สุดสัปดาห์นี้ใครที่อยากไปสัมผัสธรรมชาติแต่ยังออกจากบ้านไม่ได้ เราอยากชวนมาดูหนังเพื่อเปิดมุมมองที่หลากหลายไปกับภาพยนตร์และสารคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่สามารถดูได้จากที่บ้านคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ เกรียตา ทุนแบร์ย เบื้องหลังของพลาสติก เพนกวินที่หายไป ระบบอาหารและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ชีวิตคนงานท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน และเรื่องราวอื่น ๆ ที่ชวนให้เราตั้งคำถามต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน

พร้อมแล้ว ไปดูกันเลย

Entangled

Entangled เป็นสารคดีที่นำเสนอภารกิจการปกป้องวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือ หนึ่งในสายพันธ์ุวาฬใกล้สูญพันธุ์ที่เหลือไม่ถึง 400 ตัว สะท้อนวิกฤตความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความซับซ้อนของการจัดการความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ

ตัวสารคดีเล่าเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของวาฬไรต์ สลับกับภาพความขัดแย้งกับชุมชนประมงล็อบสเตอร์ ที่ต้องการปกป้องอาชีพของท้องถิ่นเอาไว้

ภายใต้เส้นเรื่องที่เรียบง่าย Entangled เผยถึงความซับซ้อนของการอนุรักษ์วาฬไรต์  โดยการพาผู้ชมสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างการล่าวาฬในอดีต วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงผลกระทบด้านนโยบายที่ตกสู่ชาวประมง และในปัจจุบันที่หลายฝ่ายกำลังหาทางออกให้ชาวประมงและวาฬไรต์อยู่ร่วมกันได้ เวลาของวาฬไรต์แอตแลนติกเหนือก็ลดลงเรื่อยๆ…

การันตีด้วยรางวัล Jackson Wild, รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก International Wildlife Film Festival, รางวัล Best Conservation Film จาก International Ocean Film Festival และรางวัล John de Graaf Environmental Filmmaking Award จาก Wild & Scenic Film Festival

ชมฟรี! ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ทาง Doc Club on Demand พร้อมคำบรรยายภาษาไทย

ดูจบแล้ว เขียนรีวิวหรือสิ่งที่ชอบจากหนังลงบนช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเอง พร้อมแฮชแท็ก #Entangled และ #OceanDefenders อันไหนโดนใจทีมงาน รับรางวัลหน้ากากผ้ามหาสมุทรจากกรีนพีซไปเลยยย

ลงทะเบียนชมฟรี

I AM GRETA

เรื่องราวของนักเคลื่อนไหวทางด้านสภาพภูมิอากาศชื่อก้องโลก เกรียตา ทุนแบร์ย สารคดีบอกเล่าเรื่องราวของเธอผ่านฟุตเทจที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน จากผลงานการกำกับของผู้กำกับชาวสวีเดน นาธาน กรอสแมน

สารคดีเปิดเรื่องด้วยเรื่องราวการหยุดเรียนประท้วงประเด็นการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลด้านหน้ารัฐสภาสวีเดนของเกรียตา เด็กสาวขี้อายที่เป็นโรคแอสเพอร์เกอร์คนนี้ หลังจากนั้นผู้กำกับกรอสแมนได้ติดตามเกรียตาและบอกเล่าการเดินทางเรียกร้องต่อปัญหาโลกร้อนซึ่งสร้างแรงบันดาลใจต่อเยาวชนทั่วโลกในการลุกขึ้นมาเรียกร้องต่อรัฐบาลและประชาชนให้หันมาตระหนักและให้ความสำคัญต่อวิกฤตนี้

ข้อมูลจาก เทศกาลหนังสั้นโลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) 

เพิ่มเติม

The Story of Plastic

ภาพยนตร์สารคดีที่จะทำให้คุณเปลี่ยนความคิดที่มีต่อพลาสติกทุกชิ้นบนโลกนี้ The Story of Plastic ภาพยนตร์สารคดีที่เผยเบื้องหลังความจริง และที่มาของพลาสติกทุกชิ้นที่สร้างความสะดวกสบายให้เราในชีวิตประจำวัน แท้จริงแล้วทิ้งผลกระทบที่ยาวนานต่อสิ่งแวดล้อมทั่วทุกมุมโลก รวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนหลายแห่ง

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The story of Plastic ถ่ายทอดความจริงของปัญหามลพิษพลาสติกที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่  โดยทั่วไปหลายคนมักเห็นปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นจากการรายงานข่าวของสื่อต่าง ๆ เช่น สัตว์กินพลาสติกเข้าไป ชายหาดเต็มไปด้วยขยะพลาสติก กระบวนการรีไซเคิลที่เกิดหลังการใช้งานพลาสติกเสร็จสิ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของทุกภาคส่วนในสังคมต่อมลพิษพลาสติก ตั้งแต่ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาครัฐ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกในทุกวงจรของ ‘พลาสติก’ 

หนัง The Story of Plastic ซึ่งฉายภาพจริงของวงจรพลาสติกทั้งระบบอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ ‘พลาสติก’ ในแง่มุมอื่นๆ มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้ตั้งคำถามถึงความซับซ้อนของปัญหา และช่วยกันส่งเสียงเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยลดวิกฤตมลพิษพลาสติก หรือร่วมมือกันหาทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว

รับชมได้ทาง Amazon Prime
เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์

เพนกวินที่หายไป (Disappearing Penguins)

สารคดีเรื่องสั้นบอกเล่าเรื่องราวการสำรวจประชากรเพนกวินของทีมนักวิทยาศาสตร์และกรีนพีซในทวีปแอนตาร์กติก สิ่งที่พวกเขาทำคือการนับเพนกวินทีละตัว ซึ่งผลสำรวจที่ได้รับนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change อย่างมีนัยยะสำคัญ

จำนวนประชากรเพนกวินลดลงถึงร้อยละ 60 ที่เลวร้ายกว่าคือเพนกวินบางฝูงมีจำนวนลดลงถึงร้อยละ 70 หลังจากการนับครั้งสุดท้ายในช่วงยุค 70 ซึ่งการลดลงนี้นักวิทยาศาสตร์ต่างลงความเห็นกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือกลไก “การเปลี่ยนแปลงระดับถอนรากถอนโคน” (fundamentally changed) ของระบบนิเวศ ทั้งนี้นักวิทยาศาตร์ยังกล่าวกันอีกว่ามีหลักฐานที่สามารถชี้ถึงสาเหตุที่อาจทำให้ประชากรเพนกวินลดลง นั่นก็คือ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องเพนกวินที่หายไป หรือ Disappearing Penguins โดยกรีนพีซได้รับรางวัลชนะเลิศ Wild & Scene Film Festival award 2021 สาขา Best Children’s Film จากเทศกาลภาพยนตร์ Wild & Scene Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ของเหล่านักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำเสนอภาพยนตร์และคอนเทนต์ที่ต้องการเรียกร้องให้ปกป้องโลกของเราจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม Disappearing Penguins เป็นหนึ่งใน 12 ภาพยนตร์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับรางวัล

รับชม

Wasteminster

Wasteminster เป็นภาพยนตร์เปิดตัวสำหรับแคมเปญปี 2564 ของกรีนพีซเพื่อต่อต้านการส่งออกขยะของสหราชอาณาจักรไปยังประเทศอื่น ๆ พากย์เสียงโดยแมตต์ ฟอร์ด และจอน คัลชอว์ ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพของบอริส จอห์นสัน ที่ถูกกลืนหายไปในคลื่นพลาสติกขณะกล่าวสุนทรพจน์ ณ ถนนดาวนิง โดยใช้วิชวลเอฟเฟคเพื่อสร้างพลาสติกจำนวน 1.8 ล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณขยะที่สหราชอาณาจักรส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ทุกวัน

นอกจากนั้น นักกิจกรรมของกรีนพีซในสหราชอาณาจักรยังได้ไปทิ้งขยะพลาสติกจำนวน 625 กิโลกรัมที่หน้าประตูบ้านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปริมาณพลาสติกเท่ากับที่สหราชอาณาจักรส่งออกทุก ๆ 30 วินาที เพื่อเรียกร้องให้มีการห้ามส่งออกขยะพลาสติก โดยมีนักกิจกรรมแต่งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในบริเวณเดียวกัน พร้อมรถบรรทุกที่มีข้อความว่า “หยุดการส่งออกพลาสติก” 

รับชม

Eating Animals

Eating Animals ภาพยนตร์สารคดีที่เปิดเผยอีกด้านของอุตสาหกรรมนมและเนื้อสัตว์ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาซึ่งโลกเคลื่อนย้ายจากการเป็นชุมชนเกษตรกรรมเชิงนิเวศสู่ระบบอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดยักษ์ เพื่อมุ่งผลิตเนื้อสัตว์, ไข่, นม ปริมาณมหาศาล เพื่อตอบสนองความต้องการกินเนื้อสัตว์ของคนในปัจจุบัน หนังเริ่มด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า “เนื้อสัตว์ทั้งหลายที่เรากินอย่างมากมายในแต่ละวันนั้นมาจากไหน?” และนำเราไปพบคำตอบน่าตื่นตะลึงเบื้องหลังการผลิตที่เต็มไปด้วยการล้างผลาญอันส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขภาพ อย่างที่เราอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Eating Animals เปิดเผยเบื้องหลังอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ที่มุ่งผลิตเนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยไม่คำนึงถึงวิธีการหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น และสะท้อนถึงผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงผืนป่าให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์มหาศาล การก่อหมอกควันพิษ และทำลายความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง รวมถึงวิกฤตเชื้อดื้อยา

รับชมได้ทาง iwonder

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทตั้งแต่การเลี้ยง อาหารที่ให้ และจำนวนการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อปกป้องสุขภาพของเรา

