเพราะสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีอยู่ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรายย่อยก็คุ้ยเคยกับวิธีการเผาอย่างดั้งเดิมที่ทั้งง่ายและถูก และไม่อาจชี้ตัวผู้กระทำรายเดียวได้

ขณะที่นักการเมือง และนักธุรกิจอุตสาหกรรมต่างแสวงผลกำไรจากระบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าอย่างนำ้มันปาล์มป้อนตลาดโลกมีชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วนต้องรับภาระจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ขยายออกไปมากกว่าพรมแดนประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมต้องโปร่งใส และมีภาระรับผิดทั้งในเรื่องการตรวจวัดและป้องกันการปล่อยมลพิษเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะขออากาศดีคืนมา

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม