กี่ชีวิตมาแล้วที่ต้องร่วงหล่นสูญหายจากการปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม

สิทธิเสรีภาพที่เรามีในทุกวันนี้มักมีที่มาจากการที่คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องต่อกรกับอำนาจ การออกมาเรียกร้องเคลื่อนไหวถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี และชะตากรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องคือ การถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งในกรณีของการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนนั้น ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายมักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ 

นโยบายรัฐและอุตสาหกรรมที่เกื้อหนุนกันมักก่อให้เกิดอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางครั้งเป็นอาชญากรรมต่อบุคคลด้วย องค์การสหประชาชาติ (UN) เผยว่า ในแต่ละวันจำนวนผู้ถูกอุ้มหายทั่วโลกมีมากถึงเกือบ 1,000 คน และยังระบุว่า “อาชญากรรมการบังคับให้สูญหายกำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกแทบทุกวัน ซึ่งรวมถีงนักต่อสู้ทางสิ่งแวดล้อมที่โดยมากมักเกิดขึ้นกับกลุ่มชนพื้นเมือง” สำหรับไทย คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ยังมองว่า กลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายของไทยยังไม่มีการกำหนดโทษสำหรับกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เห็นต่าง โดยมีข้อยกเว้นทางกฎหมายว่าหากยังไม่พบศพก็จะไม่สามารถดำเนินการสืบสวนคดีความฆาตกรรม แม้ขณะนี้จะมีร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย และเพิ่มเติมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการบังคับบุคคลให้สูญหายและการผลักดันบุคคลให้กลับไปเผชิญอันตราย อย่างไรก็ดียังคงมีข้อกำหนดอายุความและพนักงานผู้รับผิดชอบในคดีการทำให้บุคคลสูญหาย ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และกระบวนการออกกฎหมาย พ.ร.บ.นี้ ได้ดำเนินการมายาวนานกว่าสิบปีแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการผ่านร่างเพื่อบังคับใช้อย่างจริงจัง 

นอกจากความหวังทางกฎหมายที่ดูริบหรี่ เสียงการเรียกร้องของกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ก็มักแผ่วเบาจนรัฐและสังคมแทบไม่ได้ยิน คนชาติพันธุ์มักถูกมองว่าเป็นประชากรส่วนน้อยที่ไร้ตัวตนและเป็นคนชายขอบในสายตารัฐไทย มีสิทธิไม่เท่าเทียมกับพลเมืองคนอื่นในประเทศ ด้วยเหตุที่อัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่แตกต่างที่ยังไม่ถูกหลอมรวมกับวิถีชีวิตกระแสหลัก รวมถึงการไม่ได้รับสิทธิทางสัญชาติ ทำให้คนชาติพันธุ์มักถูกละเลยและถูกละเมิดสิทธิอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิพื้นฐานของการเป็นพลเมือง สิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณะจากรัฐ สิทธิชุมชนในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรของตนและบรรพบุรุษ อีกทั้งยังถูกกดทับด้วยวาทกรรมที่กล่าวอ้างว่า ชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยทำลายป่า ถูกปฏิเสธการยอมรับทั้งจากรัฐและสังคม ชนพื้นเมืองชาติพันธุ์จึงมักได้รับผลกระทบทั้งจากนโยบายการพัฒนา หรือนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่โดยไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของคน

การถูกกดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อบิลลี่ หรือนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย บนผืนป่าแก่งกระจานหรือที่ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่นั่นเรียกเรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ถูกอุ้มหายไปหลังจากที่ออกมาเคลื่อนไหวยื่นฟ้องหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในข้อหาเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกระเหรี่ยงบ้านบางกลอย 98 หลัง บิลลี่ถูกอุ้มหายไปในปี 2557 โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ถึงแม้ภรรยาของบิลลี่และตัวแทนชาวกะเหรี่ยงจะเดินหน้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ ศาล และดีเอสไอ ก็กลับถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอ หรือด้วยเหตุผลว่าภรรยาของบิลลี่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายจึงไม่มีสิทธิร้องเรียน และกระบวนการสอบสวนจะกระทำได้หากมีการพบเจอร่างของบิลลี่เท่านั้น กระทั่งผ่านไปนาน 5 ปี คดีความถึงเริ่มดำเนินการและจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐ

ในมุมของความเป็นคนที่ควรได้รับสิทธิความเท่าเทียมที่เสมอภาพในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง บิลลี่และชาวกะเหรี่ยงบางกลอยคือผู้เสียหายที่ถูกใช้ความรุนแรงขับไล่ บ้านเรือนถูกเผาทำลาย ถูกริดรอนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในชุมชนของตนที่อยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษ ก่อนที่รัฐจะตีกรอบป่าแห่งนี้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ ยิ่งไปกว่านั้นบิลลี่ไม่ใช่คนในชุมชนบางกลอยคนแรกที่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากขัดแย้งกับรัฐ เนื่องจากก่อนหน้านั้น “บุตรชายของชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน” หรือ อ.ป๊อด-ทัศน์กมล โอบอ้อม ผู้เป็นแหล่งข่าวคนสำคัญก็ได้ถูกยิงตายไป ประวัติศาสตร์การถูกกดขี่ของคนชุมชนกะเหรี่ยงแก่งกระจานเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถูกขับไล่ต้องอพยพโยกย้ายตั้งแต่ปี 2509 กับโครงการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ช่วงปี 2508-2514 กับการปราบปรามคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งกรณีอุทยานแห่งชาติภายใต้ปฏิบัติการที่ชื่อว่า “ยุทธการตะนาวศรี” ที่รัฐเผาบ้านเรือนอ้างว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นชนกลุ่มน้อยติดอาวุธสงคราม ไม่ใช่คนไทย ลักลอบเข้ามายึดครองพื้นที่อุทยาน ทั้งที่พวกเขามีบัตรประชาชนไทย จวบจนถึงกรณี “มรดกโลกมรดกเลือด” ล่าสุดในปัจจุบัน ที่รัฐไทยดึงดันผลักดันให้แก่งกระจานเป็นมรดกโลก เป็นป่าที่ปลอดคน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาสังคมและคณะผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ 

ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนกับป่าของชาวกะเหรี่ยงอย่างร้ายแรงคือการที่รัฐบังคับให้เปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรจากไร่หมุนเวียนเป็นการทำนาขั้นบันได เกษตรคงที่ และพืชพาณิชย์เพื่อเศรษฐกิจ ซึ่งสำหรับคนกะเหรี่ยงแล้ว วิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่าของเขาหมายถึงความสัมพันธ์ของคนกับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นป่า ต้นน้ำ และทุกพื้นที่คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญต่อชีวิต นั่นคือเหตุผลที่คนกะเหรี่ยงและไร่หมุนเวียนไม่มีทางทำลายป่า เนื่องจากป่าคือบ้านและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ

ในกฎหมายระดับสากล ชาวพื้นเมืองมีสิทธิเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยรัฐไม่สามารถย้ายถิ่นฐานของชาวพื้นเมือง หากไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและการยินยอม รวมถึงการชดเชยที่เหมาะสม ปัจจุบันนี้ชนพื้นเมืองทั่วโลกมีประชากรประมาณ 370-500 ล้านคน ใน 90 ประเทศ ซึ่งถือเป็นเพียงร้อยละ 5 ของประชากรโลก แต่กลับเป็นกลุ่มที่มีภาวะยากจนสูงสุด และมีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าประชาชนที่ไม่ใช่ชนพื้นเมือง 20 ปี (World Bank) สมบัติหรือมรดกอันล้ำค่าที่สุดของพวกเขาคือบ้านที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าและแหล่งน้ำที่อาศัยและรักษาสืบทอดกันมาหลายรุ่นชั่วคน แต่พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์นี้ก็เป็นพื้นที่เดียวกันกับที่รัฐและอุตสาหกรรมหมายตา ชนพื้นเมืองจึงมักถูกย้ายถิ่นฐานโดยรัฐกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่เท่าเทียม รวมถึงอาจต้องเผชิญกับความรุนแรงและฆาตกรรมหากชนพื้นเมืองยืนหยัดที่จะปกป้องบ้านของตน นอกจากบ้านของพวกเขาจะถูกแย่งชิงไปแล้ว ไม่ใช่แค่วัฒนธรรมวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองที่ถูกทำลาย เผ่าพันธุ์ชนพื้นเมืองเองก็เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไป ในฐานะเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งของมนุษย์ที่ถูกมนุษย์ที่มีอำนาจเหนือกว่าทำลาย

กรณีการอุ้มหายชนพื้นเมืองยังเกิดขึ้นในหลายประเทศซีกโลกตะวันตก เช่น แคนาดา กับการที่ชนพื้นเมืองหญิงราว 4,000 คน หายตัวไปโดยไม่ทราบชะตากรรม และยังมีความเชื่อมโยงกับความไม่เท่าเทียมทางเพศต่อหญิงชนพื้นเมืองสูง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้นำชนพื้นเมืองในประเทศต่าง ๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ฮอนดูรัส ชิลี เปรู บราซิล กัวเทมาลา และโคลัมเบีย ที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ ก็ถูกคุกคามและเป็นเหยื่อของการถูกบังคับให้สูญหาย การขู่ถึงชีวิต และการฆาตกรรม เพื่อให้สังคมทั่วโลกตระหนักถึงอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่นักต่อสู้ทางสิทธิต้องเผชิญ องค์การสหประชาชาติจึงกำหนดให้ 30 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย (International Day of the Victims of Enforced Disappearances) ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

