ในเดือนมีนาคม 2564 เราได้เดินทางไปที่วิทยาลัยการอาชีพแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นโครงการแห่งที่ 2 ของกองทุนแสงอาทิตย์เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้กับวิทยาลัยสายอาชีพ ต่อจากวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรีเป็นแห่งแรกในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยกรีนพีซและกองทุนแสงอาทิตย์ (Thailand Solar Fund) ได้เริ่มโครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ ต่อจากโครงการโรงพยาบาลแสงอาทิตย์

จากการขยับที่น่าจับตามองของวิทยาลัยสายอาชีพในครั้งนี้ เราจึงชวนคุณอรรถพล สังขวาสี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มาเล่าให้เราฟังถึงวิสัยทัศน์ของการศึกษา พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การสร้างอาชีพแห่งอนาคต และที่สำคัญคือการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายของอาชีวศึกษา เพราะนอกจากการขับเคลื่อนในฝั่งภาคประชาชนแล้ว การผลักดันเชิงนโยบายให้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานหลักในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนก็มีความสำคัญมากเช่นกัน 

ค่าไฟฟ้าคือภาระของอาชีวศึกษาทั่วประเทศ

คุณอรรถพลเล่าถึงภาพรวมของการจัดการศึกษาของอาชีวศึกษาในประเทศไทยให้เราฟังว่า ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สถานศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีรวมกันเกือบหนึ่งพันแห่ง โดยแบ่งออกเป็นหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น พาณิชยการ ศิลปกรรม การโรงแรม อุตสาหกรรม สารพัดช่าง และการเกษตร โดยการจัดการอาชีวศึกษาในแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกันตามตามบริบทของแต่ละท้องที่ ตามความต้องการ และความพร้อมของผู้เรียน

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

สถานศึกษาในกลุ่มวิทยาลัยเทคนิค โดยเฉพาะที่เปิดสอนกลุ่มอาชีพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมจะมีภาระด้านไฟฟ้าสูง เช่น กลุ่มวิทยาลัยเทคนิคที่มีแผนกช่างกลโรงงาน เพราะจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเรียนการสอนและต้องใช้ไฟฟ้ากระแสสูงในการฝึกฝน ทำให้งบประมาณที่มีไม่เพียงพอ โดยทั่วไปส่วนกลางจะจัดสรรค่าสาธารณูปโภครวมทั้งหมดให้แก่สถานศึกษาในสังกัดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณแต่ละปี โดยแต่ละสถานศึกษาจะได้รับงบประมาณแตกต่างกันตามประเภทของสาขาวิชา หรือขนาดของสถานศึกษา ซึ่งวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งประเทศต่อปีประมาณ 12 ล้านบาท แต่งบประมาณเฉลี่ยมีเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้วิทยาลัยต่าง ๆ ต้องพยายามแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง บางแห่งต้องเจียดเงินงบประมาณด้านอื่น ๆ มาใช้ เช่น ค่าจ้างบุคลากร ค่าอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือต้องระดมทุนจากผู้ปกครอง โดยนี่นับเป็นปัญหาต่อเนื่องมามากกว่าสิบปีแล้ว

โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สถานศึกษาทุกแห่งก็ยิ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศได้ หรือหากไม่มีงบประมาณในการซื้อเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟ ก็ยิ่งทำให้ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษาก็จะต้องบริหารจัดการ หรือบางครั้งก็ต้องเป็นหนี้ข้ามปี บางครั้งการไฟฟ้าก็จะส่งใบแจ้งชำระหนี้ค่าไฟมาที่กระทรวงศึกษาธิการ

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ในการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย ที่ผ่านมาก็ได้มีการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน แต่ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เพราะการฝึกฝนและการเรียนการสอนต้องใช้ไฟฟ้ากระแสสูงจำนวนมากในหลายสาขาวิชา จึงสามารถประหยัดไฟฟ้าได้เพียงบางส่วนที่เป็นการใช้งานทั่วไป เช่น ค่าเครื่องปรับอากาศหรือการใช้ไฟฟ้าทั่วไปเท่านั้น ในกรณีที่ปลายปีงบประมาณมีงบประมาณเหลือ ส่วนกลางก็จะจัดสรรให้สถานศึกษาเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่ก็ไม่ได้มีเพียงพอเพราะงบประมาณส่วนนี้ต้องนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติ หรือปัญหาด้านบุคลากรไม่เพียงพอด้วย

การสร้างคนเริ่มต้นที่การผลักดันเชิงนโยบาย

จากการพูดคุยถึงปัญหาด้านค่าสาธารณูปโภคซึ่งมีมาต่อเนื่องยาวนาน คุณอรรถพลจึงมองว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากบนหลังคาเป็นตัวเลือกที่ดี และเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจกับบุคลากรเรื่องพลังงานหมุนเวียนก่อน สถานศึกษาหลายแห่งที่เริ่มดำเนินการแล้วนับเป็นความกล้าหาญของผู้อำนวยการ และสิ่งที่เห็นได้ชัดคือเมื่อติดโซลาร์รูฟท็อปแล้วก็สามารถลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าร้อยละ50 แม้หลายคนมองว่าการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อาจยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เห็นได้ชัดว่าในต่างประเทศก็ใช้กันอย่างแพร่หลายในที่อยู่อาศัย จึงมองว่าในประเทศไทยโดยเฉพาะกับสถานที่ราชการซึ่งมีงบประมาณจำกัด ก็ยิ่งควรหันมาใช้โซลาร์รูฟท็อป เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก

“หากอยากให้เกิดโครงการอย่างเป็นรูปธรรมก็จำเป็นต้องมีข้อตกลง MOU ระหว่างการไฟฟ้ากับสำนักงานการอาชีวศึกษาเพื่อส่งเสริมโครงการโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งไม่เพียงได้ประโยชน์แต่เฉพาะการประหยัดไฟฟ้าเท่านั้นแต่ยังสามารถเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดให้กับนักศึกษาอีกด้วย สอดคล้องกับในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มจัดการเรียนการสอนวิชาเลือกในสาขาพลังงานทดแทนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ ให้นักศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำงาน ผลผลิต และการบำรุงรักษาโซลาร์รูฟท็อป โดยหากมีการติดตั้งภายในวิทยาลัยด้วย ก็จะทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ต่อในครอบครัวและสังคมได้ ท้ายที่สุดแล้วจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเริ่มต้นได้ด้วยความร่วมมือเช่น MOU นั่นเอง”

solar-school-lampang
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ถ้าส่วนกลางกำหนดนโนบายเพื่อส่งเสริมสถานศึกษาให้ดำเนินการได้ วิทยาลัยต่าง ๆ ก็จะกล้าริเริ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันผู้บริหารสถานศึกษาส่วนหนึ่งจะมีความกังวลว่า หากดำเนินการติดตั้งจะผิดระเบียบหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของส่วนกลางที่จะต้องสื่อสารให้เข้าใจว่านี่เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ ซึ่งคือการไฟฟ้ากับสถานศึกษา ดังนั้นหากระเบียบเปิดช่องให้ทำได้ สถานศึกษาก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างมั่นใจมากขึ้น”

“ส่วนการต่อยอดจากโซลาร์รูฟท็อป ว่าไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้งานในสถานศึกษาจะนำไปสร้างรายได้เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายส่วนอื่นได้หรือไม่ มองว่ามีความเป็นไปได้ แต่ก็ยังมีระเบียบของราชการที่ยังติดขัดในการนำประโยชน์จากรายได้ที่เกิดในที่ราชพัสดุไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งระเบียบราชการกำหนดให้ต้องนำรายได้ส่งเข้าส่วนกลาง ดังนั้นผู้ที่จะให้ความมั่นใจได้คือส่วนกลางอย่างคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งจะต้องทำข้อหารือต่อกรมบัญชีกลางเป็นลายลักษณ์อักษร”

โซลาร์รูฟท็อปสู่อาชีพแห่งอนาคต

การเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรอาชีวะในสาขาวิชาพลังงานทดแทน เชื่อมโยงไปกับวิสัยทัศน์ของคุณอรรถพล ที่มองว่าในอนาคตจะเกิดความต้องการของตลาดในด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดมากขึ้น โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะทำให้เกิดความต้องการในทักษะที่ต้องมีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน ประกอบด้วยการผลิต การติดตั้ง และการบำรุงรักษา โดยปัจจุบันจะเน้นไปที่การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและการบำรุงรักษาเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีด้านสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ประเภทประหยัดพลังงาน และมีนักศึกษาที่ออกแบบอุปกรณ์ล้างแผงโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งช่วยลดเวลาและลดคนในการทำงาน โดยมีบริษัทสนใจนำไปต่อยอดในการใช้งานแล้ว

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“หากมองภาพรวมจะพบว่าปัญหาเรื่องสาธารณูปโภคไม่ได้มีเพียงระดับอาชีวะเท่านั้น แต่มีในทุกระดับ ดังนั้นถ้าในอนาคตเกิดการขยับในระดับนโยบายโดยให้วิทยาลัยอาชีวะเกือบพันแห่งทั่วประเทศ มาทำหน้าที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคา โดยรัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้า อีกทั้งหากมีการฝึกอบรมบุคลากรอาชีวะให้สามารถไปติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั่วประเทศได้ ก็จะช่วยลดงบประมาณของประเทศ และสามารถนำงบประมาณที่เหลือนำไปพัฒนาการศึกษาได้อีกด้วย”

ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

นอกจากการขับเคลื่อนในฝั่งภาคประชาชน การผลักดันเชิงนโยบายให้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานหลักในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยกรีนพีซมีข้อเสนอเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนสถานศึกษา นั่นคือ “การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 30,000 โรงเรียน” โดยเสนอแนวทางการดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน ด้วยงบประมาณ 7,600 ล้านบาทต่อปี (3 ปี)

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน

ติดตามการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพที่เหลืออีก 5 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศเพื่อการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นธรรมของทุกคนได้ในช่องทางของกรีนพีซและกองทุนแสงอาทิตย์

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม