พีช ปณิชา เมธาวิชิตชัย ได้บอกเล่าเรื่องราวมุมมองเกี่ยวกับพลาสติกของตนเอง โดยเริ่มเล่าตั้งแต่การเป็นผู้บริโภคธรรมดาที่ชอบกินน้ำเยอะๆเป็นนิสัย ทำให้ต้องซื้อน้ำขวดเล็กจำนวนมากในหนึ่งวัน จนเริ่มมีความรู้สึกว่าต้องไปทิ้งหลายรอบและจำนวนขวดน้ำที่เป็นขยะก็เยอะมาก จึงเริ่มเปลี่ยนไปซื้อน้ำที่ขวดใหญ่กว่าเดิมเพราะคิดว่าจะคุ้มค่ากว่าการซื้อน้ำขวดเล็กหลายๆขวด แต่ในขณะนั้นยังมองในแง่มุมของความประหยัดมากกว่าเพราะเคยมีช่วงโปรโมชั่นที่ซื้อน้ำขวดใหญ่ 1 แถม 1 ก็เลือกซื้อน้ำขวดใหญ่เลย ถ้าไม่สามารถถือไปกินได้ทันทีทั้งสองขวด ก็จะฝากไว้ที่ร้านก่อนหนึ่งขวด พีชยังเล่าอีกว่าถ้ามองย้อนกลับไปอีกเมื่อหลายปีก่อน จะมีรายการโทรทัศน์ที่นำสิ่งของเก่าหรือขยะมาทำใหม่ให้เป็นของใช้อื่นๆ ซึ่งตัวเราเองก็มีการเก็บกระป๋องที่ใช้แล้วไว้ทุกอันเพื่อเอามาทำเป็น Paper Mache และนี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นจากความชอบและนิสัยส่วนตัวเล็กๆที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเป็นการช่วยลดขยะในรูปแบบหนึ่งซึ่งพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงมุมมองและพฤติกรรมของการลดใช้พลาสติกในอนาคต

เพราะเห็นว่าขยะทุกชิ้นมีที่ไป มุมมองต่อพลาสติกก็เปลี่ยนแปลง 

จุดที่ทำให้มองเรื่องพลาสติกเปลี่ยนไปเลย คือ ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยที่เอกการสื่อสารเพื่อสุขภาพ เรามีความคิดอยากทำเอเจนซี่เกี่ยวกับสุขภาพเพราะประเด็นเรื่องสุขภาพค่อนข้างเป็นที่นิยมในตอนนั้นแล้วก็ใกล้ตัวผู้คนด้วยทำให้เข้าถึงประเด็นนี้ได้ง่าย พอเริ่มศึกษาเรื่องประเด็นสุขภาพมากขึ้นก็จะเห็นว่ามีประเด็นของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ทำให้มีโอกาสได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราเลยเจอสิ่งที่รู้สึกว่าน่าสนใจมาก คือ การเห็นว่า  “ขยะทุกชิ้นมีที่ไปอย่างเศษอาหารก็ไปเป็นปุ๋ยได้ พลาสติกบางอันสามารถแยกไปรีไซเคิลได้ ตอนนั้นเลยตื่นเต้นมากว่าขยะทุกอย่างมีทางไปของมันหมดเลย จึงเริ่มรู้สึกว่าการแยกขยะส่งผลดีต่อทุกอย่างเลย ประจวบเหมาะกับที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลแคมเปญ Greenery Challenge เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เข้าใจไลฟ์สไตล์ และวิธีปรับตัวให้กรีนขึ้น ไปทีละก้าวยิ่งตอกย้ำได้ดีว่าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน

การเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สม่ำเสมอจะสร้างภาพใหญ่ในตัวมันเอง 

จากคนที่ไม่ค่อยได้สนใจเรื่องขยะ พอเริ่มเห็นความสำคัญ ลงมือทำ หลังจากนั้นเราไม่รู้สึกว่าการแยกขยะเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและยุ่งยากเลย เพราะเหมือนได้จุดประกายแล้วว่า แยกขยะแล้วมีคุณค่า แต่กว่าจะแยกได้จริงๆก็คือต้องทำ Challenge ไปหลายโจทย์มาก เป็นเหมือนการเล่นเกมเพิ่มเลเวลแล้วก็เพิ่มทักษะไปเรื่อยๆ อย่างตอนแรกพื้นฐานสุดก็จะพกขวดน้ำเปล่าและถุงผ้า แต่วันไหนที่ทำกิจกรรมเยอะก็จะวางแผนก่อนออกจากบ้านว่าจะพกขวดน้ำสำหรับเครื่องดื่มอื่นๆ ช้อนส้อม แล้วก็กล่องข้าวไปด้วย เรารู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สม่ำเสมอจะสร้างภาพใหญ่ในตัวมันเองได้ถ้าค่อยๆเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว พอเราเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าเราสามารถทำได้ ก็จะรู้สึกดีใจแล้วก็อยากทำขั้นตอนต่อไปเรื่อยๆ