การบังคัญให้สูญหายนั้นถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อมนุษย์ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทุกอย่าง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และวัฒนธรรม ที่ผู้เรียกร้องต้องการปกป้อง และยังละเมิดสิทธิของครอบครัวเหยื่อที่ต้องการสืบหาความจริงถึงการหายไปของบุคคลนั้น สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมในบริบทของโลก ชนพื้นเมืองคือผู้พิทักษ์ป่า ไม่ใช่ผู้ทำลาย และมีงานวิจัยเผยว่า การให้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายกับชนพื้นเมืองจะช่วยลดอัตราการทำลายพื้นที่ป่าลงได้ และถือเป็นยุทธศาสตร์การปกป้องป่าและสภาพภูมิอากาศได้ดี

การที่ผู้มีอำนาจปิดปากผู้ที่ออกมาส่งเสียง ไม่ได้เป็นเพียงอาชญากรรมต่อบุคคลที่เป็นผู้ถูกกระทำให้สูญหายเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายสำหรับทุกคนในสังคม นักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ศัตรูหรืออันตรายของสังคม แต่เป็นคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้น และได้รับสิทธิเท่าเทียมที่ทุกชีวิตพึงมี


ที่มาข้อมูล: 

  • ประชาไท. (2021). สหประชาชาติเผย ‘การบังคับสูญหาย’ ในอาเซียน เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐ. Retrieved from https://prachatai.com/journal/2021/06/93329
  • วิศรุต วีระโสภณ. (2021). ยุทธการตะนาวศรีคืออะไร? ทำไมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ถึงถูกขับไล่จาก ‘ใจแผ่นดิน’. The Momentum. Retrieved from https://themomentum.co/bangkloi/
  • สถาพร พงษ์พิพัฒ์วัฒนา. (2021). แฟ้มคดี ‘บิลลี่’ ชาวกะเหรี่ยง ผู้เรียกร้องสิทธิในการกลับบ้าน ‘ใจแผ่นดิน’. The 101 World. Retrieved from https://www.the101.world/billy-s-case-file/
  • BBC News. (2021). แก่งกระจาน : ยูเนสโกมีมติขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ แม้ฝ่ายสิทธิมนุษยชนยูเอ็นค้าน. Retrieved from https://www.bbc.com/thai/thailand-57968385
  • Cecco, L. (2019). Decades of missing Indigenous women a ‘Canadian genocide’ – leaked report. The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2019/may/31/canada-missing-indigenous-women-cultural-genocide-government-report
  • Gaworecki, M. (2017). Land titling for indigenous communities leads to forest protection, peer-reviewed study finds. Mongabay. Retrieved from https://news.mongabay.com/2017/04/land-titling-for-indigenous-communities-leads-to-forest-protection-peer-reviewed-study-finds/
  • International Trade Union Confederation. (2021). International Day of the World’s Indigenous Peoples: time to uphold and enforce rights. Retrieved from https://www.ituc-csi.org/international-day-of-Indigenous-Peoples
  • Neelapaijit, A. (2019). Impunity remains victims’ obstacle to real justice. Bangkok Post. Retrieved from www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1643044/impunity-remains-victims-obstacle-to-real-justice
  • Thai PBS. (2019). ย้อน 5 ปีคดี “บิลลี่” ถึงวันที่ “ชัยวัฒน์” มอบตัว. Retrieved from  https://news.thaipbs.or.th/content/283675
  • United Nations Human Rights Council. (2013). Free, Prior and Informed Consent of Indigenous Peoples. Retrieved from https://www.ohchr.org/Documents/Issues/ipeoples/freepriorandinformedconsent.pdf
  • United Nations Human Rights Council. (2019). Thailand: Ensure truth, justice, and reparations for victims of enforced disappearance. Retrieved from https://www.lrwc.org/thailand-enforced-disappearance-un-statement/
  • United Nations. (2020). Cases of Enforced Disappearance Climb to Nearly 1,000 Daily, United Nations Expert Warns Third Committee, as Delegates Call for Upholding Key Human Rights Treaties. Retrieved from https://www.un.org/press/en/2020/gashc4297.doc.htm
  • United Nations. (2020). Enforced disappearances ‘rife across the world’ – UN chief. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2020/08/1071282
  • World Bank. Indigenous People. Retrieved from www.worldbank.org/en/topic/indigenouspeoples