เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีสารพิษอะไรบ้างอยู่ในอากาศที่เราหายใจ ขณะนี้ประชาชนยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีคุณภาพอากาศที่กรมควบคุมมลพิษรายงานในปัจจุบันนั้นยังคงไม่รวมมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) เราจึงไม่สามารถรับทราบข้อมูลที่ระบุถึงผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างชัดเจน

และนี่คือเป้าหมายของศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Climate Change Data Center; CCDC) ที่มุ่งนําเสนอข้อมูลเรื่องคุณภาพอากาศผ่านระบบรายงานผลออนไลน์เพื่อให้ผู้รับข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และเข้าใจง่าย

ในช่วงบ่ายวันหนึ่งก่อนฤดูกาลเผาและหมอกควันพิษภาคเหนือจะมาถึง วันฟ้าใสของเมืองแม่เหียะ จังหวัดเชียงใหม่ ดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 เข้ามาคำนวณด้วยนั้นยังบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศที่ดี เรามีโอกาสได้สนทนากับ รศ.ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล หัวหน้าโครงการวิจัยการติดตามและประเมินภาวะหมอกควันเพื่อการบริหารจัดการ (โครงการย่อยที่ 4: ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: หน่วยข้อมูลหมอกควันเพื่อการวิจัยและประชาสัมพันธ์) ภายใต้โครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน : Haze Free Thailand เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยกลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ ถึงแนวคิดและเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงอยากให้ประชาชนรับรู้ค่าคุณภาพอากาศที่แท้จริง

เพราะเหตุใดจึงคิดว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเกิดศูนย์นี้ขี้น และเผยแพร่ให้ความรู้กับประชาชน

ปัญหาการเกิดหมอกควันในภาคเหนือมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการเผาในที่โล่งเพิ่มสูงขึ้น ทั้งใน ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ เกษตรกรจะทําการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเตรียมพื้นที่สําหรับทําการเกษตรในช่วงฤดูฝน จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหมอกควัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลําปาง ลําพูน แพร่ น่าน และพะเยา จากข้อมูลจํานวนผู้ป่วยด้วยโรคที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน ได้แก่ กลุ่มโรคตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคผิวหนังอักเสบใน 8 จังหวัด ภาคเหนือ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน ปี 2559 พบว่ามีจํานวนผู้ป่วยรวมสูงเกือบ 1ล้านคน จากประชากรประมาณ 6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 (สํานักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่, 2559) ซึ่งถือว่าสร้างความเสียหายต่อสุขภาพประชากรในพื้นที่เป็นอย่างมาก จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ทําให้ทราบว่าปัจจุบันมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่สําคัญ และมีความจําเป็นที่จะต้องการการศึกษาในเชิงลึกเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงการแจ้งเตือนเพื่อเฝ้าระวัง และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ผู้รับข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์และเข้าใจง่าย

แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศของภาคเหนือตอนบนคืออะไร

มีแหล่งกําเนิดหลักมาจากการเผาในที่โล่ง เช่น เผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และไฟป่า รวมถึงมีผลจากการคมนาคมที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัจจัยหลักของปัญหา คือ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่ตั้งในแอ่ง ล้อมรอบไปด้วยแนวภูเขา สภาวะอากาศที่นิ่งทําให้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศได้นานโดยไม่ตกลงสู่พื้นดิน สภาวะทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงต้นปีประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องความกดอากาศ สูงที่พาดผ่านพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีอากาศหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง สภาพความ กดอากาศสูง อุณหภูมิต่ำก่อให้เกิดหมอกในตอนเช้า เมื่อหยดน้ำในอากาศรวมตัวกับฝุ่นละอองและสาร มลพิษในอากาศเกิดเป็นลักษณะของ smog ขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผสมตัวของอากาศในแนวดิ่งได้น้อย เนื่องจากความต่างของอุณหภูมิ (temperature inversion) ก่อให้เกิดการสะสมของมลพิษในบริเวณแอ่ง

สถานการณ์ผู้ป่วยจากภาวะหมอกควันพิษในภาคเหนือน่ากังวลไหม

จํานวนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันในภาคเหนือปี 2560 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมกว่า 30,000 ราย ที่ได้รับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลต่างๆ จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทําให้ทราบว่าปัจจุบันมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่สําคัญ และมีความจําเป็นที่จะต้องการการศึกษาในเชิงลึกเพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที

จากข้อมูลฝุ่น PM10 และ PM2.5 ของจังหวัดเชียงใหม่ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรม ควบคุมมลพิษที่สถานีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย (อ. เมือง จ. เชียงใหม่) ในช่วงเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม ปี 2558 และปี 2559 พบว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณฝุ่นสูงสุดในเดือนมีนาคม ทั้งปริมาณ ฝุ่นPM10 และPM2.5โดยในปี2558 มีปริมาณฝุ่น PM10 สูงถึง 295.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและ PM2.5 สูงถึง 266.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งพบว่าปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อ สุขภาพของประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่แค่ภาคเหนือเท่านั้นที่ต้องตระหนักถึงมลพิษทางอากาศและคุณภาพอากาศ

นอกจากภาคเหนือแล้วยังมี ปัญหาการเผาในพื้นที่โล่งในภาคอื่น ๆ เช่น ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งภาคเหนือที่มีการเผาไร่อ้อยเพื่อการเก็บเกี่ยวและไร่ข้าวโพดกับนาข้าวเพื่อกําจัดเศษวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว รวมไปถึงพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบปัญหาหมอกควันข้ามแดนจากเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีการเผาป่าพรุเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจในช่วงเดือน กรกฎาคม-ตุลาคมทุกปี ทําให้เกิดมลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพและอาจเป็นอันตรายต่อยานพาหนะที่ไม่สามารถมองเห็นในทัศนวิสัยที่ไกลเพียงพออีกทั้งเป็นการเพิ่มปัญหาสภาวะโลกร้อนด้วย

ทางศูนย์มีการติดตามคุณภาพอากาศและข้อมูล PM2.5 อย่างไร

ศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทําการสร้างระบบฐานข้อมูล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองเชิงมวล PM2.5 และ PM10 ในอากาศ ด้วยเครื่องตรวจจับฝุ่นละอองไร้สาย โดยการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี ความเป็นพิษของฝุ่นใน อากาศ และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ระบบนิเวศ และทรัพยากร อีกทั้งยังมีการพัฒนาแบบจําลองการพยากรณ์คุณภาพอากาศเพื่อนําไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันเหตุการณ์ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเป็นการร่วมมือภายใต้การวิจัยโครงการประเทศไทยไร้หมอกควัน : Haze Free Thailand เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยกลุ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการภัยพิบัติ (Research University Network Cluster Climate Change and Disaster Management : RUN- CCDM)

การติดตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองเชิงมวลเรียลไทม์เตือนภัยวิกฤตฝุ่นควัน (PM 2.5, PM10) เพื่อติดตามคุณภาพอากาศของศูนย์ฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีจํานวนทั้งสิ้น 5 สถานี ดังนี้ (1) สถานีแม่เหียะ (2) สถานีนาน้อย (3) สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (4) สถานีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ (5) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ อีกทั้งยังมีการนําเสนอข้อมูลผ่านระบบรายงานผลออนไลน์จากสถานีตรวจวัดในแต่ละแห่ง นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมุ่งหวังอยากจะให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และความร่วมมือจากนักวิจัยท้องถิ่นเพื่อสร้างเครือข่ายและ ศึกษาวิจัยร่วมกัน ซึ่งทางศูนย์คาดหวังว่าในอนาคตจะมีการเพิ่มและขยายพื้นที่การติดตั้งสถานีตรวจวัดเรียลไทม์เตือนภัยวิกฤตฝุ่นควัน (PM 2.5, PM10) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใน พื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในชุมชนและท้องถิ่นในอนาคตต่อไปได้

การพัฒนาและความยั่งยืนในแบบของเชียงใหม่น่าจะเป็นอย่างไร

มาตรการสร้างความยั่งยืนของเชียงใหม่หลังฤดูป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งนั้น สามารถทําได้ทั้งการส่งเสริมชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้ ปลูกป่า ทําฝาย ส่งเสริมเพาะเห็ด เพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น ซึ่งจากแนวทางการสร้างป่าสร้างรายได้ดังกล่าว โดยนําองค์ความรู้ในการเพาะเห็ดเผาะและเห็ดโคนไปสอนในพื้นที่ชุมชน รวมไปถึงการจัดการชีวมวลต่างๆ หรือทําแนวกันไฟ ตามหลักวิชาการในสภาพภูมิประเทศที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึง สร้างการบริหาร ร่วมในพื้นที่รอยต่อระดับอําเภอ จังหวัด และประเทศไทย เพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ พร้อม สร้างความเข้าใจกับประชาชน และประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องการใช้ไฟของชาวเขาบน พื้นที่สูงในพื้นที่ไร่หมุนเวียน จะเห็นได้ว่าหากมีการสนับสนุนการดําเนินกิจกรรมในช่วงมาตรการสร้าง ความยั่งยืนในช่วงฤดูฝนเพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร จัดซื้อต้นพันธุ์ ไม้ผล ไม้ยืนต้นเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืช และการฟื้นฟูปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทําลาย จากปัญหาไฟป่า จะสามารถสร้างความยั่งยืนและพัฒนาให้จังหวัดเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตได้

ที่สถานีติดตามคุณภาพอากาศแม่เหียะที่เรากำลังอยู่นี้ รศ.ดร.เศรษฐ์ มุ่งหวังให้ข้อมูลของสถานีสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศจากพื้นที่ใกล้เคียงได้ อีกทั้งยังเป็นอีกทางเลือกในการรับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศนอกเหนือจากกรมควบคุมมลพิษที่คำนวณเฉพาะค่า PM10 หรือในบางวันที่มีกรณีปัญหาหมอกควันพิษ แต่ค่าฝุ่นของบางสถานีกลับไม่ขึ้น หรือในบางครั้งที่มีการรดน้ำใกล้กับสถานี  รศ.ดร.เศรษฐ์ แสดงความกังวลว่า “จำนวนสถานีในปัจจุบันยังไม่เป็นตัวแทนของข้อมูลฝุ่นที่เกิดขึ้นจริงในจังหวัด จริงๆ เราควรจะมีข้อมูลของฝุ่นมากกว่านี้ ประชาชนอาจจะช่วยเป็นเจ้าของสถานีในอนาคตก็ได้ เราพยายามบอกภาครัฐว่าควรมีสถานีแบบนี้เพิ่มมากขึ้น และช่วยกันดูแลจัดการ สร้างความรู้ ช่วยกันเตือน เมื่อประชาชนรู้ว่าจุดที่อยู่มีมลพิษสูง จะช่วยได้ยังไงบ้าง และน่าจะนำไปสู่การลดการเผาได้ ”

ข้อกฎหมายของไทยยังตามหลังสากล เราไม่ใช่คนปอดเหล็กกว่าใครเขา เราจะต้องรู้ว่าจะต้องระวังตัวเองยังไงบ้าง ทุกปีมีผู้เสียชีวิตเยอะขึ้นมาก ผู้ป่วยเยอะขึ้นมาก ถ้ามองแต่ปลายทางแต่ไม่แก้ต้นทาง ก็จะแก้ได้ยาก ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนักว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ต้องเสียไป มันคุ้มค่าหรือเปล่า รศ.ดร.เศรษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามการรายงานคุณภาพอากาศของ CCDC ได้ที่นี่

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) เพื่อยกระดับมาตรฐานการวัดคุณภาพอากาศในประเทศไทย ที่นี่

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม