เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้ดูโตเกียวโอลิมปิก แต่ดูเหมือนว่าเหรียญทองที่ญี่ปุ่นอยากเอาชนะในการจัดการแข่งขันนี้ คือ ‘สภาพอากาศที่ร้อนชื้นที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก’ ก่อนที่เกมจะเริ่มขึ้นนักกีฬายิงธนูชาวรัสเซีย สเวตลานา กอมโบเอวาเป็นลมหมดสติเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ขณะที่นักไตรกีฬาล้มลงเช่นกันหลังจากแข่งขันจบ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม คณะผู้จัดรายการออกมายอมรับว่าในสัปดาห์แรกของโอลิมปิกเกมส์ มีพนักงาน และอาสาสมัครร่วม 30 ชีวิตล้มป่วยจากความร้อนที่เกิดขึ้น แม้ว่าปกติแล้วกรุงโตเกียวจะมีอากาศร้อนเป็นพิเศษในฤดูร้อนเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของเมือง แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่าสภาพอากาศร้อนที่เกิดขึ้นยังเกี่ยวโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วย ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศส่งผลให้อุณหภูมิของทั้งโลกสูงขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนจัดถี่และรุนแรงขึ้น

ความร้อนระอุที่โตเกียวโอลิมปิกที่เพิ่งจบลงกำลังส่งสัญญาณเตือนเราเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่

รายงานล่าสุดจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกอาจมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ เราได้สืบค้นข้อมูลอุณหภูมิของเมืองในเอเชียตะวันออกเป็นเวลาหลายทศวรรษโดยพบว่าฤดูร้อนของภูมิภาคนี้มาถึงเร็วขึ้น และแผดเผานานขึ้นกว่าปีก่อนๆ

คลื่นความร้อน
ซัปโปโร, สถานที่จัดมาราธอนและโอลิมปิกเกมส์ 2020 ถูกบันทึกว่าอุณภูมิสูงที่สุดในฤดูร้อนนี้ โดยมีอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเซลเซียส และดำเนินต่อไปกว่า 2 อาทิตย์ ท่ามกลางข้อกังวลว่าจะกระทบต่อสุขภาพของนักกีฬาที่มาร่วมงาน © Greenpeace

เราทำอะไร

กรีซพีซ เอเชียตะวันออกรวบรวมข้อมูลอุณหภูมิของ 57 เมืองทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลี และญี่ปุ่น รวมถึงเมืองที่ถูกเลือกจากจำนวนประชากรอีกหลายเมืองด้วย เรารวบรวมข้อมูลของวันที่อากาศร้อนวันแรกของปี (30 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น) รวมถึงข้อมูลความถี่ของการเกิดอากาศร้อนจัดโดยกำหนดให้วันที่ร้อนคือวันที่มีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และวันที่ร้อนมาก อุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส 

เราใช้สถิติที่บันทึกไว้หลายทศวรรษเพื่อที่จะเป็นระยะเวลายาวนานพอที่จะเห็นแนวโน้มระยะยาวจริงๆ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงแบบแผนของอากาศในระยะเวลาสั้นๆ

เราค้นพบอะไรจากการรายงานนี้?

จากการวิจัยอย่างยาวนานทำให้พบว่ามากกว่าร้อยละ 80 (หรือ 48) ของ 57 เมืองทั่วเอเชียตะวันออก วันแรกของฤดูร้อนค่อย ๆ มาถึงเร็วขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการมาถึงของฤดูร้อนแตกต่างกันในเมืองต่างๆ เช่น ที่โตเกียวและโซล วันแรกที่มีอากาศร้อนมาถึงเร็วขึ้นเฉลี่ย 11 วันในช่วงปี 2544-2563 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาระหว่างปี 2524-2543 ที่เซี่ยงไฮ้คือ 12 วัน และที่ซัปโปโรของญี่ปุ่น ฤดูร้อนมาถึงเร็วขึ้นกว่า 23 วัน โดยในโอลิมปิกมาราธอน อุณหภูมิขึ้นไปแตะถึง 34 องศา และมีอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียสยาวนานเป็นสถิติกว่า 16 วันนับตั้งแต่ปี 2467

สภาพอากาศที่ร้อนมาถึงเร็วขึ้น และอยู่นานขึ้น

ข้อมูลคลื่นความร้อนจากจีนแสดงให้เห็นว่าอากาศร้อนสุดขั้วนี้ยังคงเกิดนานขึ้นอีกด้วย ตั้งแต่ช่วงปี 2533 ถึง 2562 ค่าเฉลี่ยการเกิดคลื่นความร้อนที่กวางโจวอยู่ที่ 3-6 วัน โดยที่ยาวนานสูงสุด 7 วัน คลื่นความร้อนเกิดขึ้นเกือบทุกปี แต่ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ค่าเฉลี่ยการเกิดคลื่นความร้อนยาวนานสุดถึง 4 วัน และเป็นช่วงเวลามากกว่าครึ่งปีที่ไม่มีคลื่นความร้อนเกิดขึ้น

ในเดือนมิถุนายน 2563 พนักงานขับรถขนส่งสินค้าเดลิเวอรี่จอดหลบแดดในร่มเงาของตึกขณะรอสัญญาณจราจร © Yan Tu/Greenpeace

อากาศร้อนอบอ้าวบ่อยขึ้น

การวิเคราะห์ของเราพบอุณหภูมิในระดับสูงบ่อยครั้งขึ้น

ในช่วง 20 ปีหลัง (ตั้งแต่ปี 2544-2563) คลื่นความร้อนในปักกิ่งเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเกือบสามเท่าเทียบกับ 40 ปีก่อน ในโตเกียว จำนวนวันที่อากาศร้อนจัดเกิดขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เราติดตามคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นเร็วที่สุดในเซี่ยงไฮ้ ในเมืองทางใต้ของกวางโจวถูกบันทึกว่าเกิดคลื่นความร้อน 98 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2504 โดยกว่า 73 คลื่นความร้อน หรือ 3 ใน 4 เกิดขึ้นหลังจากปี 2531

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในญี่ปุ่นโดยที่กรุงโตเกียวในทศวรรษ 1960 มีค่าเฉลี่ยวันที่ร้อนจัด (33 องศา) อยู่ที่ 13 วันต่อปี โดยตัวเลขได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 27 วันต่อปีในช่วงปี 2554-2563

เราพบว่าตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นในเกาหลีเช่นกัน ใน 10 ปีที่ผ่านมา ทุกเมืองที่ทำวิจัยมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 35 องศาเซลเซียสในรอบ 60 ปี ท่าเรือปูซานไม่ประสบกับภาวะร้อนจัดเกิน 10 วันต่อปีตั้งแต่ปี 2504 ถึง 2553 แต่ภายในปี 2561 เกิดอุณหภูมิร้อนจัดถึง 18 วัน

สิ่งเหล่านี้บอกอะไรเราได้บ้าง

สภาพอากาศร้อนจัดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานขึ้นมีผลกระทบร้ายแรงนอกเหนือไปจากการที่นักกีฬาโอลิมปิกป่วยไข้แล้ว มันยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจ แหล่งอาหาร ตลอดจนถึงสุขภาพของมนุษย์

ฤดูร้อนนี้ในเอเชียตะวันออกได้บอกอะไรเราบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนอย่างผิดปกติที่กวางตุ้งของจีนส่งผลให้โรงงานปิดตัวลงกว่าหลายชั่วโมง ไปจนหลายวันจากความต้องการพลังงานมากเกินไป ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วเกาหลีมีการเตือนภัยและคำแนะนำเรื่องคลื่นความร้อนในเดือนกรกฎาคม ปศุสัตว์หลายแสนตัวต่างล้มตายจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้น

Heat Wave in Seoul. © Soojung Do / Greenpeace
ผู้คนในกรุงโซลต่างออกมาแช่น้ำที่คลองชองกเยซอนเพื่อระบายความร้อนจากอากาศร้อนจัด © Soojung Do / Greenpeace

กลุ่มเสี่ยงส่วนมากคือคนชรา เด็ก ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง เช่นเกษตรกร และผู้ที่มีโรคประจำตัว คลื่นความร้อนที่แผดเผาเอเชียตะวันออกตั้งแต่ปี 2561 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่า 1,000 รายในญี่ปุ่นและเกาหลี โดยมีอีกหลายพันคนถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยอาการลมแดด

เราทำอะไรในขณะนี้

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากมายแสดงว่าแนวโน้มที่เกิดนี้เชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จริง ๆ แล้วนักวิทยาศาสตร์ได้พูดเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว รายงานล่าสุดของเราได้ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยจัดทำแผนที่ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่มีมากขึ้น และเปิดเผยระดับของผลกระทบที่ทบทวีขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

Wind Farm in Fukushima. © Guillaume Bression / Greenpeace
หนึ่งในโรงงานไฟฟ้าพลังงานลมในฟุกุชิมะ โดยฟุกุชิมะมุ่งมั่นจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2583 © Guillaume Bression / Greenpeace

แน่นอน เราสามารถลงมือทำเพื่อกู้วิกฤตนี้ได้

รัฐบาลต้องมีมาตรการในทันทีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากสภาพอากาศสุดขั้ว ต้องเปลี่ยนผ่านอย่างฉับไว มุ่งมั่นและสอดประสานกันไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และปลดแอกจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างรวดเร็ว การเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซเป็นปัจจัยหลักของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเริ่มต้นวันนี้จะช่วยหลายชีวิตในอนาคต นั่นหมายถึงการยกเลิกแผนการและถอดถอนเงินทุนในโครงการโรงไฟฟ้าสกปรก เร่งให้ลด ละ เลิกโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ เร่งสร้างโครงข่ายระบบพลังงานที่ยังยืนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน 100%  ผู้นำระดับโลกได้ให้คำมั่นสัญญาถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ตอนนี้เราต้องผลักดันให้พวกเขาลงมือทำ และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

ในขณะที่การแข่งขันโอลิมปิกปิดฉากลง เราหวังว่าอากาศร้อนจัดที่ส่งผลต่อนักกีฬานี้จะผลักดันให้รัฐบาลของแต่ละประเทศลุกขึ้นมาต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังเพราะวิกฤตนี้ส่งผลกระทบมากกว่าการเดิมพันเหรียญในเกมแข่งขัน แต่มันหมายถึงการเดิมพันโลกของเรา