เรียบเรียงจากงานเสวนาออนไลน์ “พลังงานถ่านหินกับอุตสาหกรรมไทย : ตีแผ่เบื้องหลังการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไทยและ EIA กับสิทธิชุมชน” ตอนที่ 3 โดย Greenpeace X EnLAW บรรยายโดย ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ บรรณาธิการหนังสือข้อมูลชุมชน และ ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

  • รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นโจทย์แรกที่ต้องทำให้ได้ เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในทางบวกและทางลบ ทำให้เกิดความโปร่งใสและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
  • “โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย” เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ กรณีที่ใช้การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) มาตัดสินใจอนุมัติ แต่กระบวนการจัดทำ EIA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นมีความเป็น “สากล” จริงหรือไม่? นั่นเป็นสิ่งที่เรากำลังตั้งคำถาม
  • การทำเหมืองที่อมก๋อยหรือหมู่บ้านกะเบอะดิน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของอำนาจในการตัดสินชีวิต อนาคต บนฐานทรัพยากรท้องถิ่นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ยังเป็นตัวแทนทิศทางนโยบายการพัฒนาประเทศและสังคมไทย ท่ามกลางวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกด้วย

โครงการเหมืองถ่านหินในอมก๋อย เกี่ยวข้องอะไรกับ EIA?

“กะเบอะดิน” ดินแดนมหัศจรรย์ เป็นหมู่บ้านชุมชนกะเหรี่ยงเก่าแก่ หลบอยู่ในหุบเขาในตำบลอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ดินของป่าสงวนแห่งชาติ ใช้ชีวิตโดยพึ่งพาฐานทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืชเศรษฐกิจ มีพื้นฐานความเชื่อที่หลากหลายตามศาสนาพุทธและคริสต์ นับถือผีและธรรมชาติ วิถีชีวิตนี้อาจเปลี่ยนไปตลอดกาลเพราะโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยที่กำลังจะเกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงการเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ ต้องมีการทำ EIA ขึ้นมาก่อน

ทามไลน์สำคัญ

ปี 2518 – หมู่บ้านกะเบอะดินก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย

ปี 2543 – บริษัท 99 ธุวานนท์ เริ่มเดินเรื่องยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหิน

ปี 2552 – บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัดว่าจ้างบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัดจัดทำรายงาน EIA  ในระหว่างนั้นได้มีการจัดประชาคมหมู่บ้านกะเบอะดินโดยผู้ใหญ่บ้านชี้แจงถึงการดำเนินการของโครงการและมีตัวแทนของบริษัทกล่าวถึงโครงการและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ ในการประชุมเป็นการรับฟังและแสดงความคิดเห็น รวมถึงลงมติอนุมัติเห็นชอบ ซึ่งประกอบด้วยเอกสารการลงรายมือชื่อราษฏรที่เห็นชอบให้มีการทำเหมืองถ่านหินในหมู่บ้านกะเบอะดิน นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดประชาคมหมู่บ้านโดยรอบ 6 หมู่บ้าน ที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงเส้นทางเดิมและในการประชุมมีวาระที่เชิญชวนพิจารณา และแสดงความคิดเห็นต่อการทำเหมือง ประกอบกับทางชุมชนได้เสนอกฏระเบียบข้อตกลงในการขนส่งถ่านหินในเส้นทางระหว่างชุมชน ซึ่งจากบันทึกการทำประชาคมหมู่บ้านโดยรอบเห็นด้วยที่จะให้ทางบริษัทเข้าไปทำเหมืองแร่โดยให้ผ่านเส้นทางหมู่บ้านและยินยอมให้ปรับขยายถนนได้ โดยมีการบันทึกข้อตกลงเรียกร้องที่ราษฏรขอให้ทางบริษัทให้ความช่วยเหลือหลายประการ นอกจากนั้นแล้วยังมีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อยในการขอมติที่ประชุมให้บริษัทเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองถ่านหิน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ปี 2553 – ในวันที่ 9-12 มกราคม มีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมครั้งที่ 1 คือทางโครงการได้ดำเนินการสัมภาษณ์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่อาศัยโดยรอบที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่รัศมี 3 กิโลเมตร และในเดือนเดียวกันนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกใบอนุญาตให้ทางบริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด จัดทำรายงาน EIA ลงวันที่ 15 มกราคม 2553 

และในครั้งที่ 2 มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรายงาน EIA และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเดือนกรกฏาคม

ปี 2554 – บริษัท ทอพ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด นำส่งรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ให้แก่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้พิจารณารายงาน EIA (คชก.)  

ปี 2560 – พระราชบัญญัติเหมืองแร่ฉบับใหม่ พ.ศ.2560 บังคับให้ทุกโครงการที่เข้าเกณฑ์ต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ 

ปี 2562 –  กลุ่มเยาวชนกะเบอะดินได้พบเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการผ่านทางโซเชียลมีเดีย จึงเกิดกระแสคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน #SaveOmkoi มาจนถึงปัจจุบัน

ในเดือนกันยายน บริษัทที่ได้รับมอบหมายจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภายใต้พรบ.ดังกล่าวแต่ไม่สำเร็จ เพราะถูกยกเลิกโดยชาวบ้านในพื้นที่ มีผลให้บริษัทต้องจัดเวทีใหม่ภายใน 60 วันแต่ จนปัจจุบันยังไม่เกิดอะไรขึ้น

ปี 2563 – เกิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่ มีการล่ารายชื่อยื่นแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรวจสอบกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำรายงาน EIA ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปี 2564 มีจดหมายตอบกลับส่งถึงกลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อยว่าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน EIA มีมติยืนตามมติ คชก. ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงและแต่งแร่ที่เห็นชอบรายงาน EIA เมื่อปี 2554


จับพิรุธ EIA ฉบับไทยทำ

  • เอกสารเป็นเท็จ มีการปลอมแปลงลายมือชื่อของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เอกสารของชาวบ้านบางคนที่สามารถลงลายมือชื่อได้ถูกเปลี่ยนมาปั๊มเป็นลายนิ้วมือ (ซึ่งไม่ใช่ลายนิ้วมือของตัวเอง) 
  • จากกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติที่ประกาศทับพื้นที่ ทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ของชาวบ้านถูกลิดรอน เช่น ไม่มีน้ำประปา หรือไฟฟ้าใช้ เพราะอยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น   EIA ไม่มีการประเมินเป็นตัวเลขของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมชัดเจน ข้อมูลไม่สามารถจับต้องได้
  • มีการตั้งคำถามขึ้นมาว่าชุมชนดั้งเดิมโบราณที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทำไมไม่ได้รับการคุ้มครอง?
  • รายงานข้อมูลการสำรวจไม่ตรงความจริง เช่น บรรยายว่าป่าที่นี่มีความแห้งแล้ง เสื่อมโทรมและมีต้นไม้แคระแกร็น จากการทำไร่เลื่อนลอย แต่ความจริงแล้วพื้นที่ที่นี่ไม่มีไร่เลื่อนลอย มีแต่ไร่หมุนเวียน 
  • หลักเกณฑ์การประเมินแหล่งน้ำไม่ตรงกับความเป็นจริง ไม่สำรวจและประเมินแหล่งน้ำโดยราบรัศมี แต่เลือกประเมินเป็นบางจุด เพราะอะไรจึงไม่ประเมินแหล่งน้ำทั้งหมด?
  • ใน EIA ไม่มีการพูดถึงสัตว์ป่าคุ้มครองและพืชท้องถิ่น
  • การประเมินขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการแคบเกินไปในรัศมีโดยรอบ 3 กิโลเมตรของรายงาน EIA ฉบับนี้ละเลยประเด็นเรื่องที่หมู่บ้านกะเบอะดินเป็นแหล่งต้นน้ำ การสูญเสียที่ทำกินจึงไม่ใช่แค่ประมาณ 200 กว่าไร่ที่อยู่ตรงโครงการ  แต่พื้นที่ทำกินที่ไล่เรียงมาจนถึงพื้นที่ปลายน้ำก็จะได้รับผลกระทบด้วย 
  • ยังมีคุณค่าที่รายงาน EIA ประเมินค่าไม่ได้ เช่น พิธีกรรมและความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นคุณค่าของคนพื้นถิ่น ซึ่งถูกมองข้ามความสำคัญ

คำถามจากชุมชนถึงทุกคนที่เกี่ยวข้อง

  • ทิศทางสิทธิชุมชนท้องถิ่นที่ไม่ได้อยู่ในตัวกฎหมายของรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรในอนาคต เพราะเราเห็นอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญที่บรรจุสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นในกฎหมายไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงนานแล้ว
  • การพัฒนาความมั่นคงใน EIA เป็นเรื่องของใครกันแน่? เป็นพลังงานทางเลือกหรือพลังงานที่ถูกบังคับให้เลือก
  • อำนาจในการกำหนดชีวิตและอนาคตของผู้คนในสังคมอยู่ตรงไหน? ในสังคมการเมืองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆ แล้วคือเผด็จการนิยม 
  • โลกหลังวิกฤตโควิด-19 จะเป็นยังไงต่อ ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่เรายังคงเห็นการผลักดันอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไปจบที่ตรงไหน? 
  • อำนาจที่จะบอกว่าคนในชุมชนต้องการหรือไม่ต้องการอะไร ควรอยู่ที่ใคร? คนที่อยู่ในพื้นที่จริงๆ หรือคนที่อยู่ข้างนอก
กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

ภาพรวมในบริบทสากลโลก

นานาประเทศตั้งใจจะฟื้นฟูประเทศ หลังวิกฤต Covid-19 ด้วยการหันมาพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานแนวคิดการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน ปกป้องระบบนิเวศ แต่จุดยืนของไทยกลับสวนทางโดยการขุดเหมืองถ่านหินเพิ่ม 

สิ่งที่น่ากังวลต่อจากนี้ คือการปกปิดข้อมูลและกีดกันไม่ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมแต่ทำไม (รัฐ) ชอบทำ?