ชุลี หวังศิริเลิศ ผู้ที่ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมานานหลายปี และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแคมเปญ “ไม่ขอรับ” แคมเปญที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้ผู้บริโภคปฏิเสธพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากร้านค้า แต่เราไม่สามารถหยุดมลพิษพลาสติกได้จากการหยุดรับพลาสติกจากผู้ประกอบการรายย่อยเท่านั้น เพราะปัญหาพลาสติกมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้ผลิตในระบบอุตสาหกรรมและภาครัฐ ที่ภาคประชาชนอยากให้ทั้งสองภาคส่วนนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการหยุดมลพิษพลาสติกด้วยเช่นกัน ชุลีมีความเห็นที่น่าสนใจถึงการจัดการมลพิษพลาสติกในระดับโครงสร้างด้วยเช่นกัน 

“ระบบโดยรวมของประเทศไทยทำให้คนไม่จำเป็นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”  

เรามองว่าระบบการจัดการขยะโดยรวมของประเทศไทย ทำให้ผู้คนไม่จำเป็นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติ ถ้าเรากินน้ำ แล้วเราสามารถทิ้งแก้วน้ำหรือขวดน้ำลงคลอง ลงบนถนนหรือลงที่ไหนก็ตาม มันก็ยังไม่ค่อยมีใครโดนปรับอย่างจริงจัง และคนทิ้งก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ในขณะเดียวกันเราซื้อสินค้าจากบริษัทที่ผลิตสินค้าพลาสติกซึ่งพวกเขาผลิตออกมาจำนวนมาก แต่ผู้ผลิตเองก็ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน ถ้าใครสนใจปัญหาขยะพลาสติกและเริ่มลงมือแยกขยะ เพื่อนำไปจัดการต่อ พวกเขากลับต้องเสียค่าส่งขยะเอง หรือค่าจัดการอื่น ๆ เองหมด มันเลยกลายเป็นว่า คนที่ลงมือแยกขยะ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ส่วนคนที่ทิ้งขยะ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

“แยกขยะอาหารออกจากทุกสิ่ง จะทำให้จัดการง่ายขึ้น”

เราคิดว่าการมีส่วนร่วมในการลดขยะพลาสติกอย่างง่ายที่สุดที่สามารถทำได้ คือ การแยกอาหารออกมาจากทุกสิ่ง เพราะถ้าเราไม่แยกออกมา อาหารเหลือเหล่านี้จะปนอยู่กับขยะอื่น ๆ และเมื่ออาหารเกิดการเน่าเสียก็จะทำให้ทุกอย่างที่ตอนแรกอาจจะยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ก็กลายเป็นขยะไปหมด บางครั้งต้องใช้เวลานานในการแยกขยะอาหารที่เน่ากับไม่เน่าออกจากกัน ทำให้ต้นทุนการแยกขยะเหล่านี้สูงขึ้น แต่ถ้าเราแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ๆ การจัดการขยะก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น ไม่มีการเน่าเสีย เป็นการรักษาคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นนำกลับไปรีไซเคิลหรือนำกลับไปใช้ซ้ำ ซึ่งก็จะทำให้ขยะพลาสติกลดน้อยลงด้วย

Plastic Brand Audit in Chiang Mai, Thailand. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

“ระบบที่เอื้อให้ผู้คนทำอย่างปกติ โดยที่ไม่ต้องอินก็ได้”

ตอนไปเรียนที่สวีเดน เราเห็นว่าในละแวกที่อยู่อาศัยจะมีการแยกขยะอย่างละเอียด เช่น ช่องอาหารขยะ ช่องโลหะ ช่องพลาสติก ช่องขวด และคนในบ้านก็จะมีการแยกขยะอย่างจริงจังมาก แต่ในที่สาธารณะก็ไม่ได้มีแยกเยอะขนาดนั้น แต่พอเทียบกับปริมาณขยะที่แยกจากในบ้านที่มีเยอะกว่า การจัดการขยะของสวีเดนก็เลยง่ายกว่ามาก

Mindset ของคนสวีเดนส่วนใหญ่มองว่า การแยกขยะเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ จะไม่เกี่ยวกับความดีหรือไม่ดีเลย คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่า วัสดุมาแบบไหนก็ควรกลับไปจบแบบนั้นในรูปแบบเดิม การลดใช้ การใช้ซ้ำเป็นความคิดที่มาพร้อมกันอยู่แล้ว อย่างขวดพลาสติก ระบบก็เอื้อให้เอาไปคืนแล้วได้เงินค่ามัดจำขวดกลับมา หรือเคยซื้อน้ำในตลาดก็จะได้แก้วกระเบื้องแบบดี ๆ มา ถ้าเราอยากได้เราก็เก็บไว้ แต่ถ้าไม่อยากได้ก็เอาไปคืน เราก็จะได้เงินค่ามัดจำกลับมาและผู้คนก็เห็นค่าของวัสดุด้วย ภาคการศึกษาเองก็ให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน มีการวัดเป็นค่า KPI ว่ามหาวิทยาลัยมีงานวิจัยเกี่ยวกับความยั่งยืนกี่ชิ้น ดังนั้นเราจะเห็นว่าระบบของสวีเดนทำให้การจัดการขยะและการแยกขยะกลายเป็นเรื่องปกติของผู้คน เป็นระบบที่เอื้อให้ทุกคนทั้งประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชนลงมือทำกันอย่างปกติ โดยที่ทุกคนไม่ต้องอินก็ได้

