แต่ละครั้งที่คุณเจ็บป่วย เคยสงสัยไหมว่าอาการที่คุณเป็นนั้นเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ปัจจุบันนี้เราอาจยังไม่ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเชื่อมโยงกับอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และอาจะเรียกได้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพคือเรื่องเดียวกัน เพราะเหตุใดเราจึงต้องการไปพักร้อนสูดอากาศดี ๆ ที่บนภูเขาหรือริมทะเล หากสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เกี่ยวกัน ทว่าที่ผ่านมา “สิ่งแวดล้อม” กับ “สุขภาพ” กลับถูกมองแยกส่วนกัน เรามักหลงลืมไปว่าสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพได้ เพราะการเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้แสดงอาการให้เห็นโดยทันที แต่อาจจะแสดงอาการในอีกวันต่อมา อีกหลายเดือนถัดมา หรืออาจจะเป็นปี ในฐานะแพทย์ผู้ทำงานด้านโรคที่เกิดขึ้นจากผลกระทบมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีคำตอบในหลายประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่อาจทำให้เราใส่ใจในปัญหามลพิษรอบตัวมากขึ้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยอย่างไร

มีผลอย่างแน่นอน เพราะทุกวันที่เราใช้ชีวิตอยู่เราสูดหายใจเอาอากาศเข้าไป เรากินอาหารที่ปลูกบนดิน จากแหล่งน้ำที่อาจปนเปื้อน มีมลภาวะทางเสียง ทางอากาศ สิ่งแวดล้อมส่งผลต่อเราแน่นอน ทำให้เรามีอาการป่วยไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่เพราะเราต้องอยู่กับมันทุกวัน การดูแลสุขภาพที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจึงยากกว่าการเจ็บป่วยทางอื่น เช่น โรคติดต่อ เราอาจได้รับคำแนะนำว่า กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็ปลอดภัย  หรือกลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน ก็จะแค่ควบคุมปัจจัยเสียงไม่กินหวานกินเค็มมากไป นอนหลับให้เพียงพอ แต่พอเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม มันยากกว่าเพราะเราจัดการไม่ได้ง่ายๆแบบโรคอื่น  เช่น มีโรงงานมาตั้งข้างบ้านเรา และปล่อยอากาศเสียออกมา จะให้เราหยุดหายใจเราทำไม่ได้

“  พอเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจัดการไม่ได้ง่ายๆแบบโรคอื่น เช่น มีโรงงานมาตั้งข้างบ้านเรา และปล่อยอากาศเสียออกมา จะให้เราหยุดหายใจเราทำไม่ได้  ”

ตัวอย่างของการเจ็บป่วยจากสิ่งแวดล้อม

เช่นกรณีจากหมอกควันพิษ และฝุ่นพิษ PM2.5 ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา มีประเด็นเรื่องหมอกควันไฟป่าในช่วงต้นปีของทุกปี เราจะวิเคราะห์กันว่ามีผู้ป่วยในกลุ่มใดบ้าง ซึ่งก็คือ

กลุ่มที่ 1. ไอ เจ็บคอ หอบหืด

กลุ่มที่ 2. ตาแดง เคืองตา

กลุ่มที่ 3. อาการทางผิวหนัง

กลุ่มที่ 4. โรคกลุ่มหัวใจและหลอดเลือด

โดย 9 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบทางภาคเหนือ ส่งข้อมูลมาว่าพบมากขึ้น แต่ตอนนี้เรายังไม่สามารถเชื่อมโยงกับหมอกควันได้ วิธีการแก้ไขคือหาเคสที่เพิ่งเริ่มป่วยเป็นหอบหืดครั้งแรก ว่าเหตุผลที่มามาจากผลมลภาวะหรือไม่ หรือจากเคสที่ห้องฉุกเฉินที่มีอาการกำเริบเกิดขึ้น

อีกอย่าง อาการป่วยจะมี lag time กล่าวคือ คุณได้รับมลพิษวันนี้ อาจจะไม่ได้มีอาการทันที บางอาการ 12 ชั่วโมง บางอาการ 24 ชั่วโมง สมมติค่าตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ขึ้นไป 400 ในวันนั้น (ระดับอันตราย) เราจะเจอคนไข้ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งถ้าเราซักประวัติ จะได้ผลที่สอดคล้องกัน

อีกตัวอย่างคือกรณีแคดเมียมจากเหมืองสังกะสีที่แม่สอด จังหวัดตาก  นักวิชาการเก็บตัวอย่างจากน้ำในแหล่งน้ำ เก็บตัวอย่างจากดิน เก็บตัวอย่างจากต้นข้าวเมล็ดข้าว แล้วพบว่ามีแคดเมียมปนเปื้อนพอกับที่ญี่ปุ่นที่เกิดโรคอิไตอิไต ถ้าเราจะเชื่อมโยงว่าประชาชนเสี่ยงแค่ไหน ต้องดูว่าประชาชนกินข้าวยังไง ที่ไหน เก็บตัวอย่างข้าวทุกบ้าน ว่าข้าวจากนานี้ไปสู่บ้านนี้ และตรวจแคดเมียมในร่างกาย จึงใช้เวลานานหลายเดือนในการตรวจสอบคนแสนคน

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณหมอมีมุมมองในการทำงานขับเคลื่อนที่เกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ตอนที่เรียนที่ต่างประเทศ สาขาที่เขาให้เรียนคือ Occupational Health (อาชีวอนามัย) แต่คณะที่เรียนสอน Environmental Health (อนามัยสิ่งแวดล้อม) ด้วย ช่วงเวลาที่เรียนอยู่ก็จะมีการให้อ่านให้วิเคราะห์งานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เราก็ซึมซับ พอกลับมาทำงานที่กรมการแพทย์ มีประเด็นปนเปื้อนตะกั่วที่ห้วยคลิตี้  กาญจนบุรี ในช่วงปี 2541 เราพอมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างจึงลงไปดูที่คลิตี้ เป็นครั้งแรกที่ลงพื้นที่ ประเมินสุขภาพของคนในพื้นที่ ไปตรวจร่างกายชาวบ้านว่ามีอาการพิษตะกั่วไหม

พอปี 2545 รัฐไทยปฏิรูประบบราชการ กระทรวงสาธารณสุขมีการตั้งสำนักงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เราจึงเลือกมาอยู่สำนักนี้ พอเห็นชื่อสำนักงาน เราจึงตั้งคำถามว่าเราจะไปทางไหนเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มรวบรวมทีม ช่วยกันค้นว่าอดีตของประเทศไทยทำอะไรที่เป็นเรื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมบ้าง เคสแรกคือมะเร็งผิวหนังจากสารหนู อำเภอร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช ปี 2529 จากเคสนั้น เราค้นต่อเจอเหตุไฟไหม้ที่ท่าเรือคลองเตย 2534 ซึ่งมีกลุ่มควันดำเก้าวันเก้าคืน มีสารพิษ จากการซักประวัติ 16 ปีต่อมามีพยาบาลที่สัมผัสควันจากการเยี่ยมบ้าน 6 เดือน เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว และตำรวจที่ทำหน้าที่โบกรถเป็นมะเร็งที่ต่อมไทมัส และมีอีกหลายเคสที่เป็นมะเร็งอีกเยอะแต่ไม่ได้เปิดเผย จากนั้นคือกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ และห้วยคลิตี้ จากนั้นเราจึงลงพื้นที่ว่าผู้เกี่ยวข้องมีใครบ้างที่รับผิดชอบด้านนี้ หลักจากนั้นก็มีกรณีพิพาทโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่โคราช กรณีมาบตาพุต ปี 2552 กรณีนิคมอุสาหกรรมที่ระยอง พอปี 2547 เกิดเหตุแคดเมียม เราได้ใช้ประสบการณ์จากการรวบรวมข้อมูลมาใช้กับที่แม่สอด หลักจากนั้นก็เหตุน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด

เพราะเห็นชื่อสำนักงานตัวเองแล้วเห็นว่าไม่มีใครทำ พอทำแล้วพบว่ามีความยากแต่ทำได้ และเราสามารถช่วยคนให้เขาเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ให้สามารถดูแลตัวเองได้

บทบาทของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลจัดการสุขภาพที่เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม

ในมุมมองแพทย์และสาธารณสุข การที่จะหยุดโรคได้เราจะต้องหยุดมลพิษ หยุดการปนเปื้อน แต่ในระดับปัจเจกเราทำไม่ได้ เช่น เราจะให้ย้ายบ้าน ทุกคนก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้เราตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมทำให้เราเจ็บป่วยได้จริง และวิธีดูแลที่ได้ผลจริง คือลดการปนเปื้อน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากโรงงานในการหยุดปล่อยมลพิษ ปล่อยน้ำเสีย ซึ่งบางครั้งเขาไม่ได้ตระหนักว่ากำลังปล่อยมลพิษ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ หรือไม่ได้กำกับดูแล เราทำอะไรเขาไม่ได้ ในฐานะแพทย์ คือความหนักใจ

อีกประเด็นหนึ่งคือ การตรวจวินิจฉัยของหมอ โรคที่อาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมต้องมีการซักประวัติ เช่น  พักอาศัยอยู่ที่ไหน แต่บางทีหมอก็ลืมไปว่าสิ่งแวดล้อมทำให้เจ็บป่วยได้จึงไม่ได้ถาม ตัวอย่างเช่น

เด็กเป็นโรคหอบหืบ หมอก็แค่ให้ยาพ่น แต่ไม่ได้ถามต้นตอว่ามาจากไหน หากมีกลุ่มแพทย์ที่ตระหนักขึ้นมาบ้าง การจะให้คำแนะนำให้ย้ายที่อยู่อาศัยก็ทำได้ยาก จึงแก้ปัญหาไม่ได้ ทำได้แค่ปลายทางคือการรักษาโรค นอกจากความสมัครใจของคนไข้ที่จะย้ายที่อยู่

“  สิ่งแวดล้อมทำให้เราเจ็บป่วยได้จริง และวิธีดูแลที่ได้ผลจริง คือลดการปนเปื้อน ต้องได้รับความร่วมมือจากโรงงานในการหยุดปล่อยมลพิษปล่อยน้ำเสีย ซึ่งบางครั้งเขาไม่ได้ตระหนักว่ากำลังปล่อยมลพิษ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับไว้ หรือไม่ได้กำกับดูแล เราทำอะไรเขาไม่ได้ ในฐานะแพทย์ คือความหนักใจ  ”

ภาระกิจหลักของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือเฝ้าระวังผลกระทบเรื่องสุขภาพ เราพยายามสื่อสารกับแพทย์ ว่ามีการซักประวัติว่าการเจ็บป่วยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไหม ถ้าใช่ก็ใส่ในรายงานโค้ด Y97 (ICD-10 – international classification of disease) เพื่อที่เจ้าหน้าเวชสถิติ หรือนักระบาดวิทยา จะสามารถสรุปข้อมูลในแต่ละวันได้ว่าในแต่ละวัน แต่ละปี มีผู้ป่วยจากสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน

อีกกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ คือ ผู้ประกอบการ และผู้กำกับดูแลผู้ประกอบการ (หน่วยงานภาครัฐ) เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม เราจะสื่อไปว่า เราควรลดมลพิษ รวมถึงตรวจสอบมาตรการ EIA และ EHIA ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยภายใต้พรบ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กำหนดไว้ว่าการทำ EIA ขั้นตอนสุดท้ายคือ การตรวจสอบซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ กำหนดไว้ว่าจะต้องส่งการตรวจสอบ EIA ทุก 6 เดือน บ้านเราส่งข้อมูลกลับไปก็ไม่มีใครอ่าน หรือไม่ได้ทำอะไรต่อ ถ้าจะสั่งปิดโรงงาน ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวร กระทรวงทรัพย์ฯ ต้องส่งต่อข้อมูลไปที่กรมโรงงานฯ และกรมโรงงานฯจึงดำเนินการทางกฎหมาย แต่เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีจำนวนมาก หากไม่มีการสุ่มตรวจ และพบ ก็จะไม่มีระบบในการตรวจสอบจริงจัง เว้นเสียแต่รอให้เกิดเหตุก่อน

อะไรที่ขาดหายไปในเรื่องประเด็นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนไทย

ความรู้ความเข้าใจและการให้ความสำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในมุมประชาชน ยังขาดการเชื่อมโยงว่าสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และบางทีเชื่อมได้แต่คิดว่าไม่ร้ายแรง เช่น คิดว่าผลกระทบของฝุ่นก็แค่หายใจลำบาก อีกอย่างคือเมื่อเกิดการเรียกร้องกลับเป็นการเรียกร้องเรื่องค่าชดเชย หรือการให้ผลตอบแทน ให้งานทำ ไม่ใช่การเรียกร้องให้เกิดระบบเฝ้าระวัง ความตระหนักของเราจึงลดลงกลายเป็นความกตัญญูแทน

ด้านมุมมองโรงงานและผู้กำกับโรงงาน ก็ยังมองว่าสุขภาพไม่ใช่ปัญหา เขารู้สึกว่าเขาทำดีแล้วทุกอย่าง ไม่ได้คิดถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ หรือกล่าวอ้างว่าไม่มีหลักฐานที่จะบอกว่าการปนเปื้อนมาจากโรงงาน

ปัจจุบันการคุ้มครองประชาชนในด้านสุขภาพจากการเจ็บป่วยที่มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมครอบคลุมแค่ไหน ยังมีจุดบกพร่องอะไรบ้าง

ประเทศไทยพัฒนาแล้วในเรื่องของกฎหมาย กล่าวคือ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องสิทธิชุมชน มาตรา 67 วรรคสอง ในเรื่องของการป้องกันผลกระทบจากโรงงานเขียนได้ดีมากว่า ชุมชนสามารถรวมตัวกันเพื่อต่อรองและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม แต่กฎหมายลูกในการบังคับใช้ ไม่เป็นไปตามรัฐมธรรมนูญ นอกจากนี้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติยังมีมาตรา 10-11 ให้สิทธิชุมชนสามารถยื่นเรื่อง ประเมินผลทางสุขภาพ เป็นการใช้สิทธิชุมชนโดยตรง เมื่อเทียบกับ EIA แล้วครอบคลุมกว่า แต่ยังขาดการกำกับดูแลและบังคับใช้

ประเด็นเรื่อง PM2.5 และมลพิษทางอากาศ ถือเป็นประเด็นใหม่ของคนไทยหรือไม่

ถ้าไม่มีกรณีหมอกควันไฟที่เชียงใหม่เราจะยังไม่ตระหนักถึงภัยจากฝุ่นพิษ PM2.5 ถ้าบอกว่าการจราจรก่อฝุ่น ชนิดนี้ด้วยก็จะไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ สรุปแล้วตอนนี้ประเทศไทยตระหนักมากขึ้น พี่เชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น และตระหนักมากขึ้น เพราะเรายังมีไลฟ์สไตล์ที่ต้องออกนอกบ้าน

PM2.5 ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อย่างไร มีเคสไหนที่คุณหมอพอบอกเล่าได้บ้างไหมว่าเป็นผลจากมลพิษ PM2.5 อย่างชัดเจน

เนื่องจากเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็ก จึงสามารถลงไปได้ลึกถึงถุงลม เข้าไปกระแสเลือด เกิดพยาธิสภาพ (เกิดพังพืด การอักเสบ มีเสมหะมากขึ้น หายใจไม่เต็มปอด) ที่ปอดและหัวใจ เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด และเมื่อมีอนุภาคอื่นไปเกาะ เช่น โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ เจอกับความชื้น เช่นน้ำในเยื่อจมูก กลายเป็นเป็นกรด มีฤทธิ์กัดกร่อน เกิดการอักเสบ นอกจากนั้นยังมีอนุภาคที่ก่อมะเร็ง เช่น จากสารพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

ตัวฝุ่นเองโดยที่ไม่มีสารพิษเกาะก็สามารถกระตุ้นร่างกายได้ด้วย คือ ทำให้ผนังหลอดเลือดเปลี่ยนแปลง และเกิดภาวะขาดเลือด หรือกระตุ้นการอักเสบในปอด ทั่วๆไปแล้วผู้ได้รับมลพิษจะต้องรอ 12 ชั่วโมงกว่าจะเห็นอาการ

วิธีการป้องกันจากฝุ่นพิษ PM2.5

ลดมลพิษก่อนขั้นแรก ต่อมาคือ การตรวจสุขภาพ ไปพบแพทย์เอง หรือรับการตรวจประจำปี สาม สวมใส่หน้ากาก  ซึ่งจะต้องเป็นหน้ากากที่ระบุไว้ว่ากันฝุ่นได้ขนาดไหน และมีไส้กรอง แต่การป้องกันด้วยการใส่หน้ากากเป็นการโยนความรับผิดชอบให้ประชาชน ทุกวันนี้มีคนเริ่มเข้าใจวิธีการใช้หน้ากากมากขึ้น เป็นสัญญาณที่ดี  ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษมีข้อมูลเยอะ แต่ไม่ค่อยได้สื่อออกมา

“  การป้องกันด้วยการใส่หน้ากากเป็นการโยนความรับผิดชอบให้ประชาชน  ”

ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

คะแนนเต็มห้า เราคงอยู่หนึ่งกว่า ๆ เพราะการเตรียมการพร้อมไม่อยู่ในมุมมองชีวิตของคนไทย จะเกิดก็เกิด ตายก็ตาย มีเรื่องเดียวที่เราประเมินว่าจะเกิดไม่เกิดคือการซื้อหวย เรื่องความเสี่ยงก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแค่หวยเราอยากให้เกิด แต่ความเสี่ยงไม่อยากให้เกิด เราจึงไม่ได้สนใจแม้จะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต การประเมินเรื่องหวยอาจจะลงท้ายด้วยการได้หรือเสียเงิน แต่การประเมินความเสี่ยงเรื่องสุขภาพช่วยป้องกันชีวิตเราได้

คนเมืองกับการปกป้องตัวเองจากมลพิษทำอย่างไรได้บ้าง หรือการช่วยกันเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เรื่องของมลพิษอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว ถ้าเราอยู่ในจุดที่เราต้องกำกับดูแล หรือเราเป็นส่วนหนึ่งของการก่อมลพิษ ก็รับผิดชอบในหน้าที่เรา เราก็จะสามารถลดมลพิษได้

“ในฐานะที่เราเป็นคนตัวเล็กๆ เราก็สามารถออกมาช่วยเปล่งเสียงรณรงค์ร่วมกันได้ เสียงเราก็จะรวมกันเป็นเสียงใหญ่ เรารวมกลุ่มกันเรียกร้องในแง่ของชุมชน ในภาครวมเราจะเรียกร้องได้ อย่านิ่งนอนใจ เสียงคุณมีพลังอยู่แล้ว แต่ต้องไปรวมกับคนอื่น เราจะต้องมีวิธีอื่นที่ดีกว่าการใส่หน้ากาก”  

ร่วมลงชื่อ ขออากาศดีคืนมา ได้ที่นี่

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม