ในช่วงที่ผ่านมา ผู้คนมากมายต่างหันมาให้ความสนใจกับอาหาร Plant-Based หรือหันมาเป็น Vegan กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเพื่อสุขภาพ เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งด้านจริยธรรม ในขณะเดียวกันก็เกิดข้อถกเถียงมากมายในประเด็นเหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากอาหารเป็นทางเลือกส่วนบุคคล ทุกคนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง และมีข้อจำกัดในชีวิตที่ต่างกัน

วันนี้เราจึงอยากชวนมาสำรวจ 5 ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการบริโภคเนื้อสัตว์ และเหตุผลว่าทำไมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ รวมทั้งระบบอาหารในปัจจุบันจึงไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วจะมีอะไรที่เราพอช่วยกันได้บ้าง? เผื่อไว้ลองอ่านดูเป็นข้อมูลในการตัดสินใจสำหรับคนที่อยากลองเริ่มหันมากินอาหารจานผักมากขึ้น หรือสำหรับคนที่เป็น Vegan ก็อาจจะได้ใช้โอกาสนี้อธิบายคนรอบข้างว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนี้

  1. ระบบอาหารของเรากำลังเปลี่ยนไปจากเดิม

เนื้อสัตว์ หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้นก็คือ  ‘เนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม’ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ในเชิงกสิกรรมกลายเป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ระบบอาหารแบบนี้ทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ที่ดินมหาศาลเพื่อตอบสนองการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกที่กำลังขยายตัว ซึ่งระบบอาหารระบบนี้เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้มนุษย์เราสูญเสียสุขภาพที่ดีไปพร้อมๆกัน ในช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา อาหารการกินของเราเปลี่ยนไปมาก แม้ว่าในแต่ละภูมิภาคจะมีการกินที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั่วโลกก็มีการบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นเท่าตัว

2. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง นอกจากนั้นเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหรรม เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของการทำลายป่าไม้ทั่วโลก เมื่อป่าไม้ถูกทำลายเพื่อผลิตเนื้อสัตว์อุตสาหกรรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันจะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน ต้นไม้ที่ล้มมักจะถูกปล่อยให้เน่าอยู่บนพื้นป่าหรือถูกเผาทำให้เกิดการปล่อยมลพิษต่อไป ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ หากเราทำลายป่่า ป่าจะไม่สามารถช่วยเราต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อีกต่อไป

3. ผลกระทบต่อสุขภาพ

การเพิ่มขึ้นของการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรม ยังส่งผลต่อสุขภาวะของพวกเราทั่วโลก การบริโภคเนื้อแดงมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก” นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพยังส่งผลต่อการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ หรือโรคอุบัติซ้ำ โดยโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำในช่วงตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ.2543) เป็นต้นมา พบว่ามีความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศที่ถูกทำลาย เช่นการรุกรานป่าไม้หรือสัตว์ป่า

3. เชื่อมโยงกับมลพิษข้ามพรมแดน ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย 

ลองสำรวจใกล้ตัวขึ้นมาอีกนิด จากรายงาน “ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน” เผยให้เห็นถึงบทบาทของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เชื่อมโยงกับการก่อหมอกควันพิษข้ามพรมแดนระหว่างปี 2558-2562 พบว่า มีพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอยู่โดยเฉลี่ย 1 ใน 3 ของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือ ภาพถ่ายดาวเทียมระบบ MODIS ทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และนัยยะสำคัญของพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อนที่มีต่อการกระจายตัวและความเข้มข้นของมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในช่วงปี 6 ปีที่ผ่านมา

5. การครอบงำของกลุ่มอุตสาหกรรม

ระบบอาหารที่เน้นเนื้อสัตว์ของเราทุกวันนี้ถูกครอบงำทางตลาดโดยบริษัทขนาดยักษ์เพียงไม่กี่รายของโลก  ครอบครองตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ที่เป็นต้นทาง ทั้งเมล็ดพันธุ์สำหรับพืชอาหารสัตว์ สารเคมีอันตราย สายพันธุ์สัตว์ ไปจนถึงการแปรรูปจนกระทั่งเป็นอาหารปลายทางให้กับผู้บริโภค โดยที่มีนโยบายของรัฐคอยสนับสนุน ผลประโยชน์จึงตกอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงหยิบมือในขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาภาระหนี้สิน เช่นจากเกษตรพันธสัญญาที่เอื้อต่อการผลิตข้าวโพตเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมเกษตรนั้นเน้นผลิตพืชผลหลักอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งทำลายความมั่นคงอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของมนุษย์ ภายใต้ระบบนิเวศที่ยั่งยืน

กรีนพีซรณรงค์สนับสนุนให้ลดการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมและหันมาบริโภคอาหารอุดมพืชผักมากขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก

ที่มา

https://www.greenpeace.org/thailand/story/18249/food-label-7-reasons-why-meat-is-bad-for-the-environment/

https://www.greenpeace.org/thailand/story/18463/food-label-10-tips-to-eat-more-plant-based-food/

https://www.greenpeace.org.uk/resources/industrial-meat-deforestation-jbs/

ถึงเวลาปฏิวัติระบบอาหาร

ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภทโดยเปิดเผยถึงข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ ที่มาอาหารสัตว์ว่าเชื่อมโยงกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะ และการตกค้างในเนื้อสัตว์

มีส่วนร่วม