นี่คือห้วงเวลาที่สำคัญของมหาสมุทรของเรา และเป็นข่าวดีสำหรับเหล่าเต่าทะเล ฉลาม หมู่มวลนกทะเลและปลาทูน่า นอกจากนี้ ยังเป็นวันดีสำหรับคนงานนับแสนที่ทำงานกับท้องทะเลซึ่งหลายต่อหลายคนต้องถูกบังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด หลังจากสองปีที่กรีนพีซ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สหภาพแรงงาน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆร่วมมือกันกดดันบริษัทไทยยูเนี่ยนอย่างเต็มกำลัง ในที่สุดบริษัทผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกก็ประกาศว่าจะปฏิรูปอุตสาหกรรมของตนที่จะนำมาซึ่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารทะเล

เหตุการณ์นี้สำคัญอย่างไร

บริษัทไทยยูเนี่ยนไม่ได้เป็นเพียงแค่บริษัทเล็กๆธรรมดา และอุตสาหกรรมทูน่าก็ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมทั่วๆไป บริษัทไทยยูเนี่ยนนับเป็นธุรกิจหลักหลายพันล้านที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ และมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ทั้งยังเป็นเจ้าของแบรนด์ธุรกิจชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Mareblu, Sealect และอื่น ๆ อีกมากมาย บริษัทไทยยูเนี่ยนจัดหากุ้ง ปู และทูน่าจากมหาสมุทรเกือบทั่วทุกมุมโลก ซึ่งผ่านกรรมวิธีการจับ แปรรูป ขนส่ง และจัดจำหน่ายโดยคนงานหลายแสนคน การที่ไทยยูเนี่ยนให้คำมั่นสัญญาว่าจะพัฒนาความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเล และช่วยคุ้มครองสิทธิแรงงานประมงนี้จะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมแห่งความเปลี่ยนแปลงไปยังห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตอื่น ๆ ตั้งแต่ธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกต่าง ๆ ไปจนถึงผู้ทำประมงรายใหญ่อย่างจีน สเปน ฝรั่งเศส ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

เรื่องอะไรบ้างที่ไทยยูเนี่ยนตกลงว่าจะทำ

ไทยยูเนี่ยนได้ให้คำมั่นไว้หลายประการ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

  • จำนวนฉลาม นก และเต่าทะเลที่ตายจากเรือประมงของบริษัทจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากการที่ไทยยูเนี่ยนจะลดการใช้เรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง และหันมาทำงานกับเรือประมงที่ใช้วิธีจับปลาที่ดีกว่า เรื่องนี้นับเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งเพราะการจับทูน่าในปัจจุบันทำให้เต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ตายไปกว่าหลายหมื่นตัวและฉลามตายไปกว่าหลายล้านตัวต่อปี
  • ทางบริษัทตกลงจะเพิ่มมาตรการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยให้กับชาวประมงตามหลักสิทธิมนุษยชนและให้ปลอดจากการกดขี่ทางแรงงาน จากการเผยข้อมูลของสำนักข่าว New York Times, Associate Press, The Guardian รวมถึงทางกรีนพีซและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) อื่นๆ พบว่า การบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมงนั้นเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป หนึ่งในการปฏิรูปของไทยยูเนี่ยนจึงรวมไปถึงการพัฒนาระเบียบการใช้แรงงานบนเรือประมงของบริษัททุกลำอย่างเคร่งครัดและการสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้เป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอกที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
  • การปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับการประมงทูน่ามักจะทำได้ยาก เพราะแทบไม่มีบริษัทไหนพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าปลาทูน่าที่ได้มานั้นมาจากไหน จับมาด้วยวิธีใด และชาวประมงบนเรือได้รับการปฏิบัติอย่างไร โดยบริษัทไทยยูเนี่ยนจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ระบบติดตามเรือแบบดิจิตอลที่เปิดให้ตรวจสอบที่มาของปลาทูน่าได้ตั้งแต่บนเรือประมงและสามารถดูวิธีการจับปลาที่ใช้ได้

คุณสามารถดูรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับข้อตกลงของบริษัทไทยยูเนี่ยนได้ที่นี่

ความสำเร็จนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

แทบไม่มีชัยชนะใดที่ได้มาอย่างง่ายดาย และชัยชนะครั้งนี้ก็เช่นกัน ทางกรีนพีซได้พยายามปฏิรูปการประมงทูน่ามาตลอดกว่าสิบปี พวกเราเคยนำเรือไปขวางเรือประมงผิดกฏหมายในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกและเข้าร่วมการประชุมร่างนโยบายหลายสิบครั้ง พวกเราเคยขึ้นพูดในที่ประชุมและพบปะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่จากวอชิงตันดีซีไปจนถึงประเทศซามัว พวกเราเคยใช้กลยุทธและวิธีการมากมายไม่ว่าจะเป็นป้ายแบนเนอร์ การปิดล้อมเพื่อยื่นข้อเสนอและทางออก บิลบอร์ด แมว หรือนางเงือก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้คนหลายล้านเข้าร่วมกับเราเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ บ้างก็เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บ้างก็เป็นองค์กรแรงงานหรือนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ทว่าที่สำคัญกว่าคือผู้คนทั่วๆไปเองก็เข้าร่วมด้วย ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน และคนอื่น ๆ ที่ต้องการให้ปลาทูน่าที่ได้มาไม่ต้องแลกมาด้วยสิทธิความเป็นอยู่ของแรงงานประมงหรือความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล

แล้วต่อไปจะเป็นอย่างไร

นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้นสำหรับไทยยูเนี่ยน พวกเราพร้อมจะสนับสนุนทางบริษัทอย่างเต็มที่เมื่อทำได้ และจะคอยเรียกร้องให้บริษัทรับผิดชอบเมื่อจำเป็น จากการเรียกร้องของพวกเรา ทางไทยยูเนี่ยนตกลงจะจ่ายเงินให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าตรวจสอบสามารถดำเนินการของพวกเขาตามข้อตกลงนี้ได้เป็นเวลา 18 เดือน พวกเราจะค่อยๆสร้างแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากเหตุการณ์นี้และเรียกร้องให้ธุรกิจอาหารทะเลอื่นๆลุกขึ้นมาปฏิรูปตนเองเช่นนี้บ้าง ด้วยการที่มีพลังจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นและสามารถโน้มน้าวธุรกิจอาหารทะเลระดับโลกได้ สารที่เราจะส่งไปถึงธุรกิจเหล่านั้นจึงชัดเจนว่าพวกเขาเองก็จำเป็นต้องจัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการทำลายสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรจากห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา การที่ไม่สามารถแก้ไขเรื่องตรงนี้ได้นับเป็นการละเลยความเปลี่ยนแปลงที่ว่า ความยิ่งใหญ่ของธุรกิจหรือมือที่มองไม่เห็นของพวกเขานั้นไม่อาจเป็นแหล่งกำบังจากการเรียกร้องของทั่วโลกได้อีกต่อไปแล้ว

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ามหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์จะยังคงอยู่กับพวกเราต่อไปในอนาคต กรีนพีซจะสู้ต่อไปเพื่อปกป้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เรียกร้องให้มีการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลขนาดใหญ่ ซึ่งคอยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ คอยบรรเทาภัยจากภาวะโลกร้อน และคอยรักษาสมดุลของจำนวนประชากรปลาทะเล รวมไปถึงจะรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของข้อตกลงเกี่ยวกับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ (UN) และดำเนินงานร่วมกับสัมพันธมิตรเพื่อดูแลปริมาณน้ำในแถบอาร์กติก และแอนตาร์กติกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้น พวกเราจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหล่าพันธมิตร ผู้สนับสนุน นักกิจกรรม และผู้คนจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกต่อไป เพื่อรับรองว่าบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ จะเลิกทำลายมหาสมุทรของเรา และเพื่อปกป้องท้องทะเลไว้ให้คนรุ่นหลัง

แปลและเรียบเรียงโดย สรรพร อุไรกุล อาสาสมัครกรีนพีซ

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ National Geographic

Comments

Leave your reply