ทุกๆวันที่ 8 มิถุนายนนั้นถูกกำหนดให้เป็นวันทะเลโลก #WorldOceansDay ในปีนี้ ปัญหาพลาสติกที่เราพูดกันมานานแล้วก็ยังคงเป็นภัยที่คุกคามมหาสมุทรทั่วโลกอยู่ แรงงานที่ทำงานกลางทะเลหลายคนก็ยังถูกละเมิดสิทธิแรงงาน ประมงเกินขนาดก็ยังเป็นปัญหา 

แต่นอกจากปัญหาเหล่านี้ ในช่วงปีที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณใหม่ๆที่บ่งบอกว่ามหาสมุทรอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ทั้งในทะเลไทยและทะเลโลก ซึ่งนอกจากจะกระทบกับระบบนิเวศในทะเลแล้ว ยังต่อเนื่องมาถึงชุมชนชายฝั่ง เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ด้วย 

ตั้งแต่วันทะเลโลกปีที่แล้วถึงปีนี้ เกิดอะไรขึ้นบ้างในท้องทะเล ทะเลกำลังส่งสัญญาณอะไรบ้าง ประเด็นมหาสมุทรประเด็นไหนเป็นที่ถกเถียง เราสรุปมาให้อ่านกัน 

ปะการังฟอกขาว

Great Barrier Reef Mass Coral Bleaching Event. © Dean Miller / Greenpeace
ปะการังฟอกขาวที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560 © Dean Miller / Greenpeace

ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า “ปะการังฟอกขาว” ที่เราเริ่มเห็นมากขึ้นทั้งในทะเลไทยและต่างประเทศ อย่างปีที่แล้ว ไต้หวันถึงกับต้องยกระดับการเตือนภัยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในเขตน่านน้ำทางตอนใต้ของไต้หวันขึ้นเป็นระดับที่สอง ส่วนในไทยก็มีการพบมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพปะการังสีขาวริมหาดที่จังหวัดระยองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสร้างความกังวลให้คนจำนวนมาก 

สาเหตุการเกิดปะการังฟอกขาวส่วนหนึ่งเกิดจากมนุษย์ ตั้งแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยาฆ่าแมลงในอุตสาหกรรมการเกษตรที่ไหลจากแม่น้ำลงทะเล น้ำเสียจากทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและบ้านเรือน ไปจนถึงครีมกันแดดที่มีสารที่ก่อกวนวงจรการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของปะการัง

ปะการังมีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ ค่าความด่าง และความขุ่นของน้ำ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกับความสัมพันธ์ของปะการังและสาหร่ายซูแซนเทลลี เพราะถ้าหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัย สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะย้ายออกไปหาบ้านใหม่ หรือถูกตัวปะการังเองขับไล่ให้ออกไป

ระบบนิเวศทางทะเลจะเข้าขั้นวิกฤติหากอัตราการตายของปะการังยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อไป สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะขาดที่อยู่อาศัย ไม่มีที่อนุบาลตัวอ่อน ขาดที่หลบภัย ส่วนมนุษย์เองก็จะได้รับผลกระทบ เช่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการประมง 

เหมืองใต้ทะเลลึก

Protest against Deep Sea Mining in the Pacific. © Marten  van Dijl / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซชูป้ายต่อต้านการทำเหมืองใต้ทะเลลึกหน้าเรือของบริษัท Global Sea Mineral Resources (GSR) © Marten van Dijl / Greenpeace

มหาสมุทรปัจจุบันเจอภัยคุกคามรอบด้านอยู่แล้ว ทั้งปัญหาพลาสติก ประมงเกินขนาด สารเคมีที่ถูกปล่อยลงทะเล แต่ดูเหมือนจะมีอีกปัญหาใหญ่ เมื่อบริษัทอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งเริ่มส่งเครื่องจักรกลลงสู่ก้นบึ้งของท้องทะเลเพื่อดึงเอาวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ โทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

จริงๆแล้ว แผนการทำอุตสาหกรรมเหมืองใต้ทะเลลึกมีมาสักพักแล้ว แต่ปีนี้บริษัทอุตสาหกรรมเริ่มทดลองส่งเครื่องจักรลงสู่ใต้ทะเล แถมเมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท Global Sea Mineral Resources (GSR) ยังทำสายเคเบิลขาดระหว่างการทดสอบ เครื่องจักรหลุดหนักกว่า 25 ตันหายอยู่ใต้ทะเลลึกพักใหญ่ๆ 

ใต้ท้องทะเลลึกเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ มีสิ่งมีชีวิตที่เรายังไม่รู้จักอีกมาก เป็นแหล่งเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลก การทำเหมืองใต้ทะเลจะทำลายทั้งระบบ ทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำใต้ทะเลลึก และทำให้วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แย่อยู่แล้ว แย่ลงไปอีก 

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้หยุดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ©  Nichanan Tanthanawit / Greenpeace

หนึ่งในประเด็นทะเลไทยที่มีอาจกระทบไม่เพียงแค่ระบบนิเวศในทะเล แต่รวมไปถึงชุมชนชายฝั่ง คือโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา 

โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อปี 62 เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ โดยการนำของเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ TPIPP และ IRPC

สิ่งที่ทำให้โครงการนี้เป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา เพราะการอนุมัติแบบทันทีทันใดไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แถมจะเปลี่ยนจากผังเมืองสีเขียวให้เป็นสีม่วง และแม้มีการทำประชาวิจารย์ แต่กลับไม่อนุญาตให้คนเห็นต่างเข้าพื้นที่  

กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเลยเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอโครงการเพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนให้ดีก่อน หนึ่งในนั้นคือ “ยะห์” ไครียะห์ ระหมันยะ นักเรียนหญิงที่ตอนนั้นกำลังศึกษาอยู่ ชั้น ม.6 มาเรียกร้องด้วย

จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แถลงว่าจะชะลอโครงการไปก่อน ปัจจุบัน แม้กระแสจะเงียบลงไปบ้างแล้ว แต่ที่แน่ๆ โครงการนี้ยังไม่ได้พับเก็บไป เราทุกคนจึงควรจับตาดูให้ดี เพราะหากเกิดการสร้างนิคมอุตสาหกรรมโดยไม่ศึกษาผลที่ตามมาอย่างละเอียด จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างมหาศาลดั่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆที่ 

ชาวประมงรณรงค์งด ซื้อ-ขาย-ทาน สัตว์น้ำวัยอ่อน

© Athit Perawongmetha / Greenpeace

ปัจจุบันสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับมาจำหน่ายซึ่งเป็นการตัดวงจรระบบนิเวศ ทำให้ทรัพยากรประมงลดลงอย่างมาก และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง #หมดแล้วจริงๆ จึงกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา

กระแสดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งพี่ๆชาวประมงเดินทางไปยื่นหนังสือให้ห้างร้านและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วกรุงเทพฯ ขอความอนุเคราะห์ให้งดวางขายสัตว์น้ำวัยอ่อน ด้วยความต้องการให้ทะเลกลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน

ในขณะเดียวกัน ทางโลกออนไลน์ก็มีการขอความร่วมมือกับผู้บริโภคให้หยุดซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน และเปิดให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ห้างร้านหยุดขายสัตว์น้ำวันอ่อน เพราะถ้าไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีคนขาย คนจับก็หยุดจับ 

Seaspiracy 

หลังลงฉายใน Netflix ได้ไม่นาน สารคดี Seaspiracy ก็จุดกระแสให้มีการถกกันเรื่องปัญหาทะเลกันเป็นวงกว้าง 

ตัวสารคดีว่าด้วยความต้องการที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรของ Ali Tabrizi ที่รับบทเป็นทั้งผู้กำกับและผู้เล่าเรื่อง เขาออกเดินทางหาคำตอบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทรมาจากไหน โดยเริ่มจากปัญหาพลาสติก ก่อนชี้นิ้วมาที่การทำประมง ว่าเป็นต้นตอของวิกฤต

ประเด็นที่หนังนำเสนอ เช่น ประมงทูน่าครีบน้ำเงิน การล่าวาฬ หรือแรงงานทาสบนเรือ จึงมีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันมาก อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวสารคดีจะทำให้เกิดข้อถกเถียงกันมากในโลกออนไลน์ แต่หลายคนยังตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทั้งการใช้ข้อมูลเก่าและการนำเสนอ 

นอกจากนี้ ตัวสารคดียังถูกวิจารณ์เรื่องการตัดมิติอื่นๆของประมงออกเสียหมด เช่น ชุมชนประมงชายฝั่งที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับท้องทะเลมาเนิ่นนาน และเสนอทางออกแบบรวบรัดอย่างการเลิกทานปลา

อ่านเพิ่ม : Seaspiracy จริงหรือที่มหาสมุทรจะล่มสลายและทางออกคือ หยุดกินปลา ?  

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม