บ๊ะจ่างห่อด้วยวัสดุธรรมชาติ เสบียงเดินป่าของกลุ่มเยาวชนและผู้สนใจที่เข้าร่วมทริปสำรวจป่ากับมารีญา พูลเลิศลาภ เมื่อคราวที่ยังทำกิจกรรมนอกสถานที่ได้ก่อนโควิด-19 จะระบาดต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ นอกจากจะห่อด้วยเชือกจากเส้นใยธรรมชาติที่ย่อยสลายได้แล้ว ส่วนผสมของบ๊ะจ่างยังปราศจากเนื้อสัตว์อุตสาหกรรม และเลือกที่จะให้คุณค่าทางสารอาหารจากพืชแทน ไอเดียอาหารกลางวันกลางป่าที่คิดคำนึงถึงผลกระทบรอบด้านนี้ไม่ได้มาจากใครอื่นไกล หากคือคุณชนกสรวง พูลเลิศลาภ คุณแม่ของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่อย่างมารีญา สายซัพ(พอร์ต)ของหญิงสาวที่ส่งเสียงชัดเจนในหลายกิจกรรมที่เธอออกมาร่วมเรียกร้อง เพื่อหวังเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสนใจและห่วงใยสิ่งแวดล้อมของมารีญานั้นซึมซับมาจากคุณแม่ด้วยส่วนหนึ่ง หรือจะพูดอีกที ความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของครอบครัวนี้ มีตัวอย่างให้เห็นมาตั้งแต่รุ่นคุณยายเลยทีเดียว 

“คุณยายของน้องมารีญาเคยเล่าให้ฟังว่า น่าเสียดายจังเลยที่สวนพลูถูกทำลายและทำเป็นถนนขึ้นมา แต่เดิมตรงนั้นเป็นสวนทั้งหมด แล้วต้นไม้โดนตัดเกลี้ยงเลย ตอนนั้นคุณยายต่อต้านมาก แต่ก็เป็นการต่อต้านที่แสดงความเห็นไม่พอใจกันเองระหว่างเพื่อนฝูง เพราะทำอะไรไม่ได้ สมัยนั้นไม่ได้มีองค์กรที่จะออกมาเคลื่อนไหวอย่างแข็งแรงเหมือนสมัยนี้ ก็ได้แต่เสียดายว่าทำไม” คุณแม่หมายถึงถนนซึ่งคือซอยสวนพลูในปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของยุคสมัย 

“ส่วนแม่เองก็สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อนแล้ว ตอนกลับมาอยู่เมืองไทยใหม่ ๆ ประมาณปี 2528 ขับรถติดไฟแดงหน้ามาบุญครอง รถคันข้างหน้าทิ้งก้นบุหรี่ออกมา เราเข้าเกียร์มือเดินไปเก็บก้นบุหรี่ขึ้นมาคืนให้เขาเอากลับไปทิ้งที่บ้าน คุณยายนั่งอยู่ข้าง ๆ ใส่ใหญ่เลย ไม่รู้จักกลัวตายเหรอ คนเดี๋ยวนี้ดุจะตาย (หัวเราะ) แม่ไม่ชอบขนาดนั้น ไม่ชอบความสกปรก ไม่เป็นระเบียบ เห็นไม่ได้เลย มารีญานี่เขาก็น่าชื่นชมมาก เดินไปไหนไปเจอก้นบุหรี่เขาจะเก็บแล้วไปหาถังขยะทิ้งด้วย” 

“ตั้งแต่เด็ก ๆ เลยค่ะ” มารีญาเล่าเสริมเมื่อคุณแม่พูดถึงเจ้าตัว “แล้วคุณแม่จะค่อนข้างห่วงเรื่องสุขภาพ อย่างเรื่องใช้กล่องโฟมคุณแม่มองว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพก่อน ตอนหลังก็เป็นสาเหตุจากเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คุณแม่ถึงขนาดบอกร้านอาหารเลยว่าควรต้องเปลี่ยนนะ”

“แม่เคยไปซื้อซาลาเปา แล้วเขาใช้กล่องโฟม เราก็ไปยืนเล็กเชอร์เขาว่ากล่องโฟมมันมีสารเคมีนะ เอาซาลาเปาร้อน ๆ ใส่ เคมีก็ละลายมาอยู่ในท้องเรา กินทุกวันท้องไส้จะเป็นยังไง แล้วมันมีผลกับสิ่งแวดล้อมอีก เขาก็บอกว่ากล่องกระดาษมันแพง เราก็แนะนำว่าคุณก็เพิ่มราคาอีกห้าบาทสิ หรือสองบาทสามบาทก็ได้ เขาก็ฟังนะ เขาคิดตาม สีหน้าท่าทางเขาก็เห็นด้วย ถ้ามีโอกาสเราก็จะเล็กเชอร์ตลอด ถึงเขาจะไม่รักโลกก็ให้รักตัวเองก่อน คนไทยกลัวตายนะ (หัวเราะ) ถ้าบอกแบบนี้เขาจะฟัง” 

ขยะส่งสาร กับการจัดการที่ทางออกยังไม่มีจริง (เสียที) 

บทสนทนาที่หวังดีนั้นย่อมเปลี่ยนความคิดคนได้ และบทสนทนาบางครั้งก็อาจไม่ได้แสดงผ่านคำพูดเสมอไป เช่นการสื่อสารผ่านการแสดงออกของร็อบ กรีนฟีลด์ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน เจ้าของแคมเปญ Trash Me ผู้ผลักดันการลดขยะด้วยการเอาตัวเองเป็นตัวนำสาร โดยการสะสมขยะลงชุดขยะที่เขาสวม เป็นการทดลองที่ทำให้คนเห็นว่าในแต่ละวันคนหนึ่งคนนั้นสร้างขยะได้มากมายแค่ไหน และร็อบผู้นี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้มารีญาทำแคมเปญ Trash Me Challenge ขึ้นในเมืองไทยเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว เพื่อส่งเสียงให้คนหันมามองปัญหาขยะที่นับวันยิ่งทวีจำนวน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคของทุกคน

“เราอยากทำแบบนี้ในเมืองไทยให้คนเห็นภาพ และรู้สึกว่าต้องมีพี่สิงห์ (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) เข้ามา เพราะว่ามันเหมาะกับเขาที่ทำเถื่อน Channel มีคนฟังแน่นอน มันสร้างสรรค์และสนุกมาก และการได้ร่วมงานกับพี่ลูกกอล์ฟผ่านแคมเปญ Trash Me Challenge เป็นเรื่องที่ดีมาก พี่ลูกกอล์ฟน่ารัก และสนใจเรื่องนี้แบบจริงจัง เราได้รู้ว่าตัวเราเองบริโภคอะไรบ้างและสร้างขยะเยอะขนาดไหน เราอยากให้การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากตัวเองก่อน เพราะมันเป็นสิ่งที่สามารถเริ่มได้ การได้ร่วมงานกับทั้งสองคนทำให้เราได้รู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะสู้เรื่องนี้ไปกับเรา” 

©Facebook page Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล)

ดูเหมือนว่ามารีญาจะ ‘อิน’ เรื่องขยะเป็นพิเศษ เธอหัวเราะและยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ จึงไม่แปลกใจเลยว่ารูปที่สะดุดตารูปหนึ่งของเธอซึ่งปรากฏทางสื่อ คือรูปถือป้ายติดแฮชแท็ก #คัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติก แคมเปญการคัดค้านที่เรื้อรังมานานที่ภาคประชาสังคมร่วมกันรณรงค์ 

“ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ เห็นขยะแล้วรู้สึกทนไม่ไหวว่าทำไมมันต้องเยอะขนาดนี้ เปรียบเทียบกับสวีเดนแล้วเรารู้สึกว่าที่นั่นสามารถจัดการขยะได้ดีมาก ทั้งเรื่องการคัดแยก การรีไซเคิล พอกลับมาที่นี่เรารู้สึกเสียดายจังเลยว่าเดินไปที่ไหนก็เห็นขยะอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มารีญาว่าเรื่องขยะเป็นอะไรที่เราสามารถจัดการกันเองได้ที่บ้าน เราสร้างกันเองก็ควรที่จะดูแลมันด้วย และคนที่ได้ประโยชน์จากการขายก็ควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้”

“การที่รัฐจะรับเศษขยะพลาสติกเข้ามานั่นหมายความว่าเรายังสามารถจัดการขยะของเราให้มีมูลค่าพอที่จะเอาไปรีไซเคิลได้นะ และถ้าเรามีความสามารถที่จะรีไซเคิลได้ แต่เราไม่สามารถเอาขยะทั้งหมดมารีไซเคิลได้ แสดงว่ามันมีช่องว่างบางอย่าง เวลาที่รัฐบาลต้องการสื่อสารอะไรออกมาให้ประชาชนทำตามเขาก็ทำได้ตลอด แต่กับเรื่องนี้ทำไมเขาไม่สามารถทำได้”

“เรามีคำถามคือทำไมเราต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศพวกนี้เอง ทำไมเราไม่ไปแก้ที่ต้นเหตุ ตอนนี้เราต้องใส่หน้ากากกันแล้ว ต่อไปเราต้องใส่ชุดพีพีอีออกจากบ้านหรือเปล่า เราเห็นแมสก์บางยี่ห้อทำออกมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ มันดีนะคะ มันดูปลอดภัย แต่มันก็น่าเศร้าที่เราต้องหันมาพึ่งอะไรแบบนี้ แล้วการผลิตสิ่งเหล่านี้ก็สร้างขยะและสร้างมลพิษต่อไปอีก ทุกอย่างแย่ลงไปหมดเลย” 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มากมายนั้นดูเหมือนกำลังดาหน้าเข้ามาอย่างพร้อมเพรียงในช่วงเวลานี้ พิษสงจากจำนวนขยะมหาศาลจึงไม่ใช่ปัญหาเดียวที่อยู่ในความสนใจของมารีญา และ SOS Earth ที่เธอร่วมกันก่อตั้งกับเพื่อนเมื่อปี 2562 ก็คืออีกหนึ่งองค์กรเพื่อสังคมที่เข้ามาสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจเพื่อหาทางออกให้กับสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเพลี่ยงพล้ำจากน้ำมือของมนุษย์ผู้ร่วมโลกเดียวกัน 

ชีวิตแบบไหนที่เราควรมี

ด้วยเติบโตมาในครอบครัวที่รักธรรมชาติ และมารีญาเองก็มีโอกาสได้ไปเดินป่ากับคุณพ่อตั้งแต่ยังเด็ก รวมถึงการเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม บรรยากาศที่รายรอบตัวจึงเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการหล่อหลอมแนวคิดของเด็กหญิงมารีญาในวันนั้น

“ตอนที่คุณพ่อชวนไปเดินป่าเราก็ยังไม่เข้าใจนะว่าจะไปทำไม เพราะเราก็ยังไม่ได้รักการเดินป่า จนมารีญาได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เริ่มใช้ชีวิตคนเดียว พอเราเริ่มโตเราก็จะมีบางช่วงที่รู้สึกไม่มีความสุขบ้าง แต่พอเราได้ไปอยู่กับธรรมชาติมันช่วยบำบัดความรู้สึกเหล่านั้นได้ และมันเป็นพื้นที่ที่เราได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระ จากที่เคยโดนพ่อบังคับให้ไปเดินป่าด้วยเราก็เลือกที่จะไปเอง เริ่มชอบการเดินป่า และเห็นว่าธรรมชาติมันดีกับร่างกายและจิตใจเรายังไง เห็นประโยชน์ที่เกิดกับตัวเองก่อน”

“แล้วช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเราได้ดูหนังเรื่อง An Inconvenient Truth ของอัล กอร์ และตอนนั้นก็มีการพูดถึงเรื่อง climate change มาแล้วพักใหญ่ แต่เรายังไม่ได้เห็นผลกระทบของมันจริง ๆ จนกระทั่งปี 2554 ที่เมืองไทยเกิดน้ำท่วมใหญ่ เราได้เห็นว่าภัยพิบัติมันมาแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเคยอ่านก็เริ่มเชื่อมโยงกัน ยิ่งอ่านข้อมูลจากสื่อเพิ่มเติมก็ยิ่งเห็นอะไรมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็เริ่มแชร์โน่นแชร์นี่ หลังจากเราพูดถึงสิ่งนี้มากขึ้น เพื่อนที่อยากพูดเรื่องนี้เหมือนกันก็มารวมกลุ่มกัน คุยกันว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง มีไปร่วมกิจกรรมบางกิจกรรม แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกันจริงจัง เราเองก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกันที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นรูปเป็นร่าง โอเคเราเริ่มที่ตัวเราก็จริง แต่เราเห็นคนรอบข้างที่ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม แล้วเราจะทำให้เขาแคร์ได้ยังไง พอปี 2562 ก็เลยทำ SOS Earth กันกับเพื่อน ออกแบบกิจกรรมขึ้นมาเพื่อให้คนหันมาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม” 

กิจกรรมเดินป่าและปลูกป่าที่มารีญาและเพื่อนจัดขึ้นในนามของ SOS Earth นั้น คือการพานักศึกษามหาวิทยาลัยและคนที่สนใจไปเปิดประสบการณ์เพื่อเรียนรู้เรื่องป่าด้วยกัน ได้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศ และได้เข้าใจในความสัมพันธ์กันของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

“ในป่าเราสามารถดื่มน้ำจากใบไม้ต้นไม้ หรือดื่มน้ำจากน้ำตกได้ อยากอาบน้ำเราก็อาบในลำธารตรงนั้นเลย การเข้าป่ามันทำให้เราได้เห็นชัดว่าจริง ๆ นั่นคือชีวิตที่เราควรมี เราควรมีน้ำที่สะอาด มีอากาศที่เราหายใจได้ปกติ แต่อีกไม่นานน้ำในป่าก็อาจจะไม่สามารถดื่มได้แบบนั้นแล้วเพราะตอนนี้สารเคมีจากการทำเกษตรกรรมมันไปทุกที่ สิ่งที่เราไปเห็นทำให้เรายิ่งอยากจะรักษามันเอาไว้ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมแรก ๆ ของ SOS เลยค่ะ จัดขึ้นสักสองเดือนก่อนโควิดระบาด หลังจากนั้นก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมใหม่มาเป็นทางออนไลน์แทน” 

และแน่นอนว่าคุณแม่ชนกสรวงยังคงทำหน้าที่ซัพพอร์ตอยู่เบื้องหลังอย่างไม่เปลี่ยนจุดยืน

“เป็นเอทีเอ็มเคลื่อนที่ (หัวเราะ) แล้วก็คอยจัดหาขนมนมเนยให้เพื่อให้เขาสะดวกในการทำกิจกรรม ที่สำคัญคืออาหารนั้นต้องไม่สร้างขยะพลาสติก ทำอะไรก็ต้องนึกถึงว่าจะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมั้ย” คุณแม่เล่าก่อนที่มารีญาจะเสริมว่า “คุณแม่จะเป็นแม่ที่ลูกอยากทำอะไรทำเลย คอยซัพพอร์ตความฝันของเรามาก ๆ และนี่มันเป็นพลังจริง ๆ ทำให้เราเชื่อมั่นในตัวเองและพร้อมสู้ เราเชื่อว่าถ้าเราได้ความรักจากที่บ้าน จะเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการสนับสนุนเราจริง ๆ ”

Climate Change เหมือนระเบิดเวลา 

แม้การระบาดของโควิด-19 จะทำให้จัดกิจกรรมต่อไปไม่ได้ แต่ SOS Earth ก็ยังคงเดินหน้าต่อ มารีญาเล่าว่าช่วงนี้ทีมให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อผลักดันเชิงนโยบาย 

“เราทำ SOS EARTH มาได้ปีกว่า โอเคว่าเรื่องกิจกรรมต่าง ๆ มันก็สำคัญ แต่ว่าในที่สุดเราก็ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย เพราะวิกฤต climate change มันเป็นเหมือนระเบิดเวลา ก็กำลังดูอยู่ว่าเราจะเคลื่อนไหวในภาคประชาชนได้ยังไงบ้างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย”  

ก่อนหน้านี้มารีญาเคยได้ไปร่วมกิจกรรมกับ Climate Strike Thailand กลุ่มเยาวชนซึ่งเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย อย่างการยื่นจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉิน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เราก็ยังคงเห็นท่าทีที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจว่าทำไมนักเคลื่อนไหวต้องทำกิจกรรมเช่นนี้ เช่นเดียวกับที่มารีญาก็มองว่ายังเป็นเรื่องยากมาก ๆ ในการจะทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจและเห็นภาพว่าภาวะโลกร้อนนั้นเป็นภัยที่ไล่หลังมนุษย์มาติด ๆ ด้วยการนำเสนอข้อมูลเรื่อง climate change ของสื่อต่าง ๆ นั้นยังเป็นรองเมื่อเทียบกับสื่อตะวันตก หรือในโรงเรียนเองก็ไม่ได้มีคลาสพิเศษที่จะสอนเด็กในเรื่องเหล่านี้ 

“และปัญหาในการทำงานเชิงนโยบายคือการจัดการที่เราไม่รู้ว่าอำนาจในการตัดสินใจอยู่ตรงไหน เช่นปัญหาเรื่องมลพิษ แทนที่กรมควบคุมมลพิษหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานโดยตรงเลยก็ทำไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องของพลังงาน เรื่องไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง พอเป็นแบบนี้ก็เลยทำให้ไม่มีกรมไหนที่จะสามารถดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยตรงได้จริง ๆ คิดว่าตรงนี้แหละที่ควรจะต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก่อน ซึ่งเราก็ยังศึกษาอยู่ว่าจะต้องทำยังไง ก็ต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นกว่านี้ เพราะเราเองก็ถือว่าเป็นรุ่นใหม่มาก ๆ ที่เข้ามาทำเรื่องนี้ 

“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ใหญ่และกว้างมาก และยากที่จะเห็นผลกลับมาจากสิ่งที่เราทำ เช่นเราทำโครงการเก็บขยะในคลอง สุดท้ายแล้วขยะมันก็ยังมีอยู่ เรายังเห็นปัญหาเดิม ๆ มันยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนได้มากพออย่างที่เราอยากจะเห็น คนที่ไปร่วมกิจกรรมเขาอาจจะเปลี่ยนอะไรในตัวเขาได้บ้าง แต่เรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เพราะเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายและระบบรองรับ การที่เราจะเห็นผลลัพธ์ในสิ่งที่เราทำมันต้องใช้เวลา”

เมื่อถามถึงประเด็นที่เธอมองว่าน่าเป็นห่วงและควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุมล้อมเข้ามาหลายด้าน เธอนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งพร้อมรำพึงว่าตอบยาก ก่อนจะเอ่ยออกมาว่า

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันมีหลายจุดเลยที่น่าจะต้องแก้ไปพร้อมกัน แต่ถ้าจะต้องมีอะไรที่คิดว่าเร่งด่วนในตอนนี้ มารีญามองเรื่องอากาศก่อนเพราะเป็นอะไรที่ค่อนข้างเห็นผลกระทบต่อสุขภาพเราชัดเจน ไฟป่ายังมีทุกปี ภาคเหนือยังมีปัญหาฝุ่นควันทุกปี เรามองว่ามันเป็นปัญหาที่น่าจะขับเคลื่อนได้เร็วที่สุดเพราะคนประสบกับมันจริง ๆ เรื่องอากาศสะอาดเป็นอะไรที่มารีญาอยากผลักดันเต็มที่ ให้สามารถยื่นเรื่องเข้าไปได้โดยไม่ถูกปัดตกอีก อย่างไฟไหม้ที่โรงงานหมิงตี้ที่ซอยกิ่งแก้วก็ทำให้เกิดสารเคมีรั่วไหลเต็มไปหมด เราได้รับทราบว่ามีการนำกฎหมาย PRTR (กฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ – Pollutant Release and Transfer Register หรือ PRTR) )เข้าสภาแต่ก็โดนปัดตกอีก ก็เป็นความหวังอีกอย่างหนึ่งของเราในการเปลี่ยนโครงสร้างของการควบคุมสิ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” 

VEG Talks on board the Rainbow Warrior in Phuket. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
มารีญา พูลเลิศลาภ ร่วมพูดในเวที ​VEG Talk: Less Meat More Veggies ในหัวข้อกินรักษ์โลก เรื่องที่ใครๆก็ทำได้เพื่อนำเสนอแนวคิดการกินอาหารเพื่อสุขภาพของตัวเราและของโลก
© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

คนรุ่นใหม่กับความหวังของการเปลี่ยนแปลง 

เมื่อการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือระดับนโยบายยังเป็นเรื่องที่ไม่อาจเกิดได้ในเวลาอันใกล้ การเริ่มต้นลงมือทำด้วยตัวเองก่อนอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่อยากจะร่วมมือกันแก้ปัญหา ครอบครัวของมารีญาเป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่เริ่มต้นภายในขอบรั้วของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ จากการแยกขยะ แล้วนำขยะอาหารมาหมักเป็นปุ๋ยใช้กับต้นไม้ในบ้าน ซึ่งตอนนี้กำลังออกผลให้คนในบ้านได้ภูมิใจ ไปจนถึงเรื่องการงดบริโภคเนื้อสัตว์จากการทำปศุสัตว์ ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ไม่น้อย 

“และเราก็สงสารชีวิตด้วย บ้านเราไม่ซื้อหมูไม่ซื้อเนื้อวัว ไม่ซื้อมานานแล้ว ไก่นี่นาน ๆ หน ปลาก็เริ่มไม่ซื้อแล้ว เริ่มหันมากินผักอย่างเดียวแล้ว แล้วก็กินพวกแพลนต์เบส มารีญาเขาเริ่มกินก่อน แม่ไปจ่ายตลาดก็ซื้อมา แล้วเรื่องอาหารนี่เราทำมานานแล้วนะคะว่าไม่ให้ใส่ถุงพลาสติก เราใส่ปิ่นโต”

มารีญาเล่าว่า การลงมือเปลี่ยนอะไรสักอย่าง คนในครอบครัวอาจจะไม่เห็นด้วยหรืออาจจะไม่เข้าใจบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อตั้งใจทำอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น “เราเริ่มต้นด้วยการบอกเลยว่าเราทำสิ่งนี้อยู่นะ ตั้งกฎเลยว่าจะไม่กินสิ่งนี้ แล้วเราเจอกันทุกวันอยู่แล้ว ในที่สุดเขาก็ทำด้วย เราก็แฮปปี้ว่าสิ่งที่เราทำอย่างน้อยก็มีผลกับคนในครอบครัวของเรา ตอนนี้ก็ให้น้องหมากินอาหารที่ทำจากแมลงแล้ว เพราะอาหารเขาก็ทำจากเนื้อสัตว์ เราเปลี่ยนชีวิตของเราแล้วก็อยากให้เขาเปลี่ยนด้วย และกระบวนการผลิตอาหารสัตว์จากแมลงก็ไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมนัก

“เรื่องขยะเราใช้เวลานิดหนึ่งเหมือนกันเพราะทุกคนก็ชินกับชีวิตแบบเดิม แต่เราก็เปลี่ยนและทำจนมันกลายเป็นเรื่องปกติในครอบครัว แน่นอนแหละว่าตอนแรกมันต้องแลกกับความสบายที่เราเคยชิน แต่หลังจากเราผ่านตรงนั้นมาได้ ทุกอย่างจะดีกว่าเดิมและไม่ยากเลย”

หรือกระทั่งเรื่องของรอบเดือนที่ต้องพึ่งพาผ้าอนามัยที่สุดท้ายก็กลายเป็นขยะไร้ประโยชน์ คุณแม่ชนกสรวงยกตัวอย่างที่มารีญาเปลี่ยนมาใช้ถ้วยอนามัยแทนจากแบรนด์ไทยที่เหมาะกับสรีระคนเอเชียอย่าง Happi cup แทน ​​  ก็จะช่วยลดปัญหาขยะไปได้มาก “พวกเราช่วยกันได้ เดี๋ยวนี้เขาเน้นวัสดุที่ไม่สร้างขยะ ล้างทำความสะอาดได้ ซึ่งมันดีมาก”

“ตอนนี้เรามีองค์ความรู้เยอะมาก คนคิดค้นทางออกกันได้เยอะมาก คนรุ่นใหม่เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มารีญาคิดว่าทุกคนเราอยู่ในจุดที่พร้อมจะเห็นการเปลี่ยนแปลง มันเป็นโมเมนต์ที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้น ทุกคนพร้อมแล้ว แค่ต้องสร้างกลุ่มที่จะมีทางออกให้กับทุกคนที่พร้อม ซึ่งหลายคนกำลังรวมตัวและรวมหัวกันหาวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ”

ถึงตรงนี้คุณแม่เอ่ยถึงลูกสาวอย่างภูมิใจว่า “ภูมิใจที่คนรุ่นมารีญาและรุ่นที่เด็กกว่านี้เขาใส่ใจเรื่องนี้กันแล้ว แต่มันยังขาดอะไร ทำไมยังขับเคลื่อนไม่ได้ น่าเสียดายตรงนี้ ถ้าเราจะยกตัวอย่างของจีนให้เห็น ตอนนี้ก็เห็นชัดแล้วว่าสิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปเยอะ คนก็เจอปัญหาตามมา ทั้งทะเลทรายพัดหอบเอาบ้านเรือนหายไป มีเขื่อนแตก สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายกำลังมีผลตีกลับมา”

“มารีญาว่าเราสามารถเอาตัวอย่างเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และเราอาจจะให้ความสำคัญกับเรื่อง Reserch & Development มากกว่านี้ แต่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมก็น่าเศร้ามากที่มีน้อยกว่างบประมาณอื่น ๆ ซึ่งมันไร้เหตุผลมาก ทั้งที่เรากำลังอยู่ในช่วงที่ต้องเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา แต่เรากลับไม่ได้โอกาสที่จะศึกษาและเตรียมพร้อมมันก็ไม่ถูกต้องแล้ว

“ถ้าพูดถึงความหวังเหรอ มันยังมีภาพที่เราอยากเห็น เราอยากเดินผ่านคลองแล้วรู้สึกว่าคลองมันใสสะอาด ผู้คนใช้ชีวิตรอบคลองได้ อยากให้ Bangkok City เป็น Green City อยากให้เราใช้สเปซได้เป็นประโยชน์จริง ๆ อยากหายใจได้ มีอากาศที่ดี มีน้ำสะอาด มีพื้นที่สีเขียว”

“แม่คิดว่าได้นะ เปลี่ยนได้ แต่ช้า ถ้าไดโนเสาร์ที่ไม่เห็นอันตรายเหล่านี้ไม่อยู่แล้วก็คงจะเปลี่ยนได้เร็วขึ้น หรือถ้าไดโนเสาร์ยื่นมือมาช่วยก็คงจะแก้ได้เร็วขึ้น” คุณแม่สะกิดปิดท้ายด้วยทีเล่นทีจริงถึงคนที่ถือไม้วิเศษที่จะช่วยเสกให้เกิดการเปลี่ยนแปลง