“เหตุการณ์นี้เหมือนเดจาวู ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วในอนาคตก็จะเกิดอีก” ดร.สมนึก จงมีวศิณ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาค​ตะวันออก (EEC Watch) เริ่มต้นการพูดคุยในเวทีเสวนา “#ผนงรจตกม: ปัดตกกฎหมาย! ผู้ก่อมลพิษไม่ต้องจ่าย?” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม EEC Watch และกรีนพีซ ประเทศไทย จากกรณีการระเบิดและอุบัติภัยเพลิงสารเคมีจากถังเก็บโพลีสไตรีน(polystyrene) และเพนเทน(pentane) ซึ่งเป็นสารเคมีตั้งต้นในการผลิตโฟม EPS (Expandable Polystyrene)ของ  บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ในเครือ Ming Dih Group จากไต้หวัน

ดร.สมนึก จงมีวศิน มองว่า เป็นเรื่องเจตนา เพราะโรงงานตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม เดิมที่กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง การตั้งโรงงานนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมทำให้โรงงานไม่มีหน่วยงานไหนมาตรวจสอบ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นมา ขอบเขตของความเสียหายทั้งทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจึงกระจายตัวกว้างมาก ในเขตจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด ซึ่งรวมพื้นที่โรงงานหมิงตี้ด้วยได้รับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในปี พ.ศ.2537 และที่ตั้งของโรงงานหมิงตี้เป็นสีแดงตามประกาศของกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยและชุมชนหนาแน่น ต่อมาปี พ.ศ.2560-2561 โรงงานขอยื่นเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็นพันกว่าเปอร์เซ็น หมายความว่า ก่อนหน้านี้ผลิต 2,400 ตัน/ปี ขยายขึ้นไปเป็น 32,000 ตัน/ปี ถ้าอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมจะต้องทำ EIA แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่า กรณีนี้ไม่ได้ขอขยายโรงงาน เป็นแค่การขยายกำลังการผลิต ดังนั้น จึงไม่ต้องทำอะไรเลย

เราในฐานะประชาชนจึงต้องตั้งคำถามว่า ทำไมหน่วยงานรัฐจึงไปแก้พระราชบัญญัติกรมโรงงานและพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมให้ยิ่งอ่อนแอ ดร.สมนึก มองว่า เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายหย่อนยานแบบนี้ รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรีปัดตกกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers-PRTR) ซึ่งภาคประชาชนเสนอมานานแล้ว กฎหมายนี้ใช้ติดตามวัตถุดิบที่เข้ามาในโรงงาน แล้วถูกย้ายไปอยู่ตรงไหนบ้าง ผลิตภัณฑ์ที่มีพิษ/กากของเสียจากการผลิตไปอยู่ตรงไหน เราสามารถติดตามได้หมด

สิ่งที่สำคัญคือคน ภาครัฐลงทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้วหรือยัง สารเคมีต่าง ๆ ที่ลอยตัวขึ้นไปหลายกิโลเมตรกระทบใครบ้าง ถ้ามีกฎหมาย PRTR จะทำให้รู้ว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต เช่น ปลาในอ่าวไทย คนกินปลาที่มีสารพิษเข้าไปแล้วเป็นโรค ยิ่งระยะยาวยิ่งสะสมไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลกระทบ

คำถามคือทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้ตั้งโรงงานนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำไมอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยให้มีการขยายกำลังการผลิตได้ขนาดนี้ พอเกิดเหตุระเบิดขึ้น ความเสียหายมีมหาศาลมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะสั้น และเรื้อรัง สิ่งนี้สะท้อนว่ารัฐไทยล้มเหลวหมด ผมอยากให้กรณีนี้เป็นกรณีสุดท้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย”  

ดร.สมนึก จงมีวศิณ กล่าวไว้น่าคิดว่า “กฎหมายที่พยายามร่างเพื่อปกป้องประชาชนมีอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่ผ่านออกมา เป็นกฎหมายที่ไม่ปกป้องประชาชน ไม่ปกป้องสิ่งแวดล้อม กลับปกป้องนายทุนไทยและต่างชาติให้เขาอยู่ดีกินดี แล้วประชาชนแบกรับมลพิษต่าง ๆ แทน”

มูลค่าความเสียหายที่ชี้วัดได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท !! 

สมบัติ เหสกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เผยข้อมูลด้านความเสียหายตามหลักเศรษฐศาสตร์ 

“ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า สารเคมีที่ถูกไฟไหม้คือสไตรีนโมโนเมอร์ ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งเมื่อมีการเผาไหม้ และปนเปื้อนในน้ำใต้ดินและแม่น้ำลำคลอง ประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถาม มันไปไกลแค่ไหน มันเป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบตามมา อาสาสมัครที่เข้าไปช่วยดับไฟและก็ไม่มีชุดป้องกันสารเคมีเลยและสูดควันเข้าปอดกันเต็มที่ ผลกระทบที่เกิดจากการสูดสารเคมีเข้าปอดนี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ในการพิสูจน์ เช่น สารเคมีระเบิดที่ท่าเรือคลองเตย ซึ่งใช้เวลาถึง 25 ปีกว่าจะพบว่าเป็นมะเร็ง แล้วให้ศาลตัดสิน สุดท้ายได้ค่าชดเชยล้านกว่าบาท ! ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง 

การคิดค่าเสียหาย สำหรับประเทศไทย กฎหมายยังไม่ชัด ประเทศไทยมีแค่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่วางกรอบเอาไว้ เรื่องการเก็บหลักฐานยังไง แต่ยังไม่มีกรอบในรายละเอียด ผู้พิพากษาอาจวางกรอบผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มองเห็นชัดและนับได้ง่าย แต่เรายังไม่มีกรอบและหลักคิดของสิ่งที่นับไม่ได้ ซึ่งต้องใช้การประมาณการ คาดการณ์ และการตัดสินใจทางการแพทย์ 

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อย่ามองแค่เรื่องอากาศ คุณภาพอากาศดี เราต้องไปสังเกตขื่อบ้าน ฝุ่นควัน ทางลม ใต้หลังคา ฝุ่นควันที่เกาะตามขื่อเต็มไปหมดเลย เหมือนสารเคมีเกาะตามฝ้าเพดาน ถ้ามีเศษน้ำมัน จะติดแน่นเป็นสีดำ อาจจะนำไปสู่ปัญหาผิวหนังได้ กรณีน้ำที่ปนเปื้อน สัตว์น้ำในแหล่งน้ำ ยังไม่มีใครพูดถึง ความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องสูญเสียไป ขยะสารพิษ ทั้งหมดคือมูลค่าความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม  

ความเสียหายต่อสุขภาพ ต้องดูทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นั่นคือ

(1) ผลกระทบฉับพลัน (Acute) เช่น อาการที่แสดงออกทางร่างกายผิวหนัง การมองเห็น ทางเดินหายใจ เป็นต้น แม้ว่าในตอนนี้จะมีผู้เสียชีวิต 1 คน แต่ตามหลักการแพทย์จะต้องนับระยะเวลาใน 30 วัน 

(2) ผลกระทบแสดงผลต่อเนื่อง/เรื้อรัง (Chronic) ซึ่งใช้ระยะเวลาหลายปีและอาจจะไม่หายขาด เช่น ประชาชนโดนสารเคมีที่ผิวหนัง 

(3) ผลกระทบอย่างต่อเนื่อง (Cumulative) อาการไม่แสดงออกในปัจจุบัน แต่เริ่มแสดงออกเมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง เช่น มะเร็ง เป็นต้น

ตามทฤษฎีระบุว่า จุดวงกลมสีแดงมีความเสียหายมากที่สุด แต่ในสภาพจริงยังมีทิศทางลม ฝนและน้ำไหลด้วย ดังนั้น มลพิษจะเคลื่อนย้ายแบบรูปด้านขวา ตามวงกลมสีฟ้าที่กระจายไปทั่วตามลำคลอง ลมและฝน เมื่อเกิดเหตุการณ์ เราไม่มีข้อมูลนี้ ดังนั้น เมื่อลงพื้นที่สำรวจแล้วพบว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน จึงอาจไม่ใช่สภาพที่เกิดขึ้นจริง  

ค่าเสียหายหนักที่สุดคือ ขั้นตอนที่ 6 และ 7 ขั้นตอนของการฟื้นฟูและการคืนสภาพ ทำให้คนกลับมามีสุขภาพที่ดีถือเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่เคยพูดถึงกันเลย

เส้นสีเหลืองคือระดับมลพิษที่วัดได้ แต่เมื่อมลพิษสะสมตัว จะเป็นเส้นสีเขียว ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเรา ซึ่งเป็นเส้นสีชมพูลดลง เมื่อคุณภาพชีวิตของเราลดลง จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จุดตัดกันระหว่างสีเขียวกับสีชมพู คือ จุดที่คนทนกับปัญหามลพิษไม่ได้ ทนได้สุดแค่นี้ ถ้าไปมากกว่านี้ คือ รับไม่ไหว

ความเสียหายที่ภาครัฐต้องให้ผู้ก่อมลพิษจ่าย ทั้งการจัดการมลพิษ งบประมาณที่ใช้ และค่าเสียโอกาสจากการใช้งบประมาณ จากการประมาณเบื้องต้น มูลค่าความเสียหายที่ชี้วัดได้อยู่ในราว 3,000 – 4,000 ล้านบาท และมูลค่าความเสียหายที่ต้องรอการชี้วัดอย่างต่อเนื่องตามขอบเขตที่ได้รับผลกระทบ เช่น ความเจ็บป่วยในอนาคตของประชาชน ฯลฯ ประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาท

สมบัติ เหสกุล มีข้อเสนอต่อภาครัฐ ดังนี้ 

  • ค่าความเสียหายที่รัฐบาลเข้าไปจัดการ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยดับไฟ จัดการภัยพิบัติต่าง ๆ นี่คือต้นทุนทั้งหมด 
  • ค่าเสียโอกาสตามหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์  เงินก้อนที่จะเอาไปจัดการภัยพิบัติ ถ้าเราไม่เอาเงินก้อนนั้นไปจัดการภัยพิบัติ เราจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง แล้วเราไปเรียกค่าเสียหายกับโรงงานหมิงตี้
  • รัฐต้องเตรียมเงินเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม บำบัด ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว 
  • รัฐบาลต้องมองประเด็นด้านสุขภาพในระยะยาวและในเชิงเรื้อรัง เช่น กรณีคลองเตย คนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ใช้เวลารักษาตัว 25 ปี 
  • ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการไม่ควรจำกัดเฉพาะนักวิชาการ ผู้ที่มีความรู้ แต่ควรนำคนที่อยู่ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะประชาชนในพื้นที่จะรู้เรื่องทางสิ่งแวดล้อม และสังคมมากกว่านักวิชาการที่เข้าไป 

ข้อสงสัยคือ ทำไมรัฐไม่ประกาศว่าพื้นที่ที่เกิดเหตุเป็นเขตเสี่ยงภัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคนที่ควรจะเข้าไปกำกับดูแลควรจะเป็นระดับรัฐมนตรี และประชาชนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการและเงินเอามาจากก้อนไหน ถ้าไม่มีความเสียหายจากรัฐที่เป็นตัวเลข แล้วเราจะเอาไปคิดค่าเสียหายต่อผู้ก่อมลพิษได้อย่างไร

อ่านเอกสารนำเสนอการประเมินมูลค่าความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ได้ที่นี่

สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมปฏิเสธที่จะรับผิดชอบในกรณีนี้ไม่ได้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอัยการจะทำงานอย่างกระตือรือร้นหรือไม่ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเก็บรวบรวมหลักฐาน วิเคราะห์ค่าเสียหาย และเยียวยาอย่างเป็นธรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเปิดช่องการร้องเรียนและดำเนินการกับผู้ก่อมลพิษในการเอากำไรที่เขาเคยได้ไป หรือทรัพย์สินที่เขามีในบริษัทมาจ่ายให้ผู้เสียหาย คำถามคือ จะมีการทำงานเชิงรุกขนาดนี้ได้ไหม 

การรอฟ้องคดีใช้เวลานานมาก ระหว่างทางอาจมีกรณีโรงงานที่ก่อเหตุโยกย้าย ทรัพย์สินหายไป หรือล้มละลาย แต่ในเวลานี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอัยการจะกระตือรือร้นได้หรือไม่ ในส่วนของสุขภาพ ทำอย่างไรที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับควบคุมและมีอำนาจที่จะดำเนินการ ประสานกับกระทรวงสาธารสุขตั้งศูนย์ตรวจสุขภาพประชาชน/อาสาสมัครดับเพลิง/นักข่าวในช่วงเกิดเหตุ ที่มีความเสี่ยง กระทรวงสาธารณสุขน่าจะทราบว่า จะต้องตรวจใครบ้างและต้องตรวจตรงไหนที่บ่งชี้ว่าเขามีความเสี่ยงอะไรในอนาคต เพราะทางการแพทย์ ถ้าได้รับสารเคมีบางตัว จะชี้ได้ว่า เขามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในอีกกี่ปีและในระดับไหน ซึ่งการตรวจจะนำไปสู่การประเมินค่ารักษาพยาบาลในอนาคตได้ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ หมิงตี้เคมิคอลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด 

การตรวจวัดค่ามลพิษทางสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ มีอาสาสมัครกลุ่มต่าง ๆ เข้าไปตรวจ ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นระบบที่ชัดเจนจากภาครัฐ และรัฐควรรายงานผลถึงค่าต่าง ๆ ที่ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนเฝ้าระวังด้านสุขภาพและการใช้ชีวิตของตนเอง และสามารถใช้เป็นการประเมินค่าความเสียหายในการฟื้นฟู เรามีบทเรียนจากกรณีคลิตี้และสารเคมีระเบิดที่คลองเตยแล้ว ควรจะทำให้เรามีบทเรียนและมาตรการวางแผนเรื่องเงินกองทุน เงินประกัน รัฐควรเร่งประเมินเพื่อเอาเงินจากโรงงานมาใช้ในการฟื้นฟูในตอนนี้ให้ได้ ไม่ใช่ไปฟื้นฟูก่อนแล้วค่อยมาเรียกจากโรงงานหรือแหล่งก่อมลพิษ เงินของโรงงานก็หมดไปแล้ว แล้วประชาชนไปเอาเงินเยียวยาจากไหน 

ผู้ก่อมลพิษ ยังไงก็ต้องจ่าย แต่… 

ด้านทนายความอิสระ ชำนัญ ศิริรักษ์ ให้ความเห็นว่า ยังไงผู้ก่อมลพิษก็ต้องจ่าย ในทางกฎหมายตามหลักการละเมิด โรงงานถือว่าเป็นผู้ครอบครองวัตถุอันตราย ทำให้คนอื่นได้รับอันตราย โรงงานต้องรับผิดชอบ ในกรณีที่เป็นการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะไปอยู่ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอายุความที่มากกว่า ดังนั้น โดยหลักการเยียวยาและฟื้นฟูที่มีในปัจจุบัน มีการรับรองอยู่แล้วว่า ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย   

หมิงตี้เคมิคอลทำประกันภัยไว้ 400 ล้าน มีอยู่สามกรมธรรม์ และกรมธรรม์ที่ชดเชยให้บุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบมีแค่ 20 ล้านเท่านั้น เท่ากับว่าอีก 300 กว่าล้านบาทเป็นราคาของความเสียหายของโรงงาน ซึ่งจะจ่ายกลับไปให้โรงงาน ดังนั้น คำแนะนำให้คนที่ได้รับผลกระทบในตอนนี้ คือ เก็บหลักฐานไว้ไปแจ้งความเป็นหลักฐาน แล้วเอาไปเรียกร้องกับบริษัทประกัน ใครเรียกร้องเร็วก็ได้เงินเร็ว เพราะวงเงินมีจำกัด ถ้าเงินประกันหมดแล้วยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบ คนที่ต้องจ่ายก็คือ โรงงานต้องรับผิดชอบส่วนเกินที่เหลือ แต่…ไม่เคยมีโรงงานไหนที่จ่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้เลย สุดท้ายแล้ว บริษัทนั้นล้มละลายกันหมด 

แล้วหลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชนมีอยู่ไหม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2562 ที่มีการประกาศแก้ไขใหม่ ในส่วนของเงื่อนไขการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่กำหนดว่าต้องมีเงินเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนนั้นหายไป! ดังนั้น ควรคิดย้อนกลับไปตั้งแต่การก่อตั้งโรงงานหรือแหล่งกำเนิดมลพิษเลยว่า ระบบที่มีอยู่ไม่เอื้อกับการรับรองการชดใช้ค่าความเสียหายเลย แล้วทำยังไงจะคุ้มครองสิทธิมากกว่านี้ 

โรงงานมาตั้งก่อนชุมชนแล้วชุมชนขยายเข้าไปใกล้โรงงานเอง แบบนี้โรงงานไม่ผิดใช่หรือไม่ ดร.สมนึก จงมีวศิณ กล่าวว่า “ถ้าชุมชนขยายเข้าไป โรงงานต้องย้ายออกจากชุมชน เพื่อไปอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม มีการกำหนดพื้นที่กันชนไว้ มีระบบป้องกันและเตือนภัย และการกู้ภัยต้องไม่ใช่อาสาสมัคร ต้องเป็นทีมที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเท่านั้น”

ชมบันทึกการพูดคุย “#ผนงรจตกม: ปัดตกกฎหมาย! ผู้ก่อมลพิษไม่ต้องจ่าย?” ได้ที่นี่