ตัวเลขค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศสำคัญอย่างไรและเราจะทำอย่างไรได้บ้างในวันนี้

เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัว “รายงานคุณภาพอากาศโลกปี พ.ศ.2561” ซึ่งเป็นรายงานการจัดอันดับขคุณภาพอากาศของประเทศ เมืองหลวงและเมืองต่างๆ ทั่วโลกที่เผชิญกับมลพิษทางอากาศมากที่สุดและน้อยที่สุด โดยข้อมูลที่นำมาใช้ในการประมวลนั้นเป็นข้อมูลจากทั้งสถานีตรวจวัดภาคพื้นดินของหน่วยงานรัฐและเครื่องตรวจวัด PM2.5 แบบ IQAir AirVisual ที่เป็นของส่วนบุคคลหรือองค์กรต่างๆ  ซึ่งเป็นสถานีตรวจวัดตามเวลาจริงหรือใกล้เคียงเวลาจริงที่สุดจากทั่วโลก ซึ่งนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำรายงานเช่นนี้ขึ้น

ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 23 จาก 73 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 24 จาก 62 เมืองหลวงทั่วโลกที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุด

3+1 วาระสำคัญที่ภาครัฐต้องเปลี่ยน

คุณจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ให้โจทย์สำคัญแก่ภาครัฐที่ต้องกำหนดในวาระแห่งชาติ 3 ข้อ คือ

  • เปลี่ยนค่ามาตรฐานใหม่เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ยหนึ่งปี
  • ติดตั้งสถานีวัด PM2.5 ในทุกจังหวัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
  • กำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกำเนิดที่อยู่กับที่รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าโดยให้เป็นรายชื่อมลพิษเป้าหมาย (target substances/pollutants) ที่ถูกกำหนดขึ้นภายใต้ระบบทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อยย้ายมูลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers: PRTR)

ทั้งนี้ความเร่งด่วนที่กรมควบคุมมลพิษสามารถดำเนินการได้ทันทีคือ

  • การนำเสนอข้อมูลบนแอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษให้Real Time รายชั่วโมง ไม่ใช่การนำค่าเฉลี่ยPM2.5 24 ชั่วโมงย้อนหลังมาแสดงผลต่อประชาชน

อ่านเพิ่มเติม: ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก

ตัวเลขและสี

การกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ (Air Quality Index standard) มีความสำคัญ คือ เป็นเพดานให้หน่วยงานรัฐต้องจัดการหรือกำหนดมาตราการดำเนินการกับต้นตอปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อควบคุมให้คุณภาพอากาศโดยรอบ (Ambient air) หรืออากาศโดยทั่วไปมีคุณภาพไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้

Air Quality Index (average/year)
เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ
องค์การอนามัยโลก (WHO) สหรัฐอเมริกา ไทย
เฉลี่ย 24 ชั่วโมง 25 35 50
เฉลี่ย 1 ปี 10 12 25

โดยหลักการในการอ่านดัชนีคุณภาพอากาศนั้นคือ ยิ่งตัวเลขน้อย อากาศยิ่งดี

มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นได้สรุปมาจากการศึกษาว่าเป็นค่าความเข้มข้นที่ต่ำที่สุดที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจขึ้นมากกว่า 95% ว่าการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจจะไม่เกิดขึ้นจากการสัมผัส PM2.5 ที่มีความเข้มข้นดังกล่าวในระยะยาว

อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศนั้นใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศไม่เหมือนกัน เช่น ที่สหรัฐอเมริกากำหนดมาตรฐาน PM2.5 ไว้ที่ 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงและ 12 ไมโครกรัมต่อลูกลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 1 ปี ในขณะที่ไทยกำหนดไว้ที่ 50 สำหรับ 24 ชั่วโมงและ 25 สำหรับ 1 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อตัวเลขมาตรฐานเปลี่ยนแล้วสีต่างๆ ที่ใช้ระบุความรุนแรงซึ่งจะส่งผลถึงการปฏิบัติตัวของประชาชนก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากตัวเลขคุณภาพอากาศเป็น 150 ของไทยจะแสดงเป็น สีส้ม ว่า เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ในขณะที่ของสหรัฐอเมริกาซึ่งกำหนดมาตรฐานไว้ต่ำกว่าของไทยจะแสดงเป็น สีแดง ว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม ทำไมแอปพลิเคชันแสดงผลคุณภาพอากาศต่างกัน?

หรือปอดของเรา จะแข็งแรงไม่เท่ากัน?

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มลพิษทางอากาศได้เลื่อนจากลำดับที่ 8 มาเป็นลำดับที่ 7 จาก 10 ลำดับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของความสูญเสียทางสุขภาพ (Disability-Adjusted Life Years)*ในไทย นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั่วโลกกว่า 7 ล้านรายต่อปี และ “ประเทศไทยแบกรับการสูญเสียจากPM2.5 ปีละราว 37,500 ราย” คุณจริยากล่าว
ดังนั้น ตัวเลขเพดานเหล่านี้จึงมีนัยยะสำคัญในแง่ที่ว่า สะท้อนให้เห็นถึง มุมมองของภาครัฐมีต่อสุขภาพประชาชนหรือคุณภาพชีวิตในประเทศตัวเองว่ามีความสำคัญในระดับใดหรือรัฐบาลในประเทศนั้นยอมรับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
กล่าวคือ รัฐบาลในประเทศใดที่เห็น “สิ่งอื่น” สำคัญกว่าสุขภาพประชาชน เพดานคุณภาพอากาศก็มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่ารัฐบาลในประเทศที่เห็นสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญหรือบางทีปอดของเราอาจกำลังถูกมองว่าแข็งแรงกว่าปอดของชาติอื่นๆ ทั้งที่ก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน?
ลองคิดเล่นๆ ดูว่า หากภาครัฐกับประชาชนเป็นแฟนกัน น่าคิดไม่น้อยว่าความสัมพันธ์ของเรากำลังอยู่ในภาวะอะไร

*อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับดัชนีวัดความสูญเสียทางสุขภาพได้ที่นี่

A woman covers her face with a handkerchief to protect herself from heavy smog in city capital.

ปัญหา“ฝุ่นจิ๋ว” ที่ไม่จิ๋ว

ยิ่งอากาศเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนเราเท่าใด ปัญหาฝุ่นจิ๋วก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นเท่านั้นและดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเป็นการแลกเปลี่ยน (Trade-off) กันระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพประชาชน
ในรายงานดังกล่าวระบุไว้ตอนนึงว่า “มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุอันดับ 4 ของการตายก่อนวัยอันควรของโลกและเป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจโลก โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณสองแสนสองหมื่นห้าพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี”

คำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบก็คือว่า แท้จริงแล้วเราได้ คุ้มเสียหรือไม่? หรือมีทางออกอื่นอีกไหมให้เศรษฐกิจ สุขภาพและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้

ฉันทำอะไรได้บ้างในวันที่เสียงของฉันยังไม่ถูกได้ยิน?

ในวันที่รัฐบาลยังเพิกเฉยต่อสุขภาพของประชาชน แสดงข้อมูลชวนให้เข้าใจผิดซึ่งทำให้ประชาชนไม่สามารถป้องกันตัวเองได้อย่างทันท่วงที เราในฐานะคนคนนึงจะสามารถทำอะไรได้บ้าง

  1. กำหนดมาตรฐานในใจ โดยไม่จำเป็นว่าต้องรอให้เป็นสีส้มก่อน เราก็สามารถป้องกันตัวเราและคนที่เรารักได้ตั้งแต่ที่เป็นสีเหลืองหรือกำหนดตัวเลข ว่าเมื่อขึ้นตัวเลขเท่าใดแล้วเราจะเริ่มป้องกันตัวเอง
  2. ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หากเป็นไปได้ หันมาใช้รถสาธารณะ ปั่นจักรยานและเดินให้มากขึ้น
  3. แบ่งปัน ข้อมูลคุณภาพอากาศแบบ Real-time ให้เพื่อนในละแวกบ้านหรือวิธีการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง เหมาะสมให้เพื่อนๆ ฟัง
  4. ร่วมลงชื่อเรียกร้องกับเรา การร่วมลงชื่อแม้จะไม่สามารถเปลี่ยนค่ามาตรฐานได้อย่างทันทีทันใด แต่เป็นการประกาศเจตจำนงว่า เราต้องการอากาศแบบไหนไว้หายใจ

อ่านเพิ่มเติม : ทั่วโลกจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศอย่างไร?

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม
วริษา สี่หิรัญวงศ์

About the author

วริษา สี่หิรัญวงศ์
ผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย

Comments

Leave your reply