“คนที่มองเห็นภาพใหญ่ที่สุด คือ ภาครัฐ”

การรักษาสิ่งแวดล้อมตอนนี้ดูจะเป็นความรับผิดชอบของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มองเห็นผลกระทบของขยะพลาสติก หรือไม่ก็ของคนที่ต้องอยู่รอบกองขยะ ก็จะเห็นผลกระทบเหล่านี้ได้ชัด แต่จริง ๆ แล้วคนที่เห็นภาพรวมได้ใหญ่ที่สุดก็คือ ภาครัฐบาล ซึ่งประชาชนเองมีการจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ ดังนั้นภาครัฐควรนำภาษีตรงนี้มาจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ และนำมาเป็นแรงจูงใจให้ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมร่วมกัน อย่างภาคเอกชน การใช้ภาษีเป็นแรงจูงใจเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ มีการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทไหนที่มีการใช้วัสดุที่เอาไปรีไซเคิลได้ยาก จำเป็นต้องมีการจัดการขยะแบบเผาหรือฝังกลบ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนที่มีราคาสูงมากกว่า ภาครัฐก็ควรต้องเก็บภาษีมากขึ้น ในขณะที่บริษัทไหนผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำไปรีไซเคิลและใช้ซ้ำได้ก็ควรได้รับการลดภาษีเพื่อช่วยให้เกิดการจัดการขยะอย่างเท่าเทียม เราต้องเกลี่ยภาษีให้เหมาะสมเพื่อเป็นเหมือนการลงโทษคนที่เลือกใช้วัสดุที่จัดการยาก/ย่อยสลายยาก แล้วให้รางวัลคนที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การที่ภาครัฐนำแรงจูงใจด้านภาษีเข้ามาจะช่วยให้เกิดการจัดการขยะและส่งเสริมกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น และเกิดการรับผิดชอบร่วมกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

Plastic Brand Audit in Bang Kra Chao (Thailand). © Greenpeace / Chanklang  Kanthong
© Greenpeace / Chanklang Kanthong

“นโยบายการจัดการขยะมีต้นทุนที่จะต้องมีใครรับผิดชอบ”

การจัดการขยะมีต้นทุนที่จะต้องมีใครรับผิดชอบ แต่ถ้าปลายทางเป็นผู้รับผิดชอบอยู่คนเดียว ก็เหมือนโดนทำโทษ แล้วคนจำนวนอีกมากมายที่ไหนจะอยากทำ เพราะถ้าทิ้งปน ๆ ไปให้เทศบาลทำก็จะง่ายกว่ากันเยอะ ในขณะที่บริษัทกลับได้กำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดขยะที่รีไซเคิลไม่ได้

อย่างเช่น บริษัทขายอาหารสำเร็จรูปที่ใช้ Packaging ที่มีส่วนผสมของพลาสติกเยอะ ๆ แถมยังเคลือบอลูมิเนียมและเลอะอาหารได้อีก ดังนั้นควรต้องช่วยกันรับผิดชอบมากขึ้น ตอนที่บริษัทนั้นทำแคมเปญส่งขยะบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลไม่ได้ไปจัดการต่อ ก็รู้สึกว่าเป็น CSR ที่ดี เพราะมีการรับผิดชอบสินค้าของตนไปถึงปลายทางด้วยต้นทุนที่อาจจะไม่ได้สูงมากเพราะมีรถวิ่งมารับอยู่แล้ว บริษัทก็ได้ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และมีคนรู้จักบริการนี้อีกด้วย แต่ตอนหลัง ก็ไม่ฟรีแล้วคนที่เก็บรวมรวมขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ไว้เพื่อจะส่งจัดการต่อก็ต้องเดือดร้อนไปส่งไปรษณีย์เอง ก็ต้องเสียเงินมากขึ้นเพราะต้องหากล่องมาใส่ รวมทั้งค่าส่งอีก ที่บ้านของเราก็เริ่มไม่อยากแยกเก็บไว้แล้ว ทำให้การโน้มน้าวให้คนจัดการขยะก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้น

จริง ๆ แล้วต้นทุนค่าขนส่งควรจะเฉลี่ยกันหรือมีส่วนลดก็ได้ และผู้บริโภคก็ต้องรับผิดชอบส่วนหนึ่งด้วยเพราะถือว่าสนับสนุนผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการที่บริษัทผลิตสินค้าที่เป็นขยะพลาสติกออกมามากขึ้น เช่น บริษัทที่ผลิตสินค้าประเภทอาหาร บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods-FMCG) ทั้งหลายควรมีส่วนช่วยเรื่องเงินสนับสนุนด้านการจัดการขยะมากขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้ได้กำไรจากการซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบกับค่าจัดการบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงปลายทาง

ดังนั้น ส่วนตัวมองว่า เราจะหวังให้คนทั้งประเทศรักโลกไม่ได้ ถ้าระบบยังทำโทษคนรักโลก และยังส่งเสริมให้คนที่ได้ประโยชน์จากการสร้างขยะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

“ถ้าเราช่วยกัน จะเป็นไปได้”

เรารู้สึกว่าคนมีหลายกลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มคนที่อินและจริงจังในเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก คนเหล่านี้จะมีการลงมือแก้ปัญหาที่ยาก ละเอียดและเลือกใช้วิธีที่ดีที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมอย่างการเลือกใช้ refill เพราะเป็นการลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เห็นชัดที่สุดและสามารถใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำได้อย่างทันทีโดยไม่ต้องส่งไปที่โรงขยะและเอาไปรีไซเคิลก่อน บางคนเลือกที่จะไม่สั่ง Food Delivery เลยเพราะรู้สึกว่าการทำอาหารเองมีประโยชน์มากกว่า บางคนยังต้องการความสะดวกสบายจากการสั่งอาหารแต่ก็ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ก็เลือกที่จะขอพลาสติกให้น้อยที่สุด ในขณะที่คนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มคนจำนวนมากที่ยังรู้สึกห่างไกลกับประเด็นสิ่งแวดล้อม คนกลุ่มนี้จะเน้นไปทางความสะดวกสบาย ความหลากหลายของสินค้า ความถูก ทำให้พวกเขาเน้นการเลือกซื้อสินค้าที่เหมาะกับความต้องการของตัวเอง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ยากและละเอียดก็จะไม่เหมาะกับคนกลุ่มนี้ เราเลยรู้สึกว่าถ้าคนกลุ่มนี้อยากมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม แต่พฤติกรรมของตัวเองก็เปลี่ยนแปลงได้ยาก 

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ การช่วยกันจ่ายเงินบางส่วนให้คนกลางหรือคนอื่นเข้ามารับผิดชอบแทน ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเองก็ต้องทำความเข้าใจกับแนวคิด Life Cycle Assessment (LCA) เป็นการวิเคราะห์และประเมินการใช้ทรัพยากร ของเสียที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การสกัด กระบวนการผลิต การขนส่งและการแจกจ่าย การใช้งานผลิตภัณฑ์ การนำมาใช้ใหม่หรือการแปรรูป ไปจนถึงการจัดการเศษซากของผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน ดังนั้น กลุ่มธุรกิจต้องปรับปรุงสินค้าของตนเองให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด แต่ถ้าการจัดการในขั้นตอนสุดท้ายของสินค้าเป็นเรื่องที่ยากก็ควรจะช่วยจ่ายเงินบางส่วนให้คนกลางเข้ามารับมือในการจัดการตรงนี้แทน นั่นหมายความว่า หากผู้ผลิตไม่สามารถจัดการขยะอันเกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนได้ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมผ่านการจ่ายภาษีสินค้าบางอย่างและภาครัฐต้องเป็นตัวกลางในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้าเราช่วยกัน ก็จะเป็นไปได้ 

“จัดสรรอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกัน”

เราว่าความยั่งยืนคืออะไรก็ตามที่สามารถไปต่อหรือทำได้อย่างต่อเนื่อง อย่างตอนนี้ถ้าภาคธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ สุดท้ายแล้วสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ผลิตขึ้นมาก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนตามลำดับ ถ้ายังไม่มีแผนในการจัดการขยะอย่างจริงจัง สุดท้ายปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ก็จะวนกลับมาทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสุขภาพของผู้คน ซึ่งเรามองว่านี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน  เพราะสุดท้ายทรัพยากรก็จะเหลือน้อยลงและหมดไป ดังนั้นการสร้างความยั่งยืนที่ดีคือ ทุกคนต้องร่วมมือกันทำอะไรสักอย่าง โดยเรามองว่าภาครัฐยังคงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมาเราเห็นว่าภาครัฐมีความพยายามแก้ไขแล้วแต่อาจจะยังไม่มีระบบหรือช่องทางที่จริงจังให้ทุกฝ่ายได้ลงมือทำจริง ๆ อย่างที่บอกว่าในประเทศมีคนหลายกลุ่ม ธุรกิจหลายแบบ ซึ่งภาครัฐควรจะเป็นตัวกลางที่สำคัญและมีประสิทธิภาพในการมาช่วยเกลี่ยหรือจัดสรรเพื่อให้เกิดข้อตกลงต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม เราไม่อยากให้เกิดการมองในมุมมองที่แตกต่างกันเกินไป สิ่งที่สำคัญคือการมีภาครัฐเป็นตัวกลางในการจัดสรรให้เกิดมุมมองหรือประโยชน์อย่างเท่าเทียม และถ้าสามารถทำได้จะเป็นการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายยอมร่วมมือกันและท้ายที่สุดก็จะเกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ชุลี หวังศิริเลิศ ผู้ที่ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งมานานหลายปี และเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแคมเปญ “ไม่ขอรับ”