แม้ประมงพื้นบ้านไทยนั้นจะมีมูลค่าคิดรวมเพียง 10% ของมูลค่าในอุตสาหกรรมประมงทั้งหมด แต่ในแง่ความมั่นคงของชุมชนนั้น ประมงพื้นบ้านสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กระจายสู่คนฐานรากได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนได้มาก ชาวประมงสามารถทำรายได้อย่างน้อย 1,000-3,000 บาทจากการออกเรือในแต่ละวัน เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากการดูแลเรือ อุปกรณ์จับปลา และค่าน้ำมันแล้ว ก็ยังมีเหลือพอสำหรับดูแลตัวเองและครอบครัวโดยไม่ต้องย้ายภูมิลำเนา ทิ้งลูกทิ้งครอบครัวไปเป็นแรงงานที่อื่นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเท่ากันหรือน้อยกว่า และยังเกิดอาชีพต่อเนื่องอื่นๆ เช่น รับซื้อปลา แปรรูปอาหารทะเล ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานและนำมาซึ่งกำลังซื้อที่ไปสนับสนุนการใช้จ่ายในส่วนอื่นๆในชุมชนด้วย

ชาวประมงพื้นบ้านล้างเคยจากแหที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา  © Sirachai Arunrugstichai / Greenpeace

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ความเจริญก้าวหน้าของโลกทำให้คนรุ่นใหม่เกิดทางเลือกในอาชีพมากขึ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาความขาดเเคลนบุคลากรในการทำประมงเช่นเดียวกัน ในประเทศญี่ปุ่น อุตสาหกรรมทูน่าต้องเผชิญปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรรุ่นใหม่ๆที่มีองค์ความรู้ในการคัดเลือกทูน่าที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวสูง อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ถูกมองเป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้แก้ปัญหาและเกิดเป็นธุรกิจจากเทคโนโลยีอย่าง TUNA SCOPE ซึ่งเป็นระบบที่รวบรวมองค์ความรู้ในการคัดเลือกทูน่าจากผู้เชี่ยวชาญมาใส่ไว้ใน AI เพื่อใช้ตรวจสอบคัดเลือกทูน่าโดยไม่ต้องพึ่งพากำลังคนมากมายอีกต่อไป  

เช่นเดียวกัน ประมงพื้นบ้านไทยก็หนีไม่พ้นแนวโน้มขาดแคลนคนรุ่นใหม่มาสืบทอดอาชีพ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผลกระทบกับเส้นทางอาหารของเรา และระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ แม้ว่าจะยังไม่เห็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้แก้ปัญหาเหมือนกับที่ญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่หลงรักและเห็นโอกาสดีๆจากอาชีพโบราณนี้อยู่ 

ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับกิตติเดช เทศแย้ม หรือนิสสัน ชาวประมงเยาวรุ่นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กล่าวว่า ‘ Smart Fisherfolk คือประมงรุ่นใหม่ที่จะใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ควบคุ่กับการฟื้นฟูและดูแลทะเลไปด้วย ’ เพราะเขาเองเป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดปรัชญาในการทำงานที่ยึดถือความสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมาจากคุณพ่อ 

“นิสสัน” กิตติเดช เทศแย้ม | ขอบคุณภาพจาก Facebook ร้านคนทะเล

หลังจากเรียนจบ นิสสันเอาความรู้และประสบการณ์จากการร่ำเรียนปริญญามาใช้ ด้วยความหวังว่าจะยกระดับอาชีพประมงพื้นบ้านให้ไปไกลกว่าเดิม โดยเฉพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีและการใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย มาช่วยในการขยายธุรกิจ 

ขณะเดียวกัน เขาก็ต่อยอดกระบวนการทำประมงยั่งยืน ตั้งแต่กระบวนการจับที่ต้องเลือกการใช้เครื่องมือในที่เหมาะสมในการจับสัตว์น้ำแต่ละชนิด ในช่วงเวลา ฤดูกาล และขนาดที่เหมาะสม มาถึงกระบวนการเก็บรักษาและขนส่งที่ไม่ใช้สารเคมีใดใด จนกระทั่งกระบวนการหลังจับที่มีการกำหนดเขตห้ามล่าและดูแลพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่สำคัญมากๆต่อความยั่งยืนของทะเล เช่น แนวปะการัง แนวหินโสโครก ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล อนุรักษ์สัตว์อื่นๆที่แม้จะไม่ได้สำคัญต่อเศรษฐกิจมากนักแต่สำคัญต่อระบบนิเวศ รวมไปถึงการดูแลรักษาชายฝั่ง การทำปะการังเทียมและการรวบรวมสมาชิกวัยรุ่นในหมู่บ้านมาทำกิจกรรมสนุกๆเพื่อดูแลทะเลและชายฝั่งกันด้วย  

“ตอนผมได้มาขายของใน K-Village สุขุมวิท 26 เอาปลากระพงตัวใหญ่ๆ เอาปลาอินทรีย์ตัวเท่าผมมาตั้งขาย มาแล่สดๆ ก็ยังไม่ทันกับลูกค้าต้องการ

กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านรุ่นใหม่เริ่มมีการพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ประกอบการมากขึ้น มีการพัฒนาแบรนด์ สร้างมาตรฐานสินค้า รวมทั้งมองหาช่องทางการขายและทำตลาดเอง คุณนิสสันเองก็ได้เริ่มพัฒนาแบรนด์เป็นของตัวเองเช่นกันภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า ‘คนทะเล’ 

นิสสันกล่าวว่า การเริ่มลงมือทำจริงและได้เรียนรู้ไประหว่างทางเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่สุด  การก่อตั้งแบรนด์คนทะเลของเขานั้นไม่ใช่เพียงต้องการฝึกฝนการทำประมงพื้นบ้านจากภูมิปัญญาความรู้และฐานทรัพยากรที่บรรพบุรุษดูแลรักษาไว้ให้เท่านั้น แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ และต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเกี่ยวกับธุรกิจอยู่ตลอดเวลาเหมือนกับที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเจอ และค้นพบว่าสิ่งที่ต้องยึดถือมากที่สุดคือความต้องการของลูกค้า

ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาขณะพระอาทิตย์ตกดิน | ขอบคุณภาพจาก Facebook ร้านคนทะเล

ตอนที่เป็นชาวประมงอย่างเดียว หากจับปลาอินทรีย์ได้ก็สามารถขายให้แพปลาได้เลยทั้งตัว แต่เมื่อเป็นเจ้าของแบรนด์เองแล้วต้องเปลี่ยนมาหั่นปลาอินทรีย์ให้เป็นชิ้นเล็ก สะดวกกับการนำไปทำอาหารและขายได้รวดเร็วมากขึ้น อาจจะต้องแปรรูปเป็นลูกชิ้นพร้อมทาน หรืออาจจะต้องพัฒนาเป็นสินค้าอื่นๆให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ ต้องมีแพ็คเกจที่ดูดี กระบวนการแพ็คและจัดส่งที่ถูกต้องมีมาตรฐาน ต้องพัฒนาช่องทางการขายให้เข้าถึงลูกค้าได้สะดวกที่สุด เป็นต้น

“ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นว่าปลาตัวนี้จับมาจากไหน จับอย่างไร ต่อไปอาจจะมีคิวอาร์โค้ดที่สแกนได้เลยว่า อาหารทะเลจับจากเรือชื่ออะไร ใช้เครื่องมืออะไร ตอนนี้กำลังร่วมมือพัฒนากับทางจุฬาฯอยู่ครับ

ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับที่มาของอาหารมากขึ้น มองหาสินค้าบริการที่มีความพื้นถิ่น มีเรื่องราวที่มาที่ไปอันเป็นเอกลักษณ์ สินค้ามีความธรรมชาติและมีกระบวนการดูแลสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตอย่างชัดเจน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากประมงพื้นบ้านยั่งยืนจึงมีศักยภาพในการแข่งขันสูง 

ประมงพื้นบ้านไทยยังมีช่องว่างแห่งโอกาสให้ได้เรียนรู้พัฒนาอีกมาก ไม่แน่ว่า หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เราอาจจะได้เห็นนวัตกรรมในแง่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในอาชีพประมงพื้นบ้านยั่งยืนแบบนี้อีกจนสามารถสร้างมูลค่าให้ชุมชนที่เป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศได้มากกว่า 10% ของมูลค่าประมงทะเลไปพร้อมๆกับรักษาทรัพยากรทะเลและชายฝั่งให้อยู่กับเราไปนานๆ และสามารถดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ๆ จากหลากหลายความรู้มาช่วยกันขับเคลื่อนก็เป็นได้ เหมือนที่นิสสันอยากเห็นการสร้างเครือข่ายชาวประมงทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่มาช่วยกันพัฒนาสินค้า พัฒนามาตรฐานการผลิตและการจัดจำหน่าย พัฒนาตลาดและช่องทางการขาย รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆด้วย 

ร้านคนทะเล | ขอบคุณภาพจาก Facebook ร้านคนทะเล

อย่างที่ได้กล่าวไปบ้างแล้ว กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านรุ่นใหม่มีการพัฒนากระบวนการทำงานจนเกิดเป็น ‘คุณค่าใหม่’ ในกระบวนการผลิตที่สร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคมีสินค้าอาหารทะเลที่ดีต่อทั้งทะเลและผู้บริโภคเอง ซึ่ง ‘คุณค่าใหม่’ หรือ New value ในที่นี้ คือการที่คนกินและคนจับปลารู้จักกัน ไว้ใจกัน และสนับสนุนกันและกันโดยตรง ชาวประมงช่วยผลิตอาหารอร่อยปลอดภัยและรักษาทะเลให้ผู้บริโภค ผู้บริโภคซื้อสินค้าจากชาวประมงโดยตรง ได้รายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินและสามารถดำเนินภารกิจต่อไปได้ยาวๆ    

การสร้างคุณค่าใหม่ (New Value Creation) นี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ดังนั้นคงจะไม่ผิดเสียทีเดียวหากเราเรียกกระบวนการทำงานของชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้ว่าเป็นนวัตกรรมเช่นกัน  ซึ่งทำให้ผู้เขียนก็นึกถึงโมเดลเศรษฐกิจ Thailand 4.0 ของไทย  หรือ โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน ที่ระบุในแผนว่า ต้องการยกระดับประเทศไทยให้เข้าสู่ยุคที่เน้นนวัตกรรมและการผลิตหรือบริการที่มีมูลค่าสูง รวมทั้งมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่ผ่านมาเราได้เห็นการสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่หลายโครงการ เช่น การสนับสนุนเงินในการพัฒนาไอเดียธุรกิจของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่มีการนำเทคโนโลยีหรือเครื่องมือดิจิตอลต่างๆมาใช้ เป็นต้น ในขณะเดียวกัน การสนับสนุนการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีนวัตกรรมในกระบวนการ ทำธุรกิจไปพร้อมกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการสร้างสรรค์ กลับได้รับการสนับสนุนน้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่า แม้เด็กเก่งๆเหล่านี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนด้านธุรกิจเป็นพิเศษ แต่ด้วยจิตวิญญานแห่งความเป็นผู้ประกอบการ พวกเขาก็ยังคงหาทางพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้ แต่การสนับสนุนที่สำคัญกว่านั้นและต้องการความร่วมมือจากภาครัฐอย่างมาก คือการสนับสนุนด้วยการช่วยรักษาฐานทรัพยากรทะเลและชายฝั่งให้สมบูรณ์ ไม่เอาโครงการอุตสาหกรรมหรือโครงการอื่นใดที่ทำลายทรัพยากรทะเลและชายฝั่งมาทำให้ทะเลสูญเสียไปมากกว่านี้ เพราะสมดุลธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวิภาพคือสิ่งที่ไม่สามารถสร้างใหม่ได้ 

ที่น่าเศร้าคือ การเดินหน้าโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตลอดสองชายฝั่งของไทยยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมและสิทธิของชุมชนริมชายฝั่งหลายแห่งที่อาศัยท้องทะเลเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้หลักของครอบครัว รวมถึงตัดโอกาสการเกิดของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่จะได้พัฒนาต่อยอดฐานทรัพยากรและองค์ความรู้จากคนรุ่นพ่อแม่ให้กลายเป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้นต่อไปอีก 

คงไม่เกินไปที่จะกล่าวว่า ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ หากแต่ขาดแคลน ‘การสนับสนุน’ ในเชิงระบบ ที่จะช่วยให้เด็กๆเหล่านี้เข้าถึงต้นทุนทางทรัพยากรได้และสร้างโอกาสต่อยอดความฝันให้กลายเป็นจริง 

หวังว่าผู้ใหญ่ที่ได้รับรู้เรื่องราวนี้จะเห็นช่องว่างแห่งโอกาสนี้เช่นกันและนับรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจลักษณะนี้เข้าไปในแผนการเติบโตของประเทศและปฏิบัติตามสิ่งที่ได้วาดฝันไว้อย่างแท้จริงเสียที

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ผลักดันเขตคุ้มครองทางทะเล

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม