ทะเลเป็นแหล่งอาหารที่คนไทยคุ้นเคยมาเนิ่นนาน เราอาจได้ยินมาตลอดว่าท้องทะเลไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านความมั่นคงทางทรัพยากรปลาทะเลที่เรานิยมบริโภคกำลังลดลงและมีสิทธิ์จะหมดไปในอนาคต 

การลดลงของปลาทะเลไม่ได้ส่งผลแค่ต่อระบบนิเวศ แต่รวมไปถึงชีวิตของชาวประมง ชุมชนชายฝั่ง หรือแม้แต่คนเมืองที่จะต้องจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้ออาหารทะเล วันหนึ่งอาหารทะเลอาจกลายเป็นอาหารที่คนไม่กี่กลุ่มสามารถเข้าถึงได้ 

เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกคุกคาม ความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน ในฐานะผู้บริโภค มีอะไรที่เราทำได้เพื่อปกป้องอนาคตของทะเลได้บ้าง 

สถานการณ์ทะเลไทย

ย้อนไปเมื่อปี 2504 เรืออวนลากเคยจับสัตว์น้ำในอ่าวไทยได้ชั่วโมงละ 298 กิโลกรัม ต่อมาปี 2555 ลดลงเหลือชั่วโมงละ 18.2 กิโลกรัม และปริมาณปลาที่จับได้ยังเป็นลูกปลาเศรษฐกิจที่ยังโตไม่เต็มวัยถึงร้อยละ 34.47 จากปลาจำนวนมากจากที่เคยจับได้ 

สิบกว่าปีหลังนี้ จำนวนสัตว์ทะเลที่จับได้ยังลดลงต่อเนื่อง ปี 2550 ประมงไทยเคยจับปลาน้ำเค็มได้ 2.08 ล้านตัน แต่ปี 61 ลดเหลือแค่ 1.39 ล้านตัน [1] ในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 2553–2562) ปริมาณการจับสัตว์น้ำโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.20 ต่อปี [2]

แผนภูมิเส้นแสดงให้เห็นถึงจำนวนปลาที่จับได้ด้วยวิธีธรรมชาติของไทยจากอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่ปี 2540-2560 | อ้างอิง สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 

ถ้าให้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ คงหนีไม่พ้นปลาที่คนไทยคุ้นเคยทานกันเป็นประจำอย่างปลาทู เมื่อปี 2551 เราเคยจับปลาทูได้ 112,557 ตัน แต่ในปี 61 สามารถจับได้เพียง 17,655 ตัน หรือลดลงกว่า 6 เท่า

“เมื่อก่อนสามารถจับปลาได้มากกว่านี้ แต่ปัจจุบันหาได้มั่งไม่ได้มั่ง และบางวันแทบไม่ได้เลย”  อัศนีย์ วาฮับ ชาวประมงในจังหวัดระนองเล่าให้เราฟัง นี่คืออีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่าทะเลไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

ทำไมปลาทะเลถึงลดลงเรื่อยๆ 

การที่ปลาทะเลที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากประมงทำลายล้างโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย อีกหนึ่งสาเหตุคือการจับปลาเกินขนาด (overfishing) เกินกำลังการผลิตของธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัยผสมพันธุ์

ชาวประมงจับปลาด้วยการใช้อวนหน้าลากหน้าดินที่อ่าวไทย | เครดิต © Athit Perawongmetha / Greenpeace


จริงๆแล้ว การจับสัตว์น้ำที่มากเกินไป ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยอ่อนหรือที่โตเต็มที่แล้วก็ไม่ส่งผลดีในระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น แต่ในปัจจุบันชาวประมงบางส่วนใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เช่น เครื่องปั่นไฟ อวนรุนกับเรือยนต์ หรือใช้ตาอวนที่เล็กกว่ากฎหมายกำหนด กวาดปลาเล็กปลาใหญ่ขึ้นมาพร้อมกันจากท้องทะเล ไม่เหลือไว้ให้สืบพันธุ์  

กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบทั้งที่รู้และอาจไม่รู้ทำคือ การเรียกชื่อผลิตภัณฑ์จากลูกปลาใหม่ในชื่อที่ต่างออกไป เช่นลูกปลาทูก็เป็นปลาทูแก้ว ลูกปลากะตักก็กลายเป็นปลาสายไหม ปลาข้าวสาร ปลาจิ้งจั้งและปลาฉิ้งฉ้าง  ผู้บริโภคหลายคนก็ซื้อไปโดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วคือลูกปลาที่ยังโตไม่เต็มที่ 

ปัจจุบันห้างร้านก็ยังรับผลิตภัณฑ์จากลูกปลาวัยอ่อนเหล่านี้มาขายเรื่อยๆ ทางออนไลน์ก็มีขาย เมื่อคนจับยังขายได้เลยยังมีการจับขึ้นมาขายต่อเรื่อยๆ ตามหลักอุปสงค์อุปทาน  

นี่ไม่ได้เป็นการชี้นิ้วเพื่อบอกว่า “ใครคือคนผิดหรือผู้ร้าย” ของท้องทะเล แต่เป็นการพยายามอธิบายให้เห็นภาพกว้างๆ ของห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงเรากับสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นหากยังไม่มีการจัดการที่เหมาะสม

ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น 

หากเรายังไม่มีมาตรการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ปล่อยให้มีการใช้เครื่องมือทำลายล้าง เช่น เรือปั่นไฟ เรืออวนลากอวนรุน สัตว์น้ำน้อยใหญ่ก็จะถูกกวาดขึ้นมาจากทะเลแบบไม่เลือก ห่วงโซ่อาหารจะถูกทำลาย นำไปสู่การล่มสลายของระบบนิเวศทางทะเล 

การจับสัตว์น้ำวัยอ่อนยังส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจด้วย สัตว์น้ำขนาดเล็กได้ราคาต่ำกว่าขนาดใหญ่อยู่แล้ว ใน 1 กิโลกรัมเท่ากัน สัตว์น้ำวัยอ่อนมีจำนวนตัวเยอะกว่ามาก ถ้าปล่อยให้สัตว์น้ำเหล่านี้โตเต็มวัย จะกลายเป็นสัตว์น้ำหลายกิโลกรัม ราคาก็เพิ่มขึ้น จำนวนกิโลก็เพิ่มขึ้น นี่คือความต่างในมูลค่าทางเศรษฐกิจ

สัตว์น้ำที่ถูกจับด้วยอวนลากหน้าดินที่อ่าวไทยทำให้ติดสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นมาด้วย | เครดิต © Athit Perawongmetha / Greenpeace

ลองคิดดูง่ายๆ ถ้าซื้อปลาทู 1 กิโลกรัม จะได้ลูกปลาทู 1,000 ตัว รออีกสักประมาณ 6 เดือนปลาทูเหล่านี้จะหนัก 10-15 ตัวต่อกิโล มูลค่าของปลาทูเหล่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 70-80 เท่าในระยะเวลาแค่ครึ่งปี

นอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ถ้าปล่อยให้ปลาทูโตขึ้นอีกหน่อย เนื้อปลาทูที่โตเต็มวัยย่อมอร่อยกว่าปลาทูตัวเล็กๆ โดยเฉพาะเนื้อปลาทูไทยที่มีรสชาติพิเศษต่างจากปลาทูนำเข้า ด้วยเพราะปลาทูไทยอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ 

ผู้บริโภคในไทยหลายคนยังเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนเพียงคนเดียวเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โดยหารู้ไม่รู้ว่าตนเองนั้นมีพลังในการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องทรัพยากรมากเพียงใด 

ในหลายๆประเทศ(ที่เจริญแล้ว) ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสิทธิของผู้บริโภค ตั้งแต่การมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าที่สะอาดปลอดภัย การเข้าถึงข้อมูลแหล่งที่มา การเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเรียกร้องเพื่อความเปลี่ยนแปลง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ผลิตต้องโปร่งใสตั้งแต่ขั้นตอนการจับ การผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการตรวจสอบและรับข้อร้องเรียน 

ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภค หากเราอยากทานเนื้อปลาทะเลอร่อยๆ ปกป้องอาหารทะเลเพื่อคนรุ่นต่อๆไปมีอาหารทะเลทานไม่หมดสิ้น ก็ควรเริ่มจากการเข้าใจการเลือกซื้ออาหารทะเล เช่น การเลือกซื้อสัตว์น้ำที่รู้แหล่งที่มาและใช้วิธีจับปลาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเลิกสนับสนุนการบริโภคสัตว์น้ำวัยอ่อน เพื่อปล่อยให้พวกมันได้เติบโตและสืบพันธุ์ออกลูกออกหลาน 

อ่านถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัย ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวไหนคือสัตว์น้ำวัยอ่อน เรามีขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำแต่ละชนิด ไม่ถึงกับต้องใช้ไม้บรรทัดวัด แค่ลองกะเอาง่ายๆด้วยสายตา หรือจะโหลดคู่มือเลือกอาหารทะเลเก็บไว้ใช้

นอกจากนั้นยังสามารถช่วยกันส่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ที่ https://www.change.org/babyseafood 

เสียงของผู้บริโภคจะส่งไปถึงห้างร้านเพื่อเรียกร้องให้หยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน และในวันที่ไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนขาย ปริมาณการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนก็จะลดลง เหมือนการส่งสัญญาณทางอ้อมให้รู้ว่า เราต้องการอาหารทะเลที่มาจากผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม


อ้างอิง

[1] สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561: https://opendata.nesdc.go.th/dataset/74fba229-ed6e-4cbf-8f0c-5d26893f6f93/resource/75f18e78-6a9b-45e1-b223-6f481f6b575b/download/-2561.pdf

[2] ผลผลิตของการประมงไทย ปี 2563: https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20200922100212_1_file.pdf

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม