Oranggutan being rescued

กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ (International Animal Rescue: IAR) เข้าช่วยเหลืออุรังอุตังในกาลิมันตันฝั่งตะวันตก © Heribertus Suciadi / กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ / กรีนพีซ

แสงแดดร้อนระอุแผดเผาผิวของเราขณะที่พวกเรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่เกตาปัง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อมองออกไปไกลสุดลูกหูลูกตา มีเพียงสีเขียวเท่านั้นที่โอบล้อมรอบตัวเราอยู่

พวกเราผ่านหมู่บ้านและทุ่งนามากมายระหว่างทาง การทำนาข้าวนับเป็นวิถีชีวิตหลักของชุมชนส่วนมากในพื้นที่ โดยเรากำลังเดินทางไปยังป่าสุไหงปุตรีพร้อมด้วยเพื่อนๆและอาสาสมัครจากกรีนพีซ ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ราวกว่า 57,000 เฮกเตอร์เทียบเท่าเกาะอีบิซ่าของสเปนทั้งเกาะ อย่างไรก็ดี เราคาดว่าเราจะต้องพบกับบริษัทอุตสาหกรรมป่าไม้ PT MPK (PT Mohairson Pawan Khatulistiwa) มาตั้งอยู่บนผืนป่าแห่งนี้ในการเดินทางครั้งนี้

ก่อนที่เราจะเดินทางไปถึงส่วนที่เป็นพื้นที่พรุ พวกเราได้หยุดแวะที่ศูนย์ฟื้นฟูอุรังอุตังของกลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ โดยกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ป่าและพื้นที่พรุในเกตาปังได้ทำให้อุรังอุตังกำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆจนใกล้สูญพันธุ์จากการที่พวกมันต้องสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย

เพื่อน ๆ ของเราที่กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ได้ช่วยชีวิตเหล่าอุรังอุตังที่ถูกรุกรานพื้นที่อยู่อาศัยและช่วยให้พวกมันกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้ดังเดิม ทว่าน่าเศร้าที่อุรังอุตังจำนวนหนึ่งไม่สามารถจะกลับไปใช้ชีวิตในผืนป่าได้อีกและยังต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เพราะพวกมันต้องทนทรมานกับอาการอัมพาตจากแผลไฟไหม้พุพองหรืออาการป่วยระยะยาวอื่น ๆ ป่าสุไหงปุตรีนี้เป็นบ้านของอุรังอุตังกว่าราว 900 ถึง 1,200 ตัว นับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังขนาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่สามในกาลิมันตันตะวันตก และสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่พรุแห่งนี้ก็มิใช่เพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้ป่าสุไหงปุตรีควรได้รับการปกป้องจากทุกคน

ขณะที่เรากำลังมุ่งหน้าเข้าไปในป่า พวกเราได้ล่องเรือผ่านส่วนที่เป็นป่าพรุต่างๆเพื่อไปยังส่วนที่เรียกว่าป่าสุไหงปุตรี ระหว่างการเดินทางครั้งนี้เราได้เห็นนกพื้นเมืองหลากหลายชนิด และได้ยินเสียงร้องของเหล่าอุรังอุตังและลิงจมูกงวง (Bekantan) สัตว์จำพวกลิงชนิดหนึ่งซึ่งมีจมูกที่ยาวเป็นพิเศษ เมื่อก้าวขึ้นสู่พื้นที่บนบก แทบไม่มีแสงแดดใดสามารถส่องผ่านกลุ่มใบไม้แน่นหนาที่ปกคลุมผืนป่าแห่งนี้ลงมาได้ ทำให้พื้นป่าดูมืดครึ้ม ทว่าเต็มไปด้วยสรรพชีวิต

tropical pitcher plants

ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในป่าสุไหงปุตรี เกตาปัง กาลิมันตันตะวันตก © Agusriady Saputra / กรีนพีซ

Drone View

ภาพจากกล้องโดรนแสดงภาพคูน้ำในป่าสุไหงปุตรี เกตาปัง กาลิมันตันตะวันตก © กรีนพีซ

ในที่สุด เราก็กลับมายังเส้นทางหลักที่ปกคลุมไปด้วยฝุ่นซึ่งนำทางเราไปยังปากทางของป่าสุไหงปุตรี ที่ซึ่งเราคาดว่าจะต้องพบกับแหล่งก่อสร้างในเขตนี้

หลังจากที่เราอยู่บนถนนสายนี้ซึ่งเต็มไปด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่มาได้ประมาณครึ่งชั่วโมง เราก็ได้เห็นคูน้ำแห่งหนึ่งชัดๆ อันเป็นคูน้ำที่ทอดยาวไกลสุดลูกหูลูกตา ตรงทางปลายสายของคูน้ำมีการก่อสร้างอยู่ โดยมีเครื่องขุดเจาะกำลังก่อฐานสิ่งก่อสร้างลงบนพื้นที่ คนขับรถของเราได้หยุดคุยกับคนงานในบริเวณนั้นและได้รู้มาว่าการก่อสร้างนี้เป็นการก่อสร้างตึกสำนักงาน MPK ซึ่งถ้าหากเป็นความจริง แปลว่าการก่อสร้างครั้งนี้ได้ละเมิดบทบัญญัติที่ทางกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้บังคับใช้กับทางบริษัท MPK ไว้ตั้งแต่ในปี 2560
บทบัญญัติดังกล่าวร่างขึ้นในปีที่แล้วหลังจากที่ทางกระทรวงพบว่าทางบริษัท MPK กำลังเริ่มโครงการขุดคูน้ำในพื้นที่คุ้มครอง ด้วยความลึกของระดับคูน้ำที่ลึกเกินข้อกำหนดทางกฎหมายถึง 5 เท่า จึงไม่สมควรให้มีกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในป่าสุไหงปุตรีแห่งนี้

การขุดเจาะคูน้ำในพื้นที่พรุที่มีปริมาณคาร์บอนสูงทำให้พื้นที่บริเวณนั้นแห้งแล้งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การติดไฟในช่วงหน้าแล้งได้ง่ายขึ้น โดยหลังจากปี 2558 ที่เกิดเหตุไฟป่ารุนแรงในอินโดนีเซียจนผู้คนต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเอง โรงเรียนต่างๆต้องปิดตัวลงและโรงพยาบาลต่างเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บที่หายใจไม่ออก ทางรัฐบาลก็ได้พยายามควบคุมและปราบปรามปัญหาดังกล่าว
การสร้างคูคลองทำให้พื้นที่พรุแห้งแล้ง และพื้นที่พรุที่แห้งแล้งก็นับเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดไฟป่าในอินโดนีเซีย หากเราไม่ต้องการให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นในปี 2558 ขึ้นอีกครั้ง เราก็ต้องช่วยปกป้องพื้นที่พรุแห่งนี้ให้ยังคงชุ่มน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดไฟในพื้นที่ได้

นอกจากนี้ การขุดคูคลองในบริเวณดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากพื้นที่พรุนี้มีความสำคัญต่อการทำนาข้าวของชุมชนอย่างมาก การเก็บกักน้ำในพื้นที่พรุนั้นได้คอยช่วยกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมทุ่งนาของชาวบ้านได้ตลอดมา

ป่าของเราคืออนาคตของเรา หากผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้หายไป ไม่เพียงแต่เหล่าอุรังอุตังจะต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย แต่ชีวิตของมนุษย์ก็ถูกคุกคามด้วยเช่นกัน ป่าคือแหล่งกำเนิดชีวิตของพวกเรา ทั้งชุมชนและรัฐบาลจึงจะต้องร่วมกันยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ เพื่อปกป้องผืนป่าแห่งอินโดนีเซียผืนนี้ไว้ให้ได้
คุณล่ะ จะร่วมมือกับพวกเราไหม

 

Ratri Kusumohartono เป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านป่าไม้ กรีนพีซ อินโดนีเซีย
บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

Primary Forest in Papua. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ร่วมปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นบ้านของอุรังอุตังกำลังถูกทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าจะถูกทำลาย

มีส่วนร่วม