สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่าง “การมีชีวิต” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ในวันที่เราเห็นภาพหลายพื้นที่ทั่วโลกต้องเจอกับพายุ ฝนตกหนัก คลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วมรุนแรงและภัยธรรมชาติอีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ปรากฎอยู่ตรงหน้าเราอย่างชัดเจนกว่าที่เคยเป็นมา หากมนุษยชาติและผู้มีอำนาจยังคงเพิกเฉย วิกฤตเหล่านี้ก็จะกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในอีกหลายแง่มุมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

สิทธิมนุษยชนมีหลักการว่า ประชาชนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค มีความปลอดภัยและอิสรภาพในการดำรงชีวิตและได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และสิทธิมนุษยชนสิทธิเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในชีวิต สุขภาพ อาหาร และมาตรฐานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต 

ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Projection for Climate Justice at COP25 in Madrid. © Mikel Konate / Greenpeace
© Mikel Konate / Greenpeace

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2491 จัดทำขึ้นตามเจตนารมณ์แห่งอุดมคติสูงสุดโดยมีหลักการที่ช่วยส่งเสริมให้มนุษย์ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี อิสรภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และสันติภาพ โดยมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ขณะแถลงการณ์เปิดการประชุมสภาสิทธิมนุษยชนสมัยที่ 42 ไว้ว่า

“วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลก การคาดการณ์ของระดับอุณหภูมิที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันนั้นคือความหายนะ เกิดพายุมากขึ้น กระแสน้ำอาจท่วมทั้งประเทศที่เป็นเกาะและเมืองชายฝั่ง ไฟไหม้โหมกระหน่ำไปทั่วทั้งป่า น้ำแข็งกำลังละลาย และเรากำลังเผาผลาญอนาคตของเราเอง”

แน่นอนว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบในทางลบต่อสิทธิมนุษยชน แต่แทบไม่ได้ที่จะแจกแจงผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ได้เน้นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนบางประการมากเป็นพิเศษ คือ สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการกำหนดชีวิต สิทธิในการพัฒนาตนเอง สิทธิในสุขภาพ สิทธิในการเข้าถึงอาหาร น้ำ สุขาภิบาล และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และสิทธิทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย

ในวันที่ ‘การมีชีวิต’ ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

สิทธิในการมีชีวิต ของเราทุกคนอาจได้รับผลกระทบ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าว่าระหว่างปี พ.ศ. 2573 ถึง 2593 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมประมาณ 250,000 คน ในแต่ละปีจากภาวะทุพโภชนาการ มาลาเรีย โรคท้องร่วง และความเครียดจากความร้อน 4

สิทธิในสุขภาพ การเข้าถึงอาหาร น้ำ สุขาภิบาล และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ล้วนมีความเชื่อมโยงกับสภาพอากาศสุดขั้ว และหากเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติอื่น ๆ ก็จะทำให้ผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมได้ ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าคนจนเกือบร้อยละ 78 ของโลก หรือประมาณ 800 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งหลายคนต้องพึ่งพาการเกษตร ป่าไม้ และการประมงเพื่อความอยู่รอดจะ ได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ

Global Climate Strike in Bangkok. © Tadchakorn  Kitchaiphon / Greenpeace
© Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

สิทธิในการกำหนดชีวิต และสิทธิในการพัฒนาตนเอง นอกจากการมีชีวิตแล้ว มนุษย์ยังต้องการชีวิตที่มีศักดิ์ศรี สามารถกำหนดวิถีทางในการใช้ชีวิต สามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสที่เท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเองได้ แต่หากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจผลักดันให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2573 ตามรายงานของธนาคารโลก โดยเฉพาะอนาคตของเราอย่างเยาวชนจะได้รับผลกระทบนี้มากเป็นพิเศษ ตามที่ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประมาณการว่าภายในปี พ.ศ. 2583 เด็ก 1 ใน 4 หรือราว 600 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำตึงเครียดสูงมาก

สิทธิทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย คนที่อยู่ในสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สถาบันหรือกลุ่มคนชายขอบ เช่น ชนพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงกับสิ่งแวดล้อม มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น ๆ นอกจากนั้น เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการพลัดถิ่นภายในของประชากร 28 ล้านคนในปี 2561 ตามรายงานของ Internal Displacement Monitoring Center อีกด้วย

ฐานคิดสิทธิมนุษยชนจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร?

วิธีมองวิกฤตสภาพภูมิอากาศบนฐานคิดสิทธิมนุษยชน (Rights-based approach) จะต้องประกอบด้วยหลักการสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ความเป็นสากลและไม่สามารถแบ่งแยกได้ การไม่เลือกปฏิบัติ ความเท่าเทียม การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และหลักนิติธรรม

Global Climate Strike in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
© Chanklang Kanthong / Greenpeace

โดยเมื่อพูดถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จะเรียกร้องความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ความเสมอภาค การเคารพสิทธิมนุษยชน ความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยมองว่าเมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บุคคล กลุ่ม และประชาชนในสถานการณ์ที่เปราะบางต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ เข้าถึงมาตรการในการปรับตัวและความยืดหยุ่น และได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ

กรีนพีซได้เข้าร่วมกันขบวนการความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน เราต้องการให้รัฐบาลและบริษัทร่วมรับผิดชอบในประเด็นนี้ เราต้องการให้ผู้คนโดยเฉพาะคนในกลุ่มเปราะบางได้รับการคุ้มครอง รวมถึงสิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับการปกป้อง

เราต้องการแนวทางในการอาศัยอยู่ร่วมกับโลกอย่างกลมเกลียว นี่เป็นอนาคตที่ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศสามารถทำได้ เป็นอนาคตที่เราเชื่อและสร้างไปด้วยกัน

อ้างอิง

Report of the United Nations Conference on the Human Environment, Stockholm, 5–16 June 1972 (United Nations publication, Sales No. E.73.II.A.14), para. 1.

WHO, “Climate change and health”, 1 February 2018. Available at www.who.int/ news-room/fact-sheets/detail/climate-change-and-health.

 FAO, Agriculture and Climate Change: Challenges and Opportunities at the Global and Local Level – Collaboration on Climate-Smart Agriculture (Rome, 2019). Available at www.fao. org/3/CA3204EN/ca3204en.pdf.

 World Bank, “Rapid, climate-informed development needed to keep climate change from pushing more than 100 million people into poverty by 2030”, 8 November 2015. Available at www.worldbank.org/en/news/feature/2015/11/08/rapid-climate-informed-development- needed-to-keep-climate-change-from-pushing-more-than-100-million-people-into-poverty-by-2030.

 UN-Water, Sustainable Development Goal 6: Synthesis Report on Water and Sanitation 2018 (Geneva, 2018).

 Daisy Dune, “World population facing water stress could ‘double’ by 2050 as climate warms”, Carbon Brief, 2 June 2020. Available at www.carbonbrief.org/world-population- facing-water-stress-could-double-by-2050-as-climate-warms. See also Hafsa Ahmed Munia and others, “Future transboundary water stress and its drivers under climate change: a global study”, Earth’s Future, vol. 8, No. 7 (2020). Available at https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/ doi/10.1029/2019EF001321.

UNICEF, Thirsting for a Future: Water and Children in a Changing Climate (New York, 2017). Available at www.unicef.org/media/49621/file/UNICEF_Thirsting_for_a_Future_ENG.pdf.

Internal Displacement Monitoring Centre, Global Report on Internal Displacement 2019 (Geneva, 2019), p. 5.

https://www.ohchr.org/EN/Issues/HRAndClimateChange/Pages/HRClimateChangeIndex.aspx

https://www.greenpeace.org/thailand/story/1755/right-climate/