เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าตอนนี้ทั่วโลกมีป่าฝนเขตร้อนที่สำคัญเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือป่าดงดิบแอมะซอน  ซึ่งเป็นอาณาเขตของระบบนิเวศป่าไม้ที่หลากหลาย นอกจากป่าดงดิบแอมะซอนแล้ว ผืนป่าอินโดนีเซียนั้นถือเป็นระบบนิเวศป่าฝนเขตร้อนขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผืนป่าแห่งนี้กำลังถูกทำลายในอัตราที่รวดเร็วกว่าผืนป่าแห่งอื่นๆทั่วโลก 

การเข้ามาของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันนั้น มีการแผ้วถางพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์มากมายให้กลายเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้ความสามารถในการผลิตอากาศบริสุทธ์และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศของป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียลดลง ผลที่ตามมาคือ เราจะคงอุณภูมิของโลกไม่ให้ร้อนเกินไปกว่านี้ได้ยากขึ้น และทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น เราจะเผชิญเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) ที่รุนแรงอย่างคาดไม่ถึงทั่วโลก

Papua Forest Destruction, Indonesia. © Greenpeace
ภาพการถางป่าเพื่อปลูกปาล์ม และนำเอาไปใช้ในการทำปาล์มน้ำมัน ในปาปัว อินโดนีเซีย © Greenpeace

หลายปีที่ผ่านมา ชุมชนพื้นเมืองและภาคประชาชนต่างรวมกลุ่มออกมาคัดค้านการทำลายผืนป่าเป็นวงกว้างของอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งกรณีการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตก็เกิดขึ้นหลังจากที่ชุมชนพื้นเมืองในปาปัวตะวันตกรวมตัวกันปกป้องสิทธิของพวกเขาต่อผืนป่าจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

ล่าสุด ในปี 2564 นี้ รัฐบาลท้องถิ่นในปาปัวตะวันตก อินโดนีเซีย เพิกถอนใบอนุญาตการทำปาล์มน้ำมัน 12 บริษัท ที่จะทำลายพื้นที่ป่าถึง 1 ใน 4 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณเนื้อที่เมืองลอสแองเจลิส 2 เท่า เนื่องจากบริษัทผู้ถือใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 

หลังจากการสืบค้นข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่องค์กรต่อต้านการคอรัปชั่นของประเทศรวมทั้งภาคประชาชนทำให้ทราบว่าใบอนุญาตปลูกปาล์มในพื้นที่ของบริษัททั้ง 9 บริษัทหมดอายุ ซึ่งขณะที่กำลังดำเนินเรื่องการต่ออายุใบอนุญาต แต่พวกเขากลับถางผืนป่าไปก่อน นั่นหมายถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังมีอีก 3 บริษัทที่ใบอนุญาตของพวกเขาหมดอายุลงแล้ว และยังไม่ได้ดำเนินการต่ออายุ

Save Papua Forest Action in Jakarta. © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซอินโดนีเซีย จัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติการให้สัมปทานผืนป่าเพื่อการทำอุตสาหกรรมน้ำมัน หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ของอินโดนีเซีย © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

นอกจากในแง่กฎหมายแล้ว ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังมีการร่วมต่อสู้คัดค้านการให้สัมปทานพื้นที่ป่าเพื่อทำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมาอย่างต่อเนื่องของชาวพื้นเมืองท้องถิ่นและเครือข่ายภาคประชาชนในอินโดนีเซีย เพราะผืนป่ากว้างใหญ่นี้ไม่ใช่ผืนป่าโล่งๆไร้ผู้อาศัย ยังมีชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ที่นี่มาเป็นระยะเวลายาวนาน

เราจะอยู่อย่างไรหากไร้ซึ่งผืนป่า

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวพื้นเมืองมากกว่า 200 หมู่บ้านรวมกลุ่มเดินทางไปที่ออฟฟิศของตำบล เซาท์ โซรอง (South Sorong) เพื่อผลักดันการปกป้องป่าจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาการออกใบอนุญาตอีกครั้ง

“เราเป็นชาวพื้นเมือง Tehit ซึ่งมาวันนี้เพื่อคัดค้านอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม” Yuliana Kedemes แกนนำกลุ่มชาวพื้นเมืองกล่าว “เราจะไม่ให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาในบ้านของเราซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นบ้านของลูกหลานของเราในอนาคตเช่นกัน ดังนั้นเราจึงมาเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเพิกถอนใบอนุญาตการทำน้ำมันปาล์ม”

วิถีชีวิตของชุมชนในบริเวณป่าฝนเขตร้อนและบริเวณใกล้เคียงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงหลังการเข้ามาของอุตสาหกรรมนำ้มันปาล์มยักษ์ใหญ่ นอกจากจะทำให้แหล่งอาหารที่เคยมีอยู่ลดลงแล้ว การเผาป่าเพื่อปลูกปาล์มในฤดูใหม่ทำให้เกิดหมอกควันในปริมาณมหาศาล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในอินโดนีเซีย

Indigenous People in the Rainforest of West Papua. © Markus Mauthe / Greenpeace
กลุ่มชนพื้นเมือง Kowowai กำลังเดินอยู่ในป่าฝนเขตร้อน ปาปัวตะวันตก (ภาพส่วนหนึ่งจากโปรเจค “Markus Mauthe – Edges of the world“ ร่วมกับกรีนพีซเยอรมนี) © Markus Mauthe / Greenpeace

การพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกนี้เองที่เป็นสาเหตุของการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าและป่าพรุของอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2558 ความเสียหายได้แผ่ขยายไปทั่วเกาะสุมาตรา กาลิมันตันและปาปัว ไฟป่าก่อให้เกิดหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่านับล้านคนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและโคลัมเบียประเมินว่าหมอกควันข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียในปีพ.ศ.2558 อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 100,000 คน ธนาคารโลก(World Bank) ประเมินค่าความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนี้อยู่ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty International ยังเปิดเผยถึงข้อมูลที่บริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเหล่านี้ลักลอบใช้แรงงานเด็กและคนในชุมชนอีกด้วย

ชัยชนะครั้งนี้ในปาปัวตะวันตก จะเป็นก้าวสำคัญต่อการต่อสู้เพื่อปกป้องป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซีย เพื่อทวนกระแสการทำลายธรรมชาติ ผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องรับฟัง สนับสนุน และเคารพชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างใกล้ชิดและยาวนานกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์ รัฐจะต้องรับรองสิทธิในที่ดินของคนท้องถิ่นและชนพื้นเมือง และเป็นผู้นำในการวางแผนและจัดการพื้นที่คุ้มครอง และจัดหาเครื่องมือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องสิทธิเหล่านี้

Primary Forest in Papua. © Ulet  Ifansasti / Greenpeace
ร่วมปกป้องป่าฝนเขตร้อน

ป่าฝนเขตร้อนที่เป็นบ้านของอุรังอุตังกำลังถูกทำลายจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากเราไม่ทำอะไรเลย ถิ่นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์ป่าจะถูกทำลาย

มีส่วนร่วม