พกถุงผ้าที่เลอะได้ ช่วยลดการรับพลาสติก

สิ่งที่อยากเชิญชวนคืออยากให้ทุกคนเริ่มพกถุงผ้าที่สามารถเลอะแล้วนำมาล้างแล้วกลับไปใช้ใหม่ได้ ถ้าเราพกถุงผ้าที่ไม่สามารถเลอะได้ก็จำเป็นต้องรับพลาสติกมาแล้วใส่ลงไปในถุงผ้าอยู่ดี ดังนั้นการเลือกใช้ถุงผ้าที่เลอะได้จะช่วยลดการใช้พลาสติกได้เยอะมากๆ หรือหากเลี่ยงไม่ได้ จะหาทางออกด้วยการนำไปรีไซเคิล แต่ละเดือนจะรวบรวมพลาสติกสะอาด เช่น ถุงหูหิ้ว ถุงแกง ล้าง ตาก เก็บ เพื่อส่งโครงการที่รับถุงพลาสติกเหล่านี้เพื่อนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล ช่วยลดขยะพลาสติกที่จะตกสู่สิ่งแวดล้อม

การสนับสนุนของภาครัฐจะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ง่ายขึ้น 

ปัญหาที่เจอระหว่างทางก็ค่อนข้างเยอะ อย่างการพกขวดน้ำ ถ้าน้ำหมดระหว่างวันก็ไม่รู้ว่าจะไปเติมน้ำที่ไหน เราต้องไปซื้อน้ำที่เป็นขวดพลาสติกเหมือนเดิมมาเติมแล้วก็เก็บไว้เอามาล้างที่บ้าน จริงๆก็มีจุดเติมน้ำที่เคยเห็นในกรุงเทพแต่ลักษณะดูไม่ค่อยน่าเชื่อมั่นเท่าไหร่ แต่ถ้าเห็นในห้างสรรพสินค้าที่เขาร่วมมือกับภาคเอกชนแล้วทำให้มันดีๆ เราก็จะกล้าเติมแล้วก็กล้าดื่ม เพราะว่าเรื่องคุณภาพหรือความสะอาดก็เป็นเรื่องสำคัญ 

การทำบรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ภาครัฐบาลควรสนับสนุนให้ผลิตสินค้าที่สามารถเอาไปแยกได้และเอาไปรีไซเคิลได้จริงๆ เราเห็นว่าตอนนี้อันไหนที่สามารถเปลี่ยนได้ คนกลุ่มหนึ่งที่เป็นสายกรีน สายธรรมชาติเหมือนเราก็พร้อมที่จะแยกขยะมากๆ 

อีกอย่างหนึ่งเลยคือ การสนับสนุนร้าน Refill ให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น ตอนนี้เรารู้สึกว่าการที่จะ refill ก็ต้องพกทุกอย่างไปเองเพื่อไปเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งก็จะเหมาะกับคนที่อยู่ใกล้มากกว่าเพราะว่าถือของเยอะได้โดยที่ไม่ต้องลำบาก อย่างบางคนมีผลิตภัณฑ์ประจำตัวของตัวเองที่ไม่สามารถพึ่งพา refill ได้จึงพยายามเลือกสินค้าที่สามารถเอามาเติมได้ แต่สุดท้ายบรรจุภัณฑ์สำหรับเอามาเติมก็เป็นพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้อีก 

อุปสรรคของหลายๆ คนที่ ยังไม่สามารถลดขยะหรือแยกขยะได้ เราต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการ และหาแรงจูงใจที่จะทำให้เค้าเปลี่ยนแปลงด้วยกัน ซึ่งวิธีนั้นคือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การส่งเสริมของภาครัฐและเอกชน ผู้ผลิต ที่ร่วมกันสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ทำให้เห็นว่าทุกคนสามารถทำได้เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีร่วมกันทุกฝ่าย

ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน

นอกจากภาครัฐบาลที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแล้วปัญหาขยะหรือการใช้พลาสติกแล้ว องค์กรต่างๆและพวกเราทุกคนต้องช่วยกันสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราเคยเห็นว่ามีกระแสยักษ์ใหญ่ของผู้บริโภคที่เริ่มหันมาเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคเองก็จะเป็นเหมือนแรงสนับสนุนและกำลังใจสำคัญในการช่วยอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ผู้ผลิตผลิตขึ้นมา ทำให้ผู้ผลิตเหล่านี้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันเป็นเหมือนการผลักดันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาร่วมกันเรามองว่า ทุกคน ทุกทางต้องไปด้วยกัน ภาครัฐบาล ผู้ผลิตและผู้บริโภคจะต้องเป็น “คนที่สร้างความเปลี่ยนแปลง” ร่วมกัน

ผู้ผลิตเริ่มเปลี่ยน ภาครัฐร่วมขับเคลื่อน ผู้บริโภคส่งเสริมและสนับสนุน จับมือกันแก้ไขปัญหาขยะถึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง