โลกของเรากำลังวิกฤต ต้องเผชิญกับทั้งไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ และอีกหลากหลายปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังมาไม่ถึงจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ฉบับล่าสุดระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทวีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เปลี่ยนแปลงไปน้ำท่วมครั้งใหญ่ คลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก และสิ่งต่าง ๆ อาจเลวร้ายกว่านี้หากไม่ได้รับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศอย่างเร่งด่วน

เนื่องในวันถ่ายภาพโลก (World Photography Day) เราได้พูดคุยกับช่างภาพและบรรณาธิการ เกี่ยวกับไอเดียที่ว่าเราจะสามารถเล่าเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่ายได้อย่างไรบ้าง ที่จะทำให้ผู้คนได้เห็นว่าผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายนั้นเป็นการสื่อสารมีความเป็นสากล ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมหรือภาษานั้น ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ ภาพถ่ายชุดต่อไปนี้ถูกคัดเลือกจากช่างภาพและบรรณาธิการเพื่อเล่าให้เราฟังว่าในตอนนี้โลกได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์และเราอาจสูญเสียความสมดุลและธรรมชาติอันสวยงามที่โลกมีให้ไปโดยที่เราไม่รู้ตัว

ช่างภาพ เอสเธอร์ ฮอร์วาธ

เมื่อ เอสเธอร์ ฮอร์วาธ ตัดสินใจจะอุทิศตนให้กับสิ่งแวดล้อมและทุ่มเทให้กับการบันทึกข้อมูลพื้นที่ขั้วโลก เธอเดินทางไปแอนตาร์กติกาครั้งแรกในปี 2558 กับเรือตัดน้ำแข็งฮีเลย์ของหน่วยรักษาความปลอดภัยชายฝั่งสหรัฐฯ 

โดรนพูม่า (Puma Drone) เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่หน่วยรักษาความปลอดภัยชายฝั่งปล่อยจากเรือฮีเลย์ การแข่งขันการสำรวจในแถบอาร์กติกของประเทศต่าง ๆ เช่น รัสเซีย จีน ซึ่งเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกาทำขึ้น ทำให้เราเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในทวีปอาร์กติกตั้งแต่ประชากรสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ น้ำแข็งที่ปกคลุมอยู่จนไปถึงกิจกรรมทางทหาร ภาพนี้ถูกถ่ายที่ทะเลบิวฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม ปี 2558 © Esther Horvath

ทุกคนต่างทำงานขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันไป ฉันทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่าน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกกำลังละลายและอุณภูมิเฉลี่ยของบริเวณนี้เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่ส่วนอื่นของโลกมากถึงสองหรือสามเท่า แต่ฉันมักจะตั้งคำถามเสมอว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไป ? เรารู้จากการรายงานข่าวหรือ ?

ฉันกำลังบันทึกการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำเรื่องนี้มายาวนาน เรามีข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องยากที่จะบันทึกการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เพราะคุณไม่สามารถบันทึกหรือถ่ายภาพทั้งหมดในวันเดียวกันได้ คุณจะต้องบันทึกภาพสถานที่เดียวกัน ธารน้ำแข็งเดียวกัน ในห้วงระยะเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งฉันไม่ได้ทำแบบนั้น แต่เลือกเขียนบันทึกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์แทน

ฉันสนใจวิธีการใช้ชีวิตรวมถึงขั้นตอนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าฉันสามารถถ่ายทอดมุมมองเหล่านี้ให้ผู้คนเข้าใจมันมากขึ้น จากพื้นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ทีวี และวิทยุ ฉันเลยตั้งคำถามว่าแล้วเวลาว่างเขาทำอะไรกัน? ในขณะที่คนภายนอกและฉันมองว่าพวกเขาเป็นฮีโร่พวกเขาทำงานในสถานที่ที่ห่างไกลและอุทิศชีวิตเพื่อการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็เป็นคนทั่วไปแบบเรา ฉันจึงอยากเผยแพร่มุมมองการใช้ชีวิตของพวกเขา

เป้าหมายของฉันคืออยากผู้คนตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในแถบทวีปอาร์กติก และอยากให้ผู้คนรู้ว่าแม้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเกิดในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลแต่พวกเขาก็จะยังได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น ฉันต้องการทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขาเพื่อผลักดันให้นักการเมืองและคนที่มีอำนาจตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อยุติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตของเรา

ซาช่า เฟลอโกล และ โยฮันเนส เลมเบิร์ค เก็บตัวอย่างหิมะและสำรวจเพื่อเผยแพร่มลพิษพลาสติกในแถบอาร์กติก ภาพนี้ถ่ายในมหาสมุทรอาร์กติก สิงหาคม ปี 2560 © Esther Horvath

ซูดันชุ มัลโฮลตรา บรรณาธิการมัลติมีเดีย กรีนพีซ

เราไม่ได้พยายามสื่อสารด้วยภาพที่ทำให้คนรู้สึกเศร้าสลด แต่เราพยายามบอกว่าความจริงคืออะไร เมื่อปีที่แล้วระหว่างที่ผมกำลังดูรูปภาพไฟป่าออสเตรเลีย มีภาพสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ซึ่งค่อนข้างเป็นภาพที่น่ากลัว เราไม่สามารถเลือกรูปภาพเหล่านั้นเพื่อเผยแพร่ได้เพราะไม่อยากให้คนหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราอยากให้รูปภาพที่เผยแพร่ออกไปนั้นทำให้คนให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นและสนใจปัญหาที่เกิดขึ้น มากกว่าทำให้ตกใจ

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมาเราถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมผ่านภาพถ่ายมากมาย บางรูปอาจปรากฏอยู่ตามหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ เพื่อให้คนเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากนี้ยังต้องเปลี่ยนทัศคติของกองบรรณาธิการและช่างภาพให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญด้วย ถึงจะสามารถทำให้ผู้คนหันมาสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิทธิมนุษยชน หรือปัญหาใด ๆ เราสามารถเริ่มบอกเล่าปัญหาเหล่านั้นได้จากการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย อย่างไรก็ตามคุณไม่อาจคาดหวังได้ว่าผู้คนจะเข้าใจมันทั้งหมดผ่านภาพถ่ายเหล่านั้นทั้งหมด สิ่งที่ภาพภ่ายสามารถทำได้คือเป็นจุดเริ่มต้นให้คนฉุกคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ภาพถ่ายที่ดีจะทำให้ผู้คนจดจำและนึกถึงมันอยู่ตลอดเวลา

Overflight in Sena Madureira under Flood, Acre, Brazil. © Alexandre Noronha / Greenpeace
แม้ว่าบราซิลยังคงอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ยังต้องต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินกับอุตสาหกรรมใหญ่ที่เข้ามายึดครองพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมเกษตร และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ของเกษตรกรบางคนจมอยู่ใต้น้ำเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 © Alexandre Noronha / Greenpeace

โซมาส ดรายานี ช่างภาพ

ในปี 2558 โซมาส ดรายานี เริ่มถ่ายภาพทะเลสาบเออร์เมียในอิหร่าน เธอใช้เวลาตลอดฤดูร้อนและช่วงวันหยุดในวัยเด็กของเธอไปกับปู่และย่าของเธอ ทะเลสาบเออร์เมียเคยเป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ตอนนี้นี้ทะเลสาบเหลือเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ในปี 2558 บนชายฝั่งของท่าเรือชาราฟคาเนห์ ทะเลสาบเออร์เมีย เคยเป็นท่าเรือที่สำคัญที่สุดสำหรับการเดินทางต่าง ๆ การขนย้ายอุปกรณ์ระหว่างเมืองรอบทะเลสาบ ปัจจุบันพบเรือร้างจอดเทียบท่า และมีเรืออีกสองสามลำเกยตื้นอยู่โดยรอบ © Solmaz Daryani

ฉันจำได้ว่าผู้คนตั้งคำถามว่าทำไมฉันถึงถ่ายภาพในเมื่อมันไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรแต่ตลอดหกปีที่ผ่านมาการเล่าเรื่องผ่านรูปถ่ายทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยมนุษย์เอง

ฉันคิดว่าภาพถ่าย ภาพยนตร์รวมถึงสารคดีมีส่วนสำคัญอย่างมาก อย่างน้อยก็ทำให้คนที่เสพได้รู้จักและนึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ในปี 2558 ลีโอนาโด ดิ คาร์ปริโอ โพสต์ภาพถ่ายทะเลสาบเออร์เมียผ่านทางอินสตาแกรมของเขา โดยพูดถึงการหดตัวของทะเลสาบเออร์เมียว่าส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้คนในอิหร่านอย่างไรบ้าง ทำให้ได้รู้ว่าบรรดาคนดังในโลกก็สนใจกับปัญหาเหล่านี้ และสามารถทำให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น ฉันถึงเข้าใจได้ว่าภาพถ่ายนั้นมีพลังในการเล่าเรื่องและสามารถเปลี่ยนความคิดของผู้คนได้

ฉันไม่ได้พูดลอย ๆ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รวมถึงบทความมากมายที่พูดถึงปัญหานี้ ฉันแค่ต้องการให้คนอื่นเห็นถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นผ่านการเล่าเรื่องที่ตัวเองพบเจอ เพราะการเล่าเรื่องที่เราเจอจริง ๆ ช่วยให้คนเปลี่ยนความคิดได้และเริ่มพูดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแพร่หลาย ซึ่งสามารถช่วยกดดันรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

เมื่อเวลาผ่านไป คุณจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับภาพหมีขั้วโลก ธารน้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย น้ำท่วม หรือปัญหาอื่น ๆ  แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนกับสิ่งนั้นมากขึ้น พวกเขาจะเข้าใจปัญหาพวกนี้ ชาวเปอร์เซียกล่าวว่าสิ่งที่ออกมาจากใจจะติดอยู่ในในใจไปอีกนาน ฉันจึงพยายามเล่าเรื่องจากใจและหวังว่ามันจะติดอยู่ในใจของคนอื่นไปนานเท่านาน

คุณยายของโซมาสกำลังเดินอยู่บนท่าเรือริมชายฝั่งเมืองชาราฟคาเนห์ที่เธอเคยอาศัยอยู่เมื่อสิบห้าปีที่แล้ว ก่อนที่ทะเลสาบจะลดหดตัวลงอย่างรุนแรง ภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อปี 2557 โดยคุณยายเล่าว่าสมัยก่อนทุกคนในครอบครัวมักมาทานข้าวเย็นริมน้ำกันในวันหยุดสุดสัปดาห์บริเวณท่าเรือชาราฟคาเนห์ ทางฝั่งตะวันออกของอาเซอร์ไบจาน ประเทศอิหร่าน  © Solmaz Daryani

เจมส์ วิทโลว์ เดลาโน ช่างภาพและผู้ก่อตั้ง EverdayClimateChange

โปรเจ็กต์ EverydayClimateChange เกิดขึ้นขึ้นครั้งแรกบน Instagram เพื่อรวบรวมนิทรรศการภาพถ่ายทางกายภาพและบทสัมภาษณ์ในยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ EverydayClimateChange เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้บน YouTube

ช่างภาพแบบเรารู้ดีว่ามันต้องมีสมดุล ผมไม่อยากให้คนที่เห็นภาพถ่ายรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้แล้ว แม้ว่าเรากำลังอยู่ในวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งเราไม่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวสิ่งแวดล้อมในแง่ที่ทำให้คนรู้สึกหดหู่ หรือสงสาร ดังนั้นช่างภาพส่วนมากจะบันทึกภาพจากความจริงที่เกิดขึ้นหรืออย่างน้อยจะสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่เราต้องช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อแสดงให้เห็นเกิดความรู้สึกว่านี่คือเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข เพราะพวกเรายังมีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงวิกฤตนี้ได้

ผมชอบภาพถ่ายที่ชัดเจนเพราะมันจะมีพลังในการอธิบายถึงวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่ก็ชอบงานที่ทำให้ประหลาดใจเช่นกัน เวลาทำงานผมพยายามแสดงให้เห็นถึงความงดงามและสมดุลของธรรมชาติไปด้วย เหมือนกับเหมืองทองคำ ลา รินโกนาดา (La Rinconada) ประเทศเปรู ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 5,200 เมตรในเทือกเขาแอนดีซ ธารน้ำแข็งที่เก่าแก่นั้นเป็นสถานที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่สูงที่สุดในโลก และคนงานเหมืองก็เฝ้ารอธารน้ำแข็งนี้ละลายเพื่อสำรวจ ที่นี่เปรียบเหมือนสถานที่ที่นรกกับสวรรค์มาบรรจบกันพอดี

แม้ว่าตอนนี้โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่คำถามคือแพลตฟอร์มเหล่านี้จะสามารถใช้สื่อสารไปได้อีกนานแค่ไหน นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฉันเลือกที่จะใช้แพลตฟอร์มอื่น ๆ นอกจากอินสตาแกรม เช่น นิทรรศการ บทสัมภาษณ์ EverydayClimateChange เพื่อจะขยายมุมมองที่สำคัญในการถ่ายภาพวิกฤตสภาพภูมิอากาศผ่านมุมมองของช่างภาพ เราเป็นนักเล่าเรื่องและต้องการบันทึกเรื่องราวของพวกเราเพื่อให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้รวมถึงลูกหลานของเราด้วย 

ทาชิยา เดอ เมล ช่างภาพและผู้ก่อตั้ง Lost in Ceylon

ทาชิยา เดอ เมล เป็นช่างภาพสารคดีที่ใช้ความรู้ของเธอในการเล่าเรื่องด้วยภาพและการอนุรักษ์ เพื่อสร้างเรื่องเล่าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเน้นย้ำถึงผลกระทบของวิกฤตสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธออาศัยอยู่ที่โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

ภาพนี้ถูกถ่ายที่ประเทศศรีลังกา แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่สถิติและตัวเลขเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ผู้คนเข้าใจได้ได้ แต่การถ่ายภาพสามารถทำให้คนเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังสะท้อนปัญหาที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้  © Tashiya de Mel

ฉันใช้เวลาส่วนใหญ่ของช่วงวัยรุ่นเพื่อสำรวจพื้นที่ห่างไกลของศรีลังกา ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นความโหดร้ายของโลกและฉันอยากให้ผู้คนได้เห็นโลกในมุมที่ฉันเห็น เมื่อเดินป่าผ่านที่ราบสูงของเกาะ เป็นครั้งแรกที่ฉันหลงรักการถ่ายภาพอย่างจริงจัง ฉันหวังว่าจะได้บันทึกความงดงามที่ฉันเห็น แต่ในเวลาถัดมาก็เริ่มสังเกตเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น มลภาวะ การตัดไม้ทำลายป่า และความแห้งแล้ง ส่งผลให้โลกธรรมชาติของเราได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยการบันทึกการคุกคามและความยืดหยุ่นของธรรมชาติ ฉันต้องการที่จะบอกเรื่องราวที่เรากำลังเป็นกังวล ถ้าเราต้องการที่จะต่อสู้กับปัญหานี้ เราต้องเข้าใจทั้งสิ่งที่เรากำลังเดิมพัน วิธีการเล่าเรื่อง รวมถึงภาพที่ถ่ายที่จะสะท้อนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องดีหรือกำลังเป็นภัยคุกคาม

ภาพนี้ถูกถ่ายที่ประเทศ ศรีลังกา มนุษย์กำลังเผชิญอยู่กับภัยอันตราย ผู้คนกำลังถูกคุกคามจากเขตพัฒนาพลังงาน ซึ่งเป็นนโยบายและการวางแผนจัดการที่ผิดพลาด รวมทั้งยังถูกคุกคามจากการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Tashiya de Mel

แม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สถิติและตัวเลขเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เข้าใจได้ การถ่ายภาพสามารถเชื่อมช่องว่างนั้นได้อย่างแท้จริง และช่วยให้เห็นภาพแนวคิดและปัญหาในแบบที่ตัวเลขไม่สามารถทำได้

การถ่ายภาพอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม สังคม และการเมือง ช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง ชุมชน และโลกที่เราอาศัยอยู่ ภาพถ่ายที่ดีจะกระตุ้นความคิดและทำให้เรามองเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อสุขภาพที่ดีของโลกธรรมชาติ รวมทั้งท้าทายการรับรู้ของผู้คนและมิติทางการเมือง

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม