© Mitja Kobal / Greenpeace

แม้ว่าโรงพยาบาลและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จะมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันในความสำคัญต่อชีวิตของมนุษย์ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงเหมือนกัน คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ สิ่งที่น่ากังวลคือปริมาณในการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มอุตสาหกรรมซึ่งเกิดมาจากการใช้อย่างไม่ถูกวิธีและเกินความจำเป็น ข้อมูลวิจัยเผยว่า ในปี 2558 ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เพื่อเป็นอาหารของทั่วโลกนั้นมีปริมาณมากถึง 57 ล้าน กิโลกรัม Z (Van Boeckel et al., 2015) ซึ่งจากข้อมูลการใช้งานจากหลายประเทศมักพบว่ายาปฏิชีวนะถูกใช้ไปกับปศุสัตว์มากกว่ามนุษย์ อาทิเช่น ในอเมริกานั้น กว่าร้อยละ 70 ของยาปฏิชีวนะประเภทเดียวกับที่ใช้รักษาโรคสำคัญในมนุษย์ถูกใช้ไปกับสัตว์ และในประเทศไทยเองก็มีสัดสวนการใช้ในสัตว์ที่ใกล้เคียงกับอเมริกาเช่นกัน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อยู่ที่ 4,688,000 กิโลกรัม (คนอยู่ที่ 2,162,000 กิโลกรัม) (ข้อมูล) ซึ่งคงไม่ใช่ข้อมูลที่น่าแปลกใจอะไรเพราะเรารู้กันดีว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อันดับต้นของโลก แต่ที่เรายังไม่รู้นั้น คือปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน และมีผลเสียอะไรต่อสุขภาพของเราบ้าง

ยาปฏิชีวนะสามารถเล็ดลอดรั่วไหลจากระบบการผลิตอาหารลงสู่ดินและแหล่งน้ำ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมได้ ทำลายระบบนิเวศอันเปราะบางของจุลชีพ ยาปฏิชีวนะที่ถูกใช้ในสัตว์ หากใช้อย่างไม่ถูกวิธี คือใช้เป็นประจำเพื่อการป้องกันกับสัตว์ทั้งโรงเรือน ไม่ใช่เพื่อการรักษาสัตว์เมื่อเจ็บป่วย จะสามารถตกค้างในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ และขับถ่ายออกมาทางมูล มูลสัตว์จึงเป็นแหล่งที่มาสำคัญของการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการนำเอามูลสัตว์มาใช้เป็นปุ๋ย หรือการชำระล้างโรงเรือนหรือกระบวนการของโรงฆ่าสัตว์ที่มีส่วนทำให้แบคทีเรียดื้อยาที่อาศัยในทางเดินอาหารเล็ดลอดออกมา ก็สามารถลงสู่ดินและแหล่งน้ำได้ หรือแม้แต่ส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนที่สัมผัสโดยตรง (ดังแผนภาพด้านล่าง) 

ที่มา: Zhu, Y., et al (2013) งานวิจัย Diverse and abundant antibiotic resistance genes in Chinese swine farms

เมื่อเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคมปี 2561 กรีนพีซยุโรปได้ทดสอบตัวอย่างแหล่งน้ำในประเทศสหภาพยุโรป 10 ประเทศ เพื่อหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะและมลพิษต่าง ๆ  รวมถึง สารกำจัดศัตรูพืช สารอาหาร และสารโลหะ ซึ่งผลการทดสอบบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในยุโรปนั้นสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ โดยในแม่น้ำและคลอง 29 แห่งในพื้นที่ที่มีการทำปศุสัตว์หนาแน่น กรีนพีซตรวจพบยาสำหรับสัตว์มากกว่า 20 ชนิดในจำนวนนี้เป็นยาปฏิชีวนะถึง 12 ชนิด และพบสารกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 100 ชนิด ส่วนสารไนเตรทที่พบนั้นอยู่ที่ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งไม่เกินมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้หากพบในปริมาณที่สูงกว่ามาตรฐานดังกล่าว ประเทศนั้นๆ จะต้องมีมาตรการคุ้มครองพื้นที่แม่น้ำ ทะเลสาบ และสิ่งมีชีวิตในน้ำ (อ่านรายงานเพิ่มเติมได้ที่นี่

ขยับเข้ามาใกล้ตัวขึ้นอีกนิด รายงานอีกชิ้นหนึ่งซี่งศึกษาโดย University of York สหราชอาณาจักร ได้ทดสอบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในแหล่งน้ำ 711 สายทั่วโลก ใน 72 ประเทศ พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะมากถึงร้อยละ 65 ของแหล่งน้ำที่ทดสอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย นักวิจัยของรายงานนี้ จอห์น วิคินสัน ได้กล่าวว่า “เรารับรู้ข้อมูลเพียงเล็กน้อยถึงระดับความรุนแรงของปัญหายาปฎิชีวนะทั่วโลก งานวิจัยชิ้นนี้เพียงช่วยเติมช่องว่างความรู้กับข้อมูลที่มี สำหรับประเทศที่ยังไม่เคยมีการติดตามปริมาณการใช้และการตกค้างมาก่อน”  

รายงานจากฝั่งองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration -FDA) เมื่อปี 2554 เผยว่า การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนนั้น ถูกนำไปผสมในอาหารสัตว์และน้ำในการเลี้ยงสัตว์ของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA, 2011) โดยองค์กร Review on Antimicrobial Resistance ที่ตรวจสอบและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานยาปฏิชีวนะ ได้เผยข้อมูลในรายงาน Antimicrobials in Agriculture and the Environment: Reducing Unnescessary Use and Waste เมื่อปี 2558 ว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าร้อยละ 75-90 ของประเภทยาปฏิชีวนะทั้งหมด มีการตรวจพบว่าไม่ได้ถูกดูดซึมในตัวสัตว์ และมีการเล็ดลอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะผ่านการปล่อยน้ำเสีย หรือการนำมูลสัตว์ไปใช้ไปปุ๋ยสำหรับพืชผักต่อ “กล่าวได้ว่า มูลสัตว์นั้นไม่ได้มีแค่การปนเปื้อนของแบคทีเรียดื้อยา แต่ยังมียาปฏิชีวนะที่สามารถตกค้างอยู่นอกเหนือส่วนของลำไส้ของสัตว์ ซึ่งอาจจะทำให้แบคทีเรียอื่น ๆ ดื้อยาและสร้างความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้” (Review on Antimicrobial Resistance, 2015) 

การลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของคนและระบบนิเวศนั้น ทางที่ดีที่สุดคือการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง นั่นก็คือการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง และใช้เฉพาะเพื่อการรักษา เพื่อลดปัญหาการกระจายแบคทีเรียเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อเชื้อดื้อยาตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้วก็ยากที่จะคาดเดาต่อได้ว่าผลกระทบจะกระจายไปวงกว้างหรือไม่ หรือตกค้างอยู่นานเพียงใด ขึ้นอยู่กับประเภทของแบคทีเรีย และแบคทีเรียดื้อยาเหล่านี้ในที่สุดอาจเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหารของเรา 

ปัจจุบันนี้ข้อมูลทั้งปริมาณการใช้และการปนเปื้อนตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อมนั้นยังมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม งานวิจัยหลายต่อหลายแห่งแม้แต่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และองค์การอนามัยโลก WHO ก็ยังระบุถึงความเร่งด่วนและจำเป็นในการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาตั้งแต่ต้นทางก่อนที่จะเป็นวิกฤต และการขาดข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้คืออีกข้อพิสูจน์หนึ่งว่าหน่วยงานของรัฐและอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องช่วยเติมช่องว่างที่ขาดหายไปของการเปิดเผยข้อมูลนี้ ระบุถึงปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะที่แท้จริง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อใช้ยาปฏิชีวนะเท่าที่จำเป็นมากที่สุด เพื่อรักษาสุขภาพของมนุษย์ เพราะการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยานั่นยิ่งหมายถึงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะที่ลดลง หากปราศจากยาปฏิชีวนะที่ยังคงมีประสิทธิภาพที่ต่อกรกับเชื้อดื้อยาได้แล้ว การรักษาอาการเจ็บป่วยร้ายแรงต่าง ๆ อาทิ การผ่าตัดใหญ่ (รวมถึงการผ่าครรภ์) การรักษามะเร็งด้วยคีโม หรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรง ก็จะมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อดื้อยาที่ไม่สามารถมียาปฏิชีวนะขนานใดรักษาได้

แหล่งข้อมูล

Boeckel, T., et al. (2014). “Global antibiotic consumption 2000 to 2010: An analysis of Cross Mark 742 national pharmaceutical sales data.” The Lancet infectious diseases 14.

FAO, Antimicrobial Resistance: Animal Production. Retrieved March 18, 2021, from http://www.fao.org/antimicrobial-resistance/key-sectors/animal-production/en.

FDA, 2011 Summary report on Antimicrobials sold or distributed for use in Food- producing animals, 2014, Department of Health and Human Services, FDA. 

Koch, B., Hungate, B., & Price, L. (2017). Food-animal production and the spread of antibiotic resistance: The role of ecology. Frontiers in Ecology and the Environment, 15(6), 309-318. Retrieved January 14, 2021, from http://www.jstor.org/stable/44990828

The Review on Antimicrobial Resistance, (2015). Antimicrobials in Agriculture and the Environment: Reducing Unnecessary Use and Waste. December 2015.

Wepking, C., Avera, B., Badgley, B., Barrett, J., Franklin, J., Knowlton, K., . . . Strickland, M. (2017). Exposure to dairy manure leads to greater antibiotic resistance and increased mass-specific respiration in soil microbial communities. Proceedings: Biological Sciences, 284(1851), 1-9. Retrieved January 14, 2021, from http://www.jstor.org/stable/44683015

WHO, Antimicrobial Resistance. October 13, 2020. Retrieved March 18, 2021, from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/antimicrobial-resistance

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม