ช่วงปี 2547 ขณะที่รัฐบาลยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกนำโดยเจริญ วัดอักษร ผู้เป็นแกนนำชุมชนคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประจวบคีรีขันธ์ได้ขยายการเคลื่อนไหวไปสู่ประเด็นการบุกรุกที่ดินและการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบในพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง 931 ไร่ 3 งานในตำบลบ่อนอก ซึ่งเดิมหากโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างขึ้น พื้นที่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายน้ำหล่อเย็นจากการกระบวนการผลิตไฟฟ้า

วันนี้เมื่อ 17 ปีก่อน (21 มิถุนายน 2547) เมื่อเขาเดินทางกลับจากการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของวุฒิสภา เจริญ วัดอักษรถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิตบริเวณสี่แยกบ่อนอก ถนนเพชรเกษม

การต่อสู้อย่างมุ่งมั่นและเด็ดเดี่ยวของชุมชนในนามของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูดตลอดจนกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกโดยมีเจริญ วัดอักษร นักสู้สามัญชนเป็นแกนนำคนสำคัญนับตั้งแต่ปี 2538 เพื่อต่อกรกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โครงการในพื้นที่ คือหนึ่งในตำนานการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและเป็นจุดเปลี่ยนของภูมิทัศน์ทางสังคมและการเมืองว่าด้วยนโยบายสาธารณะด้านพลังงานของไทย

บทสนทนาสั้น ๆ กับกรณ์อุมา พงษ์น้อย และชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร-กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก และสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล-กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก สะท้อนถึง 17 ปีที่ผ่านมาและอนาคตต่อจากนี้

กรณ์อุมา พงษ์น้อย นักต่อสู้ที่ทำงานเคียงข้างและสานต่อภารกิจของเจริญ วัดอักษร ยืนยันถึงเจตนารมย์สืบสานอุดมการณ์ที่ประกาศ ณ สี่แยกบ่อนอกในปี 2550 ว่า “นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประชาชนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม อำนาจทุนที่โหดเหี้ยมอำมหิต บ้างก็ล้มเหลวพ่ายแพ้ บ้างก็ประสบชัยชนะ และนักต่อสู้สามัญชนหลายคนได้สละชีวิตเพื่อถากถางให้คนรุ่นต่อไปให้ก้าวเดิน สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย ในยามที่ผลประโยชน์ชาติถูกโฆษณาบิดเบือนให้กลายเป็นผลประโยชน์ของคนไม่กี่ตระกูลที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในสังคมไทย โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ในแผ่นดินกลับมีฐานะเพียงเหยื่อที่ถูกปล้นชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า หากประชาชนไม่ลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่อยุติธรรม สังคมของเราก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและเคารพต่อสิทธิของคนส่วนใหญ่ในแผ่นดิน”

Bike for 100 Percent Renewable Energy - Bo Nok. © Greenpeace / Arnaud Vittet
กรณ์อุมา พงษ์น้อย ผู้นำกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก เล่าเรื่องการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและยืนหยัดต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมให้กับทีมนักจักรยานรณรงค์พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยที่เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่สงขลาเพื่อร่วมกิจกรรมการรณรงค์โดยเรือเรนโบว์วอร์ริเออร์ของกรีนพีซในเดือนพฤษภาคม 2561
© Greenpeace / Arnaud Vittet

กว่าสองทศวรรษของการต่อสู้จากปี 2538-2547 และ 17 ปีหลังจากเจริญ วัดอักษรจากไป เธอสะท้อนถึงสองประเด็นสำคัญในปัจจุบันและอนาคตนั่นคือ ระบบพลังงานหมุนเวียนและการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติของชุมชน

กรณ์อุมา พงษ์น้อย บอกว่า “ในขณะที่ทั่วโลกกำลังละทิ้งถ่านหินและฟอสซิล ก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและกระจายศูนย์ แต่นโยบายพลังงานแห่งชาติของไทยยังไปไม่ถึงไหน ในขณะที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนมีอยู่มากมายมหาศาล แต่กลไกรัฐไทยยังเป็นอุปสรรคต่อการปฏิวัติพลังงานของภาคประชาชน”

การฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติของชุมชน เธอหมายถึง พื้นที่สาธารณะประโยชน์ทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง หรือหาดหว้าขาว กรณ์อุมา พงษ์น้อยบอกว่า “ไม่เพียงแต่เป็นการใช้ประโยชน์สาธารณะของคนในพื้นที่ คลองชายธง-หาดหว้าขาวเป็นสมบัติของมนุษยชาติ มีชายหาดยาว 4 กิโลเมตร เหมาะกับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ถ้าดูกันจริงๆ ถามว่า คนจน คนเล็กคนน้อย คนทั่วไป ถ้าไม่มีเงินมากพอ จะไปเที่ยวทะเล เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ของเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่หาดหว้าขาว ประชาชนเข้ามาเล่นน้ำทะเล สูดอากาศบริสุทธ์โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ที่สำคัญพื้นที่ตรงนี้เป็น 1 ใน 3 แห่งในประเทศไทยที่มีนกหัวโตมลายูที่ใกล้สูญพันธุ์และหายากมาอาศัยอยู่ ช่วงที่เจริญ วัดอักษรยังมีชีวิต มีนักศึกษาญี่ปุ่นเรียนที่แคนาดามาทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องนี้ พวกเราผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนพื้นที่คลองชายธง-หาดหว้าขาวเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่จัดการโดยชุมชน ขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่ สผ.(สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)”

ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร สมาชิกหลักของกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก เพิ่มเติมว่า “พื้นที่คลองชายธง-หาดหว้าขาวอยู่ในการดูแลของ อบต.บ่อนอก หลังจากยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็มีโครงการจะสร้างมหาวิทยาลัย พวกเราบอกว่านี่ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม นี่คือพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อน มีนก 158 ชนิดและที่ใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด เป็นระบบนิเวศป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้หลายชนิด เช่น แสมทะเล โปรงแดง ถั่วขาว และโกงกางใบใหญ่ ส่วนบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึงและบนเนินดินมีพันธุ์ไม้ประเภทป่าชายหาด เช่น นมแมว โมกมัน ข่อย และมะนาวผี ยังมีพื้นที่ราว 300 ไร่ ที่ยังเป็นบ่อกุ้งร้างจากการบุกรุกใช้ประโยชน์ของนายทุน ส่วนมหาวิทยาลัย เราไปสร้างในที่เหมาะสมได้ แต่ระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่หายากนี้สร้างขึ้นใหม่ไม่ได้”

ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร บอกอีกว่า “ตอนที่เจริญ วัดอักษรยังอยู่และจากไป 17 ปีในวันนี้ ยังคงมีพวกผู้มีอิทธิพลจับจ้องพื้นที่ ยังมีการเข้ามาบุกรุก แม้ว่าตามกฎหมาย คลองชายธง-หาดหว้าขาวจะเป็นพื้นที่อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีและอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ และในปี 2561 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จะประกาศพื้นที่ 400 ไร่ใ้ห้เป็นป่าในเมือง พวกเรายังต้องคอยดูแลเฝ้าระวัง”

Activists in Southern Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
สมาชิกกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกในงานรำลึกครบรอบ 13 ปีเจริญ วัดอักษร คนกลางคือ ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร (กบ)ที่ต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกับชุมชนบ่อนอกมาตั้งแต่ปี 2538 © Biel Calderon / Greenpeace

ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราไม่ลืมเลือนเจริญ วัดอักษรซึ่งทุ่มเทเสียสละร่วมกับชาวบ้านปกป้องชุมชน แม้ตัวเองต้องเอาชีวิตเข้าแรก วันนั้นที่เขานำชาวบ้านเข้าแจ้งความการบุกรุกที่สาธารณะคลองชายธง-หาดหว้าขาว 13 รายออกจากพื้นที่ พวกเราจึงมีทะเลสวย ๆ และยังเป็นสมบัติสาธารณะจนถึงวันนี้ วันนี้ดินฟ้าอากาศท้องทะเลยังบริสุทธิ์ ไม่มีมลพิษ วิถีชีวิตของคนบ่อนอกยังสุขสงบ นำ้ทะเลยังสวยใสเหมือนเดิม กุ้งปูปลาหอยยังมีหากินได้ สรรพสัตว์น้อยใหญ่ยังมีความสุข”

Activists in Southern Thailand. © Biel Calderon / Greenpeace
สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล – ผู้นำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
© Biel Calderon / Greenpeace

สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ผู้นำการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก และทำหน้าที่เป็นฝ่ายวิชาการของกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ย้ำว่า “การต่อสู้กว่าสองทศวรรษของชุมชนในประจวบคีรีขันธ์เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คน เมื่อมีโครงการต่าง ๆ ที่เข้ามาทำลายสภาพแวดล้อม ชุมชนต่าง ๆ รวมตัวกันคัดค้าน ถ้าชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ บอกได้เลยว่า วันนี้ ประจวบคีรีขันธ์จะมีแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 โรง (บ่อนอก ทับสะแก บ้านกรูด) บวกกับโครงการโรงถลุงเหล็กอีก 1 โรง (บางสะพาน) เชื่อได้เลยว่า ถ้าโครงการเหล่านี้เกิดขึ้น คนประจวบฯ ไม่มีทางที่จะมีชีวิตที่ปลอดภัยได้ ส่วนการเคลื่อนไหวของชุมชนที่ทับสะแกในช่วงสองรุ่นคน มีบทพิสูจน์ที่ว่า พื้นที่ชายหาดบริเวณที่ดินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือพื้นที่วางไข่ของเต่าทะเล มีรอยเต่าขึ้นทุกปี”

ทับสะแกเป็นพื้นที่เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามายาวนาน การต่อสู้อย่างเข้มแข็งของชุมชนทำให้ กฟผ.มีแผนการเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในเรื่องนี้ สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล บอกชัดเจนว่า “เราต้องมาคุยกันว่าจะใช้พื้นที่นี้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร ก๊าซธรรมชาติที่อ้างว่าเป็นฟอสซิลที่สะอาดกว่าถ่านหิน ก็เป็นแหล่งใหญ่ของฝุ่น PM2.5 และมลพิษต่างๆ คำถามคือมันจำเป็นหรือไม่ ในเมื่อไฟฟ้าสำรองล้นเกินในระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ 50-60%”

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูลเขียนหนังสือ “ชาวประจวบขอกำหนดอนาคตตนเอง” ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือและระดมสมองร่วมกับเครือข่ายชุมชน หนังสือตีพิมพ์ออกสู่สายตาสาธารณะในปลายปี 2553 เป็นเรื่องเล่าภารกิจทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์นับตั้งแต่มีการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่งในปี 2538 เป็นต้นมา บรรจุเรื่องราวของประจวบคีรีขันธ์ว่ามีอะไรอยู่บ้าง สิ่งที่มีอยู่กลายเป็นประเด็นขัดแย้งได้อย่างไรเมื่อพิจารณาถึงกระบวนทัศน์การพัฒนากระแสหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนพัฒนาภาคใต้ การขยายอุตสาหกรรมเหล็กและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า และที่สำคัญทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่พูดกันมาเป็นเวลา 40-50 ปี นั้นจะทำได้อย่างไร จะปรับแผนพัฒนาภาคใต้อย่างไรที่นำไปสู่สังคมปรองดองและเป็นธรรม?

ในวาระ 17 ปีที่เจริญ วัดอักษรจากไป และ 10 ปีของข้อเสนอเพื่อกำหนดอนาคตตนเองของชาวประจวบที่ยังต้องขับเคลื่อนต่อไป ไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่าการปิดท้ายด้วยวาทะของกรณ์อุมา พงษ์น้อย นักต่อสู้สามัญชนที่บ่อนอก เธอกล่าวว่า

“ชาวบ้านตื่นรู้…รัฐบอกว่าต้องสร้างความเข้าใจ

ชาวบ้านเท่าทัน…รัฐบอกว่าไม่มีเหตุผล

ชาวบ้านไม่ยอม…รัฐบอกว่าดื้อแพ่ง

ชาวบ้านลุกขึ้นสู้…รัฐบอกว่าเป็นกบฎ”