Seaspiracy

นับตั้งแต่สารคดี Seaspiracy เริ่มออกฉายทั่วโลกผ่านทางช่องสตรีมมิ่งออนไลน์ Netflix เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื้อหาในสารคดีเริ่มต้นมาอย่างน่าสนใจ โดยปูพื้นฐานที่มาของเรื่องจากความหลงใหล ในท้องทะเลของ Ali Tabrizi ผู้กำกับหนัง และความต้องการที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรที่เขารักจากปัญหาต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปัญหาขยะพลาสติก ที่อยู่ในกระแสการรณรงค์ของทุกภาคส่วนทั่วโลก ก่อนจะค่อยๆ ขยายภาพไปสู่ปัญหาที่ใหญ่มากขึ้นผ่านสีสันของการเล่าเรื่องสไตล์สืบสวน ที่พาผู้ชมไปรู้จักอุตสาหกรรมประมง ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล โดยเกี่ยวโยงกับหลายประเทศ หลายองค์กร และเราในฐานะผู้บริโภคอาหารทะเล  

สารคดี Seaspiracy มีประโยชน์ต่อแวดวงการอนุรักษ์และการจัดการ ประมงก็ในแง่การเปิดพื้นที่ให้คนจำนวนมากหันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเลในเขตแดนที่กว้างขวางมากขึ้น จากเทคนิกในการเล่าเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจลุ้นระทึก ซึ่งจุดนี้เป็นโจทย์น่าคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้การนำเสนอปมปัญหาที่ซับซ้อนในทะเลทั้งในด้านการจัดการการทำประมงและทรัพยากรนั้นน่าสนใจชวนให้เกิดการรับรู้และแก้ไขปัญหา มากกว่าแค่เป็นกระแสให้คนสนใจเพียงชั่วคราว และนำไปสู่การปกป้องมหาสมุทรที่ครอบคลุมในทุกมิติ

รับชมได้ทาง Netflix
อ่านบทความ Seaspiracy จริงหรือที่มหาสมุทรจะล่มสลายและทางออกคือ หยุดกินปลา ?

Rigged: A Workers’ Story

ภาพยนตร์สารคดีเล่าเรื่องของ ‘หัวเรือใหญ่’ หรือคนทำงานในอุตสาหกรรมน้ำมันเมื่อต้องเผชิญกับอุตสาหกรรมน้ำมันที่ตกต่ำและโคโรนาไวรัส บางคนต้องออกจากงาน โดยเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์กับคนงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เผยให้เห็นความท้าทายที่พวกเขาเผชิญเมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมน้ำมันเคยเฟื่องฟูในสกอตแลนด์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนแปลง การว่างงานในหมู่คนงานน้ำมันเพิ่มขึ้น ต้องใช้คลังอาหารเพิ่มขึ้น และชุมชนต่าง ๆ กำลังสูญเสีย

กรีนพีซพูดคุยกับคนงานด้านน้ำมันทั้งในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับการขึ้นลงที่พวกเขาเคยประสบในอุตสาหกรรมนี้และความท้าทายที่พวกเขาเผชิญ เรื่องราวของคนงานเหล่านี้มีพลัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก การทำมาหากินของผู้คนจำนวนมากเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ และการย้ายไปสู่โลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่คนงานทั่วไปไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขาที่จะสูญเสีย

นั่นเป็นเหตุผลที่กรีนพีซ สหราชอาณาจักรได้ร่วมมือกับ Friends of the Earth Scotland และ Platform เพื่อรณรงค์ให้เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างยุติธรรม พร้อมการสนับสนุนอย่างเหมาะสมสำหรับคนงานในการย้ายไปทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างปลอดภัย

รับชม

ดินแดนสุดขอบโลก (Edge of the World)

บ้านของเหล่าเพนกวินกำลังเปลี่ยนไป  ปัจจุบันแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ กลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สารคดีสั้นเรื่อง ดินแดนสุดขอบโลก (Edge of the World )โดยกรีนพีซจะพาคุณไปพบกับการสำรวจดินแดนแห่งนี้ด้วยกัน การสำรวจเพนกวินและระบบนิเวศที่น่าตื่นตากำลังรอให้คุณได้สัมผัส 

การสำรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘ปกป้องมหาสมุทร’ ที่ซึ่งกรีนพีซร่วมมือกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบและจัดทำเอกสารเกี่ยวกับผลกระทบที่วิกฤตสภาพภูมิอากาศในทวีปแอนตาร์กติกา

สารคดีขนาดสั้นเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวสิ่งที่ค้นพบเมื่อต้นปี 2563 ซึ่งเราได้เดินทางไปที่แอนตาร์กติก โดยภารกิจตลอดทั้งปีคือการจัดทำเอกสารและศึกษาภัยคุกคามต่อมหาสมุทร และแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสนธิสัญญามหาสมุทรโลก นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประชากรเพนกวิน การอพยพของวาฬ ระดับแพลงก์ตอน และอื่นๆ ที่ปลายสุดทางตอนใต้สุดของโลก โดยข้อมูลทั้งหมดจะช่วยให้เราเข้าใจถึงถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลนี้

รับชม

ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก