สรุปประเด็นที่น่าสนใจจากไลฟ์ “พลังงานถ่านหินกับอุตสาหกรรมไทย : ตีแผ่เบื้องหลังการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไทยและ EIA กับสิทธิชุมชน” ตอนที่ 1 โดย Greenpeace X EnLAW บรรยายโดย สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ ธารา บัวคำศรี กรีนพีซ ประเทศไทย
“ถ่านหิน” เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มนุษย์ใช้มานานหลายศตวรรษ เป็นทรัพยากรที่กระจายอยู่ทั่วโลก ขุดใช้งานได้อีกหลายร้อยปี แต่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม การเผาไหม้ถ่านหิน เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์เข้าไปสะสมในชั้นบรรยากาศ นำไปสู่ “ภาวะโลกร้อน” จนกลายเป็นเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ถึงเวลาชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ท่ามกลางกระแสที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเพิ่มแผนรับมือภาวะโลกร้อน และรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทว่าก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอุณหภูมิโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น 1.5 องศาและผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ผลักดัน รายงาน “Net Zero By 2050” รายงานฉบับแรกที่ศึกษาว่า ทั้งโลกจะสามารถเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้อย่างไรโดยยังคงรักษาเสถียรภาพ ความคุ้มค่าและความเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงเอาไว้ ส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจภาคพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด มีพลวัฒน์และยืดหยุ่น โดยมีพลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิล
รายงานฉบับดังกล่าวยังแสดงผลการทดลองปัจจัยที่ไม่แน่นอนอย่างชีวพลังงาน การกักเก็บคาร์บอนและพฤติกรรมที่อาจเปลี่ยนแปลงระหว่างทางไปสู่ Net Zero เพื่อให้เกิดข้อเสนอให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกควรจะหยุดการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการอยู่จะต้องค่อย ๆ ปลดระวางและลดการใช้พลังงานถ่านหินให้น้อยลง โดยข้อเสนอแนะขององค์กรมีใจความสำคัญ ดังนี้
- ทั้งโลกต้องตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 เพื่อชะลอไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศา
- หยุดสร้างและขยายเหมืองถ่านหิน
- หยุดอนุมัติการสำรวจแปลงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
- ไม่อนุมัติโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (unabated) เริ่มในปี 2021
- เลิกใช้รถยนต์พลังงานน้ำมันภายในปี 2035
- ปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำมันที่ไม่มีเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน ภายในปี 2040
*หากสามารถทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้จะทำให้ความต้องการถ่านหินลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ในอีก 30 ปี
เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน โบกมือลาพลังงานถ่านหินสกปรก
สิ่งที่ต้องเข้ามาแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลคือ พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องเพิ่มการเติบโตขึ้น 4 เท่า ถึงจะแซงการใช้พลังงานจากถ่านหิน และเลิกใช้รถยนต์ใช้น้ำมันเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่และจะต้องเติบโตขึ้นกว่า 18 เท่า

ขณะเดียวกัน แนวร่วมนักลงทุนที่รับผิดชอบองค์การสหประชาชาติ (United Nations Principle Responsible Investor – UNPRI) ทำรายงานภายใต้โครงการ Inevitable Policy Responseและนำเสนอสิ่งที่รัฐบาลนานาชาติจะต้องทำผ่าน“ นโยบายสาธารณะด้านความยั่งยืนในปี 2021” โดยประเมินว่า
- จะมีการใช้กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustments Mechanisms:CBAMs) คาดว่าสหรัฐอเมริกาจะประกาศระบบราคาคาร์บอนภายในปี 2025 และในยุโรปจะมีการดันราคาคาร์บอนขั้นต่ำต่อตันให้สูงขึ้น โดยสินค้าที่เข้ามาในสหภาพยุโรปจะต้องชำระภาษีคาร์บอนในอัตราเดียวกันกับสินค้าในสหภาพยุโรป
- สินค้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหินอาจถูกเก็บภาษีคาร์บอน ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจึงทำให้เสียเปรียบทางการค้ากว่าสินค้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน
ข้อเสนอจากรายงานถึงรัฐบาลมหาอำนาจและภาพรวมอุตสาหกรรมถ่านหินทั่วโลก
- จีนจะต้องหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่อย่างสิ้นเชิงหลังปี 2025
- รัฐบาลอินเดียประกาศ ยุติการลงทุนสร้างเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่
- สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2030 และบังคับใช้มาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมาตรฐานพลังงานสะอาด (Clean Power Standard) ภายในปี 2040
- จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และเกาหลีใต้ จะยกเลิกการขายรถยนต์และรถตู้ที่ใช้น้ำมันภายในปี 2035 ผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
- ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำจะบังคับให้อุตสาหกรรมหนักเป็นโรงงานคาร์บอนต่ำภายในปี 2040
*ข้อสังเกตที่น่าสนใจ
การลงทุนถ่านหินมีความเสี่ยงสูง ราคาหุ้นในปัจจุบันอาจกำลังแพงเกินจริง เนื่องจากในอนาคตเชื้อเพลิงฟอสซิลจะกลายเป็นสินทรัพย์สูญเปล่าเพราะไม่สามารถขุดขึ้นมาใช้ได้จากมาตรการจำกัดการปล่อยคาร์บอน

ภาพรวมอุตสาหกรรมถ่านหินในไทย
ไทยนิยมนำเข้าถ่านหินมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้ความร้อนในงานอุตสาหกรรมมากที่สุด รองลงมาคือใช้ในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชน และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev. 1) กล่าวถึง“ไฟฟ้าจากถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,200 เมกะวัตต์” มีการรับซื้อไฟฟ้าจากลาวในโครงการหงสาลิกไนต์ 1,473 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะสร้างเครื่องทดแทนเครื่องที่ 8-9 ขนาด 600 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงหลัก ทั้งนี้ แผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยใช้ตัวเลขประมาณการที่สูงเกินจริง
- แผนการสร้างโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินในอนาคต ทำให้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น เป้าหมายสำคัญที่จะลดภาวะโลกร้อนคงเป็นไปไม่ได้
- นอกจากนี้และยังมีการสำรวจพื้นที่ทั้งในและนอกประเทศอย่างน้อย 14 พื้นที่ สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหิน ทั้งในไทย ลาว และเมียนมาร์ ทั้งที่ไม่จำเป็น
- ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมีความเสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ส่งผลต่อวิถีชีวิตและระบบนิเวศโดยรอบ
ชม Live เสวนา พลังงานถ่านหินกับอุตสาหกรรมไทย : ตีแผ่เบื้องหลังการใช้ถ่านหินในอุตสาหกรรมไทยและ EIA กับสิทธิชุมชน วันที่ 1 ในประเด็น ‘ทิศทางพลังงานถ่านหินไทยในปี 2564’ ย้อนหลัง

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป
มีส่วนร่วม